กระต่ายจาม สรรพคุณของต้นกระต่ายจาม ! (การบูรป่า)

กระต่ายจาม

กระต่ายจาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenosma indianum (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manulea indiana Lour.) จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)[1]

สมุนไพรกระต่ายจาม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกกระต่าย (ชลบุรี), โซเซ ข้าวก่ำ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ข้าวคำ ข้าวก่ำ พริกกระต่าย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้, ชลบุรี), กระต่ายจาม (ภาคตะวันตกเฉียงใต้, เพชรบุรี), การบูรป่า (ทั่วไป) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกระต่ายจาม

  • ต้นกระต่ายจาม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ตามลำต้นมีขนนุ่มละเอียดขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ชวา บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา พม่า และทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ตาก เลย นครราชสีมา สระบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา ระนอง พังงา และสตูล โดยมักขึ้นในที่โล่งทั่วไป บนพื้นที่ใกล้ระดับน้ำทะเลไปจนถึงสูงประมาณ 360 เมตร[2]
  • ใบกระต่ายจาม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามและเรียงเป็นวงรอบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนนุ่มขึ้นหนาแน่นทั้งสองด้าน และมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ด้านล่าง มีกลิ่นฉุนคล้ายการบูร ก้านใบสั้น[1],[2]
  • ดอกกระต่ายจาม ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายยอดหรือตามง่ามใบ ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงกลม มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและจำนวนมาก เรียงเป็นวงซ้อนกันแน่นรอบแกนช่อ ที่โคนดอกมีใบประดับลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปยาวรี มีความยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีขนยาว กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก แต่ละแฉกมีขนาดไม่เท่ากัน มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีขนยาว ส่วนกลีบดอกนั้นเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงิน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ปลายเป็นรูปปากเปิด ขนาดไม่เท่ากัน แยกออกเป็นสองปาก ปากด้านบนมี 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม ปลายกลีบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ส่วนปากด้านล่างจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กกว่าด้านบน ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน มีก้านชูอับเรณูขนาดสั้น 1 คู่ และขนาดยาวอีก 1 คู่ ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก ส่วนรังไข่มีขนาดเล็ก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]
  • ผลกระต่ายจาม ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่เช่นกัน แต่มีจะมีขนาดเล็กมาก[1],[2]

ต้นกระต่ายจาม

สรรพคุณของกระต่ายจาม

  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้กระต่ายจามทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ลมวิงเวียน มึนศีรษะ (ทั้งต้น)[1]
  • ในบางประเทศมีการใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาแผนโบราณแก้อาการปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระต่ายจาม”.  หน้า 32.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระต่ายจาม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [06 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด