ไทรย้อย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไทรย้อยใบแหลม 15 ข้อ !

ไทรย้อย

ไทรย้อย ชื่อสามัญ Golden Fig, Weeping Fig, Weeping or Java Fig, Weeping Chinese Bonyan, Benjamin Tree, Benjamin’s fig, Ficus tree[1],[3]

ไทรย้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benjamina L. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1],[2]

สมุนไพรไทรย้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไทรพัน (ลำปาง), ไทร (นครศรีธรรมราช), ไทรกระเบื้อง (ประจวบคีรีขันธ์), ไฮ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ไทรย้อยใบแหลม (กรุงเทพฯ), จาเรย (เขมร), ไซรย้อย เป็นต้น[1],[2],[3],[6]

ข้อควรทราบ : ต้นไทรย้อยใบแหลมเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร[5]

ลักษณะของไทรย้อย

  • ต้นไทรย้อย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย อินเดีย และภูมิภาคมาเลเซีย จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือพุ่มไม้ผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกเป็นพุ่มหนาทึบและแผ่กิ่งก้านสาขาทิ้งใบห้อยย้อยลง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านห้อยย้อยลง มีลำต้นที่สูงใหญ่ ตามลำต้นจะมีรากอากาศแตกย้อยลงสู่พื้นดินเป็นจำนวนมากดูสวยงาม รากอากาศเป็นรากขนาดเล็ก เป็นเส้นสีน้ำตาล ลักษณะรากกลมยาวเหมือนเส้นลวดย้อยลงมาจากต้น รากอากาศที่มีขนาดใหญ่จะมีเนื้อไม้ด้วย มีรสจืดและฝาด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจ้า ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชุ่มชื้นในระดับปานกลาง ไทรย้อยมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในประเทศเขตร้อน พบได้ที่อินเดีย เนปาล ปากีสถาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นกระจายในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา และบางครั้งอาจพบได้ตามเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร[1],[2],[3],[5],[6]

ต้นไทรย้อย

ต้นไทรย้อยใบแหลม

  • ใบไทรย้อย ไทรย้อยแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีลักษณะของใบที่แตกต่างกันเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่ บางต้นลักษณะของใบเป็นรูปกลมป้อม ส่วนบางพรรณก็เป็นรูปยาวรี แต่โดยทั่วไปแล้วใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-11 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นสีเขียวเรียบเป็นมันเหมือนกันหมด เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 6-16 เส้น ส่วนเส้นแขนงใบย่อยเรียงขนานกัน มีต่อมไขที่โคนเส้นกลางใบ ก้านยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร มีหูใบยาวประมาณ 0.5-2.8 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย เกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย[1],[3],[6]

ใบไทรย้อย

  • ดอกไทรย้อย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก เกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปทรงกลมคล้ายผล ออกเป็นคู่จากจ้างกิ่ง ไม่มีกลีบดอก[3] ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ช่อดอกของไทรก็คือผลที่ยังไม่สุกนั่นเอง แต่เป็นช่อดอกที่ได้รับการออกแบบมาให้ม้วนดอกทั้งหลายกลับนอกเข้าในเพื่อทำหน้าที่พิเศษ ถ้านำมาผ่าดูก็จะพบว่าข้างในกลวง ที่ผนังมีดอกขนาดเล็ก ๆ จำนวนนับร้อย ๆ ดอก ด้านตรงข้ามกับขั้วผลไทรมีรูเปิดขนาดเล็กมาก และมีเกล็ดเล็ก ๆ ปิดซ้อนกันอยู่ โดยดอกไทรจะมีอยู่ด้วย 3 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกกอลล์ ซึ่งดอกกอลล์ (Gall flower) จะมีหน้าที่เป็นที่วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของ “ตัวต่อไทร” (เป็นแมลงชนิดเดียวเท่านั้นที่ช่วยผสมเกสรให้ต้นไทร)[5]

ดอกไทรย้อย

  • ผลไทรย้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรี ออกผลเป็นคู่ ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สีน้ำตาล สีชมพู สีส้มแดง หรือสีม่วงดำเมื่อแก่ ไร้ก้าน[3],[5],[6]

ไทรย้อยใบแหลม

ผลไทรย้อย

สรรพคุณของไทรย้อย

  1. รากไทรย้อยมีสรรพคุณเป็นยาแก้กาฬโลหิต (รากอากาศ)[1],[2]
  2. รากอากาศมีสรรพคุณบำรุงโลหิต แก้ตกโลหิต (รากอากาศ)[4],[5]
  3. รากใช้เป็นยาแก้กระษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม ปวดเมื่อย โลหิตจาง) (รากอากาศ)[2]
  4. รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ (รากอากาศ)[1],[2],[5]
  1. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (รากอากาศ)[4],[5]
  2. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (รากอากาศ)[5]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะให้คล่อง แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะมีสีต่าง ๆ (รากอากาศ)[1],[2],[5]
  4. ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานไม่ได้ร่วมด้วย) (รากอากาศ)[2],[5]
  5. ช่วยแก้อาการอักเสบหรือลดการติดเชื้อ เช่น ฝีหรือรอยฟกช้ำ (รากอากาศ)[5]
  6. ตำรายาไทยจะใช้รากไทรย้อยใน “พิกัดตรีธารทิพย์” (ประกอบไปด้วยรากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ และรากมะขามเทศ) มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนม แก้กษัย แก้ท้องร่วง ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด (รากอากาศ)[2]

ประโยชน์ของไทรย้อย

  1. ในป่าธรรมชาติ ต้นไทรนับเป็นที่อยู่อาศัย และผลยังเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะต้นไทรมีลำต้นแผ่กว้าง เต็มไปด้วยหลืบโพรง ทั้งนกนานาชนิด กระรอก ชะนี ลิง หรือแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่าง เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ต่างก็ชอบรับประทานผลของมัน อีกทั้งต้นไทรแต่ละต้นก็ติดผลในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้ในป่าใหญ่ที่มีต้นไทรมาก ๆ จะมีผลไทรสุกไว้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี จึงช่วยทำให้เกิดสมดุลต่อระบบนิเวศทั้งในป่าและในเมืองที่ปลูก[4],[5]
  2. รากอากาศสามารถนำมาพันเป็นวงกลมเพื่อประดับดอกไม้แห้งเป็นพวงมาลาได้[4]
  3. ต้นไทรย้อยนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีทรงพุ่มแผ่กว้างให้ร่มเงาได้ดี ต้องมีเนื้อที่ในการปลูกพอสมควร แต่ในปัจจุบันวงการไม้ประดับได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะย่อส่วนต้นไม้ให้มีขนาดเล็กลง การนำไม้ป่าทั้งหลายรวมทั้งไทรย้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับจึงสะดวกมากขึ้น[4],[5]
  4. ด้วยความที่ตัวพุ่มของต้นไทรย้อยเป็นพุ่มแน่นทึบ ประกอบไปด้วยใบไม้เรียงซ้อนกันหลายชั้น จึงช่วยกั้นแสงแดดหรือช่วยดูดแสงแดดร้อนจัดในยามกลางวันได้ อีกทั้งพุ่มใบที่แน่นทึบยังช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ช่วยดูดซับควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำมาปลูกไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม สถานที่ราชการ โรงแรม หรือแม้กระทั่งริมถนนและเกาะกลางถนน นอกจากนี้แล้วข้อดีอีกอย่างหนึ่งของต้นไทรย้อยก็คือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน ง่ายต่อการดูแลรักษา ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปอีกด้วย[5]
  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นไทรไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งปวงด้วย เพราะมีความเชื่อว่าต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพารักษ์อาศัยอยู่ จึงช่วยคอยคุ้มครองพิทักษ์คนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและปลอดภัย[4] แต่สำหรับบางคนก็เชื่อว่า ไม่ควรนำต้นไทรมาปลูกไว้ในบ้าน ไม่ใช่เพราะต้นไทรจะนำเรื่องร้ายเข้ามาในบ้านแต่อย่างใด แต่ด้วยเชื่อกันว่า ต้นไทรนั้นมีเทวดาสถิตอยู่ จึงอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูก แต่ที่แน่ ๆ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นไทรนั้นมีรากเยอะ มีรากย้อยลงมาอาจดูเกะกะ มีนกมาถ่ายมูลเรี่ยราด รากจะแทงเข้าพื้นดินและแตกแยกออกไปโดยรอบ ทำให้สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนหรือคอนกรีตเกิดการแตกร้าวและพังทลายได้ แถมบริเวณที่ปลูกต้นไทรก็ไม่สามารถปลูกไม้ชนิดอื่นได้เลย เพราะจะถูกรากไทรแย่งอาหารไปจนหมด แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวมาว่า ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาย่อส่วนต้นไทรให้มีขนาดเล็กลงแล้ว จึงสามารถนำมาปลูกในบ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด[5]

รูปไทรย้อย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ไทรย้อย”.  หน้า 384.
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ไทรย้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [03 ธ.ค. 2014].
  3. ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ไทรย้อยใบแหลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/.  [03 ธ.ค. 2014].
  4. Saunmitpranee.  “ต้นไทร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saunmitpranee.com.  [03 ธ.ค. 2014].
  5. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 530, วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2555.  (ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา).  “ไทรย้อยใบแหลม พันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคล : กรุงเทพมหานคร”.
  6. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไทรย้อย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [03 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phuong Tran, tanetahi, Jude, Dinesh Valke, Mauricio Mercadante, Ahmad Fuad Morad, Gary Hymes)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด