โกงกาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโกงกางใบใหญ่ 12 ข้อ !

โกงกางใบใหญ่

โกงกางใบใหญ่ ชื่อสามัญ Red mangrove[1], Asiatisk mangrove[2], Loop-root mangrove[2]

โกงกางใบใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora mucronata Lam.[2] จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE) เช่นเดียวกับโกงกางใบเล็ก[1],[2]

สมุนไพรโกงกางใบใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กงเกง (นครปฐม), กงกางนอก โกงกางนอก (เพชรบุรี), กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร), ลาน (กระบี่), โกงกางใบใหญ่ (ภาคกลาง), กางเกง พังกา พังกาใบใหญ่ (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[3],[6]

ลักษณะของโกงกางใบใหญ่

  • ต้นโกงกางใบใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร (บ้างก็ว่าสูงประมาณ 30-40 เมตร) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเหนือคอ ราก เมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ด้านรับแสงจะมีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ ส่วนเปลือกในเป็นสีส้ม ในกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน และแก่นเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง โดยใช้ฝักแก่ที่ยังสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงเข้ามาทำลาย โดยดูได้จากบริเวณรอยต่อของฝักกับผลจะมีปลอกสีขาวอมเหลืองหุ้มอยู่ ถ้าหากมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และเป็นสีเหลืองแสดงว่าฝักแก่สมบูรณ์แล้ว หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นลงน้ำก็ได้ เพราะถ้าฝักแก่สมบูรณ์จะลอยน้ำได้ เมื่อได้ฝักมาแล้วก็ให้นำมาปลูกในทันที เพราะถ้าเก็บไว้นานเท่าไหร่ความสามารถในการงอกก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ[1],[4] สามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของแอฟริกา ทวีปเอเชีย ภูมิภาคมาเลเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงหมู่เกาะตองกา[4] สำหรับในประเทศไทยจะพบต้นโกงกางใบใหญ่ได้มากตามริมคลอง ริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำเค็มท่วมถึงเป็นระยะเวลานาน โดยจะชอบขึ้นในบริเวณที่เป็นดินเลนปนทราย และมักจะขึ้นอยู่ในบริเวณที่ชิดติดกับแม่น้ำ[1]

ต้นโกงกาง

ต้นโกงกางใบใหญ่

  • รากโกงกางใบใหญ่ มีรากเป็นแบบค้ำจุนขนาดใหญ่ โดยจะงอกจากลำต้นออกเป็นจำนวนมาก ดูไม่เป็นระเบียบ เพราะแตกแขนงระเกะระกะ และมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยคว่ำแบบแคบ ๆ[1],[3]

รากโกงกางใบใหญ่

  • ใบโกงกางใบใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตรงข้ามกัน โดยใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปใบมนค่อนไปทางรูปหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแข็งเล็ก ๆ ส่วนฐานใบสอบเข้าหากันคล้ายกับรูปลิ่ม หน้าใบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยง เป็นสีเขียวอมเหลือง และยังมีจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ เห็นได้ชัดเจนอยู่ทั่วหลังใบ โดยใบมีความกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร และยังมีหูใบสีแดงเข้มยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้[1]

ใบโกงกางใบโกงกางใบใหญ่

หูใบโกงกางใบใหญ่

  • ดอกโกงกางใบใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกประมาณ 2-12 ดอก มีสีขาวอมเหลือง มีกลีบอยู่รอบดอก 4 กลีบ ลักษณะของกลีบรอบกลีบดอกเป็นรูปไข่ โคนกลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปใบหอก มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ขอบของกลีบดอกจะมีขนยาวขึ้นปกคลุมอยู่ และดอกจะมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 ก้าน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร[1]

ดอกโกงกางใบใหญ่

  • ผลโกงกางใบใหญ่ ผลเป็นแบบ Drupebaceous มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ โดยจะเป็นผลแบบที่งอกก่อนผลจะร่วง ในส่วนใต้ใบเลี้ยงในเมล็ดจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายกับฝัก หรือที่เรียกว่า “ฝักโกงกางใบใหญ่” เมื่อผลหรือฝักแก่แล้วจะมีความยาวประมาณ 36-90 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนที่โตสุดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร[1]

ผลโกงกางใบใหญ่

ฝักโกงกาง

ฝักโกงกางใบใหญ่

สรรพคุณของโกงกาง

  1. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใช้เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม)[1],[6]
  2. ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินเป็นยาแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (เปลือกต้น)[1],[3],[4],[6]
  3. ช่วยแก้บิด บิดเรื้อรัง ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น)[1],[3],[4],[6]
  4. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมาน (เปลือกต้น)[1]
  5. เปลือกต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอกช่วยห้ามเลือดได้ดีและช่วยสมานแผล หรือจะใช้ใบอ่อนเคี้ยวหรือตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบาดแผลสดและห้ามเลือดก็ได้เช่นกัน (ใบ, เปลือก)[1],[5],[6] บ้างก็ว่าน้ำจากเปลือกต้นก็ใช้ชะล้างแผลและห้ามเลือดได้เช่นกัน (น้ำจากเปลือกต้น)[3],[4]
  6. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นก็ได้ (เปลือกต้น, น้ำจากเปลือกต้น)[1],[3],[4]

ประโยชน์ต้นโกงกาง

  1. ไม้โกงกางมีลักษณะเปลาตรง เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง เหนียว ทนทาน จึงเหมาะสำหรับการนำมาแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำกลอนหลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้าน หรือใช้ทำไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยันต่าง ๆ ทำเสาและหลักในที่มีน้ำทะเลขึ้นถึง ทำเยื่อกระดาษ[1],[3],[4],[5]
  2. ประโยชน์ไม้โกงกางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการนำมาใช้ทำเป็นฟืนและถ่านเกรดคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูงและนาน (ให้ค่าความร้อนประมาณ 6,600-7,200 แคลอรี) อีกทั้งยังมีขี้เถ้าน้อยและไม่เกิดสะเก็ดไฟเมื่อนำมาใช้งานอีกด้วย[1],[3],[4]
  3. เปลือกของต้นโกงกางมีสารแทนนินและฟีนอลจากธรรมชาติสูงมาก อีกทั้งยังมีราคาถูกที่สุด ซึ่งสารดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำยา ทำหมึก ทำสี ใช้ในการฟอกหนัง ใช้ทำกาวสำหรับติดไม้ เป็นต้น[1]
  4. เปลือกมีน้ำฝาดประเภท Catechol ให้สีน้ำตาลที่สามารถนำมาย้อมสีผ้าได้ เช่น ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง ฯลฯ[3],[4],[5]
  5. ป่าโกงกางมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสัตว์ทะเลต่าง ๆ เนื่องจากเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน และเป็นแหล่งที่มีสภาพสมดุลทางธรรมชาติสูงมาก
  6. ป่าไม้โกงกางสามารถช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำได้ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
  1. สวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โกงกางใบใหญ่“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [18 ธ.ค. 2013].
  2. Germplasm Resources Information Network (GRIN).  “Rhizophora mucronata Lam.“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov.  [18 ธ.ค. 2013].
  3. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โกงกางใบใหญ่“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.  [18 ธ.ค. 2013].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “โกงกางใบใหญ่“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้ในป่าชายเลน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2549.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [18 ธ.ค. 2013].
  5. ระบบนิเวศป่าชายเลนและแนวปะการัง (ครูพจนาถ นันทวนิช โรงเรียนชลบุรี สุขบท).  “โกงกางใบใหญ่“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.143.144.83/~pojanart/.  [18 ธ.ค. 2013].
  6. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “โกงกาง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 76.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by wildsingapore, Shantanu98, 呆鸟 Dai Jiao, islandergirl23, Shubhada Nikharge, dfjtees, dinesh_valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด