โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โซเดียมไนไตรท์

โซเดียมไนไตรท์ หรือ โซเดียมไนไทรต์ (Sodium nitrite) เป็นสารประกอบประเภทอนินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย สามารถละลายน้ำได้ดี ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาแผนปัจจุบัน ใช้เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี และโซเดียมไนไตรท์ยังเคยถูกนำไปใช้ผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้ดูมีสีแดงสดน่ารับประทาน และทำให้อายุในการเก็บรักษาของเนื้อสัตว์ยาวนานขึ้น แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภค ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามมิให้นำโซเดียมไนไตรท์ไปผสมกับเนื้อสัตว์แล้ว

สำหรับในด้านเภสัชภัณฑ์ ยาโซเดียมไนไตรท์จะถูกนำมาใช้เป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยใช้ร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ซึ่งเป็นยาแก้พิษสารไซยาไนด์เช่นกัน โดยในรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโซเดียมไนไตรท์จะเป็นลักษณะของยาฉีดที่มีใช้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาโซเดียมไนไตรท์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน การใช้ยานี้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ตัวอย่างยาโซเดียมไนไตรท์

ยาโซเดียมไนไตรท์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ไซยาไนด์ แอนตี้โดท คิท (Cyanide Antidote Kit), ไนทิโอโดท (Nithiodote) ฯลฯ

โซเดียมไนไตรท์
IMAGE SOURCE : www.china-hxchemical.com, www.iahchemicals.com

รูปแบบยาโซเดียมไนไตรท์

  • ยาฉีดที่เป็นสารละลาย 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด

ยาฉีดโซเดียมไนไตรท์
IMAGE SOURCE : www.drugs.com, www.nitrite.com

สรรพคุณของยาโซเดียมไนไตรท์

  • ใช้เป็นยารักษาและบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยจะใช้ร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)
  • ใช้เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี
  • ในอดีตเคยใช้โซเดียมไนไตรท์นำไปผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้ดูมีสีแดงสดน่ารับประทาน ช่วยป้องกันและยับยั้งการเน่าเสีย จึงทำให้อายุในการเก็บรักษาของเนื้อสัตว์ยาวนานขึ้น (ผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้โซเดียมไนไตรท์ ได้แก่ อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสด เนื้อเปื่อย เนื้อตุ๋น เนื้อเค็ม แหนม หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แฮม ปลาแห้ง ปลาร้า) แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภคด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ที่บริโภคอย่างต่อเนื่องอาจเกิดเนื้องอกในสมอง และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ตามมา ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามมิให้นำโซเดียมไนไตรท์มาผสมกับเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไนไตรท์

ยาโซเดียมไนไตรท์จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าไปรวมตัวกับสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ของเม็ดเลือดแดง จนกลายเป็นสารเมทเฮโมโกลบิน (Methemoglobin) ซึ่งจะไปรวมตัวกับสารไซยาไนด์ (Cyanide) และทำให้สารไซยาไนด์กลายเป็นสารที่ไม่มีพิษที่มีชื่อว่า ไซยันเมทฮีโมโกลบิน (Cyanmethemoglobin)

ก่อนใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซเดียมไนไตรท์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาโซเดียมไนไตรท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ร่วมกับยาบางชนิด เช่น อะซีบูโทลอล (Acebutolol), แอมโลดิปีน (Amlodipine), ไฮดราลาซีน (Hydralazine), ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide), ไนเฟดิปีน (Nifedipine) อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำและนำไปสู่ภาวะช็อกจนถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ร่วมกับยาแดพโซน (Dapsone), ลิโดเคน (Lidocaine), พาราเซตามอล (Paracetamol), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ซัลฟาเมท็อกซาโซล (Sulfamethoxazole) อาจทำให้มีภาวะ Methemoglobinemia เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาโซเดียมไนไตรท์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง โดยอาจสังเกตพบอาการเขียวคล้ำ คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการจะใช้ยากับผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามเก็บและใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร หรือถ้ามารดามีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงบุตรด้วยนมจากมารดา แล้วเปลี่ยนไปใช้นมผงดัดแปลงแทน
  • ในระหว่างการใช้ยานี้ควรระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ในระหว่างการให้ยาโซเดียมไนไตรท์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ พร้อมกับมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาในช่วงของการรักษา

วิธีใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังนี้

  • ในผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นจะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ในเด็ก แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้นจะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

คำแนะนำในการใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

การเก็บรักษายาโซเดียมไนไตรท์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไนไตรท์

  • ยาโซเดียมไนไตรท์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อาจพบลมพิษตามผิวหนัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่า วิตกกังวล สับสน ชัก เป็นต้น
  • ในบางรายอาจพบภาวะ Methemoglobinemia (ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงชนิดที่ทำงานผิดปกติ) เกิดภาวะโคม่า หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาโซเดียมไนไตรท์เกินขนาด จะพบอาการความดันโลหิตต่ำและเกิดภาวะพิษของ Methemoglobin (ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงชนิดที่ทำงานผิดปกติ) ที่มีมากเกินไป ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดคือแพทย์ต้องให้ออกซิเจนสนับสนุนกับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ รวมถึงการให้ยาเมทิลีน บลู (Methylene blue) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาภาวะ Methemoglobin สูงในเลือด โดยการให้ทางหลอดเลือดดำร่วมกับการควบคุมสัญญาณชีพต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด