เจตมูลเพลิงขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเจตมูลเพลิงขาว 44 ข้อ !

เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อสามัญ Ceylon leadwort, White leadwort[9],[10]

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zeylanica L. จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงแดง[1]

สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ), ตั้งชู้อ้วย ตอชูวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตอชู (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก้นหลัวะ (ม้ง), หนวดแมว (ไทลื้อ), ป๋ายฮัวตาน ไป๋ฮวาตัน ไป๋เสี่ยฮวา (จีนกลาง), แปะฮวยตัง (แต้จิ๋ว), ปิ๋ด ปี๋ ขาว ปี่ปีขาว เป็นต้น[1],[3],[4],[5],[7]

ลักษณะของเจตมูลเพลิงขาว

  • ต้นเจตมูลเพลิงขาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเป็นไม้ในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นและที่แฉะ มักพบขึ้นตามป่าที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบทั่วไป[1],[2],[4],[5],[8]

ต้นเจตมูลเพลิงขาว

  • ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน[1],[2],[5]

ใบเจตมูลเพลิงขาว

  • ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น[3],[5]

รูปดอกเจตมูลเพลิงขาว

ปิดปิวขาว

ดอกปิดปิวขาว

ดอกเจตมูลเพลิงขาว

  • ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว[1],[2],[5]

ผลเจตมูลเพลิงขาว

สรรพคุณของเจตมูลเพลิงขาว

  1. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  2. รากใช้เข้ายาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[1],[2],[5],[7]
  3. รากใช้เข้ายาบำรุงโลหิต (ราก)[1],[2],[5]
  4. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)[5]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[5],[7]
  6. ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด (ราก, ทั้งต้น)[1],[3],[5]
  7. ใบมีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)[1],[2],[5]
  8. ดอกมีรสร้อน ใช้แก้โรคหนาวเย็น (ดอก)[1],[2],[5]
  9. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)[1]
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคตา (ดอก)[1],[2],[5],[7]
  1. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ลำต้น)[2],[5],[6] หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้โรคมาลาเรียก็ได้เช่นกัน โดยใช้ใบสดประมาณ 8-9 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงข้อมือทั้งสองข้างตรงบริเวณชีพจร โดยให้พอกก่อนที่จะเกิดอาการสักประมาณ 2 ชั่วโมง และให้พอกไปจนกระทั่งบริเวณที่พอกนั้นเย็น แล้วค่อยเอาออก (ใบ)[4],[5],[6] ส่วนชาวม้งจะนำมาใบทุบแล้วหมกไฟให้ร้อน แล้วนำไปไปห่อด้วยผ้า ใช้ห่อมือห่อเท้าผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดไข้ได้ (ใบ)[7]
  2. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)[10]
  3. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  4. ใบช่วยขับเสมหะ (ใบ)[7]
  5. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้อาเจียน (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  6. ช่วยแก้อาการหาวเรอ (ราก)[6]
  7. ใบมีรสร้อน ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)[5]
  8. หากเต้านมอักเสบ ให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนหาย (ใบ)[4],[6]
  9. รากและทั้งต้นมีรสเผ็ดฝาด ใช้เป็นยาเย็นร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับลม (ราก, ทั้งต้น)[3] ตำรายาไทยรากเจตมูลเพลิงขาวมีรสร้อน ใช้เข้ายาแก้ลมในตัว (ราก)[2],[5] ช่วยขับลมในอก (ราก)[1]
  10. แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง (ราก, ทั้งต้น)[3]
  11. ใบช่วยในการขับผายลม (ใบ)[1],[5] รากช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ราก)[2],[5],[6],[7]
  12. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ราก)[1],[5] บ้างว่าใช้ทั้งต้น[7]
  13. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (ราก[1],[5], ทั้งต้น[7])
  14. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)[4],[6]
  15. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  16. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก[1], ราก[2],[5],[7])
  17. ต้นหรือลำต้นมีรสร้อน ใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือขับระดูเสียให้ตกไป (ต้น[1],[2],[5],[6], ราก[4],[5],[6]) แก้ประจำเดือนไม่เป็นปกติ ประจำเดือนไม่มา แก้อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน (ราก, ทั้งต้น)[3] ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของขังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากเข้ายากับพริกไทย นำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับประจำเดือน (แต่เจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่า[5]) ส่วนตำรายาจีนจะใช้รากเจตมูลเพลิงขาว 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาขับประจำเดือน (บ้างว่าใช้รากแห้ง 30 กรัมและเนื้อหมูแดง 60 กรัม) (ราก)[3],[4],[6]
  18. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  19. หากตับหรือม้ามโต ให้ใช้ทั้งต้นเจตมูลเพลิงขาว นำมาดองกับเหล้ารับประทานเช้าเย็น หรือจะนำต้นแห้งมาบดเป็นผง ผสมกับแป้งข้าวเหนียวทำให้เป็นยาลูกกลอนใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1 เมล็ด (ขนาดเม็ดละประมาณ 3-3.5 กรัม) เช้าเย็นก็ได้ (ทั้งต้น)[3] หรือจะใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน จะช่วยแก้อาการม้ามบวมได้ แต่ถ้าอาการหนักก็ให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดคลุกกับข้าวเหนียวปั้นเป็นเม็ดขนาดพอดี แล้วนำไปนึ่งให้สุก ใช้รับประทานก่อนนอนและตื่นนอนครั้งละ 1 เม็ด (ราก, ใบ)[4]
  20. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกเป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด (ใบ)[2],[5]
  21. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก, ทั้งต้น)[3]
  22. ต้นสดใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน รากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิด กลากเกลื้อนและผื่นคัน (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[3],[5],[6],[7] หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-2 ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าหรือน้ำหรือน้ำมันพืชเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนก็ได้ แล้วนำส่วนที่ผสมนั้นไปพอกบริเวณที่เป็น (ราก)[4],[6] หรือจะใช้ผงรากนำมาทาแก้กลากเกลื้อนก็ได้เช่นกัน (ผงราก)[5]
  23. ใบและรากนำมาตำใช้พอกบริเวณที่โดนตัวบุ้งที่ทำให้เกิดอาการคัน (ใบ, ราก)[7]
  24. ใช้ใบสดและข้าวสวยอย่างละ 1 กำมือ ใส่เกลือเล็กน้อย นำมาตำเคล้ากันให้ละเอียด ใช้รักษาโรคผิวหนังหนาอันเนื่องมาจากการเสียดสีกันนาน ๆ โดยนำมาบริเวณที่เป็น (ใบ)[4]
  25. ช่วยแก้ฝีบวมอักเสบ (ราก, ต้น, ทั้งต้น)[3],[4],[6] หรือจะใช้ผงรากปิดพอกฝีก็ได้ (ผงราก)[5] หรือจะใช้ใบสดนำมาตำพอกแก้ฝีบวมก็เช่นกัน[5] หรืออีกวิธีให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้เป็นยาพอกแก้ฝีบวม ฝีคัณฑสูตร (ใบ)[4],[6]
  26. ใช้รักษาไฟลามทุ่ง ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย (ใบ)[4],[6]
  27. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)[1],[2],[5],[7]
  28. ใช้แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้แหลกคั่วกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ และถ้ารู้สึกแสบร้อนแล้วจึงค่อยเอายาที่พอกออก (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[3],[6] หรือจะใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอก หรือนำใบสดนำมาตำแล้วนำไปแช่ในเหล้าหรือผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้พอกหรือทาบริเวณที่ฟกช้ำก็ได้เช่นกัน (ใบ)[4],[5],[6]
  29. ช่วยแก้ปวด แก้ปวดบวม (ราก, ทั้งต้น)[3] แก้อาการบวม (ราก)[1],[2],[3],[5]
  30. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ราก, ลำต้น)[2],[5]
  31. ตำรายาไทยใช้รากเข้ายาแก้อาการปวดตัว (ราก)[2],[5]
  32. รากใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาแช่ในเหล้า ใช้รับประทานวันละ 5 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง (ราก)[4],[6] บ้างว่าใช้ผงรากนำมาทาแก้อาการปวดข้อ (ผงราก)[5] ช่วยขับลมชื้นปวดตามข้อ (ราก,ทั้งต้น)[3]
  33. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย กระดูกหัก (เข้าใจว่าใช้ใบนำมาตำแล้วพอก)[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว

  • สารที่พบได้แก่ Plumbagin, Hydroplumbagin, Sistosterol, Glucoside, 3-Biplumbagin, 3-Chloroplumbagin, Chitranone, Droserone, Elliptinone, Fructose, Glucose, Isozeylinone, Protease, Zeylinone เป็นต้น[3],[4]
  • สาร Plumbagin มีกลิ่นเหม็นและมีรสเผ็ดขม หากนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังได้ และถ้านำสารชนิดนี้มาสกัดด้วยสารคลอโรฟอร์ม จะพบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อ Staphylo coccus ได้[3]
  • สาร Plumbagin จากรากเจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย[2],[5]สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา[2],[5]
  • เจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ต่อการเต้นของหัวใจและมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ประสาทสงบระงับ (ได้แก่พวกหนูตะเภา กระต่าย และกบ)[4] หากใช้สารสกัดจากเจตมูลเพลิงขาว (Plumbagin) ในอัตราส่วน 0.1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายทดลอง พบว่าจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลองให้ตื่นตัว แต่หากใช้ในอัตราส่วนมากจนเกินไป จะทำให้ประสาทส่วนกลางตายด้าน จนหมดความรู้สึก[3]
  • มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและหยุดการหายใจของกระต่าย[4] หากนำสารสกัดเจตมูลเพลิงมาฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายในอัตราส่วน 10 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหายใจและความดันได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตลดลง เนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยยับยั้งการเต้นของหัวใจให้ลดลง แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด[3]
  • สารสกัดจากรากมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้หนูแท้ง[2] โดยมีฤทธิ์ต่อมดลูกของสัตว์ที่ตั้งท้อง หากใช้ในระดับปานกลางจะไปยับยั้งการบีบตัว และหากฉีดเข้าไปในหนูขาวทดลองจะทำให้แท้งได้ เพราะการทำงานของรังไข่จะผิดปกติไป[4] และสาร Plumbagin ของเจตมูลเพลิงยังมีผลกระตุ้นมดลูกของหนูหรือกระต่ายทดลองที่กำลังตั้งท้อง ทำให้ตกเลือดอีกด้วย[3]
  • สารสกัดจากด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการกำจัดเพลี้ย และจะมีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย Mincrococcus pyogenes var. aureus, Mycobacterium phlei และ Salmonella typhi[4]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเขตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า)[3],[4],[5]
  • เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้[6]

ประโยชน์ของเจตมูลเพลิงขาว

  • นอกจากจะใช้เจตมูลเพลิงเป็นยาสมุนไพรแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย เพราะมีดอกที่ดูสวยงาม มีอายุได้หลายปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อและปักชำ[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เจตมูลเพลิงขาว (Chetta Mun Phloeng Khao)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 97.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เจตมูลเพลิงขาว”.  หน้า 173.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “เจตมูลเพลิงขาว”.   (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 184.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เจตมูลเพลิงขาว”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 230-232.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เจตมูลเพลิงขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [2 มี.ค. 2014].
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เจตมูลเพลิงขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [2 มี.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “เจตมูลเพลิงขาว, ปิดปิวขาว”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [2 มี.ค. 2014].
  8. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “เจตมูลเพลิงขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [2 มี.ค. 2014].
  9. Clearing House Mechanism of Department of Agriculture (CHM of DOA).  “เจตมูลเพลิงขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: chm.doa.go.th.  [2 มี.ค. 2014].
  10. สวนพฤษศาสตร์สายยาไทย.  “เจตมูลเพลิงขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [2 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, dear minmin, dinesh_valke, naturgucker.de, Tony Rodd, KeithABradley)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด