หญ้าแพรก สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าแพรก 25 ข้อ !

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก ชื่อสามัญ Bermuda grass, Bahana grass, Creeping-cynodon, Dub grass, Dog’s tooth grass, Florida grass, Scutch grass, Lawn grass, Wire grass[1],[2]

หญ้าแพรก ชื่อวิทยาศาสตร์ Cynodon dactylon (L.) Pers. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1],[3]

สมุนไพรหญ้าแพรก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าแผด (ภาคเหนือ), หญ้าเป็ด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หนอเก่เค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ทิซั่วเช่า (จีน), สทฺทล (สัด-ทะ-ละ) , สทฺทโล (สัด-ทะ-โล) , หริต (หะ-ริ-ตะ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหญ้าแพรก

  • ต้นหญ้าแพรก มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและยุโรป เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและอากาศอบอุ่น โดยจัดเป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า ต้นมีขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาปกคลุมดิน เจริญเติบโตแบบแผ่ราบไปตามพื้นดินหรือเลื้อยปกคลุมดินไปได้ยาวประมาณ 1 เมตร และลำต้นชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นเป็นข้อและมีรากงอกออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด กิ่ง ราก และแตกลำต้นไปตามพื้นดิน เจริญเติบเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ต้องการความชื้นในปริมาณค่อนข้างมาก หญ้าชนิดนี้มักพบขึ้นเองตามพื้นที่แห้งแล้ง ที่ว่างริมถนน หรือในบริเวณสนามหญ้า ทนน้ำท่วมทังและสามารถขึ้นได้ในดินเค็ม ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 40-400 เมตร[1],[2]

ต้นหญ้าแพรก

  • ใบหญ้าแพรก ใบจะออกเป็นกระจุกตามข้อของลำต้น โดยจะออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปเส้นยาวหรือรูปใบหอกเรียว ปลายใบแหลมยาว โคนใบมีขนสั้น ๆ สีขาวก่อนถึงส่วนที่หุ้มรอบข้อ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร[1],[4]

ใบหญ้าแพรก

  • ดอกหญ้าแพรก ออกดอกเป็นช่อกระจะ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-6 ช่อย่อย ก้านช่อดอกร่วมยาวได้ประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวเทาถึงสีม่วง ยาวได้ประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีดอกย่อยเรียงกันเป็นแถว 2 แถว ดอกย่อยมีขนาดยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร อัดกันแน่นอยู่บนด้านหนึ่งของก้านดอกย่อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีอับเรณูสีม่วงยาว 1.1-5 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่มีก้านเกสรเพศเมีย 2 เส้น ส่วนปลายเป็นฝอยลักษณะคล้ายขนนก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[4]

ดอกหญ้าแพรก

รูปดอกหญ้าแพรก

  • ผลหญ้าแพรก เมื่อดอกร่วงจะติดผล ผลหรือเมล็ดจะมีขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 11.5 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลไปจนสีแดง[1]

เมล็ดหญ้าแพรก

เนื่องจากหญ้าแพรกเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของวิธีการป้องกันและกำจัดนั้นก็ทำได้หลายวิธี เช่น การไถดะเพื่อกลมทำลาย ถ้ายังขึ้นมาได้อีกก็อาจจะต้องไถซ้ำ หากยังมีหลงเหลืออยู่ก็ให้เก็บทำลายไหลและลำต้นให้หมดในขณะที่คราดทำเทือก หรือใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชก็ได้ เป็นต้น

สรรพคุณของหญ้าแพรก

  1. ช่วยแก้โรคเบาหวาน (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ทั้งต้นมีรสขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ลมชัก ตรากตรำทำงานหนัก (ทั้งต้น)[4]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[4]
  4. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว รวมถึงเหือดหัด และอีสุกอีใส (ทั้งต้น)[2]
  5. ทั้งต้นใช้ต้มกินเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)[2]
  6. ใช้เป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2],[4]
  7. ช่วยขับลม (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2]
  8. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ลำต้น)[1]
  1. ยาต้มของต้นหญ้าแพรกใช้กินเป็นยาแก้ท้องเดินเรื้อรังได้ (ลำต้น)[3]
  2. รากและลำต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (ลำต้น,ราก,ทั้งต้น)[1],[2],[3] ช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ราก)[1]
  3. รากใช้เป็นยาแก้ซิฟิลิสในระยะออกดอก (ราก)[1]
  4. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2] แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก (ราก)[1]
  5. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตกโลหิตระดูมากเกินไปของสตรี (ทั้งต้น)[2]
  6. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ลำต้น,ราก,ทั้งต้น)[1],[2]
  7. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[4]
  8. ทั้งต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอกแผลจากการหกล้มหรือกระทบกระแทก มีดบาด ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ทั้งต้น)[4]
  9. ทั้งต้นนำมาตำกับเหล้าใช้เป็นยาพอกทาแก้พิษอักเสบ ปวดบวม (ทั้งต้น)[2]
  10. ช่วยรักษาพิษไข้มีผื่นต่าง ๆ เช่น เป็นหัด เหือด ดำแดง อีสุกอีใส เป็นต้น ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำและกากพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ลำต้น)[1]
  11. ใช้เป็นยาแก้โรคหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาต้มหรือบดให้ละเอียด ใช้กินเป็นยา (ราก)[1]
  12. ใช้ลำต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำและกากทาหรือพอกแก้อาการปวดข้อ (ลำต้น)[1]
  13. ช่วยแก้อัมพาต แก้อัมพาตครึ่งตัว แขนขาชา ปวดเมื่อยกระดูก ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาชงกับเหล้ากิน (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2],[4]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [1] ส่วนของลำต้นสดให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ถ้าใช้ภายนอกให้นำต้นสดมาตำคั้นเอาน้ำและกากพอกหรือทาบริเวณที่เป็น ส่วนรากให้ใช้รากแห้งครั้งละประมาณ 60 กรัม นำมาต้มหรือบดให้ละเอียด ใช้กินเป็นยา[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าแพรก

  • จากการทดลองฉีดสารอัลคาลอยด์ของหญ้าแพรก ในขนาด 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดเข้าในหลอดเลือดดำของกระต่ายทดลอง พบว่าเลือดจากบาดแผลของกระต่ายจะเกิดการแข็งตัวขึ้น และเลือดจะหยุดไหลได้เร็วขึ้น[1]
  • สารอัลคาลอย์บางชนิดในหญ้าแพรกมีฤทธิ์ทำให้การไหลเวียนของโลหิตของหนูและหนูถีบจักช้าลง แต่มีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภา และมีส่วนที่เป็น Glycoside มีที่ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของแมว[2]
  • สารสกัดจากลำต้นหญ้าแพรกด้วยอีเทอร์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื่อ Bacillus subtilis, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella typhi, Shigella dysenteriae, Staphylococcus aureus, Streptococcus faecalis แต่สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งมีการทดลองกับ Vaccinia virus[1]
  • จากรายการเป็นพิษที่ทำการศึกษาในประเทศอินเดีย ตรวจพบ hydrocyanic acid ในพืชนี้ ทำให้สัตว์ที่กินพืชนี้เข้าไปเกิดอาการเป็นพิษ โดยมีอาการกล้ามเนื้อหน้าชักกระตุก สัตว์เกิดอาการกัดฟัน ตามมาด้วยมีความดันโลหิตสูง และส่งผลให้สัตว์ตายในเวลาต่อมา[2]

ประโยชน์ของหญ้าแพรก

  • หญ้าแพรกเป็นแหล่งของอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับสัตว์จำพวกแทะเล็มได้เป็นอย่างดี เช่น พวกโค กระบือ แกะ แพะ เป็นต้น (แม้ในฤดูร้อนก็ยังเชียวชอุ่มให้สัตว์แทะเล็มกินได้)[2],[4]
  • คุณค่าทางโภชนาการทางอาหารสัตว์ของหญ้าแพรกที่มีอายุประมาณ 45 วัน จะประกอบไปด้วย โปรตีน 9.7%, เยื่อในส่วน ADF 31.5%, NDF 67.7%, แคลเซียม 0.5%, ฟอสฟอรัส 0.12%, โพแทสเซียม 1.54%, ลิกนิน 6.4%[2]
  • ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างดินได้ดี แต่รากจะไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำกัดเซาะหน้าดินพังทลายได้เหมือนหญ้าแฝก[2]
  • ทั้งต้นสดใช้ในพิธีไหว้ครู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ศิษย์มีปัญญาแตกฉานได้รวดเร็วประดุจหญ้าแพรกที่แตกทอดไปตามพื้นดิน (ใช้ร่วมกับดอกเข็มและดอกมะเขือ)[2],[3]

ความหมายของหญ้าแพรก

ในพานดอกไม้ไหว้ครูนั้นจะประกอบไปด้วย ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก โดยดอกเข็มนั้นมีลักษณะแหลมคล้ายเข็ม มีความหมายในการอธิษฐานว่า ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลมดุจดั่งเข็ม ส่วนดอกมะเขือนั้นเวลาบานมันจะคว่ำลง มีความหมายในการอธิษฐานว่า ศิษย์จะน้อมรับวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ

ในส่วนของหญ้าแพรกนั้น เป็นหญ้าที่ไม่มีพิษมีภัยแก่ผู้ใด เมื่อเหยียบย่ำมันมันก็ไม่ทำให้เราบาดเจ็บ หญ้าแพรกจึงมีความหมายในการอธิษฐานว่า ศิษย์จะเป็นผู้มีความอ่อนน้อมและไม่โกรธตอบ แม้ว่าครูจะเฆี่ยนตีหรืออบรมสั่งสอนก็จะไม่โกรธ ไม่คิดอาฆาต พยาบาท เพราะครูทำไปด้วยความหวังดีมีเมตตาอยากให้ศิษย์เป็นคนดี

แม้ในฤดูแล้งเองที่พรรณไม้ชนิดอื่นต้องแห้งเหี่ยวตายไปตาม ๆ กัน หรือครั้นในถึงฤดูฝน ที่มีฝนตกมากจนน้ำท่วมขังทำให้พรรณไม้ชนิดอื่นตายหมด แต่หญ้าแพรกเองก็ยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่แห้งเหี่ยวหรือเน่าตาย หญ้าแพรกจึงมีความหมายในการอธิษฐานอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ศิษย์นั้นเป็นผู้มีความอดทนในการศึกษาเล่าเรียน

หญ้าแพรกยังเป็นพืชฟื้นตัวหรือเจริญเติบโตได้งอกงามและแพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าใช้หญ้าแพรกไว้ครูแล้วจะทำให้ลูกศิษย์เป็นผู้มีปัญญาแตกฉานเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรก และประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็วประดุจดั่งหญ้าแพรกที่แตกทอดแพร่กระจายพันธุ์ไปตามพื้นดิน

นอกจากนี้หญ้าแพรกยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เหลื่อมล้ำ ลดความแตกต่างทางฐานะและสังคมของศิษย์ไม่ให้แข่งขันหรืออวดร่ำอวดรวย ไม่เห็นใครสูงกว่าหรือต่ำกว่า ไม่ต้องหาของมีค่ามาไหว้ครูซึ่งอาจทำให้เห็นคุณธรรมในตัวครูลดลงจากพฤติกรรมของศิษย์ได้ นี่จึงเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ครูอาจารย์ในสมัยก่อนวางบรรทัดฐานให้ครูและศิษย์ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาด้วยความเคารพไม่ให้เห็นว่าใครสูงหรือต่ำ หญ้าแพรกจึงได้ชื่อว่าเป็นอาภรณ์ของแผ่นดิน

ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้หญ้าแพรกเพื่อบูชาพระพิฆเนศ เพราะเขาถือ ว่าพระพิฆเนศเป็นครู เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ และยังมีความเชื่ออีกหลายความเชื่อที่เชื่อว่าหญ้าแพรกเป็นของศักดิ์สิทธิ์[2]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้าแพรก”.  หน้า 809-810.
  2. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (รักษ์เกียรติ จิรันธร).  “หนึ่งในพืชสำคัญของพิธีไหว้ครู หญ้าแพรก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th.  [25 ก.ค. 2014].
  3. ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หญ้าแพรก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm. [25 ก.ค. 2014].
  4. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “หญ้าแพรก”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th.  [25 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Harry Rose, Anthony Mendoza)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด