เทียนหยด สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนหยด 9 ข้อ ! (ฟองสมุทร)

เทียนหยด

เทียนหยด ชื่อสามัญ Duranta, Golden Dewdrop, Crepping Sky Flower, Pigeon Berry[1],[3]

เทียนหยด ชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta erecta L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duranta repens L.) จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1]

สมุนไพรเทียนหยด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาวบ่อลด (เชียงใหม่), เครือออน (แพร่), พวงม่วง ฟองสมุทร เทียนไข เทียนหยด (กรุงเทพฯ), เอี่ยฉึ่ง (จีน) เป็นต้น[1]

ลักษณะของเทียนหยด

  • ต้นเทียนหยด หรือ ต้นฟองสมุทร มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนตั้งแต่ฟลอริดาไปจนถึงบราซิล ตลอดจนหมู่เกาะอินดีสตะวันตก จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากรอบ ๆ ลำต้นตั้งแต่โคนต้นถึงยอด ลักษณะรูปทรงไม่แน่นอน ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร กิ่งมีลักษณะลู่ลง ตามกิ่งอาจมีหนามบ้างเล็กน้อย เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[3]

ต้นเทียนหยด

  • ใบเทียนหยด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมหรือมนแต่จะสั้น โคนใบสอบหรือเรียวยาวไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเป็นจักเป็นฟันเลื่อยเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น ออกใบดกเต็มต้น[1],[5]

ใบเทียนหยด

  • ดอกเทียนหยด มี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ดอกสีม่วงและดอกสีขาว ดอกจะออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกมีลักษณะห้อยลงมีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ประกอบกับมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร โดยดอกจะทยอยบานครั้งละ 5-6 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีม่วงน้ำเงินหรือสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 ริ้ว ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน หรือช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม[1],[3],[5]

ดอกฟองสมุทร

ฟองสมุทร

ดอกเทียนหยด

  • ผลเทียนหยด ผลมีพิษ ออกผลเป็นพวงหรือช่อห้อยลง ผลมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเป็นมันสดใส และยังมีกลีบเลี้ยงติดอยู่[1],[5]

ผลเทียนหยด

สรรพคุณของเทียนหยด

  1. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการใช้เมล็ดแก่ที่แห้งแล้วประมาณ 15-20 เมล็ด นำมาตำหรือบดให้เป็นผงผสมรับประทานก่อนที่จะเป็นไข้ประมาณ 2 ชั่วโมง (เมล็ดแห้ง)[1]
  2. เมล็ดแห้งใช้เป็นยาเร่งคลอด ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 15-20 เมล็ด นำมาตำหรือบดให้เป็นผงผสมรับประทาน (เมล็ดแห้ง)[1]
  3. ใบสดมีรสชุ่ม มีกลิ่นฉุน ใช้ตำพอกเป็นยาห้ามเลือด (ใบสด)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้ฝีผักบัว แก้หนอง แก้อักเสบ แก้บวม ด้วยการใช้ใบสดในปริมาณพอสมควร นำมาตำผสมกับน้ำตาลทราย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบสด)[1]
  5. ใช้รักษาปลายเท้าเป็นห้อเลือด บวมอักเสบ และเป็นหนอง ด้วยการใช้ใบสดปริมาณพอสมควร นำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง 15 กรัม แล้วปั้นเป็นก้อน ลนด้วยไฟอุ่น ๆ ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล (ใบสด)[1]
  6. หากมีอาการปวดหน้าอก หกล้มหรือถูกกระแทก ให้ใช้เมล็ดประมาณ 15 กรัม นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้ากิน (เมล็ด)[1]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนผลจะมีสารพิษซึ่งเมื่อสัตว์กินเข้าไปมาก ๆ ก็อาจทำให้ตายได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนหยด

  • ใบเทียนหยดมีสาร pectolinaringenin, มี scutellarein อยู่จำนวนน้อย และยังมี durantoside I tethraacetate, durantoside I pentaacetate, durantoside II tethraacetate, durantoside IV tethraacetate นอกจากนี้ยังมี β-carotene, chlorophyll, xanthophyll, แครอทีน ฯลฯ ส่วนผลเทียนหยดมีสารจำพวกอัลคาลอยด์ ได้แก่ pyridine derivative และยังมี glucose, fructose, sterols[1]

พิษของเทียนหยด

  • ส่วนที่เป็นพิษ : ใบ ผล และเมล็ด โดยในใบเทียนหยดพบกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์ ส่วนในผลเทียนหยดพบสารในกลุ่มซาโปนินที่เป็นพิษ ได้แก่ duratoside IV, duratoside V หากรับประทานเข้าไปแล้วเคี้ยว อาจทำให้เสียชีวิตได้ (แต่ถ้าไม่เคี้ยว ก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย)[2],[4]
  • อาการเป็นพิษ : ผู้ป่วยที่รับประทานใบเทียนหยดในปริมาณมาก สาร hydrocyanic acid จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ จนทำให้มีอาการตัวเขียว และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ถ้ารับประทานในปริมาณน้อยก็อาจจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียได้ ส่วนผู้ป่วยที่รับประทานผลเทียนหยดจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ปวดศีรษะ ส่วนในรายที่เกิดอาการเป็นพิษรุนแรง เนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ อาจถูกทำลาย เม็ดเลือดแดงอาจแตกได้ ในกรณีที่มีการดูดซึมของสารพิษ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการกระหายน้ำ หน้าแดง จิตใจมีความกังวล ตาพร่า และม่านตาขยาย พิษที่รุนแรงจะแสดงออกที่กล้ามเนื้อไม่มีแรง การประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี สุดท้ายการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอและอาจถึงขั้นชัก และเสียชีวิตในที่สุด[2]
  • ตัวอย่างผู้ป่วย : เด็กหญิงในรัฐฟลอริดา ได้รับประทานผลของเทียนหยดเข้าไป และมีอาการมึนงง สับสน แต่ในวันต่อมาก็มีอาการเป็นปกติ ส่วนในประเทศออสเตรเลีย ผู้ป่วยเด็กได้รับพิษจากเมล็ดเทียนหยดจนทำให้เสียชีวิต โดยอาการเป็นพิษที่พบ คือ มีไข้ นอนไม่หลับ และชัก[2]
  • การรักษา : ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล และควรทำให้พิษลดลงหรือได้รับการดูดซึมสารพิษน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียนและให้สารหล่อลื่น เช่น นมหรือไข่ขาว ในขณะพักฟื้นควรรับประทานทานอาหารอ่อน ๆ ในรายที่ไม่มีอาการอาเจียนรุนแรง ให้ล้างทันที แต่ในกรณีที่มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด[2],[4]

ประโยชน์ของเทียนหยด

  1. มีการใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและใช้ฆ่าลูกน้ำในบ่อหรือในที่มีน้ำขังได้ โดยใช้น้ำที่ได้จากเมล็ดเทียนหยดมาละลายในน้ำ 1/100 ส่วน[4],[5]
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามทางเดิน ริมถนน ริมทะเล สวนสาธารณะ โดยปลูกเป็นไม้ประธาน หรือปลูกเป็นแนวรั้วบัง เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม ดอกมีสีสันสวยงาม ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดทั้งวัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับผลแก่ที่มีสีเหลืองสดเป็นมันดูสดใสคล้ายเทียนหยดงดงามมาก อีกทั้งต้นเทียนหยดยังเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้เร็ว ปลูกและดูแลรักษาง่าย ไม่มีโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย สามารถตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ตามต้องการ แต่ไม่ควรปลูกใกล้สนามเด็กเล่นเพราะผลและใบมีพิษ[3],[5]
  3. ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันวัว ควาย แพะ แกะ ฯลฯ ได้ เนื่องจากใบของเทียนหยดจะมีสารซาโปนินที่สัตว์จะไม่กินเพราะเป็นพิษ ในประเทศอินเดียจึงนิยมนำปลูกกันมากเนื่องจากมีสัตว์จำพวกวัว แพะ ฯลฯ ถูกปล่อยเดินตามถนนมากมาย[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ฟองสมุทร”.  หน้า 579-580.
  2. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เทียนหยด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.   [08 พ.ย. 2014].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (นพพล เกตุประสาท).  “ฟองสมุทร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th.  [08 พ.ย. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “ฟองสมุทร (เทียนหยด)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/poison/.  [08 พ.ย. 2014].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 332 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “เทียนหยด :ไม้ประดับที่ผลงดงามกว่าดอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.doctor.or.th.  [08 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Rod, Suzan Marie, 石川 Shihchuan, Shubhada Nikharge, Peter, Maria Luiza Babe Lavenère, klbarr)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด