อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ

อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ หรือ อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide หรือ Al(OH)3) เป็นยาที่มักถูกนำมาใช้ลดกรดในกระเพาะอาหาร รักษาโรคกรดไหลย้อน ภาวะอาหารไม่ย่อย รวมถึงแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยหากใช้เป็นยาเดี่ยวอาจจะก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ ในทางเภสัชกรรมจึงมักนำยานี้ไปผสมกับยาลดกรดอื่น ๆ เข้าไปด้วยอีก 1 ตัว เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate) ซึ่งแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จะกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย (เป็นยาระบาย) การนำมาผสมร่วมกันจึงช่วยลดผลข้างเคียงเรื่องท้องผูกจากยานี้ลงไปได้

ตัวอย่างยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอ.เอ็น.เฮท. แมท (A.N.H. Mat), อะเบลลา (Abella), แอดแมก-เอ็ม (Admag-M), อัลแมก (Almag), อะลูแมก (Alumag), อะลูมิน (Alumin), อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide), อะลูโปร (Alupro), แอมอะคอน (Amacone), แอมโค (Amco), อะโมจิน โอทีซี (Amogin OTC), แอนตาเซีย (Antacia), เอเชียลัม (Asialum), คารีโอปิน (Caryopin), คอนแมก (Conmag), เดโฟแมก (Defomag), ไดเจสติน (Digestin), ไดเมดอน (Dimedon), กาซิดา (Gacida), เคนยา เจล (Kenya Gel), แอล-ดาซิน (L-Dacin), มาลอกซ์ (Maalox), แมชโต (Machto), แมก 77 (Mag 77), แมกนีเซียม ไตรซิลลิเคท คอมพาวนด์ เมดิกฟาร์มา (Magnesium Trisillcate Compound Medicpharma), นิว เจล-ดี (New Gel-D), ซินลูแมก (Sinlumag), โซลูแมก-ดี (Solumag-D), เวเนียม (Venium), โวราแก๊ส (Voragas) ฯลฯ

รูปแบบยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

สูตรตำรับส่วนมากของยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์จะมีการผสมกับยาลดกรดชนิดอื่นเข้าไปด้วย และจัดจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 120, 200, 230, 250, 300, 325, 400, 500 และ 600 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 350, 400 และ 600 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์
IMAGE SOURCE : www.bzygh.cn

อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์
IMAGE SOURCE : www.prestoimages.net, www.healthsnap.ca

สรรพคุณของยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • ใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้อาการเรอเหม็นเปรี้ยว บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก ปวดแสบในท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (อาจใช้เป็นยาเสริมการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร) กระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน และช่วยป้องกันมิให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะจากยาต่าง ๆ
  • ใช้รักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)
  • บางครั้งอาจนำยานี้มาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไต

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เป็นยาที่มีฤทธิ์ด่าง มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid – HCl) ในกระเพาะอาหาร จนกระทั่งมีฤทธิ์เป็นกลาง จึงช่วยลดการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารได้

โดยปกติอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์จะไม่ละลายน้ำและไม่ถูกดูดซึมทางลำไส้ แต่เมื่อตัวยานี้ไปทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะอาหารจะได้สารประกอบ คือ อะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium chloride) ซึ่งสามารถละลายน้ำและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ในขณะที่อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ที่มิได้ทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารจะถูกขับออกทางลำไส้ผ่านมากับอุจจาระ

ก่อนใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum hydroxide) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การรับประทานยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาบางชนิด เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol), เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin), คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids), ไซเมทิดีน (Cimetidine), ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ดิจิทาลิส (Digitalis), ไอเอ็นเอช/ไอโซไนอะซิด (INH/Isoniazid), ควิโนโลน (Quinolone), เพนิซิลลามีน (Penicillamine), เฟนิโทอิน (Phenytoin), รานิทิดีน (Ranitidine), เตตราไซคลีน (Tetracycline), ยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซล (Imidazole), ยาบำรุงโลหิตหรือยาบำรุงร่างกายที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ, อาหารเสริมที่มีเกลือแร่ฟอสเฟต (Phosphate) สามารถส่งผลลดการดูดซึมของยาและประสิทธิภาพในการรักษาโรคของยาเหล่านี้ลดลงได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเหล่านี้ก่อนยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือให้รับประทานหลังยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ประมาณ 2 ชั่วโมง
  • มีหรือเคยมีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะทางเดินอาหารอุดตัน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีความผิดปกติของการทำงานของไต หรือกำลังควบคุมอาหารรสเค็ม
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide)
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารรสเค็ม และผู้ที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

วิธีใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • สำหรับรักษาภาวะอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500-600 มิลลิกรัม วันละ 4-6 ครั้ง
  • สำหรับโรคกรดไหลย้อน (GERD), แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer), แผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer), และหลอดอาหารอักเสบและมีแผล (Erosive esophagitis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500-1,500 มิลลิกรัม วันละ 4-6 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 10,000 มิลลิกรัม)
  • สำหรับกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500-3,600 มิลลิกรัม วันละ 4-6 ครั้ง
  • สำหรับรักษาภาวะฟอสฟอรัสสูงในเลือด (Hyperphosphatemia) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม (ขึ้นอยู่กับระดับ Serum phosphate) วันละ 4 ครั้ง โดยให้รับประทานยาพร้อมกับอาหารคำแรกและก่อนนอน

คำแนะนำในการใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • โดยทั่วไปให้รับประทานยานี้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน และให้รับประทานเพิ่มเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นมากให้รับประทานทุก 2-4 ชั่วโมง (ยกเว้นการใช้รักษาภาวะฟอสฟอรัสสูงในเลือดที่ต้องรับประทานยาพร้อมกับอาหารและก่อนนอน)
  • สำหรับยาเม็ดควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนยา ส่วนยาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดการรับประทานในผู้ป่วยแต่ละคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดที่รับประทานในเด็ก) เพราะขนาดการใช้ยานี้จะแตกต่างกันไปตามอาการ เพศ และอายุของผู้ป่วย
  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากต้องรับประทานยาอื่นร่วมด้วย ให้รับประทานยาอื่นก่อนรับประทานยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือรับประทานยาอื่นหลังจากรับประทานยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ควรนั่งตัวตรงหลังจากรับประทานยาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรนอนทันทีหลังจากที่รับประทานยา
  • ไม่ควรประทานยานี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เว้นแต่แพทย์จะสั่งให้รับประทานยานี้ต่อไป
  • การใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสต่ำในเลือด (Hypophosphatemia) ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดกระดูก อาจชัก และกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากพบอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาหรือขอเปลี่ยนยา
  • ในกรณีที่ใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก อาการเรอเหม็นเปรี้ยว อาการปวดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเก็บรักษายาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

โดยทั่วไปหากลืมรับประทานยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

สำหรับในกรณีที่รับประทานยาเพื่อลดปริมาณของฟอสเฟตในเลือด ถ้าลืมรับประทานยาและนึกขึ้นได้ในระหว่างมื้ออาหารหรือไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกได้เกิน 1 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์

  • อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก และเบื่ออาหารได้ นอกจากนี้ยังอาจพบอาการรู้สึกสับสน เหนื่อย อ่อนเพลีย และลำไส้อุดตัน หากรับประทานยานี้ในปริมาณมาก
  • อาจทำให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสต่ำในเลือด (Hypophosphatemia) หากใช้ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดกระดูก อาจชัก และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาต้านกรด/ยาลดกรด (Antacids)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 277-278.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ALUMINIUM HYDROXIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [02 ต.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [02 ต.ค. 2016].
  4. Drugs.com.  “Aluminum Hydroxide”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [02 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด