เมี่ยงหลวง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเมี่ยงหลวง 4 ข้อ !

เมี่ยงหลวง

เมี่ยงหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gordonia axillaris (Roxb. ex Ker Gawl.) Endl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Camellia axillaris Roxb. ex Ker Gawl., Polyspora axillaris (Roxb. ex Ker Gawl.) Sweet) จัดอยู่ในวงศ์ชา (THEACEAE)[1],[3]

สมุนไพรเมี่ยงหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มใหญ่ ตีนจำ แมวคล้องตอ ส้านเขา อินทปัฎฐา (เลย) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเมี่ยงหลวง

  • ต้นเมี่ยงหลวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีค่อนข้างขาว ออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในจีน ลาว และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย โดยมักขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบเขา บนภูเขาหินทราย ที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนในต่างประเทศพบที่ระดับความสูงถึง 2,300 เมตร[1],[2],[3]

ต้นเมี่ยงหลวง

  • ใบเมี่ยงหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปหอกกลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือมน โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ช่วงปลายขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบและท้องใบเรียบ เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[3]

ใบเมี่ยงหลวง

  • ดอกเมี่ยงหลวง ดอกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกเป็นคู่ตามซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใบมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาว ใบประดับมีประมาณ 6-7 อัน ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม มีขนด้านนอก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เชื่อมติดกันที่โคน ลักษณะของกลีบเป็นรูปมนกลมหรือรูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ปลายกลีบเว้าหรือหยัก ยาวประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตร ขนาดไม่เท่ากัน ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูวงนอกเชื่อมติดโคนกลีบดอก ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร อับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี 5 ช่อง ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขนกำมะหยี่อยู่หนาแน่น[1],[3]

ดอกเมี่ยงหลวง

  • ผลเมี่ยงหลวง ผลเป็นผลสด เป็นผลแบบแคปซูล ลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอก ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ผลอ่อนมีขน พอแก่แล้วจะเกลี้ยง แตกอ้าออกเป็น 5 เสี่ยง มีแกนกลางติดทน ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน ปลายมีปีกบาง ๆ และเบี้ยว เมล็ดรวมปีกมีความยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[3]

ผลเมี่ยงหลวง

สรรพคุณของเมี่ยงหลวง

  1. ใบอ่อนมีฤทธิ์ฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย (ใบอ่อน)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบอ่อน)[1],[2]
  3. ใบอ่อนใช้เป็นตัวกระตุ้นช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว (ใบอ่อน)[1],[2]

ประโยชน์ของเมี่ยงหลวง

  • เมี่ยงหลวงจัดเป็นพรรณไม้หายาก นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เมี่ยงหลวง (Miang Luang)”.  หน้า 243.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เมี่ยงหลวง”.  หน้า 162.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เมี่ยงหลวง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [30 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Arthur Chapman, Paco Garin, 惡龍~Stewart, judymonkey17)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด