27 สรรพคุณและประโยชน์ของกระทือ ! (กะทือ)

27 สรรพคุณและประโยชน์ของกระทือ ! (กะทือ)

กระทือ

กระทือ ชื่อสามัญ Shampoo ginger, Wild ginger

กระทือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

สมุนไพรกระทือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน), กระทือป่า กะแวน กะแอน แสมดำ เฮียวดำ แฮวดำ (ภาคเหนือ), ทือ กะทือ เป็นต้น

ลักษณะของกระทือ

  • ต้นกระทือ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ต่อมาภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่เหนือดินสูงราว 0.9-1.5 เมตร และมีเหง้าอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้ากระทือ” หรือ “หัวกระทือ” เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ในที่ที่มีความชื้นพอสมควร และมีแสงแดดส่องตลอดวัน พบขึ้นมากทางภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า

ต้นกระทือ

รูปกระทือ

เหง้ากระทือสมุนไพรกระทือ

หัวกระทือ

  • ใบกระทือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบและแผ่นใบเรียบ ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ใบกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ที่ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น

ใบกระทือ

  • ดอกกระทือ ออกดอกเป็นช่อแทงออกมาจากเหง้าขึ้นมา (รูปแรกด้านบนสุด) ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกสีขาวนวลออกเหลือง (รูปที่ 1 ด้านล่าง) มีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวแกมแดงเรียงซ้อนกันหนาแน่นและเป็นระเบียบ (รูปที่ 2 ด้านล่าง) โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกจะบานไม่พร้อมกัน

กลีบดอกกระทือดอกกระทือ
  • ผลกระทือ ผลมีลักษณะเป็นเมล็ดสีดำ ผลค่อนข้างกลม ผลแห้งแตก ติดอยู่ในประดับ และมีเนื้อสีขาวบางหุ้มเมล็ดอยู่

เมล็ดกระทือผลกระทือ

สรรพคุณของกระทือ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  3. ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร (เหง้า)
  4. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้สามารถรับประทานอาหารมีรสได้ (ต้น)
  5. ช่วยแก้โรคผอมแห้ง ผอมเหลือง (ดอก)
  6. ช่วยขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ (ใบ)
  7. แก้เบาเป็นโลหิต (ใบ)
  8. มีการใช้เหง้ากระทือในตำรับยา “พิกัดตรีผลธาตุ” ซึ่งประกอบไปด้วย เหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (เหง้า)
  9. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เหง้า)
  10. กระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ต้น)
  1. ช่วยแก้ไข้เรื้อรัง (ดอก)
  2. ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวเย็นที่รู้สึกร้อนภายใน (ราก)
  3. ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (เหง้า)
  4. ดอกช่วยแก้ลม (ดอก)
  5. ช่วยแก้บิด บิดป่วงเบ่ง แก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับผายลมในลำไส้ ด้วยการใช้หัวกระทือหรือเหง้ากระทือสด ประมาณ 20 กรัม (ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว) นำมาย่างไฟพอสุก แล้วนำมาตำเข้ากับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเมื่อมีอาการ (เหง้า)
  6. ช่วยกล่อมอาจมหรืออุจจาระ ใช้สูตรเดียวกันกับแก้บิด (เหง้า)
  7. เหง้าหรือหัวกระทือประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Methyl-gingerol, Zingerone, และ Citral ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลมได้และไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร (เหง้า)
  8. เหง้าช่วยขับปัสสาวะ (เหง้า)
  9. เหง้ากระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี (เหง้า)
  10. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้หัวกระทือนำมาฝนแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการเคล็ด (เหง้า, ราก)
  11. ช่วยบำรุงและขับน้ำนมของสตรี (เหง้า)

ประโยชน์ของกระทือ

  1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความสวยงามในสถานที่ต่าง ๆ
  2. ดอกกระทือสามารถนำไปใช้ปักแจกันเพื่อความสวยงามได้
  3. กระทือเป็นพืชที่มีสารอาหารน้อย แต่สำหรับบางท้องถิ่นก็มีการใช้หัวกระทือในการประกอบอาหาร ซึ่งเนื้อในจะมีรสขมเล็กน้อย ต้องนำมาหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนาน ๆ ก่อนนำมารับประทาน โดยทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีการใช้เหง้าไปแกงกับปลาย่างเพื่อใช้รับประทาน
  4. ในจังหวัดกาญจนบุรีมีการนำดอกแห้งของกระทือและเหง้ากระทือมาใช้รับประทานเป็นผักหรือใส่ในน้ำพริกรับประทาน
  5. หน่ออ่อนหรือต้นอ่อนกระทือสามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกได้
  6. สารสกัดจากกระทือด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ผลดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, หนังสือรักษาโรคด้วยสมุนไพร (ยุวดี จอมพิทักษ์), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เภสัชเวทตำรายาแผนโบราณ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์), ประสิทธิภาพของพืชสมุนไพรวงศ์ขิงในการป้องกันกําจัดเหา (มยุรา สุนย์วีระ), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (en)

ภาพประกอบ :www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด