เสม็ด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเสม็ดขาว 20 ข้อ !

เสม็ด

เสม็ด ชื่อสามัญ Cajuput tree, Milk wood, Paper bark tree, Swamp tree[1],[2],[3]

เสม็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T.Blake[1],[2], ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melaleuca cajuputi Powell (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melaleuca leucadendra var. minor (Sm.) Duthie)[4] โดยจัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[1]

สมุนไพรเสม็ด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสม็ดขาว (ภาคตะวันออก), เม็ด เหม็ด (ภาคใต้), กือแล (มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นเสม็ด

  • ต้นเสม็ด จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด มีความสูงของต้นประมาณ 5-25 เมตร มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา เปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ ส่วนเปลือกชั้นในบางและเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามยอดอ่อน ใบอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคุม และกิ่งมักห้อยลง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีมากในสภาพที่ลุ่มมีน้ำขัง มักพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหากใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุที่ถูกไฟเผาผลาญทำลายจนโล่งเตียน ในประเทศไทยพบต้นเสม็ดขาวได้มากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[8]

ต้นเสม็ด

ต้นเสม็ดขาว

  • ใบเสม็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมนหรือเป็นรูปลิ้ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ เป็นสีเขียวอมเทา มีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น ออกจากโคนใบจรดปลายใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนมีขนคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุม[1],[2],[3]

ใบเสม็ด

  • ดอกเสม็ด ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก ดอกประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร โคนกลีบติดกัน ส่วนดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปช้อนแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีขาวและมีจำนวนมาก ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกเป็นพู่ ก้านชูช่อดอกมีขนสีขาว โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม และเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายนผล[1],[2],[3]

ดอกเสม็ดขาว

ดอกเสม็ด

  • ผลเสม็ด ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้เป็นพู 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็กและแป้น มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[2],[3]

ผลเสม็ด

สรรพคุณของเสม็ด

  1. ใบสดมีรสขมหอมร้อน ใช้นำมากลั่นเป็น “น้ำมันเขียว” ใช้รับประทานช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ (น้ำมันเขียว-ใช้ภายใน)[1]
  2. น้ำมันที่สกัดได้จากใบใช้เป็นยาดมเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ (น้ำมันเขียว)[7]
  3. น้ำมันเขียวใช้รับประทานเป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องขึ้น ถ้ากินมากจะเป็นยาขับพยาธิ และมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร (น้ำมันเขียว-ใช้ภายใน)[1],[5],[6]
  4. ใช้ทำเป็นยาหม่องแก้ปวดศีรษะ ปวดหู และใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน (น้ำมันเขียว-ใช้ภายนอก)[1],[6]
  5. ช่วยขับเหงื่อ (น้ำมันเขียว)[5]
  1. ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ (น้ำมันเขียว-ใช้ภายใน)[6]
  2. ช่วยแก้ลมชัก (น้ำมันเขียว)[5]
  3. น้ำมันเขียวใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ฆ่าเชื้อโรค และช่วยรักษาสิว (น้ำมันเขียว-ใช้ภายนอก)[6]
  4. ใบและเปลือกเมื่อนำมาตำรวมกันใช้เป็นยาพอกแผลที่กลัดหนอง จะช่วยดูดหนองให้แห้งได้ หรือใช้ทาฆ่าเหา ฆ่าหมัด และไล่ยุงก็ได้ (ใบและเปลือก)[5]
  5. น้ำมันเขียวใช้เป็นยาทาแก้ปวดเมื่อย บวม ทาแก้เคล็ด รักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคปวดข้อรูมาติซั่ม (น้ำมันเขียว-ใช้ภายนอก)[1],[7] หรือจะใช้ใบสดตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวมเลยก็ได้ (ใบ)
  6. น้ำมันเขียวใช้ทาไล่ยุง ฆ่าหมัด ฆ่าเหา และฆ่าแมลง (น้ำมันเขียว-ใช้ภายนอก)[1],[6]

ประโยชน์ของเสม็ด

  1. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา หรือนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ควายและแพะ นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้ใบและยอดอ่อนเสม็ดนำมารับประทานเป็นผักอีกด้วย[6] ดอกและยอดอ่อนมีรสเผ็ดใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้[7]
  2. ใบสดนำมาใช้กลั่นทำเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ (ใช้เฉพาะยอดอ่อน ไม่ควรใช้ใบแก่เกินไป และต้องเก็บจากต้นที่อยู่บนดอน น้ำไม่ท่วมขัง[6]) ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร ที่เรียกว่า “น้ำมันเขียว” (Cajuput oil) หรือ “น้ำมันเสม็ด[1],[5] และมีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับ Eucalyptus oil[3]
  3. น้ำมันเสม็ดสามารถใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ เช่น ยุง เห็บ หมัด เหา ปลวก สัตว์ดูดเลือด เช่น ทาก ได้ดี และยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายอย่าง เช่น สเปรย์ไล่ยุง สเปรย์ฆ่าปลวก สเปรย์ป้องกันทาก ธูปกันยังแชมพูสุนัข เป็นต้น[6],[8]
  4. มีงานวิจัยที่ระบุว่าน้ำมันเสม็ดสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ดี จึงสามารถนำไปสู่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวได้ เช่น สบู่เหลวล้างหน้าป้องกันสิว เป็นต้น[8]
  5. ผลแห้งใช้ทำพริกไทยดำ[5]
  6. เนื้อไม้เสม็ดขาวมีความคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี จึงสามารถนำมาใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้ว และทำถ่านได้ดี ส่วนเปลือกต้นใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้านชั่วคราว ใช้ทำหมันเรือ ใช้อุดรูรั่วของเรือ ทำประทุนเรือ ใช้ย้อมแหหรืออวน ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวประมง[2],[3],[5],[6]
  7. นอกจากนี้ยังสามารถใช้น้ำต้มใบเสม็ดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันหอมไปย้อมสีผ้าได้อีกด้วย โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อนและช่วยทำให้ผ้าคงทนต่อการเข้าทำลายของแมลงที่กัดกินเนื้อผ้าได้ดี[8]
  8. ทุก ๆ ปีในช่วงหน้าแล้งยาวนาน หากมีฝนตกจนป่าเสม็ดชุ่มชื้น และมีแสงแดดจัดประมาณ 4-5 วัน ก็จะมี “เห็ดเสม็ด” งอกขึ้นมา (เรียกอีกอย่างว่า “เห็ดเหม็ด” เป็นเห็ดจำพวก Ectomycorrhiza และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Boletus griseipurpureus Corner) โดยเป็นเห็ดมีรสค่อนข้างขม แต่ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้เลยก็ว่าได้[7]
  9. นอกจากป่าเสม็ดจะเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของเห็ดเสม็ดแล้ว ป่าเสม็ดยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและนกน้ำอีกด้วย และในเวียดนามจะใช้ป่าเสม็ดเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลง ก่อนนำไปใช้ปลูกข้าว[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เสม็ด (Samet)”.  หน้า 307.
  2. หนังสือพรรณไม้ป่าพรุ จังหวัดนาราธิวาสโครงการศูนย์การศึกษาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนาราธิวาส (งานป่าไม้).  “เสม็ดขาว”.
  3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เสม็ดขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [14 มิ.ย. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เสม็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [14 มิ.ย. 2014].
  5. มูลนิธิชัยพัฒนา.  “โครงการจัดการป่าเสม็ดแบบครบวงจร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.chaipat.or.th.  [14 มิ.ย. 2014].
  6. ส่วนพัฒนาวนศาสตร์ชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้.  “การใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาว”.  หน้า 4.
  7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว).  “เสม็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [14 มิ.ย. 2014].
  8. Thai Medicinal and Aromatic Plants.  “เสม็ดขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: med-aromaticplant.blogspot.com.  [14 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mauroguanandi, elorup, gérard, tanetahi, Bob Upcavage, Flora & Fauna of the Mid North Coast of NSW, Russell Dahms)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด