กระดูกไก่ดำ สรรพคุณและประโยชน์ของกระดูกไก่ดำ 22 ข้อ !

กระดูกไก่ดำ

กระดูกไก่ดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gendarussa vulgaris Nees, Justicia gandarussa L.f.)  จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[5]

สมุนไพรกระดูกไก่ดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดูกดำ (จันทบุรี), ปองดำ แสนทะแมน (ตราด), เฉียงพร้า (สุราษฎรณ์ธานี), กุลาดำ บัวลาดำ (ภาคเหนือ), เกียงพา เกียงผา เฉียงพร้าบ้าน เฉียงพร้าม่าน เฉียงพร้ามอญ เฉียงพร่าม่าน ผีมอญ สันพร้ามอญ สำมะงาจีน (ภาคกลาง), โอกุด๊ดอื้งติ้น (จีน), ปั๋วกู่ตาน อูกู่หวางเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นกระดูกดำ

  • ต้นกระดูกไก่ดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีแดงเข้มถึงสีดำหรือเป็นสีม่วง เกลี้ยงมัน ลักษณะของลำต้นและกิ่งเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ โดยมีขนาดข้อของลำต้นยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ตามลำต้น กิ่งก้าน และใบมีสีแดงเรื่อ ๆ ต้นกระดูกดำเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักขึ้นเองตามริมลำธารในป่าดงดิบ[1],[2],[4]

ต้นกระดูกไก่ดำ

  • ใบกระดูกไก่ดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงคู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเงาเป็นสีเขียวเข้ม หน้าใบเป็นสีเขียวสด ส่วนหลังใบเป็นสีเหลืองอมสีเขียว มีเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมดำ ส่วนก้านใบสั้น[1],[2]

ใบกระดูกไก่ดำ

  • ดอกกระดูกไก่ดำ ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของต้นหรือบริเวณปลายกิ่ง ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมเขียวแกมสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นกลีบบนและกลีบล่าง กลีบดอกมีลักษณะโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้าน โผล่พ้นขึ้นมาจากหลอด[1],[4]

รูปกระดูกไก่ดำ

ดอกกระดูกไก่ดำ

  • ผลกระดูกไก่ดำ ผลมีลักษณะเป็นฝัก มีความยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร[1]

สรรพคุณของกระดูกไก่ดำ

  1. ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงโลหิต (ใบ)[4]
  2. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในมาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบสดมาตำผสมกับหัวหอมและเมล็ดเทียนแดง แล้วนำมาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1],[2],[4]
  3. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้โรคหืด (ใบ)[1],[2]
  4. ใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ใบนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย ช่วยกระจายเลือด แก้เลือดคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน ทำให้เลือดที่อุดตันในร่างกายไหลเวียนสะดวก(ใบ)[1],[2],[3],[4]
  5. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใบ)[1],[2]
  6. ใบเมื่อนำมาตำแล้วให้คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[1],[2]
  7. รากเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)[5] น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[4]
  8. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (ใบ)[4]
  9. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[1]
  10. รากและใบนำมาตำผสมกัน ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย เป็นต้น หรือจะใช้กากของใบนำมาพอกแผลบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยดูดพิษของอสรพิษได้ หรือจะใช้ใบนำมาขยี้ผสมกับเหล้าขาวเป็นยาทาก็ได้เช่นกัน (ใบ,รากและใบ)[1],[2],[4],[5],[6]
  1. รากและใบนำมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้โรคผิวหนังและผื่นคันตามตัว (บ้างว่าใช้รักษางูสวัดได้ด้วย[6]) (รากและใบ)[1] ใช้รากเป็นยาทาเด็กที่เป็นเม็ดตุ่มขึ้นตามตัว (ราก)[4]
  2. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ฝีฝักบัว (ใบ)[4]
  3. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินช่วยแก้อาการช้ำใน แก้ปวดบวมตามข้อ หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบทาแก้อาการปวดตามข้อก็ได้เช่นกัน (ใบ)[1],[4]
  4. ช่วยแก้เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ราก)[2]
  5. สูตรตำรับสเปรย์กระดูกไก่ดำ สรรพคุณแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำ อักเสบเฉียบพลัน (ใช้ฉีดบริเวณที่มีอาการปวดหรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ) ในส่วนผสมจะประกอบไปด้วย 1.สารสกัดกระดูกไก่ดำ 400 ซีซี (ระเหยแอลกอฮอล์ออก) 2.เมนทอล 60 กรัม 3.การบูร 120 กรัม 4.น้ำมันหอมระเหย 10 ซีซี (กลิ่นเปปเปอร์มินต์) และ 5.น้ำมันเขียว (Cajuput oil) 2% 8 ซีซี ส่วนวิธีการทำนั้นให้ละลายเมนทอลและการบูรให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นให้เติมสารสกัดกระดูกไก่ดำและน้ำมันเขียวลงไปคนให้เข้ากัน แต่งกลิ่นด้วยเปปเปอร์มินต์ แล้วนำไปบรรจุลงในขวดสเปรย์[7]
  6. ทางตอนใต้ของอินเดียมีการใช้ใบของต้นกระดูกไก่ดำเพื่อรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิด (ใบ)[7]
  7. ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาขับลมชื้นตามข้อกระดูก (ทั้งต้น)[2]
  8. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพาต (ใบ)[1],[2]
  9. สมุนไพรกระดูกไก่ดำ จัดอยู่ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งเต้านม โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยกระดูกไก่ดำ ไฟเดือนห้า ข้าวเย็นเหนือ ลิ้นงูเห่า และพุทธรักษา อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุสัดส่วนที่ใช้เอาไว้) ซึ่งตำรับยานี้ยังใช้รักษาอาการฟกช้ำ แก้ไข้ ลดความร้อน และช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจายได้ด้วย (ในส่วนนี้ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่ากระดูกไก่ดำที่นำมาใช้ในตำรับยานี้ จะเป็นชนิดเดียวกับกระดูกไก่ดำในบทความนี้หรือไม่ เพราะจากที่ดูข้อมูลหลาย ๆ แห่ง ก็พบว่ากระดูกไก่ดำที่อยู่ในตำรับยานี้คือ “ต้นคำเตี้ย” หรือ “ต้นปีกไก่ดำ” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polygala chinensis L. ส่วนนี้จึงไม่ขอยืนยันครับ)[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดูกไก่ดำ

  • สารที่พบได้แก่ สารอัลคาลอยด์, Juaticin และมีน้ำมันระเหยประกอบอยู่ด้วย[2]
  • รากที่นำมาต้มกับน้ำหรือแช่ในแอลกอฮอล์ หรือใช้สกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดเข้าในท้องของหนูทดลองในปริมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม พบว่าจะทำให้หนูมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ถ้าหากฉีดเข้าหนูทดลองในปริมาณ 10-20 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูทดลองต่ำลงมาก และมีอาการถ่ายอย่างเฉียบพลันและถึงแก่ความตาย[2]
  • สารสกัดเมทานอลของใบกระดูกไก่ดำมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (เช่น Bacillus subtilis, Micrococcus luteus, Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans) และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (เช่น Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Proteus vulgaris, Proleus mirabilis, Shigella Flexner, Salmonella paratypi A, Salmonella typhimusium) สมุนไพรชนิดนี้จึงนับว่าเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อที่ดื้อยาได้ในอนาคต[7]
  • กระดูกไก่ดำมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดปวดสูงมาก ซึ่งเป็นฤทธิ์ที่มาจากสารสำคัญในกลุ่ม Flavonoids คือ Vitexin และ Apigenin ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันกับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง Cyclooxygenase (COX) และ Lipoxygenase pathways ทำให้มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น Prostaglandins, Histamine, NO, iNOS, MMP-9, Prostaglandins และยังพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำยังออกฤทธิ์ที่ Opioid receptor ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับมอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์ลดปวดน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 2 – 5 เท่า นอกจากนี้ ยังมีกลไกลดการอักเสบเหมือนยาสเตียรอยด์ โดยไปยับยั้ง หรือ Stabilizing Lysosomal Membrane ไม่ให้สร้างสารพวก Hydrolytic enzyme จากเม็ดเลือดขาวออกมาย่อยเซลล์ และมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่อักเสบ มีฤทธิ์ลดปวด เทียบเท่ายามาตรฐานอย่างแอสไพริน (Aspirin) และยังพบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการปวดทั้งที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย จะเห็นได้ว่าฤทธิ์แก้ปวดลดอักเสบของกระดูกไก่ดำนั้น เกิดจากการทำงานผ่านหลายกลไก เทียบเท่ายาแผนปัจจุบันหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และมีจุดเด่นที่สำคัญและน่าสนใจที่จะนำไปใช้พัฒนาเป็นยาแก้ปวดลดอักเสบได้ในอนาคต[7]
  • มีรายงานก่อนหน้านี้ว่าสาร Apigenin ซึ่งพบในใบกระดูกไก่ดำมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้[7]
  • สารสกัดกระดูกไก่ดำมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์ในหลอดทดลอง โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ (Apoptosis) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด (Anti-angiogenesis) ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวน่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้[7]
  • ล่าสุดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Illinois (ชิคาโก), มหาวิทยาลัย Baptist University (ฮ่องกง) และสถาบัน Vietnam Academy of Science and Technology (เวียดนาม) ได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลการวิจัยล่าสุดลงในวารสาร Journal of Natural Products ถึงการค้นพบสารประกอบ Patentiflorin A จากต้นกระดูกไก่ดำ ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HIV ได้ดีเยี่ยมเหนือกว่ายาอะซิโดไทมิดีน (Azidothymidine) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทางทีมงานได้ลองทดสอบกับตัวอย่างเซลล์นอกร่างกายแล้วปรากฏว่าได้ผล (สารประกอบนี้จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่ไวรัส HIV ใช้ในการเข้าไปรวมตัวกันกับ DNA ของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เมื่อเอนไซม์หายไป ไวรัสจึงไม่สามารถรวมตัวกับ DNA ชองเซล์ลเป้าหมายได้) แต่ยังไม่ได้ทดสอบในร่างกายมนุษย์จริง ๆ จนกว่าจะมั่นใจเรื่องผลข้างเคียง และหากผลิตยาต้านไวรัส HIV จากสารประกอบของสมุนไพรชนิดนี้ขึ้นมาได้ ยาต้านไวรัสน่าจะมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แล้วผลดีจะตกอยู่กับผู้ป่วยในประเทศยากจนด้วย[8]

ประโยชน์ของต้นกระดูกไก่ดำ

  • นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยมักนำมาปลูกไว้ตามบ้านหรือใช้ทำรั้ว[1],[3]
  • หากไก่ขาหัก นักเลงไก่ชนจะใช้ใบกระดูกดำนำมาประคบหรือห่อหุ้มไว้ตรงที่ขาไก่หัก ส่วนหมอยาพื้นบ้านก็เช่นกัน หากใครแขนหรือขาแตกหักก็จะใช้ทำลักษณะเดียวกัน[6]
  • ในประเทศมาเลเซียถือว่ากระดูกไก่ดำเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถช่วยป้องกันภูตผีและช่วยป้องกันภัยได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “กระดูกไก่ดํา”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 19-20.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “กระดูกไก่ดำ”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 28.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.  “กระดูกไก่ดํา”.  (วุฒิ  วุฒิธรรมเวช).  หน้า 75.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เฉียงพร้ามอญ”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 237-239.
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Justicia gendarussa Burm. f.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [16 เม.ย. 2014].
  6. จำรัส เซ็นนิล.  “เฉียงพร้า-กระดูกไก่ดำ รักษามะเร็งเต้านม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [16 เม.ย. 2014].
  7. ผู้จัดการออนไลน์.  “กระดูกไก่ดำ สุดยอดสมุนไพร แก้ปวด แก้อักเสบ”.  (ข้อมูลโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร). [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [20 มิ.ย. 2017].
  8. SCI NEWS.  “Powerful Anti-HIV Compound Found in Asian Medicinal Plant: Patentiflorin A”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sci-news.com.  [20 มิ.ย. 2017].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Scamperdale, Dinesh Valke, cpmkutty, Navida Pok)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด