15 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นใบเงิน ใบทอง ใบนาก !

ใบเงิน ใบทอง ใบนาก

ใบทอง มีชื่อสามัญว่า Gold leaves (บ้างก็เรียกว่า ใบรวยทอง ทองลงยา ทองนพคุณ) ส่วน ใบเงิน มีชื่อสามัญว่า Caricature plant (บ้างเรียกว่า ทองคำขาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันว่า Graptophyllum pictum (L.) Griff.[1],[2]

ใบนาก มีชื่อสามัญว่า P. Kewense มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pseuderanthemum atropurpureum “Trycolor” และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นากนอก เป็นต้น โดยทั้งสามชนิดนั้นจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[3]

ลักษณะของใบเงิน ใบทอง ใบนาก

  • ต้นใบเงิน มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนิวกินี[2] ส่วนต้นใบนาก มีถิ่นกำเนิดในเขตมรสุมในเมืองร้อน[3] ใบเงิน ใบทอง และใบนากเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกัน โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอยู่ในที่ร่มรำไร มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องการแสงแดดเป็นบางเวลา[1],[2] และทั้งใบเงิน ใบทอง และใบนาก ต่างก็มีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกัน[3] (ภาพแรกคือต้นใบเงิน ภาพสองคือต้นใบทอง ส่วนภาพที่สามคือต้นใบนาก)

ต้นใบเงิน

ต้นใบทอง

ต้นใบนาก

  • ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ สลับกันตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ใบเป็นลายมีหลายสีและจะเรียกตามลักษณะที่ด่าง เช่น ใบเงิน แผ่นใบเป็นสีเขียว ที่กลางใบจะมีด่างสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนจาง ๆ แทรกอยู่[1],[2]

รูปใบเงิน

  • ใบทอง แผ่นใบเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ มีสีเหลืองเข้มแทรกตามขอบใบ[1],[2]

ใบทอง

  • ใบนาก แผ่นใบเป็นสีเขียวแกมน้ำตาลหรือสีเขียวอมม่วง และมีรอยด่างเป็นสีขาวและสีม่วงที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนขอบใบเป็นสีชมพูเข้ม[3]

ใบนาก

  • ดอกใบเงิน , ดอกใบทอง , ดอกใบนาก ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงแดงหรือสีแดงเข้ม โคนกลีบดอกเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก แยกเป็นปากบนและปากล่าง ปากล่างห้อยหัวลงมี 3 กลีบ ส่วนปากบนจะงอนขึ้นด้านบน ด้านในกลีบดอกมีขนอ่อนเต็มไปหมด ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้านอยู่ข้างเกสรเพศเมีย และจะผลิดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (ภาพแรกดอกใบเงิน ภาพสองดอกใบทอง และภาพสามดอกใบนาก)[1],[2]

ดอกใบเงิน

ดอกใบทอง

ดอกใบนาก

  • ผลใบเงินใบทอง ผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปทรงรี ปลายฝักเป็นติ่งแหลม เมื่อฝักแห้งจะแตกออกได้ และไม่ค่อยติดฝัก[1]

สรรพคุณของใบเงิน ใบทอง ใบนาก

  1. เกสรช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (เกสร)[1] ทุกส่วนของลำต้นใช้รักษาอาการอิดโรย อ่อนกำลัง (ทุกส่วนของลำต้น)[2]
  2. ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาลดไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษร้อน ถอนไข้พิษ แก้ไข้กำเดา ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ช่วยดับพิษปอดพิการ ล้อมตับดับพิษ (ช่วยป้องกันการทำลายของตับจากสารพิษและความร้อน) แก้กาฬตับ (ใบ)[1],[4] เกสรมีรสเย็นหวานเล็กน้อย เป็นยาแก้ไข้ร้อน (เกสร)[1]
  3. ทุกส่วนของลำต้นใช้ปรุงเป็นยารักษาอาการไข้ และยังใช้เข้ายารักษาไข้สำหรับเด็กในกรณีที่เป็นไข้หอม (ทุกส่วนของลำต้น)[2]
  4. น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูรักษาอาการปวดหู ขับแมลงเข้าหู หยอดหูแก้คัน (น้ำคั้นจากใบ)[2],[4]
  5. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[4]
  1. น้ำคั้นจากใบใช้ปรุงเป็นยาดื่มรักษาอาการท้องผูก (น้ำคั้นจากใบ)[2]
  2. ใบมีสรรพคุณแก้บิดมูกเลือด ขับพยาธิ (ใบ)[4] ช่วยแก้ขัดเบา มูกเลือด พิษเบื่อเมา และพยาธิ (ทุกส่วนของลำต้น)[2]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (น้ำคั้นจากใบ)[2]
  4. ดอกมีรสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้ชงดื่มเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ดอก)[4]
  5. ใบนำมาตำแล้วเอามาใช้เป็นยาทารักษาอาการปวดบวม รักษาฝี และใช้ห้ามเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกเงี่ยงปลาตำ (ใบ)[2],[4]
  6. น้ำคั้นจากใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันได้ (น้ำคั้นจากใบ)[2],[4]
  7. ทุกส่วนของลำต้นใช้ทำเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ (ทุกส่วนของลำต้น)[2]

ประโยชน์ของใบเงิน ใบทอง ใบนาก

  • คนไทยนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากสีสันของใบมีความโดดเด่นและสวยงาม[5]
  • ในด้านความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นใบเงินใบทองไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีเงินมีทอง เสริมความมั่งคั่ง ไม่ทำให้ขัดสน เนื่องจากเป็นไม้มงคลนาม และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นใบเงินใบทองไว้ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ และควรปลูกในวันอังคาร เพราะเชื่อว่าต้นไม้ที่มีใบสวยงามมีเสน่ห์ดึงดูดใจนั้น ควรปลูกในวันอังคาร เพราะจะยิ่งทำให้เจริญงอกงามและเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับครอบครัว ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้นไปอีกก็ให้ปลูกต้นใบเงิน ต้นใบทอง และต้นใบนาก ไว้บริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็จะยิ่งดีนัก นอกจากนี้ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ยังจัดอยู่ในสิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการอีกด้วย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มงคล ๘ (ประกอบไปด้วย ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบมะตูม ใบพรหมจรรย์ ผิวมะกรูด ฝักส้มป่อย และหญ้าแพรก)[5]
  • คนไทยโบราณจะนำใบเงิน ใบทอง และใบนาคมาใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาหลายพิธี เพราะเชื่อว่าเป็นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การทำน้ำพุทธมนต์ งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีลงเสาเอกเพื่อสร้างบ้าน งานแต่งงาน เป็นต้น[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ใบเงิน (Bat Ngoen)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 167.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ใบเงินใบทอง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 439-440.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ใบนาก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 442-443.
  4. หนังสือรวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).
  5. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ใบเงิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/. [18 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, CANTIQ UNIQUE, nsub1, Dinesh Valke, International Education, Kauai Seascapes Nursery, Forest and Kim Starr, Rekha Eipe)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด