18 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้ากกดอกขาว ! (หญ้าหัวโม่ง)

หญ้ากกดอกขาว

หญ้ากกดอกขาว ชื่อสามัญ Green kyllinga, Perennial greenhead sedge, Shortleaf spikesedge

หญ้ากกดอกขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Kyllinga brevifolia Rottb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cyperus brevifolius (Rottb.) Hassk.) จัดอยู่ในวงศ์กก (CYPERACEAE)[1]

สมุนไพรหญ้ากกดอกขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าก๊ดหมู สลายก๊ดหมู (ลำพูน), หญ้าหัวโม่ง (สุราษฎร์ธานี), หญ้ากกดอกขาว (กรุงเทพฯ), หญ้าขนหมู (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หญ้าดอกขาว (ภาคกลาง), จุยโงวซัง จุ๋ยโหง่วกง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยอูกง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของหญ้ากกดอกขาว

  • ต้นหญ้ากกดอกขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีความสูงของต้นประมาณ 10-50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเส้นเล็กยาว มีลักษณะเป็นเหลี่ยมออกจากเหง้า ผิวเรียบสีเขียว เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม มีเหง้าสีม่วงอยู่ใต้ดินแตกเป็นรากฝอยมากและเลื้อยทอดขนานไปตามพื้นดิน มีกาบหุ้มลำต้นสีน้ำตาลแดง[1],[3] ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นเองตามบริเวณที่ชื้นแฉะทั่วไป เช่น ในนาข้าว[2]

กกดอกขาว

หญ้าหัวโม่ง

ต้นหญ้ากกดอกขาว

  • ใบหญ้ากกดอกขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากโคนต้น ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวยาวหรือเป็นเส้นยาวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มลำต้นเป็นสีม่วงหรือน้ำตาลแดง ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร (ใบมีขนาดไม่ค่อยเท่ากัน)[1],[3]

ใบหญ้ากกดอกขาว

  • ดอกหญ้ากกดอกขาว ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีเขียวอมเหลืองมีจำนวนมากอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม ยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ที่ฐานช่อดอกมีใบประดับสีเขียวลักษณะคล้ายใบ 3 ใบ ยาวประมาณ 2-16 เซนติเมตร ก้านชูช่อดอกยาวเป็นสามเหลี่ยม เมื่อดอกแก่จะหลุดร่วงไป มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีลักษณะเป็นเส้นบางคล้ายไหม และเกสรเพศเมีย 1 อัน มีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[2],[3]

ดอกหญ้ากกดอกขาว

  • ผลหญ้ากกดอกขาว ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ หรือมีลักษณะค่อนข้างแบนกลมรี มีเปลือกหุ้มบาง ๆ คล้ายเมล็ด สีน้ำตาล และมักร่วงไปพร้อมกับช่อดอก เมล็ดเดี่ยว[1],[3]

สรรพคุณของหญ้ากกดอกขาว

  1. ลำต้นและเหง้ามีรสเผ็ดฉุน เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และลำไส้ ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ลำต้นและเหง้า)
  2. เหง้ามีรสหอมร้อนใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้อาการไอ แก้เจ็บคอ (ลำต้นและเหง้า)[1],[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้จับสั่น ไข้มาลาเรีย (ลำต้นและเหง้า)[2],[3]
  4. ช่วยแก้อาการไอกรน (ลำต้นและเหง้า)[2] (บางข้อมูลระบุว่า ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอเป็นเลือดได้ด้วย)
  5. ช่วยขับเสมหะ (ลำต้นและเหง้า)[2]
  1. ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ลำต้นและเหง้า)[1],[2],[3]
  2. ลำต้นและเหง้ามีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร แก้อาการอืดแน่นท้อง (ลำต้นและเหง้า)[1],[2]
  3. ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคบิด แก้บิดมูกเลือด (ลำต้นและเหง้า)[1],[2],[3]
  4. ช่วยขับปัสสาวะ (ลำต้นและเหง้า)[2]
  5. ใช้รักษาโรคดีซ่าน ตับอักเสบ (ลำต้นและเหง้า)[2],[3]
  6. ลำต้นและเหง้าใช้ภายนอกนำมาต้มเอาน้ำหรือตำพอกบริเวณแผลมีหนอง ฝีหนองอักเสบ บวมอักเสบ แผลเจ็บจากการหกล้ม แผลมัดบาด (ลำต้นและเหง้า)[2],[3]
  7. น้ำต้มจากต้นหรือเหง้าใช้เป็นยารักษาผิวหนังเป็นผื่นคัน (ลำต้นและเหง้า)[2],[3]
  8. ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว (ลำต้นและเหง้า)[3]
  9. ช่วยแก้พิษงู ด้วยการใช้เหง้าหรือลำต้นนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ลำต้นและเหง้า)[2],[3]
  10. ลำต้นและเหง้าใช้ตำพอกแก้กระดูกหัก (ลำต้นและเหง้า)[2]
  11. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ลำต้นและเหง้า)[3]
  12. ช่วยขับลมชื้นแก้ไขข้ออักเสบ (ลำต้นและเหง้า)[3]
  13. ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย (เหง้า, ทั้งต้น)[1],[2],[3]

วิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ลำต้นและเหง้าแห้งให้ใช้ครั้งละประมาณ 12-18 กรัม ส่วนแบบสดให้ใช้ครั้งละประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาน้ำกิน[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้ากกดอกขาว

  • ทั้งต้นพบน้ำมันระเหยหลายชนิด รวมทั้งยังพบสารจำพวก Flavonoid ได้แก่ Vitexin เป็นต้น[3]
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคบิดแบคทีเรีย จำนวน 70 ราย โดยใช้ทั้งลำต้นสดของหญ้ากกดอกขาว และเถาเครือเขาปูน อย่างละ 30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำแบ่งกินเป็น 2 ครั้ง กินติดต่อกัน 7 วัน ผลปรากฏว่า มีผู้ป่วยหายขาดจำนวน 45 ราย มีอาการดีขึ้น 14 ราย และไม่ได้ผลเลย 2 คน[2]
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขุ่นขาวคล้ายน้ำนม จำนวน 100 ราย โดยใช้เหง้าหญ้ากกดอกขาวแห้งและเนื้อผลลำไยแห้ง อย่างละ 60 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินติดต่อกัน 15 วัน ผลปรากฏว่าคนไข้มีอาการดีขึ้น[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หญ้าหัวโม่ง (Ya Hua Mong)”.  หน้า 321.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้ากกดอกขาว”.  หน้า 797-798.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้ากกดอกขาว”.  หน้า 574.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cody Hinchliff, Tony Rodd, dee_biomed, Russell Cumming, vhitha_camui, Phuong Tran)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด