เจ็บคอ (Sore throat) อาการ สาเหตุ และวิธีแก้เจ็บคอ 20 วิธี !!

เจ็บคอ

เจ็บคอ (Sore throat) เป็นอาการเจ็บหรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ เนื่องจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ เช่น ผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น กล่องเสียง เป็นต้น โดยอาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลากลืน ส่วนใหญ่อาการเจ็บคอมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แต่บ่อยครั้งก็อาจเกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก เกือบทุกคนต้องเคยมีอาการนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในเด็ก วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว ส่วนในเพศชายและเพศหญิงมีอัตราการเกิดใกล้เคียงกัน และพบเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบได้สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

โดยทั่วไปอาการเจ็บคอจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักใช้เสียง ดื่มน้ำให้มาก ๆ รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการเจ็บมากจนส่งผลทำให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย และอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองภายใน 1-3 วัน ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสมอ

สาเหตุของอาการเจ็บคอ

สาเหตุของอาการเจ็บคอ อาจแบ่งได้เป็น

  1. สาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุดคิดเป็นประมาณ 80-90% ของอาการเจ็บคอทั้งหมด โดยมักเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และช่องคอ) ซึ่งเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
    • จากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบได้ เช่น จากโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ โรคกล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัด และโรคอีสุกอีใส (ในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวจะพบอาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสได้ประมาณ 60-70% ส่วนในผู้ใหญ่จะพบได้ประมาณ 80-85%)
    • จากเชื้อแบคทีเรีย เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคฝีรอบต่อมทอนซิล โรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ โรคคออักเสบจากการติดเชื้อ โรคไอกรน โรคคอตีบ และโรคฉี่หนู (ในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวจะพบอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรียได้ประมาณ 25-50% ส่วนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะพบได้ประมาณ 5-15%)
    • จากเชื้อรา เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
  2. สาเหตุที่เกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยคิดเป็นประมาณ 5-10% เช่น
    • จากการดื่มน้ำน้อย
    • จากการใช้เสียงมากเกินควร โดยเฉพาะเมื่อเป็นการตะโกน
    • จากการมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในลำคอ เช่น ก้างปลา
    • จากช่องคอได้รับการบาดเจ็บโดยตรง เช่น อุบัติเหตุ
    • จากการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ฝุ่นละอองหรือควันต่าง ๆ, ควันบุหรี่ (ทั้งจากการสูบโดยตรงหรือการสูบบุรี่มือสอง), สารเคมี, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์, การคาท่อช่วยหายใจ, การคาท่อให้อาหารจากจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร รวมไปถึงการฉายแสงหรือการได้รับยาเคมีบำบัดแล้วทำให้เยื่อบุลำคออักเสบ
    • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol)
    • จากการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารในโรคกรดไหลย้อน (กรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง)
    • จากการไอเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง
    • จากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
    • จากโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอเกิดการอักเสบ
    • จากโรคเนื้องอกของคอหอยและกล่องเสียง

อาการเจ็บคอ

อาการและอาการแสดงของอาการเจ็บคออาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ได้แก่

  • เจ็บแสบหรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มักจะเป็นมากขึ้นในขณะที่กลืนหรือพูด
  • กลืนลำบาก รู้สึกว่าคอแห้ง เสียงอาจเปลี่ยน และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู
  • เยื่อบุลำคอมีสีแดง อาจมีตุ่มแดงของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองโตเป็นจุด ๆ, ต่อมทอนซิลบวม โต และแดง, มีจุดหนองสีขาวเหลืองหรือฝ้าขาวอยู่บนต่อมทอนซิล และอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและเจ็บ
  • ในเด็กอาจไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหาร

นอกจากนี้ อาการเจ็บคออาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจมีอาการมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดร้าวไปที่หู เสียงแหบ มีน้ำมูกใส ๆ คัดจมูก ไอ จาม มีเสมหะ มีกลิ่นปาก เยื่อบุตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

  • อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น อาการไข้ หนาวสั่น, ไอ (อาจมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะ), จาม มีน้ำมูก, ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้, ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว, อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน, และอาจมีอาการท้องเสียแต่ไม่มาก
  • อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ได้ติดเชื้อ ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น อาการเจ็บคอมากขึ้นเมื่อกลืน กิน ดื่ม พูด หรือไอ, คอแดง, เสียงแหบ, ปาก คอ แห้ง, ต่อมทอนซิลแดง (อาจโตและมีแผ่นขาว ๆ เหลือง ๆ ปกคลุม), อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตจนคลำได้ (อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างและมักจะเจ็บ), อาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ สีแดงกระจายที่ผนังด้านหลังของคอหอยที่เกิดจากการโตของต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lymphoid hyperplasia of pharyngeal wall, ในเด็กมักไม่ยอมกินเพราะจะเจ็บเวลากลืน

อาการเจ็บคอ
IMAGE SOURCE : www.menshealth.com

อาการเจ็บคออาจแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการเจ็บคอได้ดังนี้

  • อาการเจ็บคอเฉียบพลัน สาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ คือ
    • โรคคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อ
    • โรคสายเสียงหรือกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อหวัด (Adenovirus ในเด็ก และ Rhinovirus และ Corona Virus ในผู้ใหญ่), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza), เชื้อไวรัสหัด (Measles), เชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Chicken pox), เชื้อเริม (Herpes simplex virus), เชื้อ Epstein-Barr Virus (Infectious mononucleosis) เป็นต้น รองลงมาจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A streptococcus), เชื้อหนองใน (Gonorrhea), เชื้อหนองในเทียม (Chlamydia), เชื้อคอตีบ (Diphtheria) และมีส่วนน้อยที่เกิดจากการติดเชื้อรา ได้แก่ เชื้อแคนดิดา (Candida)
  • อาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นอาการที่น่ารำคาญที่พบได้บ่อย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เป็นประจำเนื่องจากไม่หายสักที ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นระยะเวลานาน การวินิจฉัยสาเหตุ แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ อย่างละเอียด ส่วนสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังนั้นก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่โรคจมูก ไซนัส ลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เช่น
    • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นจะทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องอ้าปากหายใจ เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำมูกที่ไหลลงคอทำให้เกิดการระคายคอตลอดเวลา ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
    • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องหายใจทางปากตลอด เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรัง นอกจากนี้สารคัดหลั่งจากไซนัสและจมูกที่อักเสบที่ไหลลงคอยังทำให้มีอาการอักเสบระคายเคืองของผนังคอ และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
    • การติดเชื้อของลำคอ และ/หรือต่อมทอนซิลเรื้อรัง โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะ หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด หรือมีแหล่งของเชื้อโรคอยู่ในช่องปาก เช่น การมีฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบ นอกจากนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อราบางชนิด เชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสเอดส์ เชื้อซิฟิลิส เชื้อโรคเรื้อน อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวนี้ก็พบได้น้อย
    • โรคผนังช่องคอ และ/หรือสายเสียงอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากการไอเรื้อรังเกิดจากการระคายเคืองจากการสัมผัสฝุ่น ควันบุหรี่ สารเคมี อาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือเกิดจากการใช้เสียง (เช่น การพูดเสียงดัง การพูดเป็นเวลานาน) ทำให้มีการกระแทกกันของสายเสียงและมีการใช้กล้ามเนื้อของผนังคอที่มากเกินไป
    • โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอ เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ที่มีการกระตุ้นหรือการระคายเคือง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ได้ โดยอาการปวดมักจะเริ่มจากผนังคอแล้วร้าวไปที่หู คอ และศีรษะนานเป็นวินาที ซึ่งมักถูกกระตุ้นโดยการกลืน การเคี้ยว การหาว และการไอ
    • โรคเนื้องอกของคอหอยและกล่องเสีย ทำให้เนื้องอกไปกดเบียดเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้
    • โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง ทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อของผนังคอเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆ ได้
    • สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น ก้างปลา เศษกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่คาอยู่ในผนังลำคอหรือต่อมทอนซิลหรือที่โคนลิ้นเป็นระยะเวลานาน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้ก็พบเกิดได้น้อยมาก

การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเจ็บคอ

แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเจ็บคอได้จากลักษณะทางคลินิก เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจดูในลำคอ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และอาจร่วมกับการตรวจทางหูคอจมูก แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจย้อมเชื้อและ/หรือเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง เสมหะ หรือจากลำคอ, การตรวจเลือดซีบีซี (CBC), การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือดเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่าง ๆ, การเอกซเรย์ภาพปอดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไอมากร่วมกับมีเสมหะมาก เป็นต้น

ทำไงให้หายเจ็บคอ
IMAGE SOURCE : www.hilarymartinhiman.com

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บคอ

อาจทำให้เกิดภาวะขาดอาหารและภาวะขาดน้ำจากการที่ผู้ป่วยไม่ยอมกลืน (เพราะกลืนแล้วจะเจ็บคอมาก) โดยเฉพาะในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุ

วิธีรักษาอาการเจ็บคอ

การดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่อมีอาการเจ็บคอผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรหยุดงานหรือหยุดเรียนจนกว่าไข้จะลดลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  2. งดการใช้เสียงชั่วคราว
  3. ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่มีรสจืด เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด รวมไปถึงอาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือการทอด
  5. พยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟันหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ผสมเกลือ 1 ช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว) น้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำเปล่าทุก 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจทำให้มีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอมากขึ้นได้
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำพออุ่น) อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เพื่อช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่กำลังอักเสบ และยังช่วยลดอาการเจ็บคอและระคายคอได้ด้วย
  7. รับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือเจ็บคอมาก
  8. วิธีแก้เจ็บคออื่น ๆ เช่น การกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ, การดื่มชาคาโมไมล์, การดื่มน้ำผึ้งสูตรต่าง ๆ (เช่น สูตรน้ำร้อนผสมน้ำผึ้ง, น้ำมะนาว, อบเชย 1 ช้อนโต๊ะ และแอปเปิ้ลไซเดอร์อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ), การดื่มน้ำขิง, การดื่มชาชะเอมเทศผสมอบเชย, การรับประทานซุปไก่ (ทำจากไก่สด ๆ), การรับประทานซุปกระเทียม, การอมยาอมผสมมิ้นต์, การใช้ยาน้ำแก้ไอหรือยาอมแก้ไอ (ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ) เป็นต้น
  9. หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด หรือมีฝุ่นละอองหรือควันต่าง ๆ หรือสถานที่ที่มีคนรอบข้างป่วยหรือไม่สบาย
  10. การเปิดเครื่องทำความชื้น ถ้าอากาศในบ้านแห้งจนเกินไปก็อาจทำให้อาการเจ็บคอแย่ลงได้ ซึ่งการเปิดเครื่องทำความชื้นจะช่วยรักษาสภาพของเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ในลำคอได้
  11. พยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน ของฉุน และสิ่งระคายเคืองอื่น ๆ เพื่อลดอาการระคายคอ
  12. ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น การตากฝน หรือการสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ เช่น การนอนเปิดแอร์เย็นมาก ๆ หรือเปิดพัดลมเป่าจ่อ
  13. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  14. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม รวมถึงชาและกาแฟ
  15. ระวังการแพร่เชื้อติดต่อไปยังบุคคลข้างเคียง ด้วยการใช้กระดาษชำระปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจามทุกครั้ง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะตอนหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนการรับประทานอาหาร หรือหลังการไอหรือจาม
  16. ถ้าไปพบแพทย์มาแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรับประทานยาต่าง ๆ ที่สั่งให้ครบถ้วน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ผู้ป่วยต้องรับประทานให้ครบตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 2-3 วันอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากไม่รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบ นอกจากจะทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย

    วิธีแก้เจ็บคอ
    IMAGE SOURCE : www.rd.com

ไปพบแพทย์เมื่อไหร่ ? เมื่อมีอาการเจ็บคอมากจนมีผลต่อการกิน ดื่ม และ/หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยที่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นตามวิธีดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป แต่ถ้ามีอาการเลวลงหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึง 2-3 วัน

  • สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเจ็บคอ ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบแพทย์เมื่อเด็กมีอาการน้ำลายไหลตลอดเวลา ซึ่งบ่งบอกว่าเด็กกลืนไม่ได้ ไม่ยอมรับประทานอาหาร, กลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการเจ็บคอ ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บคอมาก หรือเจ็บคอเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์ แล้วยังไม่หาย, มีอาการเจ็บคอบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ, มีอาการเจ็บคอมากจนรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย, กลืนลำบาก มีน้ำลายไหล, หายใจลำบาก ไอ หอบเหนื่อย, ไม่สามารถอ้าปากได้, มีอาการปวดหู หูอื้อ หรือปวดตามข้อร่วมด้วย, มีไข้สูงมากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส, มีผื่น, มีน้ำลายหรือเสมหะปนเลือด, คลำก้อนได้ที่คอ, มีเสียงแหบหรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยนานเกิน 2 สัปดาห์, เป็นผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติกหรือโรคลิ้นหัวใจ, เป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ ไม่มีม้ามหรือได้รับการผ่าตัดม้ามออก กำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษที่ได้ยาคาร์บิมาโซล (Carbimazole) เป็นต้น))
  • สำหรับการไปพบแพทย์ก่อนนัด หลังจากได้พบแพทย์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง เช่น มีอาการเจ็บคอมากขึ้นจนกลืนไม่ได้, ยังคงมีไข้สูงหรือกลับมามีไข้อีก หรือมีอาการเจ็บคออีก หลังจากอาการเดิมดีขึ้นแล้ว, ยังคงมีเสียงแหบหลังอาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว (อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียงในผู้สูงอายุ), รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย, มีผื่นขึ้นตามมาหลังจากมีไข้หรือหลังไข้ลง, มีน้ำมูกหรือเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองหรือยังคงมีน้ำมูกหรือเสมหะเรื้อรังหลังจากอาการต่าง ๆ หายแล้ว (เป็นอาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อไวรัส แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น เช่น การให้พักผ่อนอย่างเต็มที่, การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว, การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาบ้วนปากเพื่อรักษาความสะอาดในช่องปากและช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง, การให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ (เช่น ยาอม ยากลั้วคอหรือพ่นคอ จิบยาน้ำ ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการระคายคอได้), ยาบรรเทาอาการปวดหรือเจ็บคอหรือยาลดไข้ (เช่น ยาพาราเซตามอล, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์), ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ (Antihistamines), การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินดื่มได้น้อย เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ (เพราะยาปฏิชีวนะมีไว้ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือความเสี่ยงที่จะแพ้ยาซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการดื้อยาของการติดเชื้อครั้งต่อไปอีกด้วย)
  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาไปตามอาการดังกล่าวร่วมไปกับการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น โดยให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไข้รูมาติกและกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อรา แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อราชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา เช่น ให้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) เป็นต้น
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ โรคเนื้องอกของกล่องเสียง รวมไปถึงการแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ หรือหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ เป็นต้น
  • การรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรัง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บคอที่เป็นอยู่เรื้อรังให้พบและรักษาไปตามสาเหตุ อาการผู้ป่วยถึงจะหาย และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นอีก

โดยทั่วไปอาการเจ็บคอมักจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และมักสามารถรักษาที่สาเหตุและอาการให้หายได้เสมอ ส่วนความรุนแรงของการเจ็บคอนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ สาเหตุการเกิด (เพราะโรคต่าง ๆ มีความรุนแรงไม่เท่ากัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดธรรมดา), อายุ (ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเพราะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป), สุขภาพร่างกาย (ในผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงจะมีอาการรุนแรงมากกว่า) และโรคประจำตัวต่าง ๆ (เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะมีอาการรุนแรงกว่า)

วิธีป้องกันอาการเจ็บคอ

การป้องกันอาการเจ็บคอที่สำคัญคือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งประมาณ 80-90% เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยการ

  1. ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  2. รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  3. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
  5. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยฉีดตั้งแต่วัยเด็ก เช่น วัคซีนโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ เป็นต้น ส่วนในผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เจ็บคอ…จะแย่แล้ว”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [11 ม.ค. 2017].
  2. หาหมอดอทคอม.  “เจ็บคอ (Sore throat)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [11 ม.ค. 2017].
  3. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เป็นหวัดเจ็บคอ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [12 พ.ย. 2016]
  4. wikiHow.  “วิธีการแก้เจ็บคอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [12 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด