กระชายแดง
กระชายแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr., Gastrochilus pandurata (Roxb.) Ridl., Kaempferia pandurata Roxb.[4] จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรกระชายแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระชายป่า[1], ขิงแคลง[2], ขิงแดง[4], ขิงทราย (ภาคอีสาน)[4], ขิงละแอน (ภาคเหนือ)[4] เป็นต้น
ลักษณะของกระชายแดง
-
- ต้นกระชายแดง จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน หรืออาจเรียกว่า “หัวกระชาย” หรือ “นมกระชาย” หรือ “กระโปก” ลักษณะทั่วไปเหมือนกันกับกระชายเหลือง แต่จะแตกต่างกันตรงเหง้าและเนื้อด้านในของเหง้า โดยเนื้อจะมีสีเหลืองแกมส้ม ส่วนขนาดของลำต้น ขนาดใบ เหง้าหรือรากจะเล็กกว่ากระชายเหลือง มีความสูงของทรงพุ่มประมาณ 30-80 เซนติเมตร เหง้าเรียวยาว ออกเป็นกระจุก ลักษณะของรากหรือเหง้าสะสมอาหารจะมีลักษณะเป็นแท่งกลม เรียวยาว พองตรงกลางและฉ่ำน้ำ เหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนและมีกลิ่นหอมอ่อนไม่แรงเหมือนกระชายเหลือง ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำดี เป็นที่ร่ม และในช่วงฤดูฝนจะแตกยอดขึ้นเหนือพื้นดิน หรืออาจเกิดได้ตลอดทั้งปีหากดินมีความชื้นสูง ส่วนกาบใบมีลักษณะซ้อนกันหลายชั้น มีสีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2],[3],[4] สามารถพบได้ทั่วไปของทุกภาคในประเทศ[2]
- ใบกระชายแดง มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปใบแกมหอก โคนใบสอบ ขอบใบขนาน มีความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเรียบและเป็นมัน ก้านใบเป็นร่อง มีลิ้นใบบางใสที่ส่วนบนของกาบใบ โคนกาบใบและหลังใบมีสีแดงเรื่อ ๆ ส่วนที่กาบใบที่ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มลำต้นและหลังใบด้านล่าง[1],[2],[3]
- ดอกกระชายแดง ดอกออกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะยื่นยาวโผล่ขึ้นมาจากกลางยอดระหว่างใบ โดยจะโผล่เฉพาะส่วนที่เป็นกลีบดอกและส่วนของใบประดับ ดอกมีใบประดับหุ้มช่อดอก กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น 3 หยักสั้น ๆ บางใส ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว กลีบดอกมีสีชมพูอ่อน 3 กลีบ กลีบด้านบนมี 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม มีสีชมพูอ่อนถึงสีชมพู ส่วนกลีบด้านล่างมี 2 กลีบ จะอยู่บริเวณใต้กลีบปาก ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก มีปลายแหลม มีสีชมพูอ่อน ๆ ส่วนเกสรตัวผู้ ส่วนที่เป็นกลีบอยู่บนปลายยอดกลีบดอกจะมี 3 หยักแยกจากกัน โดยหยักบนจะมี 2 หยัก มีขนาดเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลม มีสีชมพูอ่อน ส่วนหยักล่างมี 1 หยัก มีขนาดใหญ่กว่าและเป็นรูปไข่กลับ กลางกลีบโค้งคล้ายท้องเรือ ส่วนปลายแผ่ขยายกว้าง ที่ขอบเป็นลอน พื้นมีสีชมพูมีสีแดงแต้มด้วยสีชมพูเข้ม ส่วนริมขอบปากเป็นลอนเล็กน้อย ก้านเกสรสั้น ลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนเกสรตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ มีสีขาวแกมชมพูอ่อน ที่โคนก้านเกสรจะมีต่อม 2 ต่อม ลักษณะเป็นรูปเรียวยาว และดอกย่อยของกระชายแดงจะทยอยบานทีละดอก[2],[3]
- ผลกระชายแดง ผลแก่มีพู 3 พู และมีเมล็ดอยู่ภายในผล[2]
สรรพคุณกระชายแดง
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยแก้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการใช้หัวตากแห้งนำมาบดละเอียดละลายผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนกินเป็นประจำก่อนอาหารเช้าและเย็น (หัว)[3]
- ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้กระชุ่มกระชวย (หัว)[4]
- ช่วยบำรุงระบบประสาทให้ทำงานได้ดีขึ้น (หัว)[5]
- ช่วยบำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ด้วยการใช้หัวแห้งนำมาบดผสมกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอนรับประทาน (หัว)[3],[4]
- ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว (หัว)[5]
- ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน (หัว)[5]
- ช่วยรักษาโรคในช่องปากต่าง ๆ แก้ปากเปื่อย ปากแตก มีแผลในช่องปาก (หัว)[4]
- ช่วยรักษามะเร็งเม็ดเลือด จาการวิจัยใหม่พบว่ากระชายแดงเป็นส่วนประกอบในการรักษามะเร็งเม็ดเลือด (BVHJ) ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ กระชายแดงทั้งต้น 50 กรัม, แพงพวยดอกขาวทั้งต้น 50 กรัม, หญ้างวงช้างทั้งต้น 50 กรัม, และสบู่แดงทั้งต้น 50 กรัม นำมาบดรวมกันให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มหลังอาหารครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 3 เวลา (ทั้งต้น)[5]
- ช่วยรักษามะเร็งกระดูก (BOE) โดยใช้กระชายแดงนำมาบดให้เป็นผง ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 2 ช้อนชา (ไม่ระบุว่ากินอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม) วันละ 3 เวลา อาการจะดีขึ้น (ไม่ระบุว่าเป็นส่วนไหน)[5]
- ช่วยแก้ลมอันเกิดแก่กองหทัยวาตะหรือลมในหัวใจ ที่ทำให้จิตใจระส่ำระสาย แก้อาการใจสั่น (หัว)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดมวนในท้อง (หัว)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสียดได้ดี มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย E.coli ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียดแน่น (หัว)[5]
- สาร Cineole ในกระชายแดงมีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้ จึงช่วยลดอาการปวดเกร็งได้[5]
- ช่วยแก้อาการปวดเบ่ง (หัว)[4]
- ช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (หัว)[4]
- ช่วยรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (หัว)[4]
- ช่วยแก้โรคพยาธิ ด้วยการใช้หัวนำมาปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานก่อนเข้านอนทุกวัน (หัว)[4]
- ช่วยขับระดูขาว แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี (หัว)[4]
- น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร[5]
- ป้องกันมะเร็งและช่วยทำให้ตับทำงานกำจัดสารพิษได้ (หัว)[5]
- จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า สาร Pinostrobin ในกระชายมีฤทธิ์ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกลาก 3 ชนิด และช่วยต้านการเจริญของเชื้อ Candida albican ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการตกขาวในสตรี[5]
- ช่วยป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม (หัว)[5]
- กระชายแดงมีสรรพคุณที่เหมือนกับกระชายเหลือง[1] โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ สรรพคุณและประโยชน์ของกระชาย 49 ข้อ ! (กระชายเหลือง)
- ตามตำราว่านระบุว่าสรรพคุณของกระชายแดงนั้นเหมือนสรรพคุณของกระชายดำทุกอย่าง เพียงแต่ว่าจะมีความพิเศษกว่าก็ตรงที่การนำมาใช้รักษาผู้ที่ถูกคุณไสย[5] โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายดำ 45 ข้อ !
ประโยชน์ของกระชายแดง
- หน่ออ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงรสในน้ำยาขนมจีน และใช้บริโภคเป็นผัดสดร่วมกับน้ำพริกได้[2]
- มีการนำกระชายแดงมาใช้เพื่อแก้การถูกคุณไสย ด้วยการใช้หัวนำมาโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน แล้วเสกด้วยคาถาบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ “อิติปิโสภะคะวา จนถึง ภะคะวาติ” ให้ครบ 16 จบ ก่อนนำให้ผู้ถูกคุณไสยรับประทาน หรือนำมาใช้ในทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [20 พ.ย. 2013].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักพื้นบ้าน กระชายแดง“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [20 พ.ย. 2013].
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านกระชายแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [20 พ.ย. 2013].
- ว่านและพรรณไม้สมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “กระชายแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [20 พ.ย. 2013].
- ไทยรัฐออนไลน์. “กระชายแดงกับงานวิจัยใหม่“. โดยนายแพทย์นพรัตน์ บุณยเลิศ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [20 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.biogang.net (by khawmao_satchamat), www.panmai.com, www.kasetporpeang.com by perasak_ed), www.natres.skc.rmuti.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)