กรดอะมิโน คืออะไร?
กรดอะมิโน (Amino acid) คือ หน่วยเล็ก ๆ ของโปรตีน ถ้าไม่มีกรดอะมิโนก็จะไม่มีโปรตีน กล่าวคือ เมื่อเรารับประทานอาหารที่ให้โปรตีนเข้าไป ระบบย่อยอาหารของเราก็จะย่อยโปรตีนเหล่านั้นให้เป็นกรดอะมิโนก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเจ็บป่วย ขนส่งสารอาหาร ฯลฯ แต่ถ้าร่างกายได้รับกรดอะมิโนมากเกินไป ก็จะขับออกมาทางเหงื่อหรือปัสสาวะจนหมด[1]
โดยกรดอะมิโนที่เรารู้จักคุ้นเคยและสำคัญต่อร่างกายจะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 20 ชนิด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนมาตรฐาน (แต่ในความเป็นจริงแล้วกรดอะมิโนจะมีมากกว่านั้น) และสามารถแบ่งกรดอะมิโนออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กรดอะมิโนไม่จำเป็น 11 ชนิด (ร่างกายที่แข็งแรงสามารถสร้างขึ้นเองได้) และกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด (ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารปกติหรือจากอาหารเสริม) ซึ่งกรดอะมิโนแต่ละชนิดก็จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปในร่างกาย และอาการของการขาดกรดอะมิโนแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง เกิดปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ ในเด็กอาจทำให้เจริญเติบโตช้า และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมายดังที่จะกล่าวถึงต่อไป
“กรดอะมิโนเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างโปรตีน กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมีทั้งหมด 20 ชนิด ที่มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหาร ฯลฯ โดยการเสริมกรดอะมิโนที่จำเป็นให้กับร่างกาย สามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะจากเนื้อวัว สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง เต้าหู้ ฯลฯ หรืออาจเสริมด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนได้หากจำเป็น”
ชนิดของกรดอะมิโน
กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมีทั้งหมด 20 ชนิด โดยแบ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้เรียกว่า “กรดอะมิโนไม่จำเป็น” (Nonessential amino acids) จำนวน 11 ชนิด และ “กรดอะมิโนจำเป็น” (Essential amino acids) จำนวน 9 ชนิด ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้และต้องเสริมด้วยการรับประทานอาหารเพิ่มเติม
กรดอะมิโนจำเป็น
- ทริปโตเฟน (Tryptophan) เป็นสารที่ช่วยรักษาสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมของทารก และเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ควบคุมอารมณ์ การนอนหลับ ความอยากอาหาร และความเจ็บปวด จากการศึกษาพบว่าการเสริมทริปโตเฟนสามารถช่วยลดความเครียด ปรับปรุงสุขภาพจิต บรรเทาอาการไมเกรน และช่วยส่งเสริมการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ และการขาดทริปโตเฟนอาจทำให้เกิดโรคเพลแลกรา (Pellagra) ซึ่งทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง ปัญหาระบบทางเดินอาหาร และอาการทางประสาทตามมาได้[2]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : จมูกข้าวสาลี คอทเทจชีส ไก่ และไก่งวง
- ทรีโอนีน (Threonine) จำเป็นสำหรับสุขภาพผิวและฟันที่แข็งแรง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในสารเคลือบฟัน และคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการช่วยเผาผลาญไขมัน ป้องกันการสะสมของไขมันในตับ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (โดยช่วยในการผลิตแอนติบอดี) ต้านการเกิดแผลเรื้อรัง ช่วยสร้างลิ่มเลือด (ป้องกันเลือดออก) มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดอะมิโนอย่างไกลซีนและเซรีน และอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการของโรคซึมเศร้าและโรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Lou Gehrig Disease) เนื่องจากทรีโอนินถูกพบได้มากในระบบประสาทส่วนกลาง[3] จากการศึกษาการขาดสารนี้ในสัตว์ทดลองจะทำให้สัตว์ทดลองมีความต้านทานต่อโรคน้อยลง[4]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : คอทเทจชีสและจมูกข้าวสาลี
- ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) จำเป็นต่อการผลิตสารสื่อประสาทในสมอง เช่น ไทโรซีน (Tyrosine), โดปามีน (Dopamine), อิพิเนฟริน (Epinephrine), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความตื่นตัวและความกระฉับกระเฉง และยังสำคัญต่อการผลิตกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ โดยรวมฟีนิลอะลานีนจะช่วยเพิ่มความตื่นตัว บรรเทาอาการซึมเศร้า ลดความอยากอาหาร เสริมความจำ และอาจช่วยเพิ่มความสนใจในเรื่องเพศ การขาดสารฟีนิลอะลานีนแม้จะพบได้น้อย แต่ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวของทารกตัวเพิ่มขึ้นไม่ดี ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและส่งผลต่อความจำในผู้ใหญ่[5]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 33 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ถั่วเหลือง ปลา ถั่วและถั่ว
- เมไทโอนีน (Methionine) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิซึมและล้างพิษ (โดยช่วยกำจัดโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและสารปรอท) และยังจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและช่วยดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างสังกะสีและซีลีเนียม[6]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ไข่ ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืช
- วาลีน (Valine) เป็นหนึ่งในสามของกรดอะมิโนสายโซ่กิ่ง (BCAAs) มีหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และมีส่วนในการสร้างพลังงาน นอกจากนี้ยังจำเป็นสำหรับการมีสมาธิและความสงบทางอารมณ์ การขาดกรดอะมิโนชนิดนี้อาจทำให้นอนไม่หลับและทำให้สมาธิลดลง[7]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 24 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ถั่วเหลือง ชีส ถั่วลิสง เห็ด ธัญพืชไม่ขัดสี และผัก
- ลิวซีน (Leucine) เช่นเดียวกับกรดอะมิโนวาลีน โดยลิวซีนจะเป็น BCAAs ที่มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์โปรตีนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการรักษาบาดแผล (ช่วยสมานแผล) และสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต และการขาดสารลิวซีนอาจทำให้ผมร่วง เป็นผื่นที่ผิวหนัง และเกิดอาการเมื่อยล้า[8]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 42 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : นม ถั่วเหลือง ถั่วและพืชตระกูลถั่ว
- ไอโซลิวซีน (Isoleucine) เป็น BCAAs ตัวสุดท้ายจากทั้งหมด 3 ชนิด โดยเป็นกรดอะมิโนที่มีอยู่มากในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ และจำเป็นสำหรับการทำงานของภูมิคุ้มกัน การควบคุมพลังงาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลิตฮอร์โมน ผลิตฮีโมโกลบิน และช่วยในการรักษาบาดแผล ในผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มการขาดไอโซลิวซีนได้มากกว่าคนที่มีอายุน้อย ซึ่งการขาดสารนี้อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อกระตุกได้[9]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก ไข่ ชีส ถั่วเลนทิล ถั่ว และเมล็ดพืช
- ไลซีน (Lysine) มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน ดูดซึมแคลเซียม และผลิตฮอร์โมนและเอนไซม์ จำเป็นสำหรับการสร้างพลังงาน ผลิตคอลลาเจนและอีลาสติน สร้างกล้ามเนื้อ รักษาความแข็งแรงของกระดูก (ป้องกันโรคกระดูกพรุน) ช่วยฟื้นฟูการบาดเจ็บหรือจากการผ่าตัด และช่วยเสริมสมาธิ[10] แม้จะมีงานวิจัยไม่มากเกี่ยวกับการขาดไลซีน แต่มีการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าการขาดกรดอะมิโนชนิดนี้สามารถทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียดได้[11]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 38 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์, ไข่, ถั่วเหลือง, ถั่วดำคีนัว, เมล็ดฟักทอง
- ฮิสทิดีน (Histidine) จำเป็นในการสร้างสารสื่อประสาทฮีสตามีน (histamine) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร วงจรการนอนหลับและตื่นนอน และการทำงานทางเพศ และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ปลอกไมอีลิน (Myelin sheath) ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มของเซลล์ประสาทที่คอยป้องกันเซลล์ประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดฮีสทิดีนอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบ[12]
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 14 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์ ปลา เนื้อสัตว์ปีก ถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี
แหล่งอาหารของกรดอะมิโนจำเป็น : แหล่งอาหารที่ดีที่สุดที่ให้กรดอะมิโนจำเป็น คือ โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อวัว สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เต้าหู้ ส่วนผู้ที่รับประทานมังสวิรัติสามารถได้รับกรดอะมิโนจำเป็นจากนมถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดพืช ธัญพืช ควินัว บัควีท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องรับประทานที่ให้กรดอะมิโนทั้งหมด 9 ชนิดในมื้อเดียว (ตามคำแนะนำเดิม) โดยสามารถแบ่งทานเป็นมื้อ ๆ ได้ตลอดทั้งวัน[16]
กรดอะมิโนไม่จำเป็น
- อาร์จินีน (Arginine)* ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการเหนื่อยล้า และช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ
- ซิสเทอีน (Cysteine)* มีความสำคัญต่อการผลิตคอลลาเจน ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี
- กลูตามีน (Glutamine)* : ช่วยสนับสนุนกระบวนการเผาผลาญและให้พลังงานแก่เซลล์ในร่างกาย
- ไกลซีน (Glycine)* ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยสนับสนุนการทำงานของสมอง
- โพรลีน (Proline)* ช่วยส่งเสริมสุขภาพข้อต่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง และช่วยในการเผาผลาญอาหาร
- ซีรีน (Serine)* จำเป็นสำหรับการเผาผลาญไขมัน การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
- ไทโรซีน (Tyrosine)* ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ เมลานิน และอะดรีนาลีน
- อะลานีน (Alanine) ช่วยในการเผาผลาญและให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง
- แอสพาราจีน (Asparagine) ทำหน้าที่เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยปรับการทำงานของสมองและเซลล์ประสาทให้เหมาะสม
- กรดแอสพาร์ติก (Aspartic acid) : ช่วยสร้างกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งแอสพาราจีน อาร์จินีน และไลซีน
- กรดกลูตามิก (Glutamic acid) : ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง มีความสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ และความจำ[26]
นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนเพิ่มเติมอีก 3 ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อกรดอะมิโนมาตรฐาน แต่ก็พบเห็นได้บ่อย ๆ เช่น
- ซิสทีน (Cystine) ช่วยเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างโปรตีนในร่างกาย
- ทอรีน (Taurine) ส่งเสริมการมองเห็น ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ช่วยให้หัวใจทำงานได้แข็งแรงขึ้น ช่วยรักษาโรควิตกกังวลและโรคลมชัก
- ออร์นิทีน (Ornitine)* ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพื่อมาช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นักเพาะกายจึงนิยมมาก
หมายเหตุ* : กรดอะมิโนไม่จำเป็นหลายชนิดก็จัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นได้ในบางกรณี เรียกว่า “กรดอะมิโนเฉพาะกาล” เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก ผู้อยู่ในช่วงเจ็บป่วย ผู้มีความเครียดสูง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างทำคีโมบำบัด ฯลฯ ที่ในช่วงเวลาเหล่านี้ ร่างกายอาจไม่สามารถผลิตกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นได้อย่างเพียงพอ (เช่น อาร์จินีนที่ถือเป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็น แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้มากพอตามที่ร่างกายต้องการเมื่อเรากำป่วยเป็นโรคเรื้อรังบางอย่างอยู่ เช่น มะเร็ง หรือในหญิงตั้งครรภ์ที่ร่างกายจะต้องการกรดอะมิโนไกลซีนและอาร์จินีนมากกว่าปกติเพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์และของคุณแม่ตั้งครรภ์) ด้วยเหตุนี้ ในบางสถานการณ์ ในบางคนอาจจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเกี่ยวกับความจำเป็น ความปลอดภัย และปริมาณการใช้[13],[14],[15]
กรดอะมิโนเฉพาะกาล (Conditional amino acids) ได้แก่ Arginine, Cysteine, Glutamine, Glycine, Proline, Serine, Tyrosine และ Ornithine
“กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา ร่างกายของคนเราต้องการกรดอะมิโน 20 ชนิดที่แตกต่างกันเพื่อช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติและเหมาะสมเพราะกรดอะมิโนเกี่ยวข้องกับระบบและกระบวนการหลายอย่างในร่างกาย ตั้งแต่ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร การเจริญเติบโต การสร้างพลังงาน เป็นต้น นั่นจึงสาเหตุว่าการขาดกรดอะมิโนบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น อาเจียน ไม่อยากอาหาร และอาจรวมถึงภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนแรง หากเกิดขึ้นในเด็กอาจทำให้มีการเจริญเติบโตช้า เป็นต้น”
ประโยชน์ของกรดอะมิโน
แม้ว่ากรดอะมิโนทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นจะสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท แต่การรับประทานในปริมาณที่เข้มข้นในรูปแบบเสริมนั้นเชื่อมโยงกับประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้
- อาจเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย
- อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- อาจช่วยสร้างฮอร์โมนและสารสื่อประสาท ส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น เพราะทริปโตเฟนจำเป็นสำหรับการผลิตเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ โดยระดับเซโรโทนินที่ต่ำจะเชื่อมโยงกับอารมณ์ซึมเศร้าและการมีปัญหาเรื่องการนอน โดยจากการทบทวนการศึกษาคุณภาพสูงรวม 11 ชิ้นพบว่าการทานเสริมสามารถช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพดี[17]
- อาจช่วยย่อยอาหารและรักษาระบบย่อยอาหารให้ทำงานปกติ
- อาจช่วยรักษาสุขภาพผม ผิวและเล็บ
- อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพในการออกกำลังกายและการฟื้นตัว มีนักกีฬาหลายคนที่มักใช้กรดอะมิโน BCAAs (Valine, Leucine, Isoleucine) เพื่อลดความเหนื่อยล้า เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง) กระตุ้นการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ลดความเสียหายของกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย เพราะมีหลายการศึกษาที่ยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพดังกล่าวเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[18],[19],[20],[21]
- อาจช่วยเสริมสร้างและลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่า หากได้รับกรดอะมิโนจำเป็นไม่เพียงพออาจทำให้มวลกล้ามของผู้สูงอายุลดลง[22] และการเสริมกรดอะมิโนจำเป็นอาจช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุที่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า[23]
- อาจช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย
- อาจช่วยในการรักษาบาดแผลและการผ่าตัด โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับกรดอะมิโนเฉพาะกาล (Conditional amino acids) เป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัดจะมีอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าผู้ที่ได้รับสารอาหารมาตรฐาน[24] ส่วนการใช้กรดอะมิโน BCAAs (Valine, Leucine, Isoleucine) ในช่วงการผ่าตัดสามารถลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดจากการติดเชื้อได้[25]
คนส่วนใหญ่ได้รับกรดอะมิโนเพียงพออยู่แล้วจากอาหารที่ให้โปรตีน อย่างไรก็ตาม การเสริมกรดอะมิโนในรูปของอาหารเสริมนั้นอาจมีประโยชน์สำหรับบางคน เช่น ในผู้สูงอายุที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันหรือลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ, ในผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังการเจ็บป่วยหรือผ่าตัด, ในนักกีฬาหรือในคนที่ออกกำลังกายหนักที่ต้องการเสริมสมรรถภาพการออกกำลังกายและการฟื้นตัว, ในคนที่ทำงานหนักที่ต้องการเสริมพื่อช่วยปรับปรุงอารมณ์และการนอนหลับให้ดีขึ้น รวมถึงในคนทั่วไปที่อาจเสริมกรดอะมิโนเพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
- NIH. “Biochemistry, Essential Amino Acids”. (2022)
- NIH. “Tryptophan”. (2022)
- NIH. “L-threonine”. (2022)
- MedicalNewsToday. “What to know about essential amino acids”. (2019)
- NIH. “Phenylalanine”. (2022)
- NIH. “Methionine”. (2022)
- NIH. “Valine”. (2022)
- NIH. “Leucine”. (2022)
- NIH. “l-Isoleucine”. (2022)
- NIH. “Lysine”. (2022)
- The Journal of Nutrition. “Dietary L-Lysine Deficiency Increases Stress-Induced Anxiety and Fecal Excretion in Rats”. (2002)
- NIH. “Histidine”. (2022)
- NIH. “When Is It Appropriate to Use Arginine in Critical Illness?”. (2016)
- NIH. “Glycine, a Dispensable Amino Acid, Is Conditionally Indispensable in Late Stages of Human Pregnancy”. (2021)
- NIH. “Acquired Amino Acid Deficiencies: A Focus on Arginine and Glutamine”. (2017)
- NIH. “Protein content and amino acid composition of commercially available plant-based protein isolates”. (2018)
- NIH. “A systematic review of the effect of L-tryptophan supplementation on mood and emotional functioning”. (2021)
- NIH. “The effects of acute branched-chain amino acid supplementation on recovery from a single bout of hypertrophy exercise in resistance-trained athletes”. (2017)
- NIH. “Branched-chain amino acid supplementation and exercise-induced muscle damage in exercise recovery: A meta-analysis of randomized clinical trials”. (2017)
- NIH. “Does Branched-Chain Amino Acids (BCAAs) Supplementation Attenuate Muscle Damage Markers and Soreness after Resistance Exercise in Trained Males? A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials”. (2021)
- NIH. “Effects of a commercially available branched-chain amino acid-alanine-carbohydrate-based sports supplement on perceived exertion and performance in high intensity endurance cycling tests”. (2020)
- The New York Academy of Sciences. “The importance of dietary protein for muscle health in inactive, hospitalized older adults”. (2014)
- NIH. “Essential Amino Acid Supplementation Mitigates Muscle Atrophy After Total Knee Arthroplasty”. (2018)
- NIH. “Amino Acid Supplementation Is Associated with Reduced Mortality and Complications Following Acute Fracture Fixation: Results of a Prospective, Randomized Controlled Trial”. (2020)
- NIH. “Are Supplemental Branched-Chain Amino Acids Beneficial During the Oncological Peri-Operative Period: A Systematic Review and Meta-Analysis”. (2021)
- NIH. “Non-Essential vs. Essential Amino Acids + Benefits for Weight Loss, Muscle Gain and Even Mood”. (2022)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2022