ส้มเกลี้ยง สรรพคุณและประโยชน์ของส้มเกลี้ยง 22 ข้อ !

ส้มเกลี้ยง

ส้มเกลี้ยง ชื่อสามัญ Sweet orange, Bigarade, Bilti oranges, Orange, Sevile orange, Sour orange, Surect orange[1],[2]

ส้มเกลี้ยง ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus sinensis (L.) Osbeck จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2]

สมุนไพรส้มเกลี้ยง มีชื่ออื่น ๆ ว่า มะเกลี้ยง, มะขุน, ส้มตรา, ส้มจีน, น้ำผึ้ง, หมากหวาน, เช้ง, เซซุยเญอ, เซาะกา, ลีมาก, ลีแย, ลีมามานิห์ เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของส้มเกลี้ยง

  • ต้นส้มเกลี้ยง เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน และต่อมาได้แพร่กระจายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ทวีปยุโรป และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับในประเทศไทยเชื่อว่าเริ่มมีการนำเข้ามาปลูกในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยกรุงธนบุรี โดนส้มเกลี้ยงนั้นจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-7 เมตร ทรงต้นค่อนข้างทึบ แผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งก้านแข็งแรง ส่วนมากจะมีหนามตามลำต้น เป็นหนามแข็งขนาดใหญ่ ยิ่งต้นที่เกิดจากเมล็ดจะยิ่งมีหนามมากและยาวเรียวแหลม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด การปักชำ การตอน การติดตา และต่อกิ่ง แต่เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดยการตอน ติดตา และต่อกิ่ง เนื่องจากให้ผลผลิตเร็วกว่าการเพาะเมล็ด ผลไม้ชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก[1],[3]

ต้นส้มเกลี้ยง

  • ใบส้มเกลี้ยง ใบอ่อนเป็นเหลี่ยมและมีหนามแหลมที่ซอกใบ ใบประกอบมีใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปวงรีถึงรูปไข่ ปลายใบแหลมมน บางครั้งเว้าตื้นเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นถึงหยักมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 นิ้วฟุต และยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต สีของใบด้านหลังใบจะเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบสั้น แผ่เป็นครีบ มีหูใบเล็กเรียวแทบมองไม่เห็น[1],[3]

ใบส้มเกลี้ยง

  • ดอกส้มเกลี้ยง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ดอกย่อยดอกเดียวถึงหลายดอก ประมาณ 10-20 ดอก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีขนาดปานกลาง เมื่อดอกดอกบานจะมีกลิ่นหอมมาก กลีบดอกเป็นสีขาว มีประมาณ 4-5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 20-25 อัน ฤดูที่ผลิดอกจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และดอกจะบานในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ระยะเวลาการผลิดอกจนถึงดอกบานประมาณ 30 วัน และระยะเวลาที่ดอกบานจนถึงผลแก่ประมาณ 8 เดือน[1],[2],[3]

ดอกส้มเกลี้ยง

  • ผลส้มเกลี้ยง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมถึงกลมแป้น ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผิวผลมีตุ่มน้ำมันเล็ก ๆ กระจายอยู่รอบผล เปลือกผลมีความหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลักษณะค่อนข้างแข็ง ภายในผลแบ่งเป็นช่องประมาณ 12 ช่อง อัดกันแน่นด้วยเนื้อผล มีลักษณะเรียวยาว สีเหลือง ภายในมีน้ำรสหวานอมเปรี้ยว ตรงกลางมีแกนแข็งสีขาว เปลือกด้านในเป็นสีขาว ภายในมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปลิ่ม เมล็ดย่น สีขาว เมล็ดค่อนข้างแบน[1],[2],[3]

ผลส้มเกลี้ยง

รูปส้มเกลี้ยง

สรรพคุณของส้มเกลี้ยง

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1],[2]
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากส้มเกลี้ยงมีไฟเบอร์และมีสาร pectin สูง ซึ่งเป็นตัวช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร จึงทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ผล)[2]
  3. ช่วยลดระดับไขมันในเลือด (ผล)[2]
  4. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกส้มจีนหรือเปลือกส้มเกลี้ยง ใช้เข้ายาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น (เปลือกผล)[4]
  5. ในทางสุคนธบำบัด น้ำมันจากเปลือกส้มเกลี้ยง ถูกนำมาใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียดหรืออาการนอนไม่หลับเนื่องจากความกังวล ช่วยกระตุ้นให้เบิกบาน (น้ำมันจากเปลือกผล)[4]
  1. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้รักษาโรคลักปิดลักเปิด (ผล)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ผล)[1]
  3. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ (ผล)[1],[2]
  4. ผลมีสรรพคุณช่วยกัดเสมหะ (ผล)[1],[2] ส่วนใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[1],[2]
  5. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (ดอก)[2]
  6. ช่วยในการย่อยอาหาร (น้ำมันจากเปลือกผล)[4]
  7. ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ)[1],[2]
  8. ช่วยขับระดูของสตรี บีบมดลูก (ใบ)[1],[2]
  9. เปลือกผลมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติ (เปลือกผล)[1],[2]
  10. ช่วยขับน้ำดี กระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง (น้ำมันจากเปลือกผล)[4]
  11. ผลมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ช่วยเร่งสมานแผล (ผล)[1],[2]
  12. ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเกลื้อน แก้อาการคัน (ผล)[1]
  13. น้ำมันจากเปลือกผลถูกนำมาใช้รักษาผิวหนังอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ช่วยลดริ้วรอย คลายกล้ามเนื้อเรียบ (น้ำมันจากเปลือกผล)[4]
  14. ดอกมีสรรพคุณช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว (ดอก)[1],[2]
  15. เปลือกส้มเกลี้ยงจัดอยู่ในตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบไปด้วย เปลือกส้มจีน, เปลือกส้มเขียวหวาน, เปลือกส้มซ่า, เปลือกส้มโอ, เปลือกส้มตรังกานู, เปลือกมะกรูด, เปลือกมะงั่น และเปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ทางลม (เปลือกผล)[4]
  16. เปลือกส้มเกลี้ยงจัดอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของเปลือกส้มเกลี้ยงอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (เปลือกผล)[4]

วิธีใช้ : การใช้ตาม [1] และ [2] ให้นำผลมารับประทานเป็นของว่าง[1] ส่วนการใช้น้ำมันตากเปลือกผลตาม [4] แนะนำให้ใช้ไม่เกิน 1.4% (น้ำมันจากเปลือกส้มมีสาร limonene ซึ่งเป็นสารที่เกิดออกซิเดชั่นได้ง่าย และจะเปลี่ยนรูปเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษเมื่อโดนแสง ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาน้ำมันในภาชนะที่กันแสงได้)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มเกลี้ยง

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ abscisic acid, acetaldehyde, acrimarin G, amyrin, aniline, apigenin, anthanilic acid, aurapten, bergamoltin, bergapten, bisabolene, braylin, cadinene, caffeic acid, camphene, campesterol, β-carotene, carvone, cirantin, citbismine, flavones, eriocitrin, glucoside, pectin, piperitone, poncirin, quercetin, linalool, nexanthin B, scoppsrone, sitosterol, stigmasterol, vicenin[1],[2]
  • น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลที่สกัดด้วยวิธีบีบเย็น จะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.3-0.5 การสกัดด้วยน้ำมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.8 มีองค์ประกอบคือ limonene (95.37%), myrcene (2.08%), linalool (0.25%), alpha-pinene, citronellal, decanal, geraniol, octanal, neral, sabinene[4]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า ส้มเกลี้ยงมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำในเลือด เหนี่ยวนำให้หลั่งอินซูลิน ทำให้ผอมลง ต้านมะเร็ง ขับลม ระบายท้อง แก้ไอ ยับยั้งการหดของมดลูก ลดการดูดซึมในทางเดินอาหาร ปรับปรุงความทรงจำ เร่งสมานแผล[1],[2] ส่วนเปลือกผลมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านการอักเสบ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดจากผลเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง คือ 71.8 กรัมต่อกิโลกรัม[1],[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2000 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาทดลองผลของส้มเกลี้ยงในการลดไขมันในเลือด และได้พบว่ามีสาร casein ในส้มเกลี้ยง และได้ทำการทดลองในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงและมีไขมันในตับจำนวน 14 ราย โดยพบว่ามีสาร Limonoid aglycons, glycoside และ Limonoid glucoside ในส้มเกลี้ยง ภายหลังการทดลองพบว่าผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดลง[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1924 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการทดสอบผลไม้ เช่น ส้ม, มะนาว, องุ่น ว่ามีผลเป็น insulin-like substanees หรือไม่ ภายหลังการทดลองพบว่าส้มเกลี้ยงมีไฟเบอร์และ Pectin มาก จึงทำให้มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากผลส้มเกลี้ยงกับหนูขาวทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1994 มีการทดลองที่พบว่าไฟเบอร์ในผลส้มเกลี้ยงสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีทฤษฎีที่ว่าการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง จะทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว ดังนั้นจึงได้มีการค้นคว้าทดลองหาสารที่จะมาช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งมีสาร Phytosterol ที่มีผลลดระดับคอเลสเตอรอล โดยทำการทดลองกับผู้ป่วยที่ระดับไขมันในเลือดสูงจำนวน 72 ราย และให้ดื่มน้ำส้มเกลี้ยง ขนาด 2 gm. เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าภายหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และหลัง 8 สัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอลลดลง 7.2%, LDL-C ลดลง 12.4%, HDL0C เพิ่มขึ้น 7.8% และพบว่าสาร Folate Vit B12 เพิ่มระดับขึ้น ในขณะที่สาร homocysteine ไม่มีการเปลี่ยน[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรหลายตัวซึ่งมีสารสกัดจากส้มเกลี้ยงผสมอยู่ โดยใส่สารแต่ละชนิด 1-5 gm. พบสาร peoniflorin 15-40%, flavonoid 15-40% ในสมุนไพร นำมาทดลองกับหนู ภายหลังการทดลองพบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศไนจีเรีย ได้นำส้มเกลี้ยงมาศึกษาทดลองผลในการลดน้ำหนัก โดยทำการทดลองในหนูขาว (albino rat) โดยใช้สารสกัดจากส้มเกลี้ยงในขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยหนูทดลองถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 ให้อาหารที่มีไขมันสูง นาน 7 วัน ก่อนจะให้อาหารเป็นสารสกัดจากส้มเกลี้ยง, กลุ่มที่ 2 ให้มะนาว (Lemon), กลุ่มที่ 3 ให้มะนาวฝรั่ง (Lime), กลุ่มที่ 4 ให้ tangerine, กลุ่มที่ 5 ให้องุ่น (grape) ในขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นาน 14 วัน, กลุ่มที่ 6 เป็นกลุ่มที่ให้สารรวมทุกชนิด, กลุ่มที่ 7 เป็นกลุ่ม positive control ให้แต่อาหารไขมันสูง, และกลุ่มที่ 8 เป็นกลุ่ม negative control ให้สารอาหารปกติธรรมดา ซึ่งจากการทดลองผลนาน 7-14 วัน พบว่าสารสกัดทั้งหมด มีสาร flavonoid และ alkaloid เป็นส่วนสำคัญ ส่วนองุ่นมีสาร saponin ภายหลังการทดลองพบว่าหนูในกลุ่มที่ 1-5 มีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง[1]

ประโยชน์ของส้มเกลี้ยง

  • ส้มเกลี้ยงเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและมีกลิ่นหอม นิยมนำมารับประทานสด ๆ หรือทำน้ำส้มคั้น หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ส้มเกลี้ยงแก้ว เป็นต้น[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ส้มเกลี้ยง”  หน้า 174-176.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ส้มเกลี้ยง”.  หน้า 154-155.
  3. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ส้มเกลี้ยง”.  อ้างอิงใน : เปรมปรี ณ สงขลา, 2537.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/ส้มเกลี้ยง.  [20 ต.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มจีน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [20 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Manuel M. V., naturgucker.de, TreesOfTheWorld.net, Lugdunum Pixx, Uschi)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด