เชื้อราในปาก (Oral thrush) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคเชื้อราในช่องปาก

เชื้อราในช่องปาก / เชื้อราช่องปาก / เชื้อราในปาก (Oral candidiasis หรือ Oral candidosis, Oral thrush, Oropharyngeal candidiasis, Moniliasis, Muguet, Thrush) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ทำให้มีเชื้อราสะสมในช่องปากจนเห็นเป็นฝ้าสีขาวข้นที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก

เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า แคนดิดา (Candida) เป็นเชื้อราประจำถิ่นของผิวหนังและของเนื้อเยื่อในช่องปาก ลำคอ และอาจรวมไปถึงหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ และที่อวัยวะเพศ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว โดยในภาวะที่ร่างกายยังปกติเชื้อราชนิดนี้จะไม่เพิ่มจำนวนจนก่อให้เกิดโรคได้ เพราะยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายชนิดอยู่ด้วยกันที่ช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อราแคนดิดาแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นได้ แต่ในกรณีที่เกิดการเสียสมดุลระหว่างเชื้อราแคนดิดากับเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น (เช่น สาเหตุจากการกินยาปฏิชีวนะติดต่อกันนานจนทำให้เชื้อแบคทีเรียถูกทำลายหมด) หรือเกิดจากการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่อง ก็จะส่งผลให้เชื้อราแคนดิดาเป็นอิสระและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนก่อให้เกิดการติดเชื้อแล้วทำให้ร่างกายกลายเป็นโรคขึ้นมาได้ ซึ่งโรคจากการติดเชื้อราแคนดิดานี้ ถ้าเกิดที่เยื่อเมือกในช่องปาก ลำคอ คอหอย ก็จะเรียกว่า เชื้อราในช่องปาก (Oropharyngeal Candidiasis) ถ้าเกิดที่หลอดอาหารจะเรียกว่า เชื้อราในหลอดอาหาร (Esophageal Candidiasis) หรือถ้าเกิดที่อวัยวะเพศหญิงก็จะเรียกว่า เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เป็นต้น

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้เรื่อย ๆ ไม่บ่อยนักในคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ในผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ แต่จะไม่ค่อยพบในวัยรุ่นและในคนวัยหนุ่มสาวที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

สาเหตุของโรคเชื้อราในช่องปาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลระหว่างเชื้อราแคนดิดา (Candida) และแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องปากจนกลายเป็นโรคเชื้อราได้ คือ

  • การรับประทานยาหรือใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เชื้อราแคนดิดาสามารถแบ่งตัวได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาเคมีบำบัด หรือยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ ทารก เด็กเล็ก (ซึ่งภูมิคุ้มกันยังสร้างได้ไม่เต็มที่)
  • การได้รับยาสเตียรอยด์พ่นทางปากหรือทางจมูกเป็นเวลานาน เช่น ในผู้ป่วยโรคหืด เพราะจะทำให้ยาสเตียรอยด์ตกค้างในช่องปากได้อย่างต่อเนื่องจนส่งผลทำให้ติดเชื้อราได้ง่าย
  • เกิดจากการฉายรังสีรักษา เพื่อรักษามะเร็งในอวัยวะส่วนศีรษะและลำคอ เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งคอหอยส่วนปาก
  • เกิดจากภาวะปากแห้ง คอแห้ง เพราะจะส่งผลทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ
  • ทารกติดเชื้อราชนิดนี้จากมารดาในขณะคลอด เช่น มารดาที่มีเชื้อราในช่องคลอดและคลอดบุตรทางช่องคลอดปกติ
  • เกิดจากการให้นมบุตร โดยมักติดต่อกันไปมาระหว่างแม่และลูกจากการติดเชื้อราของแม่ที่หัวนม (จากการเปียกชื้นจากน้ำนม) หรือที่หัวจุกขวดนมที่ล้างไม่สะอาด และจะมีโอกาสเกิดได้สูงขึ้นเมื่อมารดาติดเชื้อราในช่องคลอดร่วมด้วย
  • เกิดจากการใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะฟันปลอมชนิดใส่เต็มปาก ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกในช่องปากจนเยื่อเมือกในช่องปากเสียการต้านทานโรค และยังรวมไปถึงการไม่รักษาความสะอาดฟันปลอมให้ดีพอ ซึ่งมักจะพบเชื้อราได้ที่เพดานบน และในผู้ที่ใส่ฟันปลอมทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ถอดออกในช่วงก่อนเข้านอน

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก

เชื้อราแคนดิดา (Candida) ไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ แต่กับบุคคลเหล่านี้จะมีปัจจัยที่ทำให้เชื้อราที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยหรือประจำถิ่น (Normal flora) ในช่องปากเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นโรคเชื้อราได้ คือ

  • ผู้ที่รับประทานยาหรือใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เชื้อราแคนดิดาสามารถแบ่งตัวได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาเคมีบำบัด หรือยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์พ่นทางปากหรือทางจมูกเป็นเวลานาน เช่น ในผู้ป่วยโรคหืด
  • ทารกและเด็กเล็ก ซึ่งภูมิคุ้มกันยังสร้างได้ไม่เต็มที่
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่องจากทุกสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ (โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะท้ายของโรค) ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา ผู้ป่วยเบาหวาน (ผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 พบว่าจะมีการติดเชื้อราในช่องปากมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า) และในผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีเชื้อราในช่องคลอด
  • ทารกแรกเกิดที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด (ทำให้ทารกเกิดโรคเชื้อราในช่องปากภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด) หรือได้รับเชื้อในขณะดูดนม
  • ผู้ที่มีภาวะปากแห้ง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้สูงอายุที่ความสะอาดในช่องปากยังไม่ดีพอ
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะฟันปลอมแบบใส่เต็มปาก เนื่องจากไม่สามารถทำความสะอาดฟันปลอมได้อย่างทั่วถึง โดยพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ที่ใส่ฟันปลอมจะมีเชื้อรา
  • นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอีกหลายอย่าง เช่น การขาดวิตามินและแร่ธาตุ (โดยเฉพาะธาตุเหล็ก), การได้รับบาดเจ็บและเชื้อเข้าไปในแผล, ความอบอ้าวของอุณหภูมิรอบตัวรวมทั้งความชื้นจากเหงื่อ, พันธุกรรม เป็นต้น

อาการของโรคเชื้อราในช่องปาก

อาการที่พบได้บ่อยของการติดเชื้อราในช่องปาก คือ การมีฝ้าขาวข้นเป็นมันที่เยื่อเมือกในช่องปาก ซึ่งฝ้านี้จะมีลักษณะคล้ายนมข้น (เมื่อใช้ปากคีบจับดูจะอ่อนยุ่ยคล้ายฝ้าน้ำนม) ถ้าขูดหรือลอกฝ้าออกจะพบพื้นข้างใต้อักเสบเป็นสีแดง และบางครั้งอาจมีเลือดซึมออกมาได้เล็กน้อย

ฝ้าเหล่านี้จะกระจายเป็นหย่อม ๆ โดยมักจะพบที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปากก่อนเสมอ และเมื่อเป็นมากขึ้นจึงพบได้กับเนื้อเยื่อทุกส่วนในช่องปาก ลำคอ คอหอยส่วนปาก คอหอย และอาจลามไปยังหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และปอดในรายที่เป็นรุนแรง

ในระยะแรก ๆ อาจไม่พบอาการอื่นร่วมด้วย และถ้าไม่สังเกตดี ๆ ก็อาจจะไม่เห็นฝ้าขาว

ส่วนในรายที่เป็นมากขึ้นอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการเจ็บหรือแสบที่รอยฝ้า เจ็บในช่องปากหรือลำคอ, กลืนลำบากหรือเจ็บเวลากลืน, ผู้ป่วยอาจรู้สึกคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ, อาจมีไข้ต่ำ ๆ, ลิ้นไม่รับรู้รสชาติ, มีอาการเบื่ออาหาร เป็นต้น

ถ้าพบในทารกอาจทำให้ทารกไม่ดูดนมหรือร้องงอแง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเชื้อราในช่องปาก

ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้เกิดขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากโรคเชื้อราในช่องปากได้ คือ

  • เกิดอาการเจ็บปากหรือคอ ทำให้ผู้ป่วยกลืนแล้วเจ็บ ส่งผลทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและมีอาการอ่อนเพลีย
  • ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเอดส์) มักเป็นโรคเชื้อราในช่องปากอย่างรุนแรง เจ็บปากจนกินไม่ได้และขาดอาหาร บางรายเชื้ออาจลุกลามลงไปที่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบ (Candidal esophagitis) มีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืน ทำให้กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และขาดอาหารได้ นอกจากนี้เชื้อรายังอาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อร้ายแรง เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ ไตอักเสบ เป็นต้น จนอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • ทารกที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หากดูดนมมารดา อาจทำให้เต้านมมารดาเกิดการอักเสบได้

การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องปาก

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการของผู้ป่วยและประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว ยาต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยใช้อยู่ การตรวจร่างกาย และการตรวจดูรอยโรคในช่องปากของผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ในบางครั้งแพทย์อาจมีการขูดเอาฝ้าขาวในปากไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจมีการส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร ซึ่งอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อค้นหาสาเหตุของรอยโรคในหลอดอาหาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก

วิธีรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก

  1. โรคเชื้อราในช่องปากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหรือสงสัยว่าเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก ผู้ป่วยไม่ควรดูแลรักษาโรคนี้ด้วยตัวเอง แต่ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อนเสมอ โดยเฉพาะเมื่อโรคเกิดในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว เพราะโดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้มักจะไม่ติดเชื้อราในช่องปาก ยกเว้นในกรณีที่มีโรคที่ส่งผลถึงภูมิต้านทานโรคต่ำซ่อนเร้นอยู่
  1. เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก ดังนี้
    • การให้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายตัว เช่น แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B), เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet), ไนสแตติน (Nystatin), โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), อีโคนาโซล (Econazole), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ไมโคโนโซล (Miconazole), โพซาโคนาโซล (Posaconazole) เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ยาทา ยาอม ยาบ้วนปาก ยารับประทาน ยาเหน็บ และยาฉีด ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาใดหรือรูปแบบใดนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ (โดยปกติแพทย์จะให้ใช้ยาเฉพาะที่ก่อน เช่น ยาบ้วนปาก ยาทา ยาอม ยาเหน็บ แต่ถ้าไม่หายจึงค่อยให้ยาแบบรับประทาน) ส่วนวิธีการใช้ยาแต่ละรูปแบบนั้นมีตัวอย่าง เช่น
      ยาอมแก้เชื้อราในช่องปาก

       

      IMAGE SOURCE : prawil.com
      • ยาทาเจนเชียนไวโอเลต หรือ ยาม่วง (Gentian violet) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ชนิด 2% ส่วนในเด็กให้ใช้ชนิด 1% โดยให้ใช้สำลีก้านที่สะอาดจุ่มน้ำยาแล้วนำมาป้ายปากและลิ้นหรือบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือใช้ยาไนสแตติน (Nystatin) ชนิดน้ำ (100,000 ยูนิต/มิลลิลิตร) ป้ายปากครั้งละ 1 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้งจนกว่าจะหาย แล้วให้ต่อไปอีก 48 ชั่วโมง
      • สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต อาจใช้ยาอมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole troche) ขนาดเม็ดละ 10 มิลลิกรัม อมครั้งละ 1 เม็ด โดยให้อมในปากจนละลายหมดแล้วกลืน วันละ 5 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
      • ยารับประทานคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ขนาด 200 มิลลิกรัม หรือยารับประทานฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ขนาด 100 มิลลิกรัม ให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์
    • การรักษาประคับประคองไปตามอาการ (เมื่อผู้ป่วยมีอาการอย่างไรก็ให้การรักษาไปตามอาการนั้น ๆ) เช่น ให้ยาแก้เจ็บคอ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ และบ้วนทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร หรือถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอมากจนรับประทานอาหารทางปากได้น้อยหรือรับประทานไม่ได้เลย การรักษาจะเป็นการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
    • การรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือการหลีกเลี่ยงสาเหตุ เช่น การรักษาควบคุมโรคเบาหวาน โรคหืด โรคเอดส์, การให้หยุดใช้ยาสเตียรอยด์, การให้หยุดยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
  2. สำหรับการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเชื้อราในช่องปากหลังการไปพบแพทย์แล้ว คือ
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ยาต่าง ๆ ที่ต้องรับประทานตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา และไม่หยุดใช้ยาเอง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
    • ห้ามขูดหรือลอกฝ้าออก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
    • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ และบ้วนทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร โดยอาจเป็นน้ำเกลือที่ใช้บ้วนปากจากโรงพยาบาล (Normal saline) หรือจะใช้เป็นเกลือละลายน้ำในสัดส่วนที่ไม่เค็มมากก็ได้ โดยการผสมเกลือประมาณ ½ ช้อนชา กับน้ำอุ่น 1 แก้ว ใช้กลั้วคอและบ้วนทิ้ง
    • รักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งหลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน ร่วมไปกับการใช้ไหมขัดฟัน 1 ครั้งก่อนแปรงฟันก่อนนอน และเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์และมีรสจืดเพื่อช่วยลดอาการแสบในช่องปากเมื่อแปรงฟัน เช่น ยาสีฟันเด็ก
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ควรดูแลฟันปลอมให้สะอาดอยู่เสมอตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหญิงให้นมบุตรและ/หรือในกรณีโรคเกิดในเด็กที่ดื่มนมมารดาหรือดูดนมจากขวด ควรดูแลหัวนมของมารดาและหัวนม/ขวดนมของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ (ในกรณีที่เด็กเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก มารดาควรใช้ยารักษาโรคเชื้อราในช่องปากป้ายหัวนมมารดาพร้อม ๆ กันไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มารดาติดเชื้อ)
    • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อผู้ป่วยไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปากแห้งและเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวาน ๆ เพราะจะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
    • ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาต่าง ๆ มาใช้เอง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยาสเตียรอยด์โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
    • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
    • ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ แย่ลง มีอาการผิดปกติที่ต่างไปจากเดิม รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยหรือไม่ได้ มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ท้องเสีย ไอมาก ระดับการรู้สึกตัวต่ำกว่าปกติ หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
  3. ภายหลังการรักษา โดยทั่วไปโรคนี้จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และโรคมักจะจำกัดอยู่เฉพาะการติดเชื้อในช่องปากเท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำมาก เชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อทั่วตัวจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้
  4. ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือใช้ยารักษาแล้วยังไม่ได้ผล หรือสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป (ถ้าพบว่าเป็นโรคเอดส์ จำเป็นต้องใช้ยารักษาเชื้อราให้ได้ผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา)

วิธีป้องกันโรคเชื้อราในช่องปาก

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี
  • รักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งหลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน ร่วมไปกับการใช้ไหมขัดฟัน 1 ครั้งก่อนแปรงฟันก่อนนอน และเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์และมีรสจืดเพื่อช่วยลดอาการแสบในช่องปากเมื่อแปรงฟัน เช่น ยาสีฟันเด็ก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดการดื่มน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปากแห้ง
  • รักษาความสะอาดฟันปลอมตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ
  • ในกรณีที่เป็นหญิงให้นมบุตรหรือเป็นเด็กบริโภคนมขวด ควรดูแลรักษาความสะอาดของหัวนมมารดาและหัวนม/ขวดนมของทารกอยู่เสมอ
  • ป้องกันและรักษาหรือควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคเชื้อราในช่องคลอด โรคหืด
  • ไม่รับประทานยาอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยาสเตียรอยด์ที่ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • ไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของเชื้อรา เนื่องจากการให้ยาเมื่อเป็นโรคแล้วยังสามารถรักษาได้ผลดี แต่สำหรับผู้กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ แพทย์อาจให้รับประทานยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) วันละ 100-200 มิลลิกรัม
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคเชื้อราในช่องปาก (Oral candidiasis/thrush/moniliasis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 560-561.
  2. หาหมอดอทคอม.  “เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 พ.ย. 2016].
  3. Siamhealth.  “เชื้อราในปาก Oral thrush”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [30 พ.ย. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 98 คอลัมน์ : เรียนหมอจากภาพ.  “เชื้อราขึ้นในช่องปาก”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [30 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด