กระบือเจ็ดตัว
กระบือเจ็ดตัว ชื่อสามัญ Picara[5]
กระบือเจ็ดตัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk., Excoecaria cochinchinensis var. cochinchinensis) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[4]
สมุนไพรกระบือเจ็ดตัว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเบือ (ราชบุรี), ใบท้องแดง (จันทบุรี), บัว บัวลา กระทู้ กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ), กระบือเจ็ดตัว กำลังกระบือ ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง), ต้นลิ้นควาย, ตาตุ่มไก่, ตาตุ่มนก, ลิ้นกระบือขาว เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของกระบือเจ็ดตัว
- ต้นกระบือเจ็ดตัว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงได้ประมาณ 0.5-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก มีรูอากาศตามผิวกิ่ง ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนม[1],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบดินร่วน ความชื้นในระดับปานกลางถึงสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงรำไร เป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบอินโดจีน รวมทั้งบ้านเราด้วย[3],[5],[6]
- ใบกระบือเจ็ดตัว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีม่วงแดง เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[4]
- ดอกกระบือเจ็ดตัว ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนจะเป็นดอกเพศผู้ โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบช่อกระจะ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปไข่เรียงซ้อนกัน มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปหอก ปลายจักเป็นฟันเลื่อยถี่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.6-1 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีขนาดเล็กมาก มี 3 อัน อับเรณูเป็นรูปกลม สั้นกว่าก้านชูอับเรณูเล็กน้อย ส่วนช่อดอกเพศเมียจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ขนาดประมาณ 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๆ และมีต่อมเล็ก ๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ มี 3 กลีบ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กเป็นสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มีช่อง 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาวประมาณ 2.2 มิลลิเมตร[1],[4]
- ผลกระบือเจ็ดตัว ผลมีขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายผลเว้าเข้า ผลมีพู 3 พู เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกได้เป็น 3 ส่วน ภายในมีเมล็ดลักษณะเกือบกลม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร[1],[4]
สรรพคุณของกระบือเจ็ดตัว
- ใบตากแห้งใช้ชงดื่ม เช่น ใบชาเป็นยารักษาโรคกษัย (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ (ใบ)[4]
- กระพี้และเนื้อไม้ใช้เป็นยาถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษไข้ แก้ร้อนภายใน (กระพี้และเนื้อไม้)[4]
- ใบมีรสร้อนเฝื่อนขื่น ใช้ใบสดประมาณ 7-10 ใบ นำไปตำกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาน้ำกินเป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดให้สะดวก ขับเลือดเน่าเสียของสตรี แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับเลือดร้าย แก้สันนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ช่วยทำให้เลือดกระจาย (ใบ)[1],[2],[3],[4]
- ใบใช้กินเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)[1]
- ในชวาจะใช้ใบสดตำพอกห้ามเลือด (ใบ)[1],[4]
- ใช้เป็นยาแก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก (ใบ)[4]
- ในฮ่องกง จะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้หัด แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[4]
ข้อควรระวัง : มีบางข้อมูลระบุว่า ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในคนที่มีร่างกายปกติ เพราะจะทำให้เลือดออกในทวารทั้งเจ็ดได้ และต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมหรือเภสัชกรรมเท่านั้น (ไม่มีแหล่งอ้างอิง) และยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่า ในใบและยางจะมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการเป็นพิษที่เกิดจะขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่สัมผัสสาร ส่วนวิธีการรักษานั้นให้รักษาไปตามอาการ ถ้าถูกยางที่ผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาดและทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่หากเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งในทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป (ไม่มีแหล่งอ้างอิง)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระบือเจ็ดตัว
- ในใบกระบือเจ็ดตัวพบ beta-sitosterol, beta-sitosteryl-3-O-D-glucopyranoside, methyl 10-epipheophorbide-a, kaempferol, gallic acid, chiro-inositol, KCl[4]
- จากการทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากกระบือเจ็ดตัวด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์บีบมดลูก[2]
ประโยชน์ของกระบือเจ็ดตัว
- ยางจากต้นเป็นพิษ ในประเทศอินโดนีเซียจะนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[4]
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนำมาปลูกลงในกระถางประดับตามมุมบ้าน หรือปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกลงในแปลงประดับสวนทั่วไป ทั้งในสภาพแสงมากและแสงน้อย เป็นไม้พุ่มที่นิยมใช้กันมาก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4],[5],[6]
- ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์[6]
- ใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อรักษาก้อนไขมันที่บริเวณข้อมือ ด้วยการใช้ใบกระบือเจ็ดตัว 1 กำมือ นำมาผสมกับหญ้าตีนกาและใบกะเพราแดง (อย่างละเท่ากัน) ผสมเกลือและการบูรอีกเล็กน้อย ห่อเป็นลูกประคบและพรมด้วยสุรา จากนั้นนำไปนึ่งและใช้ประคบบริเวณที่เป็น (ข้อมูลจาก : www.starten.co.th)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กระบือเจ็ดตัว (Kra Bue Chet Tua)”. หน้า 32.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระบือเจ็ดตัว”. หน้า 111.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ใบท้องแดง”. หน้า 442.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระบือเจ็ดตัว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [28 มิ.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ลิ้นกระบือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [28 มิ.ย. 2015].
- คมชัดลึกออนไลน์. “กระบือเจ็ดตัว เป็นยา”. (นายสวีสอง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [28 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, 阿橋)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)