ไดอะซีแพม (Diazepam) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไดอะซีแพม

ไดอะซีแพม หรือ ไดอาซีแพม (Diazepam) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า วาเลียม หรือ แวเลียม (Valium) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดหนึ่งในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ที่มีระยะการออกฤทธิ์ปานกลาง ในทางการแพทย์ใช้ยานี้เป็นยากล่อมประสาทหรือสงบประสาท (Tranquilizer) ทำให้จิตใจสงบ ใช้สำหรับรักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการชัก เป็นต้น

การใช้ยาไดอะซีแพมจะต้องอยู่ในภายใต้ความควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น การหาซื้อยานี้ตามร้านขายยาจำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายเหมือนยาอื่น ๆ และหากนำยานี้ไปใช้แบบผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์ก็มักจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

ตัวอย่างยาไดอะซีแพม

ยาไดอะซีแพม (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอ-ซีแร็กซ์ (A-Zerax), อะซีแพม (Azepam), คอลมิแพม (Calmipam), ไดอะดอน (Diadon), ไดอะเมด (Diamed), ไดอะโน (Diano), ไดอะแพม (Diapam), ไดอะพีน (Diapine), ไดอะพีน แอทแลนติก (Diapine Atlantic), ไดแอซ (Diaz), ไดอะซีแพม แอกดอน (Diazepam Acdhon), ไดอะซีแพม บีเจ เบญจโอสถ (Diazepam BJ Benjaosoth), ไดอะซีแพม เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์ (Diazepam General Drugs House), ไดอะซีแพม จีพีโอ (Diazepam GPO), ไดอะซีแพม เอท เค ฟาร์ม (Diazepam H K Pharm), ไดอะซีแพม เลิด สิงห์ (Diazepam Lerd Singh), ไดอะซีแพม พอนด์ส เคมีคอล (Diazepam Pond’s Chemical), ไดอะซีแพม สามัคคีเภสัช (Diazepam Samakeephaesa), ไดอะซีแพม สมหมาย เภสัช (Diazepam Sommai Bhaesaj), ไดอะซีแพม ทีพี ดรัก (Diazepam T P Drug), ไดอะซีแพม เวสโก (Diazepam Vesco), ไดอะซีเพียน (Diazepion), ไดเลียม (Dilium), ไดเมด (Dimed), ไดแพม (Dipam), ไดทราน (Ditran), ไดโวแพน (Divopan), ไดเซพ (Dizep), ไดซีแพม (Dizepam), ดีซซีแพม (Dizzepam), ซีพี2 (DZP2), มาโนเดียโซ (Manodiazo), มาโนเลียม (Manolium), เมด-ซีแพม (Med-Zepam), โมโนไซด์ (Monozide), โมโนไซด์-10 (Monozide-10), แพม (Pam), โพแพม (Popam), โรแพม (Ropam), เอส โค ซีแพม (S Co Zepam), ซิแพม (Sipam), ทราโนแลน (Tranolan), วี เดย์ ซีแพม (V Day Zepam), วาแล็กซ์ (Valax), วาเลเนียม (Valenium), วาเลียม หรือ แวเลียม (Valium), เวซัน (Vason), เวสโคแพม (Vescopam), โวเมด (Vomed), โวราแพม (Vorapam), วิสแพม (Vispam), วิโนแพม (Winopam), แซม (Zam), ซีแพม (Zepam), ซีพาซิด (Zepaxid), โซแพม (Zopam), ยาสวนทวารสะเตโซลิด (Stesolid rectal tube) ฯลฯ

รูปแบบยาไดอะซีแพม

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 2, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาดความแรง 2 และ 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมในหลอด 2 มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวาร ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/หลอด

ยาแวเลี่ยม
IMAGE SOURCE : www.healthdrugsforu.com

แวเลี่ยม
IMAGE SOURCE : medsell.biz

แวเลี่ยมแบบฉีด
IMAGE SOURCE : strongconnection.cc

สรรพคุณของยาไดอะซีแพม

  • ใช้เป็นยากล่อมประสาท สงบประสาท ช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ลดความตึงเครียด ตื่นเต้น ใจสั่น รวมทั้งใช้รักษาโรคที่เกิดจากความเครียดต่าง ๆ เช่น การปวดศีรษะจากความเครียด ไมเกรน อาการฟุ้งซ่านที่เกิดจากโรคประสาท โรคลำไส้แปรปรวน อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
  • ใช้เป็นยานอนหลับในกรณีที่นอนไม่หลับเนื่องจากมีความกังวล หรือต้องเดินทางกลางคืนในรถและหลับลำบาก หรือต่างสถานที่ไม่คุ้นชิน (ถ้าใช้ในขนาดสูง)
  • ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อหรือคลายเส้น (ทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งคลายตัว ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดตามกล้ามเนื้อหลัง) โดยถือเป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่มีฤทธิ์อ่อน
  • ใช้เป็นยาป้องกันและแก้อาการชักจากสาเหตุต่าง ๆ (มักใช้ยาชนิดฉีด) เช่น โรคลมชัก (Epilepsy), อาการชักจากไข้สูง (Febrile seizures)
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการสั่นในผู้สูงอายุหรือไม่ทราบสาเหตุ
  • ใช้ช่วยให้คนไข้ที่เตรียมตัวผ่าตัดสงบสติอารมณ์ลง หรือใช้เป็นยาเหนี่ยวนำการสลบ
  • ใช้รักษาอาการที่เกิดจากภาวะขาดสุราเฉียบพลัน (Alcoholic withdrawal) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย สับสน ประสาทหลอน เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากในระยะแรกที่ต้องการจะเลิกเหล้า (รวมถึงเลิกบุหรี่หรือเลิกฝิ่น) แล้วมีอาการหงุดหงิดกระสับกระส่าย ก็สามารถใช้ยานี้แก้อาการดังกล่าวได้ พอร่างกายเริ่มปรับเข้าที่แล้วจึงค่อยหยุดใช้ยา

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดอะซีแพม

ยาไดอะซีแพมจะมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะซึมผ่านเข้าไปในสมองและออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทที่เรียกว่า GABA (Gamma amino butyric acid) จึงส่งผลให้สมองตอบสนองต่ออาการของโรคไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หลังจากที่ร่างกายได้รับยาไดอะซีแพม ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลนี้จึงถูกนำมาใช้รักษาอาการชักชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดคุกคาม ฯลฯ ยาไดอะซีแพมจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับและอยู่ในร่างกายได้นานถึง 20-100 ชั่วโมง และยาจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาไดอะซีแพม

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดอะซีแพม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไดอะซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น อะทีโนลอล (Atenolol), นาโดลอล (Nadolol) เป็นต้น สามารถส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้มากขึ้น ทำให้มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน และเป็นลมได้
    • การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาแก้แพ้หรือยาแก้หวัด เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), เซทิไรซีน (Cetirizine), คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นต้น สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ
    • การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาบรรเทาอาการปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เช่น โคเดอีน (Codeine), เฟนทานิล (Fentanyl), ทรามาดอล (Tramadol) เป็นต้น สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น ง่วงนอนและวิงเวียนศีรษะมากขึ้น
    • การใช้ยาไดอะซีแพมร่วมกับยาที่กระตุ้นให้ยาอาหาร เช่น ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) สามารถก่อให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียนศีรษะได้
    • การใช้ยานี้ร่วมกับยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาบาร์บิทูเรต หรือแอลกอฮอล์ อาจเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น
    • ยาไดอะซีแพมอาจเสริมฤทธิ์ของยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) และยาดิจิทาลิส (Digitalis) ถ้าใช้ร่วมกัน
  • มีความผิดปกติหรือมีประวัติความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต, มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) หรือมีปัญหาเรื่องการหายใจอื่น ๆ เช่น หายใจไม่อิ่ม, ชัก, นอนกรน, มีความผิดปกติทางจิต เช่น โรคไบโพล่าร์ (Bipolar disorder) ซึมเศร้าหรือเป็นโรคจิต หรือเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย, เป็นต้อหิน (Glaucoma), เป็นโรคหัวใจ, เป็นโรคปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), เป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinsons disease), เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Mysathenia gravis), โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
  • มีการประวัติการติดยา สูบบุหรี่ หรือมีปัญหาเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการรักษา

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไดอะซีแพม

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) และยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหินชนิดเฉียบพลันแบบมุมปิด (เพราะอาการของโรคต้อหินอาจรุนแรงขึ้นได้) และในผู้ป่วยโรคจิตที่อยู่ในระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก) เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในเด็กทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ และในหญิงที่ให้นมบุตร (เพราะยาอาจปนมาในน้ำนม จนส่งผลให้เด็กง่วงนอนหรือซึมตลอดเวลา และขาดอาหารได้)
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ, ผู้ที่มีภาวะบกพร่องในระบบทางเดินหายใจ, ผู้ที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต (ผู้ป่วยโรคตับและโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะผลข้างเคียงจากยาจะสูงขึ้น), ผู้ป่วยโรคลมชัก, ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Mysathenia gravis), โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria), ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
  • สำหรับยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ควรระมัดระวังในการใช้กับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรม เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง หยุดหายใจชั่วประเดี๋ยว (Transient apnea) ได้ ถ้าพบอาการดังกล่าว ให้รีบช่วยหายใจจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ โดยการเป่าปากหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ (ทางที่ดีควรป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว โดยการเตรียมอุปกรณ์กู้ชีพเอาไว้ให้พร้อม และใช้กระบอกฉีดยาขนาด 5 มิลลิลิตร ดูดยาตามขนาดที่ใช้ หลังแทงเข็มเข้าหลอดเลือดดำ ก่อนเดินยาให้ดูดออกมาผสมจนครบ 5 มิลลิลิตร แล้วจึงค่อย ๆ เดินยาเข้าหลอดเลือดให้ช้าที่สุด)
  • การรับประทานยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงซึม ดังนั้น ในระหว่างการใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม
  • การรับประทานยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือมึนงงได้เมื่อลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนท่าทางอย่างช้า ๆ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาบาร์บิทูเรต ยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้แพ้ แอลกอฮอล์ เพราะอาจเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น

วิธีใช้ยาไดอะซีแพม

  • ใช้กล่อมประสาทและคลายกล้ามเนื้อ ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยานี้วันละ 4-40 มิลลิกรัม ในเด็กให้ใช้วันละ 3-10 มิลลิกรัม ส่วนในผู้สูงอายุให้ใช้วันละ 2-5 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 1-4 ครั้ง เช่น ถ้าให้ 1 ครั้ง ควรให้ก่อนนอน ถ้าให้ 2 ครั้ง ควรแบ่งให้ตอนเช้าในขนาด 1/3 และที่เหลือก่อนนอนอีก 2/3 (ขนาดของยาที่ใช้ แพทย์จะพิจารณาตามสภาพอาการและวัยของผู้ป่วย เช่น ถ้าเครียดไม่มากให้ใช้ชนิด 2 มิลลิกรัมก็พอ โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น หรือถ้าเครียดมากหน่อยก็อาจใช้ชนิด 5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน เป็นต้น)
  • ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับ ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยาครั้งละ 5-20 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้ใช้ครั้งละ 2-10 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานยาในเวลาที่ต้องการจะนอนหลับสักครึ่งชั่วโมง หรือให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม
  • ใช้เป็นยาแก้อาการชัก ในผู้ใหญ่ให้ฉีดยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้ฉีดยาครั้งละ 0.3-0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม) เข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ หรือเหน็บยาทางทวาร โดยใช้ยาชนิดเหน็บขนาด 5 มิลลิกรัม (สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี) หรือ 7.5-10 มิลลิกรัม (สำหรับเด็กอายุมากกว่า 3 ปี) แต่ถ้าไม่มียาชนิดเหน็บ ให้ใช้ยาชนิดฉีดในขนาด 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยใส่กระบอกฉีดยา แต่ไม่ต้องใส่เข็ม แล้วฉีดยาเข้าทางทวารหนัก ให้ก้นยกสูงและบีบก้นไว้ประมาณ 2-3 นาที (ทั้งวิธีการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำและการเหน็บยาทางทวารหนัก ให้ใช้เฉพาะน้ำยาล้วน ๆ ไม่ต้องผสมน้ำหรือน้ำเกลือให้เจือจาง และสามารถให้ซ้ำได้ทุก 8 ชั่วโมง)
  • ใช้รักษาอาการที่เกิดจากภาวะขาดสุราเฉียบพลัน (เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย) สำหรับผู้ใหญ่ ใน 24 ชั่วโมงแรก ให้รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง วันต่อมาให้ลดขนาดลงเหลือครั้งละ 5 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้งเช่นกัน เมื่อต้องการจะใช้ ส่วนยาฉีดทั้งฉีดเข้ากล้ามและหลอดเลือดดำให้ใช้ในขนาด 5-10 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว และอาจซ้ำได้ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อจำเป็นต้องใช้

คำแนะนำในการใช้ยาไดอะซีแพม

  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ (หากรับประทานยาแล้วรู้สึกไม่สบายท้อง ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร) แต่ควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง และผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ โดยขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้เฉพาะตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น โดยควรใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือภายใต้คำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรเริ่มใช้ยานี้ในขนาดต่ำ ๆ ก่อน เพื่อลดผลข้างเคียงจากยา (เช่น เดินเซ หกล้ม) แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดมากขึ้นจนได้ผลและปลอดภัย
  • การใช้ยาไดอะซีแพมจึงควรใช้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น คือ ใช้เป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้เป็นประจำหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์จะสั่ง
  • การใช้ยานี้เพื่อกล่อมประสาท อาจช่วยผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจ คลายความวิตกกังวล หรือความกลุ้มได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ปัญหาของคุณหมดไปได้ ตราบใดที่คุณไม่หาทางแก้ไขปัญหาหรือเผชิญหน้ากับมัน หรือถ้าเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขหรือแก้ไม่ได้ ถ้าคุณไม่พยายามปรับตัวปรับใจอยู่ร่วมกับมันและยอมรับว่าทุกชีวิตต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น คุณก็อาจจะต้องพึ่งยากล่อมประสาทไปตลอดจนติดยานี้ก็เป็นได้
  • หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรด ให้รับประทานหลังจากรับประทานยาไดอะซีแพมไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • หากต้องใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนใช้ยาไดอะซีแพม รวมถึงยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ในระหว่างการใช้ยานี้หรือยากล่อมประสาทชนิดอื่น ๆ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันขาด เพราะแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์การกดประสาททำให้เป็นอันตรายถึงตายได้
  • ในระหว่างการใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม หรือทำงานในที่สูง เพราะยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้
  • ไม่ควรซื้อยาแก้หวัด ยาแก้ไอ หรือยาแก้แพ้มารับประทานด้วยตนเอง และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนการใช้ยาทุกชนิดทุกครั้ง
  • หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีไข้ ควรรีบปรึกษาแพทย์

การเก็บรักษายาไดอะซีแพม

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่อุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาไดอะซีแพม

หากลืมรับประทานยาไดอะซีแพม ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาไดอะซีแพม

  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงนอน ง่วงซึม หรือมีอาการคล้ายเมาค้าง นอนไม่หลับ ฝันร้าย มึนศีรษะ ศีรษะโหวง ๆ ปวดศีรษะ ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน มองเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ ความจำบกพร่อง จิตใจไม่ปกติ กดการหายใจหรือหายใจผิดปกติ ชีพจรเต้นช้าหรือเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรือสูง บวม ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง ท้องผูกหรือท้องเดิน อยากอาหารมากขึ้นหรือลดลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติหรือถ่ายปัสสาวะลำบาก สมรรถภาพทางเพศลดลง เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง หรืออาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน ฯลฯ
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจพบได้ คือ หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก สับสน มึนงง วิงเวียน รู้สึกเหมือนจะหมดสติ รู้สึกซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกตื่นเต้นมากผิดปกติ อยู่นิ่งไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก เดินเซ เดินลากเท้า กระตุก เป็นตะคริว ถ่ายปัสสาวะลำบาก หัวใจเต้นไม่ปกติ มีอาการสั่น เหนื่อย อ่อนเพลียผิดปกติ ชัก มีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง แพ้ยา
  • อาจทำให้การทำงานของตับและไตผิดปกติ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือไต
  • ถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูง อาจทำให้เดินเซ พูดลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือทำงานไม่ประสานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มกระดูกหักได้ และถ้าใช้ร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่น ๆ ก็อาจรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • ถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยาและติดยาได้ (ติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) ซึ่งถ้าหยุดใช้ยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจเกิดอาการชักได้ (ความรุนแรงของอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา) จึงจัดว่าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง และต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ตามความจำเป็น

การควบคุมตามกฎหมายของยาไดอะซีแพม

ยาไดอะซีแพมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 การขายยานี้ต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยมีเภสัชกรควบคุมการจำหน่าย

  • ผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกยานี้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • การขายยานี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท
  • หากเภสัชกรไม่อยู่ควบคุมการขาย จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ไดอะซีแพม (Diazepam)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 284-285.
  2. .กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.  “ไดอาซีแพม (Diazepam)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fda.moph.go.th.  [28 ก.ย. 2016].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 27 คอลัมน์ : ยาน่าใช้.  “ยากล่อมประสาทไดอะซีแพม”.  (ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ก.ย. 2016].
  4. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “DIAZEPAM”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [28 ก.ย. 2016].
  5. หาหมอดอทคอม.  “ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาแวเลี่ยม (Valium)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [28 ก.ย. 2016].
  6. Drugs.com.  “Diazepam”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [29 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด