กกลังกา
กกลังกา ชื่อสามัญ Umbrella plant, Flatsedge[1],[5]
กกลังกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus alternifolius L.[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus involucratus Rottb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cyperus alternifolius subsp. flabelliformis Kük., Cyperus flabelliformis Rottb.)[4] โดยจัดอยู่ในวงศ์กก (CYPERACEAE)
สมุนไพรกกลังกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กกขนาก, กกต้นกลม, หญ้าสเล็บ, หญ้าลังกา, กกดอกแดง (พระนครศรีอยุธยา),[1], กกรังกา หญ้ากก หญ้ารังกา (กรุงเทพฯ)[4], จิ่วหลงทู่จู (จีนกลาง), เฟิงเชอเฉ่า (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[3]
ลักษณะของกกลังกา
- ต้นกกลังกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นเหนือดินสร้างช่อดอกและแตกเป็นกอ มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าแข็งสั้นๆ คล้ายจำพวกขิงหรือเร่ว ลำต้นตั้งตรงไม่มีกิ่งก้าน มีความสูงได้ประมาณ 100-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมค่อนข้างกลมมน มีสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวที่ชุ่มชื้นและมีอินทรีย์วัตถุสูง จนถึงน้ำลึก 60 เซนติเมตร ชอบความชื้นสูงและแสงแดดแบบเต็มวัน เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นตามบริเวณที่ที่เป็นโคลนหรือน้ำ เช่น ข้างแม่น้ำ สระ ลำคลอง หรือบ่อน้ำ[1],[5]
- ใบกกลังกา ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบบาง ออกแผ่ซ้อน ๆ กันอยู่ปลายยอดของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 18-19 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ใต้ท้องใบสาก ในต้นหนึ่ง ๆ จะมีใบประมาณ 18-25 ใบ[1]
- ดอกกกลังกา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มย่อยที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแตกแขนงย่อย 20-25 แขนง มีขนาดกว้างประมาณ 12-20 เซนติเมตร มีใบประดับรองรับช่อดอกประมาณ 4-10 ใบ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่ละแขนงจะมีดอกย่อยช่อละ 8-20 ดอก ดอกย่อยจะมีกาบหุ้ม ขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวแกมเขียว เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ก้านดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ มีสีเขียวอ่อน ยาวได้ประมาณ 6-7 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ผลกกลังกา ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว รูปรี หรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.9-1 มิลลิเมตร ผลเป็นสีน้ำตาล เปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว[2],[5]
สรรพคุณของกกลังกา
- ทั้งต้นรวมทั้งรากและเหง้า มีรสเปรี้ยว หวาน ขมเล็กน้อย เป็นยา เย็น ใช้เป็นยาฟอกเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี (ทั้งต้น)[3]
- เหง้ามีรสขม ใช้ต้มเอาน้ำดื่มหรือนำมาบดให้เป็นผงละลายกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นยาทำให้เจริญอาหาร (เหง้า)[1],[2],[4],[6]
- ใช้เหง้าต้มกับน้ำดื่มหรือบดเป็นผงละลายกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ เสมหะเฟื่อง และช่วยขับน้ำลาย (เหง้า)[1],[2],[4],[6]
- ดอกใช้ต้มกับน้ำดื่มหรืออมกลั้วคอ เป็นยาแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากซีด (ดอก)[1],[2],[3],[4],[5]
- ใบมีรสเย็นเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฆ่าพยาธิ ฆ่าเชื้อโรคภายใน (ใบ)[1],[2],[4],[6]
- หลังการคลอดบุตรของสตรี หากมีอาการปวดท้องน้อยหรือตกเลือด ให้ใช้เหง้ากกลังกานำมาฝนใส่เหล้า แล้วนำไปคั่วจนเนื้อยาเป็นสีคล้ำ นำข้าวสาร 1 กำมือ และยาที่คั่วแล้วปริมาณ 60 กรัม ใส่หม้อนำไปต้ม แล้วจึงนำมารับประทานเป็นยารักษา (เหง้า)[3]
- ลำต้นมีรสจืด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท่อน้ำดีอักเสบ ช่วยขับน้ำดีให้ตกลำไส้ และเป็นยาทำลายดีอันผูกไว้ซึ่งพิษ (ลำต้น)[1],[3],[6]
- ใช้เป็นยาแก้ตัวเหลือง ตาเหลือง แก้ดีซ่าน (ทั้งต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้พิษงู ด้วยการใช้เหง้ากกลังกาที่แช่เหล้าไว้นาน 2 อาทิตย์ขึ้นไป นำมาล้างแผลที่โดนงูกัดและใช้เหล้าที่ได้จากนี้รับประทานครั้งละ 1 แก้วยา จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือถอนพิษงูได้ชั่วคราว (เหง้า)[3]
- ใบใช้ตำพอกเป็นยาฆ่าเชื้อโรคหรือพยาธิที่บาดแผล ซึ่งเป็นตัวนำเชื้อโรคทั้งหมด (ใบ)[1],[2],[4],[5],[6]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือตำกับเหล้าคั้นเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ช้ำในและการตกเลือดจากอวัยวะภายใน ช่วยขับเลือดเน่าเสียออกจากร่างกาย (ราก)[1],[2],[3],[4],[6]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (ทั้งต้น)[3]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกภายนอกตามต้องการ[3]
ประโยชน์ของกกลังกา
- ในการใช้งานด้านภูมิทัศน์ จะนิยมนำต้นกกลังกามาปลูกไว้เป็นไม้ประดับตามริมสระน้ำในสวนหรือใช้ปลูกในภาชนะร่วมกับไม้น้ำอื่น ๆ[5],[6]
- ใช้เป็นวัสดุในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน[6]
- การปลูกต้นกกลังกาไว้ริมขอบน้ำจะเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ต้นกกลังกายังมีคุณสมบัติในการช่วยบำบัดน้ำเสียและช่วยปรับสมดุลทางระบบนิเวศวิทยาได้อีกด้วย[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กกลังกา”. หน้า 1-2.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กกรังกา”. หน้า 54.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กกลังกา”. หน้า 16.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กกลังกา (Kok Rang Ka)”. หน้า 14.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กกลังกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [11 ก.ค. 2015].
- โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม. “กกลังกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.kp.ac.th. [11 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by naturgucker.de / enjoynature.net, Lois Bravo, Penny Wang, Graeme Walker, Todd Boland, stonebird, sclereid0309, tutincommon)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)