หญ้าดอกขาว สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าดอกขาว 40 ข้อ !

หญ้าดอกขาว

หญ้าดอกขาว ชื่อสามัญ Little ironweed, Ash-coloured fleabane, Ash-coloured ironweed, Purple fleabane, Purple-flowered fleabane.[6]

หญ้าดอกขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cacalia cinerea (L.) Kuntze, Conyza cinerea L., Vernonia cinerea (L.) Less.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[7]

สมุนไพรหญ้าดอกขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าสามวัน (เชียงใหม่), เสือสามขา (ตราด), ถั่วแฮะดิน ฝรั่งโคก (เลย), ก้านธูป ต้นก้านธูป (จันทบุรี), หนาดหนา (ชัยภูมิ), หญ้าละออง หญ้าดอกขาว หญ้าหมอน้อย หมอน้อย (กรุงเทพฯ), เซียวซัวโห้ว เซียหั่งเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เย่เซียงหนิว เซียวซานหู่ เซียวซัวเฮา ซางหางฉ่าว (จีนกลาง), ผ้ำสามวัน, ม่านพระอินทร์, ยาไม่ต้องย่าง เป็นต้น[1],[2],[3],[7]

หมายเหตุ : หญ้าดอกขาวเป็นชื่อที่พ้องกับพืชหลายชนิดทั้งที่อยู่คนละวงศ์ เช่น กระดุมเงิน (Eriocaulon henryanum Ruhland), หญ้ายอนหู (Leptochloa chinensis (L.) Nees), หรือใช้เรียกพืชชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน เช่น สาบเสือ (Eupatorium odoratum L.) ดังนั้นการใช้ชื้อ “หญ้าดอกขาว” ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน โดยต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์กำกับไว้อยู่เสมอ เพราะจากการทบทวนเอกสารข้อมูลการวิจัยส่วนใหญ่จะใช้ชื่อว่า “หญ้าดอกขาว” แทน “หญ้าหมอน้อย” มากกว่า[6]

ลักษณะของหญ้าดอกขาว

  • ต้นหญ้าดอกขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้ประมาณ 1-5 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านน้อย กิ่งและก้านเรียว มีลักษณะเป็นร่องและมีขนสีเทาขึ้นปกคลุม มีลายเส้นนูนขึ้นตามข้อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง เจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี พบได้ทั่วไปตามสนามหญ้า ที่รกร้าง และทุ่งนาชายป่า[1],[4],[6] หญ้าดอกขาวจัดเป็นพืชในเขตร้อนที่พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6]

หญ้าดอกขาว

  • ใบหญ้าดอกขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปใบหอก ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักหรือจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร หลังใบมีเส้นใบชัดเจน มีสีเขียวเข้ม มีขนทั้งสองด้าน ใบที่บริเวณโคนต้นมีขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่ปลายยอด[1],[2],[5]

ใบหญ้าดอกขาว

  • ดอกหญ้าดอกขาว ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นบริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 20 ดอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง รูปคล้ายช่อเชิงหลั่น กว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-35 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปคล้ายระฆัง 4 ชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะของดอกย่อยเป็นหลอดยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนอมสีแดง สีม่วง หรือสีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่สีดอกจะจางลง พอกดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อดอกร่วงโรยแล้วจะเห็นผลเป็นรูปทรงกระบอก[1],[6]

หญ้าหมอน้อย

ดอกหญ้าดอกขาว

  • ผลหญ้าดอกขาว ผลชนิดผลแห้งเมล็ดล่อน มีเมล็ดเดียว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแคบสีน้ำตาลเข้ม เปลือกแข็งและแห้งไม่แตก ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ด้านบนมีขนสีขาวปกคลุม ผลเป็นพู่แตกบาน ช่วยทำให้เมล็ดลอยไปตามลมได้[1],[6]

หญ้าละออง

เสือสามขา

สรรพคุณของหญ้าดอกขาว

  1. ทั้งต้นมีรสขมชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ มีสรรพคุณทำให้เลือดเย็น เป็นยาแก้พิษ (ทั้งต้น)[1] ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเช่นกัน ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียด ใช้ชงกับน้ำร้อนกิน (เมล็ด)[6],[7]
  2. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาบำรุงเลือด แก้ตกเลือด (ทั้งต้น)[2]
  3. ช่วยบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)[5]
  4. เมล็ดป่นใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาบำรุงธาตุ (เมล็ด)[6],[7]
  5. หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ให้ใช้ทั้งต้นนำมาตากแห้งไว้ต้มกินเป็นประจำ (ทั้งต้น)[3],[6] ตำรับยาลดความดันโลหิตสูงอีกวิธีให้ใช้ลำต้นแห้งของหญ้าดอกขาว ต้นแห้งของสะพานก๊น และต้นแห้งของส้มดิน อย่างละ 15 กรัม เท่ากัน นำมารวมกันแล้วต้มเอาน้ำกิน[7]
  1. ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้หวัดแดดตัวร้อน แก้ไอ แก้ไอหวัด แก้ไข้ทับระดู ไข้มาลาเรีย (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5],[6] ตำรับยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ ให้ใช้คนทีเขมาแห้ง ใบไทรย้อยใบทู่แห้ง และรากบ่อฮ๋วมแห้ง อย่างละ 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน[7]
  2. ใช้เป็นยาล้างปอดได้ดี จึงนำมาใช้แก้อาการไอ เจ็บคอ และหอบ รวมไปถึงการช่วยลดเสมหะและน้ำมูกเวลาเป็นหวัด (ทั้งต้น)[3]
  3. เมล็ดนำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้ไอ ไอเรื้อรัง (เมล็ด)[4],[6],[7] หรือจะใช้รากนำมานำมาต้มเอาน้ำกินก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอเรื้อรังเช่นกัน ถ้าเป็นรากสดใช้ 30-60 กรัม ถ้าเป็นรากแห้งใช้ 15-30 กรัม (ราก)[6],[7]
  4. ใบมีรสเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ (ใบ)[5]
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
  6. ช่วยแก้ประสาทอ่อน แก้นอนไม่หลับ (ทั้งต้น)[1]
  7. ใบใช้ตำผสมกับน้ำนมคน แล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ (ใบ)[2],[5],[6]
  8. ช่วยแก้เต้านมอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  9. ทั้งต้นใช้ตำให้ละเอียดเป็นยาพอกแก้นมคัด (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
  10. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[2],[5],[6] เมล็ดป่นใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้ท้องอืด (เมล็ด)[6],[7]
  11. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องขึ้น ท้องร่วง โรคกระเพาะ (ทั้งต้น)[2],[3],[4],[5],[6]
  12. ใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
  13. ใช้เป็นยาขับพยาธิ ด้วยการใช้รากสด 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน (ราก[6],[7], ทั้งต้น[1]) ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย (เมล็ด)[4],[5],[6],[7]
  14. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสด 30-60 กรัม ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ราก[6],[7], ใบ[5], ทั้งต้น[3]) เมล็ดป่นใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (เมล็ด)[4],[6],[7]
  15. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)[5],[6]
  16. ทั้งต้นนำมาคั้นเอาน้ำดื่มช่วยกระตุ้นให้เจ็บท้องคลอด ขับรก ขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[5] รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วงเร่งคลอด และขับรกหลังคลอด (ราก)[6],[7]
  17. ใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน แก้ตับอักเสบเฉียบพลัน (ทั้งต้น)[1],[2],[5],[6]
  18. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นและรากหญ้าดอกขาว นำมาตากแห้งบดเป็นผง ใช้เป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังพุพอง และใช้ห้ามเลือด (ทั้งต้น)[2],[6]
  19. ใบสดใช้ตำพอกปิดแผล เป็นยาสมานแผล (ใบ)[2],[5],[6]
  20. ช่วยรักษาแผลบวมอักเสบ ดูดฝีหนอง แก้บวม (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
  21. ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผื่นคัน (ทั้งต้น)[1] ใบใช้ตำพอกแก้กลากเกลื้อน เรื้อนกวาง (ใบ)[2],[5],[6] เมล็ดใช้ตำพอกหรือนำมาป่นชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังเรื้อรัง ผิวหนังด่างขาว (เมล็ด)[5],[6],[7]
  22. ช่วยรักษาแผลเบาหวาน ด้วยการใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้นรวมรากประมาณ 1-2 กำมือ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 6-8 แก้ว เมื่อยาเดือด ก็ปล่อยให้เดือดกรุ่นไปสัก 5-10 นาที จนได้น้ำยาสีเหลืองแบบชา หรือจะตากแห้งนำมาต้มหรือใช้ชงกินต่างน้ำชาก็ได้ (ทั้งต้น)[3]
  23. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู ฝีหนอง งูสวัด แผลกลาย ผ้ำ (การติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึก ๆ ดูคล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี) (ทั้งต้น)[1],[3] ตำรับยาแก้ผ้ำหรืออาการติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึก ๆ คล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี ให้ใช้หญ้าดอกขาวนำมาต้มเอาไอรมแผลบริเวณเป็น เมื่อยาเย็นลงแล้วให้เอาน้ำต้มยามาล้างแผล 1 วัน รม 3 ครั้ง 3 วันก็จะหาย โดยให้ใช้ยาหม้อเดิมทั้ง 3 วัน (ทั้งต้น)[3]
  24. ช่วยรักษาโรคเท้าช้าง (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
  25. ตำรับยาแก้ฟกช้ำ ให้ใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้น ฝาง บัวบก ยาหัว และเถาไม้กระเบื้องต้น (แก้มขาว) นำมาต้มกับน้ำกินจนหาย (ทั้งต้น)[3]
  26. ใช้แก้เหน็บชา แขนขาไม่มีแรง ให้ใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้น และกิ่งก้านของใบทองพันชั่ง นำมาต้มกับน้ำกินแทนน้ำชา (ทั้งต้น)[3]
  27. ใช้รักษาอาการปวด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเข่าด้วยการใช้หญ้าดอกขาวนำมาต้มกินเช่นเดียวกับการรักษาแผลเบาหวาน (ทั้งต้น)[3]
  28. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะรดที่นอน แก้เด็กกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ให้ใช้ลำต้นแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อนกินเป็นชา (ทั้งต้น)[2],[5],[6],[7]
  29. เมล็ดมีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกช่วยกำจัดเหา (เมล็ด)[5]
  30. ใช้ลดอาการอยากบุหรี่ ด้วยการใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้นประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือด 10 นาที ใช้กินบ่อย ๆ หรือจะใช้ในรูปแบบชาชงในขนาด 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารก็ได้ (ทั้งต้น)[3]
  31. นอกจากนี้การแพทย์โบราณและการแพทย์พื้นบ้านในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีการใช้หญ้าดอกขาวเพื่อบรรเทาโรคและอาการต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น มะเร็ง โรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคหืด ไข้มาลาเรีย ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ เยื่อตาอักเสบ อาการปวด อักเสบ โดยในกัมพูชาจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ส่วนอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากหญ้าดอกขาวเพื่อบรรเทาอาการปัสสาวะขัดในเด็ก บรรเทาอาการไอ ส่วนเมล็ดใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น[6]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [1] ถ้าใช้ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 35-60 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม ถ้าใช้ภายนอกก็ให้กะใช้พอประมาณ[1] ส่วนวิธีการใช้ตาม [6] ถ้าเป็นส่วนของทั้งต้นให้เลือกใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนเมล็ดให้ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกิน ส่วนรากสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ถ้ารากแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าดอกขาว

  • สารที่พบได้แก่ พบสารจำพวก Flavonoid glycoside, Phenols, Amino acids เป็นต้น[1]
  • น้ำต้มจากส่วนที่อยู่เหนือดินมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบของเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการปวดและลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลอง[2]
  • ใบหญ้าดอกขาวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้เล็กน้อย แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อมาลาเรีย[1],[7]
  • สารสกัดจากต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้หนู และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง[2]
  • เมล็ดและรากหญ้าดอกขาวมีฤทธิ์สามารถฆ่าเชื้อพยาธิได้[1],[7]
  • ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ของสมุนไพรชนิดนี้ โดยพบว่ามีฤทธิ์เป็นยาลดไข้ ต้านมาลาเรีย ต้านเบาหวาน ต้านการกระจายตัวของมะเร็ง ต้านไม่ให้รังสีแกมมาทำลายเซลล์ ขับปัสสาวะ ป้องกันไตไม่ให้ถูกทำลาย ต้านแบคทีเรีย ต้านการเกิดแผล แก้ปวด ต้านการอักเสบ ลดการอักเสบ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ เป็นต้น[3],[6] รวมทั้งยังมีฤทธิ์การยับยั้งการกินอาหารของแมลงบางชนิด ส่วนการวิจัยใหม่ ๆ จะมุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์ต้านการเติมออกซิเจนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างมาก[6]
  • ต้น ใบ และรากของหญ้าดอกขาวมีสารสำคัญคือ Sodium nitrate ทำให้ลิ้นชา ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้[5] จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในการลดการสูบบุหรี่ พบว่า หญ้าดอกขาวสามารถช่วยลดการสูบบุหรี่ลงได้มากกว่ากลุ่มควบคุม และพบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบการนำไปเคี่ยว คือการนำหญ้าดอกขาวแห้ง 20 กรัม ผสมกับน้ำ 3 แก้ว แล้วต้มเคี่ยวจนเหลือเพียง 1 แก้ว แล้วนำมาอมไว้ในปากประมาณ 1-2 นาทีแล้วค่อยกลืน จากนั้นจึงค่อยสูบบุหรี่ จะทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่อยากสูบยุหรี่ในที่สุด และลดจำนวนของมวนบุหรี่ที่ใช้สูบต่อวันได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะสูบเบาหรือสูบหนักมาก่อนก็ตาม และจากการวิจัยพบว่าหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ถึง 60% และหากออกกำลังกายร่วมด้วยก็จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ 62% และที่สำคัญยังช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ได้สูงถึง 60-70% หากออกกำลังกายร่วมด้วย[3],[4]
  • จากการศึกษาผู้ติดบุหรี่พบว่าหลังการรักษาด้วยสมุนไพรหญ้าดอกขาวเป็นระยะเวลา 4 เดือน ผู้ติดบุหรี่มีอัตราการเลิกสูบบุหรี่ร้อยละ 69.35 โดยเหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ คือ ชาลิ้น กินอาหารไม่อร่อย ไม่รู้สึกอยากบุหรี่ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ เมื่อสูบแล้วรู้สึกอยากอาเจียน ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ให้เหตุผลว่า การดื่มชาสมุนไพรชนิดนี้ก็เหมือนกับการดื่มน้ำธรรมดา โดยไม่มีอาการใด ๆ[5]
  • ส่วนการศึกษาด้านความปลอดภัย พบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง[3] ซึ่งจากการศึกษาด้านพิษวิทยาพบว่าสารสกัดในเมทานอลไม่เกิดให้เกิดพิษเฉียบพลันในหนูเมื่อให้ทางปาก โดยมีค่า LD50 สูงกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[6]

ประโยชน์ของหญ้าดอกขาว

  • ปัจจุบันมีการใช้หญ้าดอกขาวเป็นยาแก้อาการติดบุหรี่ เพราะกินแล้วจะทำให้เหม็นบุหรี่และไม่อยากสูบบุหรี่อีก ซึ่งทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งนำหญ้าดอกขาวไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2547 ได้มีการจดสิทธิบัตรในอเมริกา โดยนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ใช้สารสกัดจากหญ้าดอกขาวใส่ลงไปในก้นกรองของบุหรี่เพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่[3]
  • นอกเหนือจากจะทำให้เลือกบุหรี่ได้แล้ว ยังช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้นอีกด้วย เลือดจะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลงอย่างชัดเจน และที่สำคัญผลข้างเคียงของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีนี้ก็มีน้อยมาก (เช่น มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย สมาธิแปรปรวน)[3]
  • เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง มีสรรพคุณมากมาย กินง่าย มีรสชาติดีเยี่ยม จึงได้มีการพัฒนาเป็นยาในรูปแบบชง แบบชาชง แบบแคปซูล แบบลูกอมเม็ดแข็ง แบบลูกกวาดนุ่ม แบบหมากฝรั่ง แบบแผ่นฟิล์มละลายเร็ว และแบบผลิตภัณฑ์กาแฟผสมหญ้าดอกขาว ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและนำไปใช้ประโยชน์กันได้ง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบันชาหญ้าดอกขาวถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ในส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพรสำหรับลดความอยากบุหรี่ในรูปแบบชง ใช้กินครั้งละ 2 กรัม โดยชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิเมตร ใช้กินหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในรูปแบบชาชง ก็คือการนำหญ้าดอกขาวแห้งมาบดเป็นผงละเอียด แล้วบรรจุลงในถุงชาขนาดเล็ก วิธีรับประทานก็ให้นำถุงชามาจุ่มลงในน้ำร้อนแล้วทิ้งไว้สักครู่ แล้วนำมาอมไว้ในปากประมาณ 1-2 นาทีเช่นเดียวกับแบบชงดื่ม ส่วนในรูปของยาอมแบบอัดเม็ด ก็มาจากการนำหญ้าดอกขาวมาเคี่ยวแล้วทำให้เป็นผงแห้งก่อนการอัดเม็ด รูปแบบนี้ทำให้พกพาง่ายและสะดวก ก่อนจะสูบบุหรี่ทุกครั้งก็ให้นำมาอมไว้ในปากจนละลายหมดแล้วจึงค่อยสูบบุหรี่ ก็จะช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้ครับ (ประสิทธิภาพในรูปแบบอมจะได้ผลเร็วกว่ารูปแบบชงชาและแบบเคี่ยวมาก)[3],[4]
  • แม้สมุนไพรชนิดนี้จะมีประโยชน์อยู่มากก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียที่อาจเป็นประโยชน์อยู่ด้วย นั้นก็คือ เมื่อกินยาชนิดแล้วจะทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ทำให้ไม่อยากอาหาร (ควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตเนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีโพแทสเซียมสูง) ด้วยเหตุนี้หญ้าดอกขาวจึงอาจมีประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าหมอน้อย”.  หน้า 604.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เสือสามขา”.  หน้า 223.
  3. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “หญ้าดอกขาว หมอข้างกาย ทางสบายเลิกบุหรี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/.  [13 ก.ค. 2014].
  4. เดลินิวส์ 5 สิงหาคม พ.ศ.2555.  “หญ้าดอกขาว สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่”.
  5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “หญ้าดอกขาวกับการลดการอยากบุหรี่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/dic/newsletter/newpdf/newsletter10_6/smokingherb.pdf.  [14 ก.ค. 2014].
  6. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2553.  (อรลักษณา แพรัตกุล).  “องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของหมอน้อย และแนวทางการพัฒนาตำรับเพื่อใช้ช่วยเลิกบุหรี่”.
  7. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หมอน้อย”.  หน้า 819-820.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, eddy lee, u20202003, Hamid, Dinesh Valke, CANTIQ UNIQUE)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด