กระดูกไก่
กระดูกไก่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Chloranthus erectus (Buch.-Ham.) Verdc. จัดอยู่ในวงศ์กระดูกไก่ (CHLORANTHACEAE)[1],[2]
สมุนไพรกระดูกไก่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกตเมือง ฝอยฝา (กรุงเทพฯ), ชะพลูป่า (ตรัง), หอมไก่ (ภาคเหนือ), หอมไก๋ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ),[1],[2] ในมาเลเซียเรียก “เกอรัส ตูรัง” ส่วนฟิลิปปินส์เรียก “บาเรา บาเรา” เป็นต้น[4]
ลักษณะของกระดูกไก่
- ต้นกระดูกไก่ หรือ ต้นหอมไก๋ มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน พบได้ทั่วไปตั้งแต่เนปาล ยูนนาน หมู่เกาะอันดามัน ไปจนถึงเกาะนิวกินี[4] จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-2.5 เมตร ลำต้นมีข้อบวมพอง ลักษณะคล้ายกระดูกไก่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เป็นพรรณไม้ที่มักพบได้ทั่วไปตามบริเวณริมน้ำหรือดินที่ค่อนข้างแฉะชื้น และมักพบได้ทั่วไปในป่าที่ราบต่ำ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค แต่จะพบได้มากที่สุดทางภาคเหนือ[1] ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม[4]
- ใบกระดูกไก่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบดูเหมือนเรียบแต่จะมีหยักเป็นฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3] ใบมีน้ำมันหอมระเหยและกรดคูมาริก[4]
- ดอกกระดูกไก่ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ติดก้านช่อดอก แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวติดเป็นก้อนกลมตามก้านช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกไม่มีกลีบดอกหรือกลีบรองดอก แต่จะมีใบประดับและเกสรเพศผู้สีขาว ซึ่งจะออกเรียงกันอยู่ข้างใน และอับเรณู 4 พู มีรังไข่ 1 ช่อง เชื่อมติดกันอยู่โคนใบประดับ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3]
- ผลกระดูกไก่ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ยาวได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผลสดสีขาวฉ่ำน้ำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง[1],[2],[3]
สรรพคุณของกระดูกไก่
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มต่างชาเป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง (ทั้งต้น)[2]
- รากและใบใช้ชงเป็นชาดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (รากและใบ)[1] ส่วนชาวไทยภูเขาจะใช้กิ่งนำมาต้มเป็นยารักษามาลาเรีย (กิ่ง)[4]
- รากและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ ด้วยการนำมาชงเป็นชาดื่ม (รากและใบ)[1]
- รากและใบใช้ชงเป็นชาดื่มแก้กามโรค (รากและใบ)[1]
- รากกระดูกไก่นำมาผสมกับรากหนาดคำ รากหนาด ฝนกินเป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ผิดเดือน ผิดสาบ (ราก)[2]
- ลำต้นใช้เป็นยากระตุ้น ยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับเปลือกอบเชย (Cinnamomum) รับประทาน (ลำต้น)[1]
- ในกาลิมันตัน จะใช้กิ่งของต้นกระดูกไก่นำมาต้มกับน้ำดื่มเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ (กิ่ง)[4]
ประโยชน์ของกระดูกไก่
- ใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักร่วมกับลาบได้[3]
- ใช้ทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ[4]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกบ่อย ปลูกเลี้ยงได้ง่าย[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระดูกไก่”. หน้า 17-18.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระดูกไก่”. หน้า 67.
- หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ. (เกรียงไกร และคณะ). “กระดูกไก่”.
- หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16 พืชที่ให้สารกระตุ้น. (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ). “กระดูกไก่”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, Vojtěch Zavadil)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)