กระชับ
กระชับ ชื่อสามัญ Burweed, California-bur, Cocklebur, Ditch-bur[2]
กระชับ ชื่อวิทยาศาสตร์ Xanthium strumarium L.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Xanthium sibiricum Patrexwidd[1], Xanthium americanum Walter[2], Xanthium chinense Miller[2], Xanthium indicum Koeing ex Roxb.[2], Xanthium japonicum Widder[2]) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรกระชับ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ครอก (ราชบุรี), หญ้าผมยุ่ง (เชียงใหม่), เกี๋ยงนา มะขัดน้ำ มะขะนัดน้ำ (ภาคเหนือ), เกี๋ยงน้ำ ขี้อ้น ขี้อ้นดอน ขี้อ้นน้ำ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ชางเอ๋อจื่อ (จีนกลาง), ผักกระชับ เป็นต้น[1],[2],[5],[6]
ลักษณะของกระชับ
- ต้นกระชับ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุราว 1 ปี (บ้างว่าหลายปี) มีความสูงของต้นประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวต้นหยาบ มีลายเส้นเป็นเหลี่ยม ๆ ทั้งต้น มีขนสีขาว ๆ ขึ้นอยู่ประปราย ผิวโคนต้นเป็นสีม่วง ส่วนผิวด้านบนของลำต้นเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีน้ำตาลดำ แตกกิ่งก้านได้มาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และเข้าใจว่าต้นกระชับนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา มีการแพร่กระจายเป็นวัชพืชไปทั่วโลก โดยมักจะขึ้นตามที่โล่ง แม่น้ำ ริมลำธาร ริมตลิ่ง ริมทะเล ตามหนองบึงทั่วไป รวมไปถึงตามที่รกร้างว่างเปล่า[1],[2],[5]
- ใบกระชับ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม เว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก แผ่นใบยาวประมาณ 9-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจตื้นหรือกลม ขอบใบเป็นซี่ฟันปลาหรือหยักเป็นฟันเลื่อยแบบไม่เป็นระเบียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 3.5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนสากทั้งสองด้าน[1],[2]
- ดอกกระชับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น เรียงแบบช่อกระจะบนแกนเดียว ดอกมีจำนวนมาก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกที่ปลายกิ่ง มีวงใบประดับ 1 วง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.2 เซนติเมตร กาบด้านนอกเป็นรูปขอบขนาน กาบด้านในมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว หลอดกลีบยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปลายเป็นจัก 5 จัก มีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน เชื่อมติดกันอยู่ ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ มีวงใบประดับอยู่ 1 วง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร โดยใบประดับด้านในจะเชื่อมติดกับกาบนอก ส่วนเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 2 แฉก[1],[2]
- ผลกระชับ ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปกลมรีหรือเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นคู่ ๆ ผลมีหนามนุ่มเป็นรูปตะขออยู่บนผิวของผล ที่ปลายผลเป็นจะงอยแหลม 2 อัน ในผลหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เรียกว่า “เมล็ดกระชับ” เมล็ดเป็นสีดำมีลักษณะเรียวยาวและเข็ง โดยจะมีความยาวประมาณ 8-16 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 5-12 มิลลิเมตร[1],[2]
สรรพคุณของกระชับ
- ผลใช้เป็นยาเย็น ยาบำรุงกำลัง (ผล)[6]
- รากใช้เป็นยาขมช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[6]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ, ต้น)[1],[6]
- ช่วยระงับประสาท (ต้น)[6]
- ช่วยแก้อาการปวดหู (ใบ, ต้น)[6]
- ช่วยแก้จมูกอักเสบเรื้อรังและริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้เมล็ดกระชับประมาณ 8 กรัม, ใบสะระแหน่ 5 กรัม, ใบชา 10 กรัม, รากหอมใหญ่ 6 กรัม, โกฐสอ 10 กรัม และดอกชุนฮัว 12 กรัม นำทั้งหมดมาต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน (ต้น)[1]
- น้ำสกัดจากผลใช้เป็นยาบ้วนปาก แก้อาการปวดฟันได้ (ผล)[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ (ราก, ต้น, ใบ, เมล็ด)[1],[6]
- เมล็ดใช้เป็นยารักษาไข้จับสั่น (เมล็ด)[1]
- ผลใช้เป็นยาแก้ไข้ทรพิษ (ผล)[6]
- ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคมาลาเรีย (ต้น)[6]
- ช่วยขับเหงื่อ (ต้น)[1],[6]
- ช่วยขับน้ำลาย (ต้น)[4],[6]
- ราก ลำต้น ใบ และเมล็ดมีรสขม เผ็ดชุ่ม เป็นยาอุ่นแต่มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ช่วยขับลมชื้น (เมล็ด)[1]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะอักเสบ (ต้น)[6]
- ช่วยรักษาโรคท้องมาน (ผล)[6]
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ (ต้น)[6]
- ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)[1],[6]
- แก้มุตกิดของสตรี (ต้น)[6]
- ช่วยแก้อาการตกเลือดในสตรี (ราก, ต้น, ใบ, เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ต้น)[4],[6]
- ใบใช้แก้โรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง (ใบ)[6]
- ช่วยแก้พิษงูสวัด (ใบ)[1],[6]
- ช่วยแก้ลมพิษ (ผล)[6]
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ใบและลำต้นนำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่ถูกกัด (ใบ, ต้น)[1]
- ช่วยแก้โรคผิวหนัง รักษาโรคเรื้อน (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้หิด (ใบ, ต้น)[1],[6]
- ช่วยแก้ฝีหนองภายนอก ด้วยการใช้ต้นกระชับสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ต้มได้มาล้างบริเวณที่เป็นแผล (ต้น)[1]
- ใบและลำต้นนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกรักษาแผลปวดบวม (ใบ, ต้น)[6]
- ช่วยสมานแผลสด ช่วยห้ามเลือด (ราก, ใบ)[1],[6]
- ช่วยแก้อาการปวดกล้ามเนื้อ (ต้น)[6]
- ช่วยระงับอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อัมพาต (ผล)[6]
- ช่วยแก้ไขข้ออักเสบ (ต้น)[1]
- รากใช้เป็นยาแก้วัณโรคต่อมน้ำเหลืองและมะเร็ง (ราก)[6]
- รากและผลมีสารจำพวกอัลคาลอนด์ เช่น Xanthinin, Xanthumin และสาร Xanthatin ซึ่งเป็นที่มีสรรพคุณแก้แพ้ แก้อาการอักเสบได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อทางผิวหนัง โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น (ผล, ราก)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระชับ
- ทั้งต้นพบสาร 43-lsopetenyl, Strumaroside, Xanthinin, Xanthumin อีกทั้งยังมีสาร KNO3, C aSO4, Amino Acid เป็นต้น[1]
- เมล็ดกระชับพบสาร Xanthostrumarin 1.27% และพบสาร Xanthumin Xathnol และยังพบน้ำมันอีกประมาณ 39% ซึ่งในน้ำมันพบสาร เช่น Oleic acid และ Linoleic acid ในเมล็ดยังพบ Oxalic acid, เรซิน, วิตามินซี, โปรตีน, และน้ำตาลอีกด้วย[1]
- ในเมล็ดกระชับมีสาร Santhostrunarin โดยสารชนิดนี้เมื่อนำมาทดลองกับสัตว์ทดลอง จะพบว่ามันสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือดของสัตว์ทดลองได้ แต่สารดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้เหมือนสารอินซูลิน เนื่องจากสารดังกล่าวนั้นมีลักษณะการลดน้ำตาลในเลือดที่แตกต่างกันคือ อินซูลินจะทำให้หน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดที่มีอยู่ในกระแสเลือดให้ลดลง แต่สารจากเมล็ดกระชับจะทำให้หน้าที่สลายโครงสร้างของน้ำตาลที่กำลังสร้างขึ้นจากภายในตับ ดังนั้น จึงไม่มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือดที่เกิดจากการรับประทานเข้าได้เหมือนกับสารอินซูลิน[1]
- น้ำต้มที่ได้จากเมล็ดกระชับ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus inuza และ Staphylococcus ได้[1]
- สาร Santhostrunarin จากกระชับมีฤทธิ์เป็นพิษ โดยจะทำให้ bun. ในปัสสาวะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไต เพราะจะทำให้พิษไนโตรเจนจากปัสสาวะเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะมีผลในการทำลายตับ ทำให้ตับเกิดโรคได้ หรือหากพิษเข้าสู่สมองก็มีผลในการทำลายเส้นประสาทในสมอง และมีผลต่อชีวิตได้[1]
- หากฉีดสาร Santhostrunarin ในขนาด 10-16 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัม จะเริ่มถึงขีดอันตราย แต่ถ้าหากฉีดในขนาดถึง 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีพิษทำให้หนูเสียชีวิตได้[1]
- สำหรับวิธีการแก้พิษจากสาร Santhostrunarin ให้ฉีดน้ำเกลือ จะสามารถช่วยบรรเทาพิษลงได้ และขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ได้รับ[1]
ประโยชน์ของกระชับ
- ยอดอ่อนและต้นอ่อนที่มีใบแท้สมบูรณ์เมื่อทำให้สุกแล้วสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือใช้ต้นอ่อน (เพาะจากเมล็ด) นำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น ทำแกงส้ม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะระมัดระวัง เนื่องจากต้นกระชับมีสาร xanthostrumarin glycoside ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง[2],[3],[5]
- เมล็ดให้แป้ง โดยเมล็ดจากแป้งสามารถนำมาใช้ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวได้[2],[3]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกระชับ
- ต้นกล้าของกระชับจะมีพิษมาก ห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้[1]
- เมล็ดมีสาร Xanthostrumarin glycoside ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อสัตว์ สารนี้จะคงอยู่จนถึงระยะที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนมีใบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อใบแท้เริ่มมีการเจริญเติบโต ไกลโคไซด์จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยสารพิษชนิดนี้จะไม่สลายตัวแม้จะนำมาตากแดดให้แห้งแล้วก็ตาม[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “กระชับ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 24.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กระชับ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [28 ม.ค. 2014].
- หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. “กระชับ”.
- หนังสือคู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย. (ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา).
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “หญ้าหัวยุ่ง”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [28 ม.ค. 2014].
- สมุนไพรดอทคอม. “กระชับ”. อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรม สมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [28 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Valter Jacinto | Portugal, Vietnam Plants & The USA. plants, esta_ahi, chemazgz, Kelly Meze | Thessaloniki Greece)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)