16 สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนเกล็ดหอย ! (Psyllium Husk)

เทียนเกล็ดหอย

เทียนเกล็ดหอย ชื่อสามัญ Psyllium Seed, Blonde Psyllium Seed, Ispaghula Seed, Psyllium Husk, Psyllium Seed Husk (ชื่อทางการค้าเรียกว่า “ไซเลียม ฮักส์“)[1],[3],[4]

เทียนเกล็ดหอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago ovata Forssk. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)[1],[3],[4]

ลักษณะของเทียนเกล็ดหอย

  • ต้นเทียนเกล็ดหอย จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นไม่ปรากฏ[1] มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในปัจจุบันได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วโลก[4]

ต้นเทียนเกล็ดหอย

  • ใบเทียนเกล็ดหอย ใบมีลักษณะแคบยาว เป็นรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบหรือหยัก ผิวใบมีขนนุ่ม[1]

ใบเทียนเกล็ดหอย

  • ดอกเทียนเกล็ดหอย ออกดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก ก้านยาว ดอกเป็นสีเขียวอมน้ำตาล[1]

ดอกเทียนเกล็ดหอย

  • ผลเทียนเกล็ดหอย ผลเป็นกระเปาะแตกได้ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน แบนคล้ายเรือ ลักษณะด้านนอกนูนด้านในเว้า ผิวมันลื่นเรียบไม่มีขน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีขนาดกว้างประมาณ 1.1-1.7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.1 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกเมื่อถูกความชื้น ผงจากเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรสร้อน ขม และหอม เมื่อถูกน้ำจะพองตัวเป็นเมือกเหมือนเมล็ดแมงลัก[1],[4]

ผลเทียนเกล็ดหอย
ผลเทียนเกล็ดหอย

เมล็ดเทียนเกล็ดหอย
เมล็ดเทียนเกล็ดหอย (Psyllium Seed)

เปลือกเทียนเกล็ดหอย
เปลือกเทียนเกล็ดหอย (Psyllium Seed Husk)

สรรพคุณของเทียนเกล็ดหอย

  1. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]
  2. ใช้เป็นยาบำรุงกำลังและเส้นเอ็น (เมล็ด)[1],[2],[4]
  3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน โดยส่วนที่เป็น psyllium fiber จะทำหน้าที่ในการดูดซับน้ำตาลจากทางเดินทางอาหารไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด (เมล็ด)[1],[2]
  4. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด (เมล็ด)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมขึ้นเบื้องสูง (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]
  1. ช่วยแก้คลื่นเหียน (เมล็ด)[4]
  2. ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[3],[4]
  3. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดเรื้อรัง (เมล็ด)[4]
  4. เมล็ดนำมาแช่กับน้ำให้พองตัวแล้วใช้ดื่ม จะช่วยทำให้อุจจาระลื่นและเป็นยาระบายชนิดเพิ่มกากอาหาร (เมล็ด)[1],[2],[4]
  5. ในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน แก้บิด แก้โรคเกี่ยวกับไต ระงับพิษ แก้การอักเสบของเยื่ออ่อนภายใน (เมล็ด)[5]
  6. ช่วยแก้อาการชาตามปลายมือปลายเท้าเนื่องจากเลือดเดินไม่สะดวก (เมล็ด)[1],[2]
  7. ช่วยแก้มือเท้าเย็น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1],[2]
  8. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดเส้นเอ็น (ใบ)[1],[2]
  9. เมล็ดเทียนเกล็ดหอยจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” (อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9) ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนเกล็ดหอย และเทียนตากบ) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม ขับเสมหะ แก้นิ่ว แก้ระดูขาว แก้แพ้ท้อง แก้อาการท้องผูก และใช้ตำรับยาหอม (เมล็ด)[4]
  10. เมล็ดเทียนเกล็ดหอยยังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนเกล็ดหอยอยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง (เมล็ด)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้เมล็ดตาม [1] ให้นำเมล็ดแก่แห้งมาแช่ในน้ำให้พองตัว แล้วดื่ม ขนาดที่ใช้ประมาณ 7.5 กรัม[1] ส่วนการใช้ตาม [4] ผู้ใหญ่ให้ใช้เมล็ดครั้งละ 5-10 กรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กให้ใช้เมล็ดเพียงครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง โดยนำมาแช่ในน้ำอุ่นให้เมล็ดพองตัวเต็มที่ก่อนแล้วจึงค่อยรับประทาน[4]

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น การบีบตัวผิดปกติ มีการผ่าตัดทางเดินอาหาร ผู้ป่วยลำไส้อุดตัน[4] นอกจากนี้การใช้เทียนเกล็ดหอยก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้หลังจากรับประทานเมล็ดได้ และการรับประทานเมล็ดก่อนอาหารจะทำให้ไม่อยากอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะขาดอาหารได้[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนเกล็ดหอย

  • ผิวนอกของเมล็ดเทียนเกล็ดหอยจะมี hydrocolloid, polysaccharide, มี Gum ซึ่งเป็น thioxotropie, amyrin, aucubin glucoside, campesterol, L-cystine, n-docosane, dotriacontane, n-eicosane, fixed oil, glutamic acid, glycine, heptadecane, iso, n-hexacosane, indicaine, linoleic acid, luteoline, myristic acid, nonacisane, octadecane, oleic acid, palmitic acid, n-pentacosane, planteose, ricinoleic acid, sitosterol, steric acid, stigmasterol, tritriacontane[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดมะเร็ง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นยาระบายแบบเพิ่มกาก แก้ท้องเสีย ต้านการอักเสบของลำไส้ เพิ่มการหลั่งน้ำดี กระตุ้นการสังเคราะห์น้ำดี ต้านเชื้อแบคทีเรีย[1],[2],[4],[5]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษของเมล็ด พบว่าเมื่อใช้ผสมในอาหารวัว ขนาด 50% ไม่พบว่าเป็นพิษ[1],[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองในหนูทดลองจนพบว่า สาร psyllium และ fiber ในเทียนเกล็ดหอย สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1991 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองผลของสาร psyllium ในเทียนเกล็ดหอย และพบว่ามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและเป็นยาระบาย[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาโดยใช้อาหารที่มี pantethines และเทียนเกล็ดหอยหรือสารสกัดจากเทียนเกล็ดหอย ในขนาด 1-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และ 10-50,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ตามน้ำหนักของเทียนเกล็ดหอย) ตามลำดับ โดยทำการทดลองใช้ในกระต่ายที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงร่วมกับ 0.5% pantethines และ 20% ผิวของเมล็ดเทียนเกล็ดหอยที่บดให้เป็นผงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่าคอเลสเตอรอลในเลือดมีระดับลดลง[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศสเปน ได้ทดลองในหนูอ้วน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้อาหารควบคุม และกลุ่มที่ 2 ให้อาหารร่วมกับ 3.5% เทียนเกล็ดหอย เป็นระยะเวลา 25 สัปดาห์ ทำการวัดน้ำหนักทุกสัปดาห์ วัด systolic blood pressure (SBP) เดือนละ 1 ครั้ง เมื่อจบการทดลอง ทำการวัดระดับ triglycerndes, total cholesterol, FFAs, glucose, insulin, adiponectin และ tumor necrosis factor ≥ (TNF≥) พบว่าหนูที่ได้อาหารที่มีเทียนเกล็ดหอย มีน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับอาหารควบคุม และหนูกลุ่มควบคุมจะมีค่า SBP, triglycerndes, total cholesterol, FFAs, glucose, insulin และ TNF≥ สูงกว่ากลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าการบริโภคอาหารที่มีเทียนเกล็ดหอย จะช่วยป้องกันภาวะเซลล์บุผิวหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวการณ์มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ และการมีระดับ adiponectin และ TNF≥ ในเลือดผิดปกติในหนูอ้วน[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเยอรมนี ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงและมีอาการท้องผูกร่วมด้วย จำนวน 62 ราย โดยให้เทียนเกล็ดหอย 3.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดตามผู้ป่วยทุกสัปดาห์ โดยใช้ Nepean Dyspepsia Index เพื่อดูอาหารของช่องท้องทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มีผู้ป่วยจำนวน 54 รายที่อยู่จนจบการทดลอง มีผู้ป่วย 4 รายออกจากการทดลองเนื่องจากเกิดผลข้างเคียงของเทียนเกล็ดหอย ภายหลังการทดลองพบว่าระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยลดลง จาก 252 ± 39 mg/dl เหลือ 239 ± 37 mg/dl เมื่อให้การรักษาไป 3 สัปดาห์ และระดับไขมัน LDL ลดลงจาก 174 ± 34 mg/dl เหลือ 162 ± 31 mg/dl ส่วนระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมัน HDL ไม่เปลี่ยนแปลง อาการของระบบทางเดินอาหารลดลงกว่าตอนเริ่มทดลอง จึงสรุปได้ว่า เทียนเกล็ดหอยอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงระดับน้อยถึงปานกลาง[1]
  • ในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง เทียนเกล็ดหอยเป็น non-systemic cholesterol lowering agent ที่สามารถทำให้คอเลสเตอรอลรวม, LDL และ LDL/HDL ratio ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 8 สัปดาห์[4]
  • สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การรับประทานเทียนเกล็ดหอยก่อนอาหารจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินและไม่ต้องพึ่งอินซูลิน[4]
  • ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด หากรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยลดระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้[4]
  • ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่มีการออกกำลังกายและรับประทานเทียนเกล็ดหอยร่วมด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้[4]
  • เมื่อนำเทียนเกล็ดหอยมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสาย พบว่าเทียนเกล็ดหอยสามารถช่วยลดอาการท้องเสียและอุจจาระที่เป็นไขมันได้ และยังมีการใช้เทียนเกล็ดหอยเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยโรค irritable bowel syndrome (IBS) อีกด้วย[4]
  • ในผู้ป่วยริดสีดวงทวาร การรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมีอาการปวดและระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลลดลง[4]

ประโยชน์ของเทียนเกล็ดหอย

เมล็ดเกล็ดหอย สามารถนำมาใช้ทำสปาเพื่อบำรุงผิวได้หลายสูตร (ใช้แบบที่บดเป็นผงละเอียดแล้ว) ดังนี้

  • สปาสูตรหน้าใสด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้น้ำเทียนเกล็ดหอย 2 ส่วน (ให้เอาผงเทียนเกล็ดหอยมาแช่ด้วยน้ำร้อนคนไปเรื่อย ๆ จนพอง แล้วค่อยนำมาใช้), น้ำแตงกวา 5 ส่วน (ปอกเปลือกออกคั้นเอาแต่น้ำ), นมสด 2 ส่วน, น้ำมะเขือเทศ 1 ส่วน, และน้ำมะนาว 5 หยด ขั้นตอนแรกให้เอานมสดและน้ำมะนาวมาผสมให้เข้ากันก่อน แล้วจึงค่อยเอาส่วนผสมอื่น ๆ เติมลงไป คนให้เข้ากันจนเหนียว แล้วนำมาใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที ก่อนล้างออกก็ให้ขัดเบา ๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น และใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นปิดรูขุมขนตามเป็นอันเสร็จ[5]
  • สปาสูตรหน้าขาวใสเด้งด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้เทียนเกล็ดหอย 1 ส่วน, น้ำมะเขือเทศ 3 ส่วน, น้ำแตงกว่า 3 ส่วน และผงไข่มุกแท้ (ข้อมูลไม่ได้ระบุสัดส่วนไว้) นำทั้งหมดมาผสมและคนให้เข้ากัน ใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก[5]
  • สปาสูตรบำรุงผิวหน้าแห้งด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้เทียนเกล็ดหอย (ข้อมูลไม่ได้ระบุสัดส่วนไว้), น้ำมะเขือเทศ 5 ส่วน, โยเกิร์ต 2 ส่วน (เลือกใช้รสธรรมชาติ), และนมสด 1 ส่วน วิธีทำให้น้ำเทียนเกล็ดหอย น้ำมะเขือเทศ และนมสด มาคนให้เข้ากันก่อน แล้วจึงค่อยเติมโยเกิร์ตลงไป คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วนำมาใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก[5]
  • สปาสูตรลดหน้ามันด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้เทียนเกล็ดหอย 1 ส่วน, น้ำแตงกวา 4 ส่วน, และน้ำฝรั่ง น้ำสับปะรด หรือน้ำแอปเปิ้ล 2 ส่วน (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมและคนให้เข้ากัน ใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก[5]
  • สปาสูตรรักษาฝ้าด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้เทียนเกล็ดหอย 1 ส่วน, น้ำหัวไชเท้า 4 ส่วน, น้ำแตงกวา 1 ส่วน และน้ำมะเขือเทศ 1 ส่วน นำส่วนผสมทั้งหมดมาคนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกเฉพาะบริเวณที่เป็นฝ้าเท่านั้น (สูตรนี้ห้ามโดนแดด จึงควรใช้เฉพาะตอนกลางคืนหรือก่อนเข้านอนเท่านั้น)[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “เทียนเกล็ดหอย”  หน้า 109-110.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “เทียนเกล็ดหอย”.  หน้า 92-93.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนเกล็ดหอย Psyllium Seed”.  หน้า 214.
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เทียนเกล็ดหอย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [07 ธ.ค. 2014].
  5. ไทยโพสต์.  “สปาสวยใสด้วยเทียนเกล็ดหอย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net.  [07 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ophis, Zi W, Mithu MN Sabah)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด