หญ้าเกล็ดปลา สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าเกล็ดปลา 5 ข้อ !

หญ้าเกล็ดปลา

หญ้าเกล็ดปลา ชื่อสามัญ Lippia, Common lippia, Turkey tangle fogfruit

หญ้าเกล็ดปลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyla nodiflora (L.) Greene (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lippia nodiflora (L.) Michx., Lippia nodiflora Cham.) จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1],[2]

สมุนไพรหญ้าเกล็ดปลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้วยกังติ้ง ไตหยี่หนึ่งจี้ (จีน) ส่วนภาคกลางของไทยเรียก “หญ้าเกล็ดปลา” เป็นต้น[1]

ลักษณะของหญ้าเกล็ดปลา

  • ต้นหญ้าเกล็ดปลา จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยปกคลุมดิน แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นมีความยาวประมาณ 15-90 เซนติเมตร ตามลำต้นมีขนนุ่มสั้น ข้อที่แตกดินจะงอกรากออกมาเพื่อยึดเกาะดินเอาไว้ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินปนทราย ชอบอากาศชื้น ทนต่อแสงแดดจัดได้ดี[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นตามที่ลุ่ม ริมทะเลสาบ ริมทางน้ำ แม่น้ำลำคลอง นาเกลือ และริมถนนทั่วไป[2]

ต้นหญ้าเกล็ดปลา

รูปหญ้าเกล็ดปลา

  • ใบหญ้าเกล็ดปลา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเรียว ส่วนขอบใบหยักเป็นแบบฟันปลาตั้งแต่กลางใบจนถึงปลายใบ ส่วนขอบใบด้านล่างเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบทั้งสองด้านมีขนแบบ 2 แขน ก้านใบยาวประมาณ 1-4 มิลลิเมตร และมีขนแบบ 2 แขน[1],[2]

ใบหญ้าเกล็ดปลา

  • ดอกหญ้าเกล็ดปลา ออกดอกเป็นช่อเชิงลด รูปกลม โดยจะออกตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 0.2-0.21 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยไม่มี ดอกมีใบประดับเป็นรูปหัวใจ มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ผิวด้านนอกมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วยที่ฐานเล็กน้อย ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ ในแต่ละกลีบจะเป็นรูปหอก กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉกเล็กน้อย ในแต่ละแฉกเป็นรูปกลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่บริเวณปลายของหลอดกลีบดอก โดยที่ 2 อัน จะอยู่ต่ำกว่าเล็กน้อย (แบ่งเป็นเกสรเพศผู้ขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน) อับเรณูเป็นรูปกลม ยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ติดก้านชูเกสรที่ฐาน ก้านชูเกสรเป็นรูปแท่งยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปรี 2 อันประกบกัน แต่ละอันมีความยาวได้ประมาณ 0.1-1 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเป็นก้อนกลมเล็ก[1],[2]

ดอกหญ้าเกล็ดปลา

  • ผลหญ้าเกล็ดปลา ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ เมื่อผลแก่เต็มที่จะแยกออกจากกันเป็นเมล็ดแข็ง 2 เมล็ด[1]

สรรพคุณของหญ้าเกล็ดปลา

  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา (ลำต้น)[1]
  • ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ด้วยการใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา (ลำต้น)[1]
  • ใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด และช่วยขับปัสสาวะ (ลำต้น)[1]
  • ลำต้นใช้ภายนอกนำมาต้มเอากาก ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลมีหนอง และแผลฟกช้ำ (ลำต้น)[1]

ข้อควรระวัง : สตรีตั้งครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ประโยชน์ของต้นหญ้าเกล็ดปลา

  • ในอียิปต์จะนิยมปลูกหญ้าเกล็ดปลาไว้เป็นพืชคลุมดินตามบริเวณริมแม่น้ำลำคลอง น้ำชลประทาน เพื่อช่วยในการยึดเกาะดินไม่ให้พังทลายหรือถูกน้ำกัดเซาะ[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้าเกล็ดปลา”.  หน้า 798-799.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “หญ้าเกล็ดปลา”.  อ้างอิงใน : Flora of Thailand Volume 10 Part 2, หน้า 261-262.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [19 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Josh*m, John Brandauer, mwms1916, Salem Al Shekaili)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด