โกฐหัวบัว สรรพคุณและประโยชน์ของเหง้าโกฐหัวบัว 18 ข้อ !

โกฐหัวบัว

โกฐหัวบัว ชื่อสามัญ Szechuan lovage[5], Selinum[2]

โกฐหัวบัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ligusticum striatum DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ligusticum wallichii Franch., Ligusticum chuanxiong S.H.Qiu, Y.Q.Zeng, K.Y.Pan, Y.C.Tang & J.M.Xu)[1] บางข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Ligusticum sinense Oliv.[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า โกฐหัวบัวนั้นคือชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Conioselinum univitatum Trucz.[2] โดยจัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]

สมุนไพรโกฐหัวบัว มีชื่ออื่น ๆ ว่า ชวงเกียง (จีนแต้จิ๋ว), ชวนโซยงวิง ชวงชวอง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของโกฐหัวบัว

  • ต้นโกฐหัวบัว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง โคนต้นเป็นข้อ ๆ และมีรากฝอยงอกอยู่ที่ข้อ บริเวณช่วงบนจะแตกกิ่งก้านมาก มีกลิ่นหอม[1],[5] ขยายพันธุ์ด้วยการใช้ข้อของลำต้น ชอบอากาศร้อนชื้น ชอบดินหนาและลึก การระบายน้ำดี มีฤทธิ์เป็นกลางหรือกรดเล็กน้อย เจริญเติบโตได้ดีในที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,500 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15 องศาเซลเซียส สูงสุด 34 องศาเซลเซียส และต่ำสุด -5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 80% มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปี พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในมณฑลเสฉวน กุ้ยโจว ยูนนาน หูเป่ยของประเทศจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ[4],[5]

ต้นโกฐหัวบัว

  • ใบโกฐหัวบัว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน แฉกสุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขอบใบหยักลึกสุดแบบขนนก ส่วนใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบนั้นยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โคนก้านแผ่เป็นกาบ[5] หน้าใบและหลังใบไม่มีขน ตามเส้นใบมีขนเล็กน้อย[1]

ใบโกฐหัวบัว

  • ดอกโกฐหัวบัว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง เป็นดอกช่อแบบซี่ค้ำร่มหลายชั้น มีหลายดอกย่อย ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน[1],[5]

ดอกโกฐหัวบัว

  • ผลโกฐหัวบัว ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ มี 2 ลูก เป็นห้าเหลี่ยมและในเหลี่ยมจะมีท่อน้ำมัน 1 ท่อ[1],[5]
  • เหง้าโกฐหัวบัว ส่วนของเหง้าคือส่วนที่นำมาใช้ทำยา ซึ่งเรียกว่า “โกฐหัวบัว” โดยเหง้าจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ข้อป่อง ปล้องสั้น เมื่อตัดเอารากแขนงออกหมด จะได้เหง้าเป็นรูปค่อนข้างกลมคล้ายกำปั้น ผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-7 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวสาก เหี่ยวย่น เนื้อแน่น หักยาก รอยหักเป็นสีขาวอมเหลืองหรือเป็นสีเหลืองอมเทา มีท่อน้ำมันสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมฉุนรุนแรง รสขม มัน แต่จะหวานในภายหลัง และชาเล็กน้อย[1],[4]

รูปโกฐหัวบัว

หมายเหตุ : โกฐหัวบัวในตระกูลเดียวกันยังมีอีกหลายพันธุ์ เช่น Cnidium ofcinale Makino, Ligusticum wallichii Franch. ซึ่งในอดีตเราจะนำมาใช้ทดแทนกันได้ แต่ในปัจจุบันได้พบว่า โกฐหัวบัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ โกฐหัวบัวชนิด Ligusticum chuanxiong Hort. ซึ่งเป็นชนิดที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ มันจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวหลักของโกฐหัวบัว[1]

สรรพคุณของโกฐหัวบัว

  1. เหง้ามีรสเผ็ด ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับ และถุงน้ำดี ใช้เป็นยาฟอกเลือด แก้เลือดน้อย แก้โรคโลหิตจาง บำรุงโลหิต ช่วยกระจายการตีบของเส้นเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียน (เหง้า)[1],[3],[4],[5]
  2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หากใช้โกฐหัวบัวเข้ากับตำรายาจีน จะมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดศีรษะหรือปวดศีรษะข้างเดียวได้ผลมากขึ้น โกฐหัวบัวจึงเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับการแก้อาการปวดศีรษะโดยเฉพาะ (เหง้า)[1],[4]
  3. ใช้เป็นยาแก้เสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  4. จีนจะใช้โกฐหัวบัวเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ วัณโรค อาเจียนเป็นเลือด โรคเข้าข้อ ตกเลือด (เหง้า)[4],[5]
  1. ช่วยแก้อาการปวดหัวใจ (เหง้า)[1]
  2. ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นหน้าอก แน่นท้อง[1],[2] แก้ลม ขับลมในลำไส้ แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง (ลมที่คั่งอยู่ในลำไส้เป็นตอน ๆ ทำให้ผายออกมา) (เหง้า)[3],[4],[5]
  3. ใช้โกฐหัวบัวรักษาสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มา หรือมีอาการปวดประจำเดือน (เหง้า)[1],[5]
  4. ใช้เป็นยาแก้ปวด[1] แก้อาการปวดจากเลือดคั่ง[5] แก้ปวดข้อ ปวดกระดูก แก้ฟกช้ำปวดเจ็บต่าง ๆ รวมทั้งปวดฟัน (เหง้า)[4],[5]
  5. ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย หรือใช้โกฐหัวบัวเข้ากับตำรายาจีน เพื่อเป็นยาขับลมชื้นในร่างกายและทำให้หายปวดเมื่อยตามร่างกาย (เหง้า)[1]
  6. ส่วนใบมีกลิ่นหอมชื่นใจ ใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง แก้บิด เป็นยาขับลม เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ไอ แก้โรคประสาท และใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้หวัดและแก้ท้องร่วง (ใบ)[5]
  7. นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อนำโกฐหัวบัวไปเข้าตำรายารักษาโรคหัวใจ จะทำให้เส้นเลือดในหัวใจขยายตัวและลดความดันในเส้นเลือดได้ (เหง้า)[1]
  8. โกฐหัวบัวจัดอยู่ในพิกัดโกฐ ได้แก่ โกฐทั้งห้า โกฐทั้งเจ็ด และโกฐทั้งเก้า ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับเสมหะ แก้หืดไอ ขับลม บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก (เหง้า)[2]
  9. โกฐหัวบัวจะอยู่ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ซึ่งได้แก่ ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของโกฐหัวบัวอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้า ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย คลื่นเหียน อาเจียน ใจสั่น แก้ลมจุกแน่นในท้อง (เหง้า)[4]
  10. ในตำรายาพระโอสถพระนารายณ์ มีปรากฏการใช้โกฐหัวบัวในตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ซึ่งมีส่วนประกอบรวม 15 ชนิด รวมทั้งโกฐหัวบัว โดยนำตัวยาทั้งหมดมาบดรวมกันให้เป็นผงละเอียด ใช้สำหรับนัตถุ์หรือดมเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา และอยู่ในตำรับ “มโหสถธิจันทน์” อีกขนานหนึ่ง โดยมีส่วนประกอบรวม 16 สิ่ง รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด (เหง้า)[4]
  11. ในตำรายาไทยมีการใช้โกฐหัวบัวใน “พิกัดจตุวาตะผล” ซึ่งเป็นตำรับยาจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลมที่ประกอบไปด้วยผล 4 อย่าง อันได้แก่ โกฐหัวบัว กระลำพัก เหง้าขิงแห้ง และอบเชยเทศ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง (เหง้า)[4]
  12. นอกจากนี้ยังมีปรากฏการใช้โกฐหัวบัวในตำรับยาสมุนไพรประจำบ้าน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอีกหลายตำรับ เช่น “ยามันทธาตุ” (แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ), ตำรับ “ยาหอมเทพวิจิตร” (แก้ลม บำรุงหัวใจ), ตำรับ “ยาวิสัมพยาใหญ่” (แก้อาการจุกเสียด ท้องขึ้น อืดเฟ้อ) และในตำรับ “ยาประสะเปราะใหญ่” (ถอนพิษไข้ตานแทรกสำหรับเด็ก)

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐหัวบัว

  • เหง้าโกฐหัวบัวมีน้ำมันระเหยและอัลคาลอยด์ (Alkaloid) กับสารจำพวก Phenols, Chidiumlantone, Cnidlide, Ferulic acid, Folic acid เป็นต้น[1]
  • โกฐหัวบัวนั้นมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 2% ซึ่งในน้ำมันจะมี cnidium lactone, cnidic acid และมีชันซึ่งมีรสเปรี้ยว นอกจากนั้นยังมีสารจำพวก phthalide อีกหลายชนิด เช่น butylidenephthalide, butylpthalide, crysophanol, ferulic acid, ligustilide, neocni-dilide, perlolyrine, sedanonic acid, senkyunolide A, spathulenol, tetramethylpyrazine, wallichilide, 3-butylidine-7-hydroxyphthalide เป็นต้น[4],[5]
  • มีรายงานการวิจัยที่พบว่า โกฐหัวบัวสามารถลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และมดลูกได้ และยังช่วยป้องกันการขาดออกซิเจนในเลือด ต้านอาการปวด อาการอักเสบ ช่วยขับเหงื่อ ขับประจำเดือน และช่วยทำให้นอนหลับได้นานขึ้น[4]
  • เมื่อใช้น้ำที่สกัดได้จากเหง้าโกฐหัวบัว นำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของหัวใจที่แยกออกจากร่างของกระต่าย พบว่าสามารถขยายหลอดเลือดหัวใจของกระต่ายได้ จึงสรุปได้ว่า โกฐหัวบัวสามารถลดความดันในเส้นเลือดได้[1]
  • เมื่อใช้น้ำที่สกัดได้จากเหง้าโกฐหัวบัว นำมาฉีดเข้าไปในมดลูกของกระต่ายที่กำลังตั้งครรภ์ พบว่าจะทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง แต่หากฉีดมากเกินไปจะทำให้การบีบตัวของมดลูกเกิดอาการชา และการบีบตัวได้หยุดบีบต่อ[1]

ประโยชน์ของโกฐหัวบัว

  • ดอกใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับเครื่องสำอางแต่งหน้า[5]
  • ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบว่า สารสกัดจากเหง้าโกฐหัวบัว เป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูงที่สุด โดยสามารถป้องกันยุงกัดได้นานถึง 6.5 ชั่วโมง เทียบเท่ากับสารเคมีไล่ยุงดีดีที ซึ่งเป็นสารเคมีไล่ยุงมาตรฐานที่นิยมใช้และมีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ใด ๆ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ในอนาคตจึงสามารถพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเป็นสารไล่ยุงทางเลือกจากธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีไล่ยุงชนิดต่าง ๆ ได้[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐหัวบัว”.  หน้า 112.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐหัวบัว Selinum”.  หน้า 216.
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของโกฐหัวบัว”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [08 มิ.ย. 2015].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐหัวบัว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [08 มิ.ย. 2015].
  5. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย.  (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร).  “โกฐหัวบัว”.  หน้า 71-73.
  6. ไทยรัฐออนไลน์.  “สมุนไพรไทยสุดเจ๋ง! ทีมนักวิจัย มช. ค้นพบเหง้าโกฐหัวบัว ไล่ยุงดีสุด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [08 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by jennshack)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด