กระทุ่ม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทุ่มบก 9 ข้อ !

กระทุ่มบก

กระทุ่ม ชื่อสามัญ Wild cinchona[4]

กระทุ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Neonauclea purpurea (Roxb.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anthocephalus chinensis (Lam.) A. Rich. ex Walp.)[1],[2],[3] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE) เช่นเดียวกับกระทุ่มนา[1]

สมุนไพรกระทุ่ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะกู (จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, สุโขทัย), ตะโกใหญ่ (ตราด), ตุ้มพราย, ทุ่มพราย (ขอนแก่น), กระทุ่มบก กระทุ่มก้านยาว (กรุงเทพ), ตะโกส้ม (ชัยภูมิ, ชลบุรี), แคแสง (ชลบุรี), โกหว่า (ตรัง), กรองประหยัน (ยะลา), ตุ้มก้านซ้วง ตุ้มก้านยาว ตุ้มเนี่ยง ตุ้มหลวง (ภาคเหนือ), กระทุ่ม (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้), กว๋าง (ลาว), ปะแด๊ะ เปอแด๊ะ สะพรั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปาแย (มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของกระทุ่ม

  • ต้นกระทุ่ม จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบหรือไม่ผลัดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 เมตร บางครั้งมีพูพอน ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศเนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง หรือตามหุบเขาหรือริมลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร[1],[2],[3],[4]

ต้นกระทุ่ม

  • ใบกระทุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนออกแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมน กลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-17 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเหนียว หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือบางทีเกลี้ยง มีเส้นแขนงของใบประมาณ 11-20 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีหูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ใบกระทุ่ม

  • ดอกกระทุ่ม ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อกลมกระจุกแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น ติดบนใบประดับขนาดเล็กประมาณ 1-3 คู่ กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง หลอดกลีบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร รังไข่สูงประมาณ 0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรรวมยอดเกสรยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[3] ดอกมีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอด ปลายกลีบหยักแผ่ขยายออกและมีขนนุ่ม ๆ ทางด้านนอก และยังมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน ส่วนเกสรเพศเมียยาว[1],[2],[4]

ดอกกระทุ่ม

  • ผลกระทุ่ม ผลเป็นผลรวมที่เกิดจากวงกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน หรือผลเป็นกระจุกกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลย่อยแยกกัน มีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ผิวขรุขระ อุ้มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก[1],[2],[3]

สรรพคุณของกระทุ่ม

  1. ช่วยลดความดันโลหิต (ใบและเปลือก)[1],[2]
  2. ใบและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบและเปลือกต้น)[1],[2],[4]
  3. น้ำต้มจากใบและเปลือกต้น ใช้อมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก (ใบและเปลือกต้น)[1],[2],[4]
  4. ใช้เป็นยารักษาโรคในลำไส้ ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยากิน (ใบและเปลือกต้น)[1],[2],[4]
  5. ผลใช้เป็นยาฝาดสมานในโรคท้องร่วง (ผล)[1],[2],[4]
  6. ช่วยแก้อาการปวดมดลูก ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา (ใบและเปลือกต้น)[1],[2],[4]
  7. ข้อมูลจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี ระบุไว้ว่าในส่วนรากใช้ฝนหรือต้มรับประทานเป็นยาเย็นช่วยดับพิษไข้ทั้งปวง แก้ตัวร้อน ช่วยดับพิษวัณโรค และดับพิษตานซางในเด็ก[5] (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสรรพคุณดังกล่าวเป็นของต้นกระทุ่ม (Anthocephalus chinensis (Lam.) A.Rich ex Walp.) หรือต้นกระทุ่มหูกวาง (Neonauclea purpurea (Roxb.) Merr.) เพราะทั้ง 2 ชนิดนี้ตามหนังสืออนุกรมวิธานพืชระบุไว้ว่าเป็นคนละชนิด แต่ก็มีบางข้อมูลระบุว่าทั้งสองคือชนิดเดียวกัน)

ประโยชน์ของต้นกระทุ่ม

  • ไม้กระทุ่มมีเนื้อไม้ที่ละเอียด สีเหลืองหรือสีขาว สามารถนำมาใช้ทำพื้นและฝาที่ใช้งานร่ม หรือนำมาใช้ทำกล่อง ทำอุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักเบา และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย[3],[4]
  • ในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย ส่วนในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ ให้ผลตอบแทนเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว (นิยมเรียกว่าต้นตะกู หรือตะกูยักษ์)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระทุ่ม (Kra Thum)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 30.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “กระทุ่ม”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 58.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้, สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระทุ่ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [01 ก.พ. 2014].
  4. หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ราชบัณฑิตยสถาน.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระทุ่ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [01 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dr. Rathindra Kumar Sarma, dinesh_valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด