3 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเครือออน ! (พวงประดิษฐ์)

เครือออน

เครือออน ชื่อสามัญ Wooly Congea, Lavender Wreath, Shower Orchid, Shower of Orchid[2]

เครือออน ชื่อวิทยาศาสตร์ Congea tomentosa Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Congea azurea Wall., Congea villosa (Roxb.) Voigt, Congea tomentosa var. oblongifolia Schauer, Congea oblonga Pierre ex Dop, Congea petelotii Moldenke, Congea tomentosa var. nivea Munir, Calochlamys capitata C.Presl, Roscoea villosa Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรเครือออน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ออนแดง (เชียงใหม่), ค้างเบี้ย เบี้ย (นครพนม), พลูหีบ ล้วงสุ่มขาว ล้วงสุ่มตัวผู้ (นครราชสีมา), สะแกบ (อุดรธานี), งวงชุม (เลย), จั่งบั่ง ท้องปลิง (จันทบุรี), สังขยา (พิษณุโลก, สงขลา), พญาโจร พวงประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ), กาไบ้ดง เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเครือออน

  • ต้นเครือออน จัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยไปได้ไกล 10-15 เมตร มีอายุหลายปี ปลายกิ่งทอดห้อยลง ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดนุ่มสีขาวขึ้นหนาแน่น ผลัดใบในช่วงธันวาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงออกดอก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและปักชำ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง[1],[2]

ต้นพวงประดิษฐ์

ต้นเครือออน

  • ใบเครือออน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมวงรี ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-13 เซนติเมตร เนื้อใบสาก ท้องใบมีขนขึ้นหนาแน่น[1],[2]

ใบเครือออน

  • ดอกเครือออน ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกประกอบด้วยช่อย่อยเป็นกระจุก มีดอกประมาณ 5-7 ดอก ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 10-18 นิ้ว มีใบประดับสีม่วงอมชมพูรองรับ 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนเชื่อมติดกัน ดอกย่อยเป็นสีขาวขนาดเล็ก หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก ขนาดไม่เท่ากัน แบ่งเป็นส่วนบน 2 กลีบ ส่วนล่างอีก 3 กลีบ กลีบรองกลีบดอกมี 5 แฉก ติดอยู่เมื่อเป็นผล มีเกสรเพศผู้ 4 อัน[1],[2]

พวงประดิษฐ์

ดอกเครือออน

  • ผลเครือออน ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ ผลมีขนาดเล็ก มีใบประดับติดอยู่ที่ขั้ว ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2]

สรรพคุณของเครือออน

  • ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว จะใช้ใบหรือทั้งต้นเครือออน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  • ใบหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  • ใช้ตำคั้นเอาน้ำทาเป็นยาบรรเทาอาการอักเสบจากตะขาบ แมงป่อง และแมลงมีพิษกัดต่อย (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  • ใบหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ใบ, ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของเครือออน

  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามรั้วบ้าน ปลูกเลื้อยไต่ซุ้มให้ร่มเงาตกแต่งบ้านดูสวยงาม[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เครือออน”.  หน้า 79.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  “เครือออน”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Igor Azevedo, Mauricio Mercadante, Yeoh Yi Shuen, bill.I.am, Igor Azevedo)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด