กระดูกหัก (Bone fracture) การปฐมพยาบาล & การรักษากระดูกหัก 5 วิธี !

กระดูกหัก (Bone fracture) การปฐมพยาบาล & การรักษากระดูกหัก 5 วิธี !

กระดูกหัก

กระดูกหัก (ภาษาอังกฤษ : Bone fracture, Fracture หรือ Broken bone) คือ การมีรอยแยก รอยแตก หรือมีความไม่ต่อเนื่องกันของเนื้อกระดูก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงมากระทำมากเกินไปจนทำให้กระดูกหักและก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ในปัจจุบันนี้การรักษากระดูกหักมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก สามารถรักษาให้หายกลับมาใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องพิการจากความผิดรูปหรือกระดูกสั้นยาวไม่เท่ากันอีกต่อไป

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก

โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะเคยกระดูกหักประมาณ 2 ครั้งในชีวิต แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ยากเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงควรให้ความสำคัญที่จะเรียนรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลกระดูกหักที่ถูกวิธีเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัว หรือคนอื่น ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้

  1. ประเมินบริเวณที่บาดเจ็บ เพราะแผลบาดเจ็บจากอุบัติเหตุนั้นไม่ได้เป็นการรับประกันว่ากระดูกจะหัก ส่วนกระดูกที่หักหรือร้าวที่เกิดบริเวณศีรษะ กระดูกสันหลัง หรือสะโพกนั้นก็ยากที่จะบ่งชี้ได้โดยไม่ปราศจากการเอกซเรย์ หากสงสัยว่ามีกระดูกมีการหักหรือร้าวที่บริเวณเหล่านี้ไม่ควรทำการเคลื่อนย้ายใด ๆ ถ้าไม่ได้ผ่านการฝึกมาก่อน ส่วนกระดูกที่แขน ขา นิ้วมือ และนิ้วเท้านั้น เวลาหักเรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันบิด เบี้ยว เปลี่ยนทรง หรือไม่เข้าที่ (ต้องประเมินบาดแผลโดยไม่ขยับมันบ่อย)
  2. โทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุดหากบาดแผลนั้นรุนแรงและคิดว่ากระดูกน่าจะหัก แต่ในกรณีที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลและค่อนข้างมั่นใจว่าการบาดเจ็บนั้นไม่รุนแรงและเป็นแค่กระดูกระยางค์ ผู้ให้การช่วยเหลืออาจตัดสินใจขับรถพาผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลเองได้เลย (ผู้บาดเจ็บห้ามขับรถมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แม้การบาดเจ็บนั้นจะไม่รุนแรงก็ตาม)
  3. ทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีซีพีอาร์ (CPR) หากผู้บาดเจ็บไม่หายใจและผู้ช่วยเหลือตรวจหาไม่พบสัญญาณชีพจรตรงข้อมือหรือต้นคอ โดยให้เริ่มทำ CPR (ถ้าคุณรู้วิธีทำ) ก่อนที่รถพยาบาลจะมาถึง รวมทั้งพยายามทำให้ผู้ป่วยมีสติ
  4. ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดก่อนเสมอไม่ว่ากระดูกจะหักหรือไม่ เพราะการที่เลือดไหลออกจากเส้นเลือดใหญ่จะทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที โดยวิธีการห้ามเลือดนั้นให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดดูดซึมได้ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมากดตรงบาดแผลแน่น ๆ แต่ถ้าไม่มีให้ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าสะอาดพันทบหนา ๆ หลายชั้นแทนได้ในกรณีฉุกเฉิน และกดวางบนปากแผลแล้วใช้นิ้วหรืออุ้งมือกดห้ามเลือดเอาไว้ หรือรัดให้แน่นด้วยผ้าพันแผลรอบบาดแผลด้วยเทปยืดหรือเศษผ้าถ้าทำได้
    • ถ้าบาดแผลใหญ่หรือเลือดยังไม่หยุดไหลหรือไหลรุนแรง ให้หาสายรัด (เช่น เชือก สายไฟ เน็คไท ผ้าพันคอ) มาผูกรัดเหนือบาดแผลให้แน่น ๆ ชั่วคราวจนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง (ให้คลายสายรัดทุก ๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละประมาณ 30-60 วินาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลก็ให้รัดกระชับเข้าไปใหม่)
    • ถ้ามีชิ้นส่วนใหญ่ ๆ ทิ่มฝังเข้าไปในเนื้อ อย่าพยายามเอามันออก เพราะอาจทำให้เกิดการเสียเลือดมากมาย
  5. ดามกระดูกที่หัก เมื่ออาการของผู้บาดเจ็บคงที่แล้ว หากคุณต้องใช้เวลารอรถพยาบาลนานเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไปควรทำการดามกระดูกที่หัก เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและป้องกันกระดูกที่หักเสียหายไปมากกว่าเดิมจากการขยับเขยื้อนโดยไม่ตั้งใจ (แต่การดามกระดูกเองอาจไม่จำเป็นสักเท่าไหร่หากรถพยาบาลกำลังจะไปถึง เพราะหากทำไม่ถูกวิธีก็อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่าเดิมได้)
    • การดามกระดูกชั่วคราวแบบง่าย ๆ สามารถทำได้โดยการใช้แผ่นไม้ พลาสติกแข็ง ไม้บรรทัด กิ่งไม้ ท่อนไม้ ท่อนโลหะ ด้ามร่ม กระดาษแข็ง กล่องกระดาษ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารพับทบหลาย ๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบกับส่วนที่หัก โดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก (เช่น ถ้าขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น) และควรมีสิ่งนุ่ม ๆ รองรับผิวหนังของอวัยวะส่วนนั้นอยู่เสมอ แล้วรัดทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยใช้เทป เชือก ด้าย สายไฟ เน็คไท ผ้าพันคอ เป็นต้น (ต้องรัดให้แน่นพอควร แต่อย่าแน่นมากจนเกินไป เพราะจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดทำให้เกิดอันตรายได้ และต้องระวังอย่าให้ปมเชือกไปกดบาดแผล พร้อมกับคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะ ๆ เพราะอาจมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง)
    • ไม่วางเฝือกที่ดามลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นที่นุ่ม ๆ รองรับ เช่น ผ้าหรือสำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบนบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดและเกิดแผลจากเฝือกกดได้
    • อย่าพยายามดึงข้อหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง บริเวณที่ดามเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโก่ง โค้ง หรือคด ก็ควรดามเฝือกในท่าที่เป็นอยู่
    • ถ้าส่วนที่หักเป็นปลายแขนหรือมือ ให้ใช้ผ้าคลองคอ
    • ถ้าส่วนที่หักเป็นนิ้วมือ ให้ใช้ไม้ไอศกรีมดามนิ้ว
    • ถ้าส่วนที่หักเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ปกติอีกข้างทำเป็นเฝือกแทน โดยการใช้ผ้าหรือกระดาษหนา ๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้างหลาย ๆ เปลาะ
  6. ประคบน้ำแข็งตรงบาดแผล เมื่อกระดูกที่หักได้รับการดามแล้ว ถ้าเป็นไปได้ให้หาถุงน้ำแข็งมาประคบทันทีในระหว่างที่รอรถพยาบาล (ควรใช้ผ้าบาง ๆ มาพันรอบของที่เย็นก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนน้ำแข็งกัด) เพราะการประคบเย็นนี้จะช่วยลดอาการปวด ลดอาการบวมอักเสบ และลดการไหลของเลือดได้ โดยการประคบเย็นให้ประคบไว้นานประมาณ 20 นาทีหรือจนกว่าบริเวณนั้นจะรู้สึกชาก่อนแล้วค่อนเอาออก (การกดน้ำแข็งไว้บนบาดแผลอาจช่วยลดอาการบวมได้มากขึ้นตราบเท่าที่มันไม่ไปทำให้ปวดเพิ่มขึ้น และในขณะที่ประคบน้ำแข็ง ให้ยกช่วงกระดูกที่หักให้สูงขึ้นด้วยเพื่อช่วยลดอาการบวมและชะลอการไหลของเลือด ถ้าทำได้)
  7. ตั้งสติและมองหาสัญญาณการเกิดภาวะช็อค เพราะปฏิกิริยาส่วนใหญ่ที่พบเห็นของผู้ป่วยคือ ความรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก และช็อค ผู้ให้การช่วยเหลือจึงควรพูดให้ความมั่นใจว่ารถพยาบาลกำลังมาถึงและทุกอย่างจะปลอดภัย ในระหว่างที่รอให้หาอะไรมาห่มให้ผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความอบอุ่นด้วย และพยายามชวนคุยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการบาดเจ็บ
  8. พิจารณาให้ยาแก้ปวด ถ้าต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 1 ชั่วโมง (หรือคุณรู้อยู่แล้วว่าต้องรอนาน) ให้หายาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) มารับประทาน (ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะยาชนิดนี้มีฤทธิ์ห้ามการจับตัวเป็นก้อนของเลือด จึไม่เหมาะที่จะใช้รักษาการบาดเจ็บของอวัยวะภายในอย่างกระดูกหัก)
  9. คำแนะนำสำคัญที่คุณจำเป็นต้องรู้
    • หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ เพื่อลดการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
    • ถ้ากระดูกหักโผล่ออกมานอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จากภายนอกเข้าไปในบาดแผลและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย แต่ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผลเอาไว้ใช้เฝือกดาม แล้วรอรถพยาบาล
    • ในผู้ป่วยที่กระดูกหักตรงขาส่วนบน กระดูกสันหลัง ศีรษะหรือคอ อุ้งเชิงกรานหรือสะโพก ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย และให้รอจนกว่ารถพยาบาลจะมา เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ผิดวิธีจะทำให้บริเวณดังกล่าวบาดเจ็บมากกว่าเดิม
    • งดให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารจนกว่าจะไปพบแพทย์ เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายนั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก
IMAGE SOURCE : clinicalmonster.com

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกระดูกหัก
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by RespondRightAid), www.doomandbloom.net

กระดูกหักมีกี่ชนิด

กระดูกหักวิธีการแบ่งชนิดได้หลายแบบ ดังนี้

  • แบ่งตามบาดแผล โดยทั่วไปกระดูกหักจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
    1. กระดูกหักชนิดไม่มีแผล หรือ แผลไม่ถึงกระดูกที่หัก (Closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกมานอกผิวหนัง
    2. กระดูกหักแบบแผลเปิด หรือ แผลลึกถึงกระดูกที่หัก (Compound fracture หรือ Open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกมานอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง เพราะอาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย และเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้
  • แบ่งตามรอยที่มีการหักของกระดูก
    • กระดูกหักทั่วไป (Simple fracture) คือ กระดูกที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น
    • กระดูกหักแตกย่อย (Comminuted fracture หรือ Segmental fracture) คือ ภาวะที่กระดูกแตกออกเป็น 3 ชิ้นขึ้นไป
    • กระดูกหักเฉียง (Oblique fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
    • กระดูกหักตามขวาง (Transverse fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางซึ่งเป็นส่วนที่สั้นของกระดูก (ไม่ได้เกิดรอยแตกไปตามแนวยาวของกระดูก)
    • กระดูกหักเป็นเกลียว (Spiral fracture) คือ ภาวะกระดูกที่หักเป็นเกลียวซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิด
    • กระดูกยุบตัว (Compression fracture) คือ กระดูกที่เกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
    • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted fracture) คือ ภาวะที่กระดูกทั้ง 2 ด้านได้รับแรงกด ส่งผลให้กระดูกแตกทั้ง 2 ด้าน เด็กเล็กมักเกิดกระดูกหักฝังที่แขน
    • กระดูกเดาะ (Greenstick fracture) คือ กระดูกที่แตกเพียงด้านเดียว ส่วนกระดูกอีกด้านโก่งไปตามแรงกดที่ปะทะเข้ามา มักเกิดขึ้นกับเด็ก เพราะกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ใหญ่
    • กระดูกหักล้า (Stress fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ
    • ปุ่มกระดูกแตก (Avulsion fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
    • กระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม (Displaced fracture)
    • กระดูกที่หักร้าว ไม่เคลื่อนที่ ไม่แยกจากกันทั้งสองท่อน (Non-displaced frac ture)
  • แบ่งตามพยาธิสภาพของเนื้อกระดูกที่หัก
    • กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่ปกติ (Fracture in general)
    • กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่อ่อนแอ (Pathological fracture) คือ ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูก แบ่งเป็นหักเพราะกระดูกบาง กระดูกพรุน (Osteoporotic fracture), หักเพราะกระดูกเป็นเนื้องอก, หักเพราะกระดูกติดเชื้อ และหักเพราะเป็นโรคของเนื้อกระดูกแบบอื่น ๆ
  • กระดูกหักในเด็ก มีวิธีการแบ่งเพิ่มเติมจากการแบ่งข้างต้น ดังนี้
    • กระดูกหักแบบยู่หรือย่นด้วยแรงอัด (Buckle fracture)
    • กระดูกหักเฉพาะด้านที่ถูกแรงแล้วหักออกจากกันเหมือนการหักกิ่งไม้ที่ยังเขียวและสดอยู่ (Greenstick fracture)
    • กระดูกที่หักผ่านส่วนที่เป็นโรงงานสร้างกระดูก/Epiphysis/ส่วนหัวกระดูกที่อยู่ใกล้กับข้อกระดูก (Epiphyseal plate injury)
    • กระดูกโก่งงอโดยไม่มีรอยหัก (Plastic deformation)

ชนิดของกระดูกหัก
IMAGE SOURCE : www.algaecal.com

สาเหตุของกระดูกหัก

โดยปกติแล้วกระดูกแต่ละส่วนในร่างกายจะมีความแข็งแรงและทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี แต่หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกและหักได้ โดยกระดูกหักมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ประสบอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม รถชน รถคว่ำ เป็นต้น ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว เช่น จากการเล่นกีฬาที่ต้องลงน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทำให้สะโพก หน้าแข้ง เท้า หรือข้อเท้า เกิดกระดูกปริได้
  • ถูกตีหรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • การตกลงมาจากที่สูง หรือการตกลงมากระแทกกับพื้นที่แข็งมาก
  • ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งบางชนิด (ส่งผลทำให้กระดูกเสื่อม ผุ และเปราะ) เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจกรรมหรือประสบอุบัติเหตุก็จะมีโอกาสที่กระดูกจะหักได้ง่าย (ที่พบได้บ่อย คือ กระดูกต้นขาหรือกระดูกสะโพก)
  • ในกรณีของเด็กที่กระดูกหัก อาจเกิดจากการถูกทารุณกรรม

อาการของกระดูกหัก

ผู้ป่วยที่กระดูกหักจะเกิดอาการดังต่อไปนี้อาการใดอาการหนึ่ง หรือหลาย ๆ อาการร่วมกัน คือ

  • อาการเจ็บปวดตรงกระดูกที่หักหรือรอบ ๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูกอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวดให้มั่นใจได้เลยว่ากระดูกไม่หัก (ยกเว้นในคนที่ไม่มีความรู้สึกในบริเวณที่หัก เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาต หรือเส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณนั้นขาด)
  • อาการบวมรอบ ๆ บริเวณที่กระดูกหัก เกิดรอยเขียวช้ำ และอาจมีเลือดออกมาจากผิวหนัง (ถ้าไม่มีอาการบวมก็มั่นใจได้เลยว่ากระดูกไม่หัก แต่ถ้าเพียงร้าว ในช่วงแรกอาจบวมได้ไม่มาก หรือกระดูกบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีลักษณะบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงได้)
  • ส่วนที่หักอาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่างหลังการบาดเจ็บ เช่น แขนขาโก่งงอ สั้นยาวกว่าข้างที่ปกติ หรือหักบิดในลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่ามีกระดูกหัก
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดกระดูกที่หักทิ่มแทงทะลุออกมานอกเนื้อ
  • ไม่สามารถขยับหรือใช้งานส่วนที่มีการหักของกระดูกได้ หรือรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นได้ลำบากหรือเคลื่อนไหวแล้วจะเจ็บปวดมาก
  • อาจได้ยินเสียงกระดูกหักตอนประสบอุบัติเหตุ และบางครั้งถ้าลองจับหรือกดเบา ๆ ลงบนกระดูกบริเวณที่หัก อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ

อาการกระดูกหัก
IMAGE SOURCE : thainurseclub.blogspot.com, ls1tech.com, www.drdavidgeier.com

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้ และถ้าเป็นกระดูกหักแบบแผลเปิด อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีก ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ บางรายอาจติดเชื้อเรื้อรังจนกลายเป็นกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง

ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนอาจแบ่งออกเป็นระยะแรกและระยะปลาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนระยะแรก
    • อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ เช่น เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ปอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
    • เนื้อเยื่อ เส้นประสาท และผิวหนังถูกทำลาย
    • หลอดเลือดแดงบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกต้นขาหัก อาจเกิดภาวะหลอดเลือดต้นขาฉีกขาดได้
    • เกิดแผลติดเชื้อ
    • เกิดภาวะเลือดออกในข้อ (Haemarthrosis)
    • เกิดความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)
    • สูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก่อให้เกิดปอดบวม หลอดเลือดอุดตัน หรือกล้ามเนื้อสลาย โดยภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
    • ผู้ป่วยที่กระดูกซี่โครงหักรุนแรง ทิ่มแทงถูกเนื้อปอด อาจทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือปอดทะลุ (Pneumothorax) หรือมีเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Hemothorax) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบ ตัวเขียว ไอออกเป็นฟองเลือดสด ๆ หรือช็อก และถ้ากระดูกซี่โครงหักหลายแห่ง ซึ่งมักพบในกรณีที่เกิดจากรถคว่ำ รถชน อาจทำให้เกิดภาวะอกรวน (Flail chest) ทำให้มีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก และหายใจผิดธรรมดา
  • ภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย
    • กระดูกที่หักใช้เวลารักษานานกว่าปกติ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้ หรืออาการไม่หายดี
    • การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติหรือกระดูกผิดรูป
    • เกิดอาการข้อติดแข็ง
    • กล้ามเนื้อหดตัว
    • เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบที่มีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) ทำให้มีก้อนกระดูกเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ
    • ประสบภาวะกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Chronic osteomyelitis)
    • เกิดเนื้อตายเน่า (Gangrene)
    • หัวกระดูกต้นขาตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
    • อาจเป็นบาดทะยักและติดเชื้อในกระแสเลือด

การวินิจฉัยกระดูกหัก

โดยทั่วไปแพทย์มักจะวินิจฉัยกระดูกหักได้จากการตรวจดูบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บร่วมกับการเอกซเรย์ดูลักษณะการหักของกระดูก (เพื่อความแน่นอนในการวินิจฉัยจำเป็นต้องอาศัยการเอกซเรย์ภาพกระดูกที่สงสัยว่ามีการหักร่วมด้วยเสมอ แม้แพทย์จะมั่นใจว่ามีกระดูกหัก แต่จะไม่รู้ได้เลยว่าเป็นกระดูกหักชนิดไหน ลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร และควรรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด)

พยาธิสภาพกระดูกหัก
IMAGE SOURCE : boneandspine.com

ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจไม่พบความผิดปกติหลังการเอกซเรย์ แต่แพทย์สันนิษฐานว่ากระดูกหัก อาจต้องใส่เฝือกอ่อนดามกระดูกกันไว้ก่อนประมาณ 10-14 วัน แล้วจึงค่อยกลับมาตรวจเอกซเรย์ดูอีกครั้งว่ากระดูกหักหรือไม่ (หากเกิดกระดูกหัก การเอกซเรย์จะทำให้เห็นรอยหักชัดขึ้น เช่น รอยกระดูกหักที่ข้อมือ)

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เกิดกระดูกหักที่บริเวณข้อมือ สะโพก หรือประสบภาวะกระดูกหักล้า อาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือสแกนกระดูกด้วย เนื่องจากการตรวจเอกซเรย์อาจแสดงภาพกระดูกหักในบริเวณดังกล่าวได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้การวินิจฉัยว่ากระดูกหักเรียบร้อยแล้ว อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติมอีกเพื่อดูว่าเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบกระดูกนั้นเกิดความเสียหายด้วยหรือไม่

ส่วนผู้ป่วยที่กะโหลกศีรษะแตกจะได้การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แทนการเอกซเรย์กระดูก เพราะการตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยวินิจฉัยภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นบริเวณกะโหลก รวมทั้งบาดแผลอื่น ๆ ที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น เลือดออกในสมอง ส่วนในเด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักจะได้รับการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยภาวะดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ การวินิจฉัยสำหรับเด็กเล็กอาจทำได้ยากหน่อย เพราะกระดูกของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ อีกทั้งกระดูกหลายส่วนในร่างกายก็ยังเป็นกระดูกอ่อนและไม่มีมวลแคลเซียมสะสมภายในกระดูก

วิธีรักษากระดูกหัก

การรักษากระดูกหักมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กระดูกที่หักเมื่อหายแล้วกลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด และผู้ป่วยสามารถลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในการรักษากระดูกหักนั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกที่หัก กระดูกหักมากหรือน้อยอย่างไร อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย (แข็งแรงดีหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่) รวมถึงอาชีพที่แตกต่างกันไปของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเหตุผลและวิธีการรักษาต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางรักษาในขั้นสุดท้ายก็คือตัวผู้ป่วยเอง

ผู้ป่วยกระดูกหักจะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยวิธีรักษาจะประกอบด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดเรียงกระดูก การใส่เฝือก การผ่าตัด และการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตาม ตามหัวข้อที่กล่าวไป
  2. การจัดเรียงกระดูก เป็นการจัดแนวกระดูกที่หักให้กลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนของกระดูกที่หักหลุดออกจากกัน ช่วยให้กระดูกที่หักกลับมาแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และรักษากระดูกที่หักได้ ซึ่งแพทย์จะเอกซเรย์ผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยลักษณะของกระดูกที่หักแล้วจัดเรียงแนวกระดูกให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนการใส่เฝือก (ในเด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักหรือผู้ป่วยกระดูกหักแบบทั่วไปและไม่มีแผลนั้นจะได้รับการจัดเรียงกระดูกทันที)
    • การจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่มีอยู่หลายวิธี คือ การจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่โดยใช้การดึงและควบคุมไม่ให้เคลื่อนด้วยเฝือก, การจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่โดยใช้การถ่วงด้วยน้ำหนัก (ในกรณีที่กระดูกต้นขาหัก ผู้ป่วยอาจต้องนอนอยู่บนเตียง แล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องนอนอยู่นิ่ง ๆ นานเป็นสัปดาห์) และการผ่าตัดเข้าไปจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่พร้อมกับการดามกระดูกด้วยโลหะ
  3. การใส่เฝือก เป็นวิธีที่ช่วยพยุงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ลดปวด ลดบวม ลดกล้ามเนื้อหดเกร็ง และช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกที่จัดเรียงแล้วเกิดการเคลื่อนที่ผิดรูปขึ้นอีก ซึ่งเฝือกที่ใส่อาจจะใส่เป็นเฝือกชั่วคราวแบบครึ่งเดียวหรือเฝือกแบบเต็มรอบแขนหรือขาก็ได้ โดยภายหลังจากจัดเรียงกระดูกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะพันสำลีรองเฝือกก่อนที่จะพันเฝือก (เฝือกจะต้องพันให้แน่นแบบพอดีกับแขนหรือขา และโดยทั่วไปจะใส่เฝือกตั้งแต่ข้อที่ต่ำกว่ากระดูกที่หักถึงข้อที่อยู่สูงกว่ากระดูกที่หัก) ซึ่งในช่วงแรกที่มีอาการบวมอยู่แพทย์จะใส่เฝือกแบบชั่วคราวให้ก่อน และเมื่ออาการบวมลดลงก็จะใส่เป็นเฝือกแบบเต็ม ซึ่งบางครั้งเมื่อใส่ไปได้ช่วงหนึ่ง (ประมาณ 1-2 อาทิตย์) เฝือกก็อาจจะหลวมได้ เพราะอาการบวมลดลง ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่ และหลังจากกระดูกเริ่มติดแล้ว (ประมาณ 4-6 อาทิตย์) ก็จะเปลี่ยนเป็นเฝือกชั่วคราวเพื่อความสะดวกในการทำกายภาพบำบัด
    • เฝือกจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ เฝือกปูน (เป็นการนำปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาว มีราคาค่อนข้างถูก การใส่เฝือกและการตัดเฝือกทำได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกร้าวได้ง่าย ระบายอากาศได้ไม่ค่อยดี ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ห้ามลงน้ำหนักที่เฝือก ถ้าถูกน้ำเฝือกจะเละ/เสียความแข็งแรง มักทำให้เกิดอาการคันจากความอับชื้น เวลาถ่ายภาพเอกซเรย์จะมองไม่ค่อยเห็นรอยของกระดูกที่หัก ถ้าเฝือกแน่นหรือหลวมก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่) และเฝือกพลาสติก/เฝือกไฟเบอร์ (เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีให้เลือกหลายสี มีสีสวยงาม มีความแข็งแรงสูง แต่ก็ยังต้องใช้ไม้ค้ำยันและห้ามลงน้ำหนักเต็มที่ มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี และเวลาถ่ายภาพเอกซเรย์จะเห็นกระดูกได้ชัดเจนกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาที่แพงกว่าเฝือกปูน 6-10 เท่า การตัดเฝือกหรือดัดเฝือกทำได้ยากกว่า ทำให้มักต้องเปลี่ยนใหม่ และถ้าเฝือกแน่นหรือหลวมก็ต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่เช่นกัน) นอกจากนี้ยังมีเฝือกลม (Aircast) ซึ่งมีใส่เฉพาะที่ขา เท้า และข้อเท้า เป็นเฝือกที่มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี มีความแข็งแรงสูง ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักบนเฝือกได้โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน มีถุงลมปรับให้แน่นหรือหลวมได้ จึงทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนเฝือก และผู้ป่วยสามารถถอดเฝือกออกได้เอง ส่วนข้อเสียคือ มีราคาแพง (ประมาณข้างละ 5,000 บาท) และไม่สามารถปรับให้เข้ากับกระดูกที่คดผิดรูปได้
    • ผู้ป่วยที่กระดูกหักตรงบริเวณที่ไม่สามารถใส่เฝือกได้ เช่น กระดูกที่ไหปลาร้าหัก แพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้องแขนเพื่อช่วยพยุงกระดูกแทน

      การรักษากระดูกหัก
      IMAGE SOURCE : arienmusings.blogspot.com, www.dme-direct.com

  4. การผ่าตัด อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ การผ่าตัดแต่ไม่ใส่เหล็ก (โดยเฉพาะในผู้ที่เกิดกระดูกหักร้ายแรงที่กระดูกทิ่มออกมานอกเนื้อ ซึ่งการผ่าตัดจะทำไปเพื่อล้างทำความสะอาดบาดแผลให้ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ แล้วจึงค่อยจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่และอาจใส่เฝือกหรือเครื่องพยุงอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนหลังการผ่าตัด) และการผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อดามกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน (มีหลายชนิด เช่น ลวด แท่งเหล็ก แผ่นเหล็ก เป็นต้น ซึ่งเหล็กที่นำมาใช้จะเป็นเหล็กชนิดพิเศษ มีความแข็งแรงกว่าเหล็กธรรมดา ไม่เป็นสนิม และในคนทั่วไปจะไม่เกิดอาการแพ้)
    • ข้อบ่งชี้ที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น กระหักหลายชิ้นหรือแตกเข้าข้อ, กระดูกหักหลายแห่ง, มีการเคลื่อนของกระดูกที่หักไปมาก, มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก, กระดูกที่หักในบางตำแหน่งถ้าไม่ผ่าตัดแล้วผลการรักษาจะไม่ดี (เช่น กระดูกปลายแขน กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา) เป็นต้น
    • ผ่าตัด-ไม่ผ่าตัดแบบไหนดีกว่ากัน ? การจะเลือกวิธีการรักษาแบบใดนั้นท่านจะต้องปรึกษากับศัลยแพทย์กระดูกว่ามีทางเลือกในการรักษาแบบไหนบ้าง แต่ละวิธีการรักษามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และควรจะเลือกวิธีการรักษาแบบใดที่มีข้อดีมากที่สุดและมีข้อเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคงไม่มีวิธีไหนที่จะมีแต่ข้อดีโดยที่ไม่มีข้อเสียเลย
    • ข้อดี-ข้อเสียของการผ่าตัด ในส่วนของข้อดี คือ กระดูกที่ได้รับการจัดให้เข้าที่หรืออยู่ในแนวที่ดีได้ ทำให้กระดูกติดแล้วไม่ผิดรูป เมื่อรักษาหายแล้วจะทำให้อวัยวะนั้นกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และผู้ป่วยสามารถได้รับการทำกายภาพบำบัดได้เร็ว จึงทำให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตอย่างปกติได้เร็วขึ้น ส่วนข้อเสียก็คือ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง มีแผลเป็นจากการผ่าตัด การติดเชื้อจากแผลผ่าตัด เสี่ยงต่อการเสียเลือด อาจต้องนอนโรงพยาบาลนานหลายวัน และอาจจะต้องมาผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกในบางตำแหน่ง เพื่อเอาเหล็กนั้นออกเมื่อกระดูกติดสนิทดีแล้ว เช่น การผ่าตัดดามเหล็กในตำแหน่งกระดูกต้นขาและหน้าแข้ง ซึ่งก็ต้องผ่าเอาเหล็กออกเมื่อกระดูกติดดีแล้วประมาณ 1-2 ปีหลังการผ่าตัดใส่เหล็กไว้)
    • ข้อดี-ข้อเสียของการไม่ผ่าตัด ในส่วนของข้อดี คือ ไม่ต้องเจ็บตัวจากแผลผ่าตัด ไม่เสี่ยงกับการเสียเลือด เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และอาจจะไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอนไม่กี่วัน ส่วนข้อเสียคือ ต้องมีการใส่เฝือกเป็นระยะเวลานาน กระดูกที่หักอาจไม่ติดหรือติดช้า กระดูกติดผิดรูป และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่ต้องพักนาน ๆ เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อ ท้องผูก เป็นต้น
  5. การตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง ในรายที่กระดูกหักแบบแหลกละเอียด หรือมีบาดแผลเหวอะหวะที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้อยู่รอดปลอดภัยเสียก่อน เมื่อแผลหายแล้วจึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียม ซึ่งจะช่วยให้เดินและทำงานได้ (มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่แพทย์อาจพิจารณาให้ตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เนื่องจากกระดูกหักอย่างรุนแรง เพราะถ้าปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้)

การดูแลตนเองเมื่อต้องเข้าเฝือก

  • ไม่ลงน้ำหนักบนเฝือกจนกว่าเฝือกจะแห้งและแข็ง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับเฝือกพลาสติก และประมาณ 2-3 วันสำหรับเฝือกปูน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ของร้อนหรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันปูนที่ใช้ทำเฝือกละลาย
  • ควรวางเฝือกบนวัสดุนิ่ม ๆ ส่วนเวลาเคลื่อนย้ายให้ประคองเฝือกอย่างระมัดระวัง อย่าให้กระทบกระแทก
  • ในช่วง 48-72 ชั่วโมงหลังการใส่เฝือก อาการบวมอาจทำให้รู้สึกคับแน่นที่เฝือกและเกิดอาการปวดได้ ซึ่งคุณสามารถลดอาการปวดบวมได้ด้วยการยกแขนหรือขาที่หักให้สูงกว่าระดับหัวใจ (เช่น ใช้ผ้าคล้องแขน วางขาบนหมอน ผ้า หรือเก้าอี้), ขยับนิ้วมือนิ้วเท้าที่อยู่นอกเฝือกอย่างช้า ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ และบ่อย ๆ และให้ใช้ความเย็นประคบบนเฝือก (ใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกแห้งแล้วประคบรอบ ๆ เฝือกบริเวณที่หัก)
  • ควรดูแลเฝือกให้แห้งเสมอ อย่าให้น้ำเข้าไปในเฝือกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังส่วนที่อยู่ในเฝือกเปื่อยเน่าได้ ถ้าต้องอาบน้ำควรหุ้มเฝือกด้วยพลาสติก 2 ชั้น แล้วพันปากถุงด้วยเชือกให้แน่น
  • พยายามอย่าให้สิ่งสกปรก ฝุ่น หรือทราย เข้าไปในเฝือก
  • ไม่ควรดึงสำลีรองเฝือกออก และไม่ควรตัดขอบเฝือกเองหรือตัดเฝือกให้สั้นลง
  • ไม่ควรใส่แป้งเข้าไปในเฝือก หรือใช้ไม้หรือสิ่งอื่นใส่เข้าไปในเฝือกเพื่อเกาโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ในเฝือกเกิดแผลและกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ง่าย ถ้ามีอาการคันอาจลองใช้ที่เป่าผมเป่าบริเวณใส่เฝือกดูก่อน หรือรับประยาแก้แพ้/แก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือใช้สเปรย์แป้งสำหรับฉีดพ่นเข้าไปในเฝือก (เช่น ยี่ห้อ CAST COMFORT) แต่ถ้ามีอาการคันมากควรไปพบแพทย์
  • ไม่ควรใช้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินไป รวมทั้งหลีกเลี่ยงการยกของหนักและขับรถจนกว่าอาการกระดูกหักจะหายดี
  • หลังการใส่เฝือก หากมีอาการปวดมากยิ่งขึ้นและรู้สึกคับเฝือกมาก (หลังจากยกสูง ประคบเย็น และรับประทานยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น), นิ้วมือหรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกมีสีเขียวคล้ำหรือซีดขาวบวมมากขึ้น หรือมีอาการชาและรู้สึกซ่า ๆ (เกิดจากการกดเส้นประสาทมากเกินไป), เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน (อาจเกิดเนื่องจากการกดผิวหนังมากเกินไป), มีอาการบวมแดงที่บริเวณต่ำกว่าเฝือกหรือขอบเฝือก (อาจเกิดจากเฝือกทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี), มีเลือด น้ำเหลือง หรือหนอง ไหลซึมออกมาจากเฝือก หรือมีกลิ่นเหม็น, ไม่สามารถขยับเขยื้อนนิ้วมือหรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกได้, เฝือกหลวม บุบสลาย หรือแตกหัก, และ/หรือมีวัตถุแปลกปลอมเข้าไปในเฝือก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • โดยทั่วไปถ้าไม่มีปัญหา หลังการใส่เฝือกแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อดูอาการและดูว่าเฝือกหลวมหรือไม่ (เพราะเมื่อใส่เฝือกไปได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เฝือกมักจะหลวม เนื่องจากอาการบวมลดลงหรือกล้ามเนื้อลีบ) ถ้าเฝือกหลวมก็อาจต้องเอกซเรย์และเปลี่ยนเฝือกใหม่ (แต่ถ้าเป็นเฝือกลมก็สามารถเพิ่มลมให้เฝือกแน่นขึ้นได้) หรือถ้าเฝือกยังแน่นและแข็งแรงดีอยู่ แพทย์ก็จัดนัดมาตรวจทุก 1-2 เดือนเพื่อเอกซเรย์ดูจนกว่ากระดูกจะติดกันสนิท โดยทั่วไปแพทย์จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ (เพราะในระยะนี้กระดูกจะเริ่มติดกันแล้ว และแพทย์จะให้เปลี่ยนไปใช้เฝือกชั่วคราวแทนเพื่อความสะดวกในการทำกายภาพบำบัด) แต่กระดูกจะติดสนิทนั้นจะต้องใช้เวลาถึง 4 – 6 เดือน ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเอาเฝือกออกแล้วกระดูกที่หักก็ยังติดไม่สนิท จึงควรระมัดระวังในการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เช่นนั้นกระดูกที่เริ่มติดอาจจะหักซ้ำได้ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นรักษากันใหม่
  • ไม่ตัดเฝือกออกเอง เพราะอาจตัดถูกผิวหนังหรือทำให้กระดูกหายไม่ดี เมื่อถึงเวลาเอาเฝือกออก แพทย์จะใช้เลื่อยสำหรับตัดเฝือกโดยเฉพาะ ซี่งใบเลื่อยจะเป็นแบบสั่นไปด้านข้าง ไม่ใช่เป็นใบเลื่อยแบบหมุน ซึ่งเมื่อใบเลื่อยถูกกับสำลีรองเฝือก สำลีรองเฝือกจะไม่ขาด ทำให้ผิวหนังไม่ได้รับอันตราย (เลื่อยตัดเฝือกอาจทำให้เกิดเสียงดังและรู้สึกร้อนจากการเสียดสี แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด)
  • หลังการถอดเฝือกหรือถอดอุปกรณ์ดามกระดูกออกแล้ว อาจเกิดอาการข้อติดแข็ง บวม และมีเนื้อปูดอยู่หลายสัปดาห์ ส่วนในเด็กอาจมีขนขึ้นที่แขนหรือขา เพราะเฝือกทำให้รูขุมขนระคายเคือง ผู้ที่กระดูกขาหักอาจเดินไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนกระดูกที่หักมักใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และไม่หักโหมใช้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินไป
  • ส่วนการดูแลหลังจากเอาเฝือกออก ให้เริ่มจากการทำความสะอาดผิวหนังเบา ๆ ด้วยสบู่และน้ำ อาจทาน้ำมันหรือโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น แล้วเริ่มเคลื่อนไหวข้อที่ถอดเฝือกออกทันที โดยค่อย ๆ ทำเพิ่มขึ้น ให้ทำเท่าที่ทำได้และทำบ่อย ๆ ถ้าพบว่ามีอาการบวม ควรยกแขนหรือขาที่หักให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่น ใช้ผ้าคล้องแขน  วางขาบนหมอ ผ้า หรือเก้าอี้
  • สำหรับการดูแลตนเองในกรณีที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็ก ก็ให้การดูแลเช่นเดียวกับการใส่เฝือก แต่ให้ระวังเรื่องไข้ เพราะการผ่าตัดอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ ถ้าพบว่ามีไข้ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที แม้จะยังไม่ถึงเวลานัดก็ตาม

คำแนะนำเกี่ยวกับกระดูกหัก

  • เมื่อสงสัยว่ากระดูกหัก ให้ปฏิตามคำแนะนำในหัวข้อการปฐมพยาบาล เช่น การโทรเรียกรถพยาบาล การดามกระดูกส่วนที่หักชั่วคราว (ถ้ามีเลือดออกให้ห้ามเลือดก่อน) เพื่อให้บริเวณที่หักอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ลดอาการเจ็บปวด ป้องกันไม่ให้กระดูกที่หักเคลื่อนไปทิ่มแทงทำอันตรายต่อเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง (เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท) และช่วยทำให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บได้ง่ายและสะดวก (ในกรณีที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลและค่อนข้างมั่นใจว่าการบาดเจ็บนั้นไม่รุนแรง ผู้ให้การช่วยเหลืออาจตัดสินใจขับรถพาผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลเองได้เลย )
  • โดยธรรมชาติแล้วกระดูกที่หักจะสามารถต่อกันได้เอง ดังนั้นการรักษาจึงอยู่ที่การดึงกระดูกให้เข้าที่และตรึงไว้ (ดามหรือเข้าเฝือก) ไม่ให้เลื่อนจากแนวปกติ แล้วรอให้กระดูกติดกันเองจนสนิท ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 1-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย (ในเด็กจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่) ตำแหน่งของกระดูกที่หัก (แขนจะหายเร็วกว่าขา) และลักษณะของกระดูกที่หัก ซึ่งแพทย์จะเพียงประมาณระยะเวลาให้ได้อย่างคร่าว ๆ แต่จะตัดสินว่ากระดูกติดแล้วได้ก็ต่อเมื่อการเอกซเรย์ภาพกระดูกพบว่ามีกระดูกใหม่มาพอก (Callus) มากเพียงพอ (ซึ่งโดยทั่วไปก็อย่างน้อยประมาณ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป) ดังนั้น ในการจะกลับมาใช้งานกระดูก เช่น การถอดเฝือก การเริ่มลงน้ำหนัก ฯลฯ จะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหักซ้ำ กระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป และ/หรือกระดูกสั้นยาวไม่เท่ากัน
  • การรักษากระดูกที่หักด้วยตัวเองหรือให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีการรักษาอย่างถูกต้องเป็นผู้ให้การรักษานั้นไม่ควรทำ ยิ่งในปัจจุบันนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยังนิยมไปรักษากับหมอรักษากระดูกแผนโบราณ (มีทั้งหมอพื้นบ้านและหมอพระ ซึ่งกระจายอยู่ในชุมชนทั่วไป) ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดาและไม่รุนแรงก็อาจจะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรง กระดูกอาจติดกันได้ไม่ดี ทำให้กระดูกผิดรูปหรือผิดที่ผิดทาง แขนขาโก่ง หรือใช้การไม่ได้และทำให้เกิดความพิกลพิการตามมาได้ ซึ่งจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้แก้ไขในภายหลัง ดังนั้น ประชาชนและหมอรักษากระดูกแผนโบราณจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษากระดูกของแพทย์แผนปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
  • ชาวบ้านมักมีความเชื่อและความกลัวอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษากระดูกของแพทย์ เช่น เชื่อว่าใส่เฝือกปูนหนา ๆ แล้วจะทำให้เนื้อเน่าอยู่ในเฝือก, กลัวที่จะถูกตัดแขน ตัดขา, รู้สึกว่าการให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงและใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่เป็นเรื่องที่น่าทรมาร หรือไม่ก็คิดว่าแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ชี้แจงพูดคุยกับผู้ป่วยเองเพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลและวิธีการรักษา
  • อาหารบำรุงกระดูกหัก ที่สำคัญมากที่สุดคือ แคลเซียม (อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมสด ปลาตัวเล็ก ๆ กบ เขียด แย้ โยเกิร์ต กุ้ง กะปิ เต้าหู้ เป็นต้น) แต่การบริโภคแคลเซียมเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างกระดูก เพราะนอกจากแคลเซียมแล้ว กระดูกยังต้องการวิตามินดี (ช่วยในการดูดซับแคลเซียม อาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น นม ปลาแซลมอน กุ้ง เป็นต้น), แมกนีเซียม (ช่วยดูดซับและใช้วิตามินดี อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น อัลมอนด์ ผักขม ถั่วอัลฟัลฟ่า), วิตามินเค (ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ไม่หักง่าย อาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น ผักขม บร็อคโคลี ผักใบเขียวต่าง ๆ), แมงกานีส สังกะสี และทองแดง (ในแต่ละวันร่างกายจะต้องแมงกานีสและสังกะสี ซึ่งในถั่ว ธัญญพืชต่าง ๆ มะเขือเทศ สับปะรด และเต้าหู้ จะมีทองแดงและแมงกานีสสูง ส่วนอาหารทะเล เนื้อแดง ถั่ว จัเป็นแหล่งของสังกะสี)

วิธีป้องกันกระดูกหัก

กระดูกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่เราสามารถป้องกันและระวังไม่ให้เกิดได้ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงดังที่กล่าวมา ซึ่งทำได้ดังนี้

  1. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้ดี เพื่อระวังไม่ให้เล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งปิดหน้าต่างหรือมีทางกั้นตรงทางขึ้นลงบันไดเพื่อป้อกงันเด็กเล็กพลัดตกลงไป
  2. ไม่ควรวางสิ่งของทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได เพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดล้ม
  3. เมื่อต้องใช้บันได้หรือนั่งร่าน ควรหลีกเลี่ยงการยืนอยู่บนดันขั้นบนสุด รวมทั้งให้คนอื่นช่วยจับบันไดเอาไว้ในขณะที่ปีนขึ้นไปด้วย
  4. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งในขณะที่ขับหรือโดยสารรถยนต์
  5. สวมอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกเมื่อต้องขับขี่จักรยานยนต์หรือทำกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ เช่น สวมหมวกกันน็อค ใส่สนับเข่า มือ และข้อศอก
  6. ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสมดุลให้มวลกระดูก รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียมเสริม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กระดูกหัก (Fracture/Broken bones)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1051-1053
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กระดูกซี่โครงหัก (Rib fracture)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1054.
  3. หาหมอดอทคอม.  “กระดูกหัก (Bone fracture)”.  (นพ.อำนวย จิระสิริกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 มิ.ย. 2017].
  4. พบแพทย์.  “กระดูกหัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [20 มิ.ย. 2017].
  5. ไทยคลินิก.  “กระดูกหักรักษาอย่างไรดี”.  (นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaiclinic.com.  [21 มิ.ย. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด