กรวยป่า
กรวยป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Casearia grewiaefolia Vent.[2],[3] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Casearia kerri Craib, Casearia oblonga Craib[4]) ปัจจุบันได้ถูกย้ายมาอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
สมุนไพรกรวยป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตวย (เพชรบูรณ์), ตวยใหญ่ ตานเสี้ยน (พิษณุโลก), คอแลน (นครราชสีมา), ขุนเหยิง บุนเหยิง (สกลนคร), ผ่าสาม หมากผ่าสาม (นครปฐม, อุดรธานี), ก้วย ผีเสื้อหลวง สีเสื้อหลวง (ภาคเหนือ), คอแลน ผ่าสามตวย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สีเสื้อ, หมูหัน เป็นต้น[1],[3],[4],[6]
ลักษณะของกรวยป่า
- ต้นกรวยป่า จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร รูปทรงโปร่ง ออกกิ่งตั้งฉากกับลำต้น ลำต้นเปลาตรง มีลายสีขาวปนดำ คล้ายตัวแลนหรือตะกวด บางท้องที่จึงเรียกว่า “คอแลน” เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีเทา สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสั้น หนานุ่ม สีน้ำตาลแดง มีน้ำยางสีขาวใส ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว ต้นที่มีอายุมาก โคนต้นมักมีพูพอน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงหมู่เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ และป่าทุ่งทั่วไปจนถึงพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร[2],[3],[4]
- ใบกรวยป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนานหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนกว้าง มักเว้าเล็กน้อยที่รอยต่อก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นถี่ตื้น ๆ แผ่นใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร เนื้อใบหนา แผ่นใบเรียบ แผ่ หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันหรือมีขนเล็กน้อยที่เส้นกลางใบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นขึ้นปกคลุมทั่วไป เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นร่องทางด้านบน ด้านล่างนูนเห็นได้ชัด เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-14 เส้น แผ่นใบมีต่อมเป็นจุดและขีดสั้น ๆ กระจัดกระจายทั่วไป เมื่อส่องดูกับแสงสว่างจะโปร่งแสงก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยง หูใบมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ร่วงง่าย[2],[3],[4]
- ดอกกรวยป่า ออกดอกเป็นกระจุก กระจุกละ 2-8 ดอก โดยจะออกตามซอกใบที่หลุดร่วงไปแล้ว ก้านดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศสีขาวหรือสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับมีจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกขนาดเล็กมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว รูปงองุ้ม แต่ละกลีบจะไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนแน่น ส่วนด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน มีขนสั้นนุ่มเล็กน้อยหรือเกลี้ยง ตรงกลางมีแกนเป็นรูปเจดีย์คว่ำ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน เป็นรูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกลมเกลี้ยง หรือมีขนยาวห่าง มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[2],[3],[4]
- ผลกรวยป่า ผลเป็นผลแบบมีเนื้อ เมื่อแห้งจะแตกออก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลมันเรียบ เปลือกผลหนา เมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลืองและจะแตกอ้าออกเป็น 3 ซีก บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “ผ่าสาม” (มีแนวแตกกลางผล)[2],[3],[4]
- เมล็ดกรวยป่า ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงสด เมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร รูปร่างดูคล้ายผีเสื้อ หัวท้ายมน ผิวเมล็ดแข็งและเรียบเป็นมัน เป็นผลในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[2],[3],[4]
สรรพคุณของกรวยป่า
- เปลือกมีรสเมาขื่น ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต เป็นยาคุมธาตุ (เปลือก)[1],[2],[4],[5] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุเช่นเดียวกับเปลือก (ราก)[4]
- ผลใช้เป็นยาฟอกโลหิต (ผล)[4]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[5]
- ดอกและใบมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษหรือพิษไข้ตัวร้อน (ใบ, ดอก)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้กาฬ พิษกาฬ พิษอักเสบจากหัวกาฬ (ราก, ใบ, ดอก)[1],[2],[4]
- ใบใช้ผสมกับใบยาสูบ มวนสูบเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองขึ้นในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) (ใบ)[1],[2],[4],[5] ส่วนน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกด้วยเช่นกัน[4]
- ผลใช้เป็นยาแก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะเป็นพิษ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน (ผล)[4]
- เปลือกใช้เป็นยาขับผายลม (เปลือก)[4]
- รากและเปลือกมีรสเมาขื่นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก, เปลือก)[1],[2],[4],[5] บ้างใช้ทั้งใบและรากเป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบและราก)[4]
- ผลใช้เป็นยาแก้บิดปวดเบ่ง แก้ลงท้อง (ผล)[4]
- ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ราก)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก, เมล็ด)[1],[2],[4],[5]
- รากใช้เป็นยาบำรุงตับ แก้ตับพิการ (ความผิดปกติของตับ) (ราก)[1],[2],[4],[5]
- เปลือกใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือก)[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัว เช่น กลาก เกลื้อน หิด ผดผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยรักษามะเร็งลาม แก้บาดแผล นำมาหุงเป็นน้ำมันทาบาดแผลและผิวหนังติดเชื้อโรค (ใบ)[1],[2],[4],[5] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นเดียวกับใบ (ราก)[1],[2],[4]
- น้ำมันที่ได้จากเมล็ดที่ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4]
- เมล็ดมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิผิวหนัง (เมล็ด)[4]
- ใบและดอกใช้เป็นยาแก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ (ใบและดอก)[5]
ประโยชน์ของกรวยป่า
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาเบื่อปลา[4],[5]
- เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้สอย และเฟอร์นิเจอร์[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กรวยป่า (Kruai Pa)”. หน้า 17.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กรวยป่า”. หน้า 55.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรวยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [09 ก.ค. 2015].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผ่าสาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [09 ก.ค. 2015].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กรวยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [09 ก.ค. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กรวยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [09 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.biogang.net (by wawaza, moddang_nun), www.qsbg.org, www.rook100.com (by อาร์ต สองแคว)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)