ส่าไข้ (หัดดอกกุหลาบ) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคส่าไข้ 7 วิธี !!

ส่าไข้

ส่าไข้, หัดกุหลาบ, หัดดอกกุหลาบ หรือ ไข้ผื่นกุหลาบในทารก (Roseola, Roseola infantum, Exanthem subittum หรือ Sixth disease) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Human herpesvirus type 6 (HHV-6) เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ในระยะแรกเด็กจะมีไข้สูงหรือตัวร้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ยังคงมีท่าทางค่อนข้างสบายดี เมื่อไข้ลดลงเป็นปกติภายในไม่กี่ชั่วโมงก็จะมีผื่นเล็ก ๆ สีชมพูหรือสีแดงคล้ายกุหลาบขึ้นตามลำตัว และโรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก

โรคส่าไข้* มักพบในเด็กเล็กช่วงอายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี พบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 6-12 เดือน และพบได้น้อยมากในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่จะไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดย 95% ของผู้ป่วยมักจะเป็นเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี

หมายเหตุ : โรคนี้ในฝรั่งจะเรียกว่า “Roseola infantum” ซึ่งแปลว่า “ไข้ผื่นกุหลาบในทารก” ส่วนคนไทยมักเรียกโรคนี้ว่า “ส่าไข้” แต่บางครั้งก็เรียกโรคนี้ว่า “หัดเทียม” เพราะมีอาการคล้ายกับการออกหัดจนบางครั้งทำให้สับสนนึกว่าเป็นหัด

สาเหตุของส่าไข้

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Human herpesvirus type 6 (HHV-6) และ Human herpesvirus type 7 (HHV-7) ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Roseolovirus genus จำพวกเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม (Herpesvirus) ส่วนการมีชื่อ HHV-6 และ HHV-7 เนื่องจากพบตามหลังไวรัส Herpes simplex 1 และ 2, Cytomegalovirus, Ebstein-Barr Virus, และ Varicella-Zoster virus ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่มักเกิดจากไวรัส HHV-6 แต่อาการที่พบในเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HHV-7

การติดต่อ : เชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ในเสมหะและน้ำลายของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้ออาจติดอยู่ที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หนังสือ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อคนปกติมาสัมผัสถูกมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะติดมากับมือของคน ๆ นั้น เมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกเชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ลูกเป็นส่าไข้

ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 5-15 วัน

ระยะติดต่อ : ตั้งแต่ 2 วันก่อนมีไข้ จนกระทั่งถึง 2 วันหลังไข้ลด

อาการของส่าไข้

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส (ไข้สูงเฉลี่ย 39.7 องศาเซลเซียส หรือ 103-104 องศาฟาเรนไฮต์) เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาจมีลักษณะตัวร้อนตลอดเวลา แต่เด็กส่วนใหญ่จะยังร่าเริงและดื่มนม ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้ดีเป็นปกติ ในบางรายอาจมีอาการหงุดหงิด งอแง หรือเบื่ออาหารเล็กน้อย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่บางรายก็อาจมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส หรือท้องเดินเล็กน้อย หรือบางรายในขณะที่ไข้ขึ้นอาจมีอาการชักจากไข้ร่วมด้วย

อาการส่าไข้ในเด็ก

อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-5 วัน (โดยเฉลี่ยคือ 3 วัน) แล้วอยู่ ๆ ไข้ก็จะลดลงเป็นปกติอย่างรวดเร็วหรืออาจจะค่อย ๆ ลดลง ในช่วงที่ไข้ลดหรือหลังจากไข้ลดภายในไม่กี่ชั่วโมงจะมีผื่นราบบางขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 2-5 มิลลิเมตร มีชมพูหรือสีแดงคล้ายดอกกุหลาบเกิดขึ้นทั่วไปตามลำตัว โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่หน้าอก หลัง ท้อง แล้วกระจายไปที่คอและแขน อาจขึ้นไปที่หน้าหรือลงไปที่ขาด้วยหรือไม่ก็ได้ ผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อยหรืออาจมีวงสีแดงจาง ๆ อยู่รอบ ๆ ผื่นแดง (ลักษณะของผื่นอาจต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายได้) ผื่นจะไม่ค่อยมีอาการคันหรือไม่คัน เมื่อเอามือกด ผื่นจะจางซีดลง และผื่นจะเป็นอยู่นานไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วัน แล้วจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผื่นขึ้น เด็กจะกลับมาแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง

ไข้ผื่นกุหลาบในทารก

หัดดอกกุหลาบ

ผื่นส่าไข้

อาการส่าไข้

บางครั้งอาจพบว่าเด็กมีอาการคอแดง หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง หรือมีอาการอักเสบที่แก้วหูร่วมด้วย และอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย ในเด็กแถบเอเชียอาจพบมีแผลบริเวณด้านหลังของเพดานอ่อนติดกับลิ้นและลิ้นไก่ด้วย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่มีผื่นขึ้นหรืออาจมีผื่นขึ้นจาง ๆ ไม่ชัดเจนได้ จึงทำให้วินิจฉัยได้ไม่แน่ชัด

ภาวะแทรกซ้อนของส่าไข้

  • อาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้นานประมาณ 2-3 นาที ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ประมาณ 6-15% ของผู้ป่วยส่าไข้ (โดยเฉพาะในเด็กอายุ 12-15 เดือน) และนับเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของทารกที่มีอาการชักจากไข้
  • อาจมีสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับอักเสบ หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำแทรกซ้อน ซึ่งพบได้น้อยมาก
  • ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคส่าไข้

ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดงของเด็กเป็นสำคัญ โดยเด็กในกลุ่มนี้แม้จะมีไข้สูง แต่อาการทั่วไปยังคงเป็นปกติดี และไม่มีอาการรุนแรง (เช่น กินไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ซึมจัด ไม่ค่อยรู้สึกตัว กระสับกระส่าย ชัก หายใจหอบ เป็นจ้ำเขียวหรือจ้ำเลือด เจ็บหู เป็นต้น) แต่ก็ต้องแยกโรคจากโรคที่มีไข้สูงหรือโรคออกผื่นอื่น ๆ เช่น โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคไข้เลือดออก โรคอีดำอีแดง โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และอาจต้องแยกจากอาการแพ้ยาด้วย ซึ่งในกรณีที่จำเป็นอาจต้องตรวจยืนยันด้วยการทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสก่อโรค (ในเด็กที่มีอาการทั่วไปเป็นปกติดี อาการอื่น ๆ ไม่ชัดเจน เด็กยังคงเล่นได้ ร่าเริง ดื่มนม ดื่มน้ำ และรับประทานอาหารได้เป็นปกติ มีแต่เพียงไข้สูง ก็อาจไม่ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ส่วนการเพาะเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุนั้นเป็นวิธีที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งกว่าจะทราบผลโรคก็หายแล้ว จึงมักมีการเพาะเชื้อไวรัสแต่เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ถ้าพบเด็กวัยนี้มีไข้สูงหรือตัวร้อนอยู่ตลอดเวลา โดยยังมีท่าทางค่อนข้างสบายดี ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย และยังไม่เคยเป็นส่าไข้มาก่อน แพทย์จะนึกถึงโรคนี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กกลับมาเป็นปกติดีหลังจากไข้ลงและมีผื่นขึ้นแล้ว

ผู้ปกครองมักพาเด็กไปพบแพทย์เมื่อเด็กมีไข้ลงและมีผื่นขึ้นแล้ว เพราะกังวลว่าจะเป็นโรคหัด แต่โรคนี้สามารถแยกออกจากโรคหัดได้ง่าย คือ โรคนี้หลังจากผื่นขึ้นเด็กจะหายตัวร้อนและสบายดี แต่โรคหัดนั้นในขณะที่ผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีกหลายวัน นอกจากนี้ผื่นของโรคนี้จะขึ้นที่ลำตัวก่อนและเป็นผื่นเล็ก ๆ อยู่แยกจากกัน ในขณะที่ผื่นของโรคหัดจะขึ้นที่ใบหน้าก่อนแล้วค่อยกระจายลงล่าง และผื่นมักจะแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยส่าไข้

  • ในระยะก่อนผื่นขึ้นจะพบไข้สูงประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส
  • อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง
  • ในระยะที่ไข้ลดลงแล้วจะพบผื่นราบสีแดงขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ที่ลำตัวและแขน ผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อยหรืออาจมีวงสีแดงจาง ๆ อยู่รอบ ๆ ผื่นแดง

การแยกโรค

  • ไข้เลือดออก จะมีไข้สูง มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัวหรือมีเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายเป็นเลือด และในขณะที่เป็นไข้เลือดออกเด็กอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แต่เด็กที่ส่าไข้จะไม่มีอาการอาเจียนแต่อย่างใด
  • หัด มักพบได้ในเด็กอายุ 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 8 เดือน ซึ่งต่างจากส่าไข้ที่พบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 เดือน ผู้ป่วยโรคหัดจะมีไข้สูง ซึม หน้าแดง ตาแดง มีอาการเป็นหวัด ไอ น้ำมูกไหล แต่ส่าไข้จะไม่มีอาการเป็นหวัดหรือไอ ต่อมาในวันที่ 4 ของไข้ ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ในขณะที่ผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีก 3-4 วัน แต่ส่าไข้นั้นจะมีผื่นขึ้นหลังจากไข้ลดดีแล้ว และผื่นของโรคหัดจะค่อย ๆ จางเป็นรอยแต้มสีน้ำตาล จะไม่จางหายไปทันทีแบบผื่นส่าไข้
  • หัดเยอรมัน มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งต่างจากโรคส่าไข้ อาการที่สำคัญ คือ มีผื่นขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด ในเด็กเล็กมักมีผื่นขึ้นโดยไม่มีอาการไม่สบายอย่างอื่นที่เด่นชัดมาก่อน
  • เยื่อหุ้มสมองหรือไข้สมองอักเสบ จะมีไข้สูง อาเจียน ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว มีอาการชักติด ๆ กันนาน
  • หูชั้นกลางอักเสบ จะมีไข้สูง ร้องกวนตลอดเวลา เด็กอาจบอกว่าเจ็บในหู (ในเด็กเล็กอาจใช้นิ้วดึงที่ใบหูตัวเอง)
  • ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง ซึม ไอ หายใจหอบเร็ว มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที
  • โรคบิดชิเกลล่า (โรคบิดไม่มีตัว) จะมีไข้สูง ร่วมกับอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด กะปริดกะปรอยบ่อยครั้ง
  • ผื่นจากยา ในเด็กเล็กที่รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ซึ่งผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้มีผื่นแดงคล้ายหัดขึ้นตามตัวได้

ดังนั้น ถ้าหากผู้ปกครองสงสัยว่าเป็นสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว

วิธีรักษาส่าไข้

เมื่อเด็กมีไข้สูงมากต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากการมีไข้สูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ และหลายสาเหตุ มีการรักษาแล้วได้ผลดีและไม่มีโรคแทรกซ้อน ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับโรคส่าไข้นี้จัดเป็นโรคที่หายได้เอง เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง การรักษาจึงเป็นเพียงแต่การให้การรักษาไปตามอาการ ดังนี้

  1. ระวังอย่าให้มีไข้สูงมาก เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้ได้ ด้วยการ
    • ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดตัวบ่อย ๆ โดยให้เช็ดย้อนรอยรูขุมขน และไม่สวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าหนา ๆ จนอบเกินไป เพื่อช่วยระบายความร้อนในร่างกาย
    • ในระยะที่มีไข้สูงให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 8 เม็ด หรือ 4 กรัมต่อวัน ส่วนในเด็กไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้
    • ในเด็กที่เคยมีประวัติชักหรือมีพี่น้องเคยชักมาก่อน แพทย์จะให้ยากันชักไปกินร่วมกับยาลดไข้ จนกว่าไข้จะลด เช่น ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital), โซเดียมวาลโพรเอต (Sodium valproate) เป็นต้น
  2. ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ โดยอาจเป็นน้ำ นม หรือน้ำหวานก็ได้ เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  3. ถ้าเด็กร้องงอแงผู้ปกครองอาจพาอุ้มเดินและตบหลังเบา ๆ เพื่อช่วยปลอบโยน
  4. ถ้าเด็กมีอาการชักร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลรักษาแบบชักจากไข้ ในบางรายอาจต้องมีการเจาะหลังเพื่อหาสาเหตุของการชักว่าไม่ใช่เกิดจากโรคอื่น เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ส่วนการปฐมพยาบาลเด็กที่มีอาการชักจากไข้ ผู้ปกครองควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจจนเกินเหตุ และควรปฐมพยาบาลดังนี้ (อาการชักจากไข้แม้จะดูน่ากลัว แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เด็กมักจะชักเพียงช่วงสั้น ๆ ไม่กี่นาที และชักเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่บางรายอาจชักซ้ำได้ 1-2 ครั้ง และเมื่อพ้นอายุ 5 ปีไปแล้ว ก็มักจะไม่มีอาการชักจากไข้อีก)
    • จับเด็กนอนหงาย โดยตะแคงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง หรือจับเด็กนอนตะแคง พร้อมกับเชยคางขึ้นเล็กน้อย (ควรให้นอนบนพื้นที่โล่งและปลอดภัย)
    • ถ้ามีน้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารในบริเวณปากหรือใบหน้า ให้เช็ดหรือดูดออกเพื่อไม่ให้เด็กสำลัก
    • ควรถอดหรือปลดเสื้อผ้าให้หลวม แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
    • เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด สังเกตลักษณะการชักและจับระยะเวลาของการชัก เพื่อแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาทราบในภายหลัง
    • อย่าผูกหรือมัดตัวเด็ก หรือใช้แรงฝืนหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก
    • อย่าใช้วัตถุ เช่น ด้ามช้อน ไม้ ปากกา ดินสอ สอดใส่ปากเด็ก เพราะอาจจะทำให้ปากหรือฟันได้รับบาดเจ็บ
    • อย่าให้เด็กรับประทานอะไรในระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ ๆ เพราะอาจจะทำให้เด็กสำลักได้
    • ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือเป็นการชักครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นการชักเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม หรือมีอาการอาเจียน ซึม หรือหายใจลำบาก
  5. โรคนี้ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส
  6. ในระยะที่มีไข้สูงก่อนผื่นขึ้น แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน เพื่อตรวจสอบว่าเด็กเป็นไข้จากสาเหตุอื่นหรือไม่ หากสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคอื่น อาจจำเป็นต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์เพื่อสืบหาสาเหตุให้แน่ชัด แต่ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคส่าไข้ แพทย์จะอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจและไม่ต้องเป็นกังวลกับโรคนี้ พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวดังกล่าว อย่างการเช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ และให้ระวังเรื่องไข้สูง เพราะเด็กอาจชักได้ แล้วให้สังเกตดูอาการผื่นซึ่งจะเกิดขึ้นหลังมีไข้ได้ประมาณ 3-5 วัน เมื่อผื่นเริ่มขึ้นและเด็กมีไข้ลดลง และเด็กยังคงมีท่าทางสบายดี ก็ไม่ต้องให้ยาอะไรอีก
  7. ในเด็กเล็กที่มีไข้สูง ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง เช่น เด็กไม่ค่อยยอมกินหรือกินได้น้อยลง อาเจียน ซึมจัด ไม่ค่อยรู้สึกตัว กระสับกระส่าย ชัก หายใจหอบ เป็นจ้ำเขียวหรือเลือดออก เจ็บหู ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ไม่ปัสสาวะนานเกิน 4-6 ชั่วโมง มีไข้เกิน 4 วัน (ยกเว้นในรายที่ออกหัดชัดเจน) มีผื่นแดงเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ เด็กเคยมีประวัติชักหรือมีพี่น้องเคยชักมาก่อน หรือมีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลเด็ก ผู้ปกครองไม่ควรรอดูอาการอยู่ที่บ้าน แต่ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล

โรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 3-5 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ (ประมาณ 15% ของเด็กที่ป่วยอาจมีไข้นาน 6 วันหรือมากกว่า) และจัดเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่เคยมีประวัติชักเนื่องจากไข้สูงมาก่อน หรือมีพี่น้องเคยมีอาการชักเนื่องจากไข้สูงร่วมด้วย) หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และเมื่อเป็นแล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก นอกจากในบางรายที่หลังจากหายแล้วอาจมีเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายและต่อมาอาจกำเริบซ้ำได้

วิธีป้องกันส่าไข้

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคส่าไข้ ดังนั้น หากมีเด็กในบ้านเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติดังนี้

  • แยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (2 วันก่อนมีไข้ ถึง 2 วันหลังไข้ลด)
  • อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น อย่าดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้ป่วย
  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อยู่บ่อย ๆ เพื่อขจัดเชื้อที่อาจติดอยู่ที่มือออกไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ไข้ผื่นกุหลาบในทารก/ส่าไข้ (Roseola infantum)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 402-404.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 175 คอลัมน์ : แนะยา-แจงโรค.  “ส่าไข้”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [28 ก.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “หัดกุหลาบ (Roseola infantum / Exanthem subitum / Sixth disease)”.  (ศ.พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [28 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.primehealthchannel.com, www.wikipedia.org (by Bernard Kramarsky), www.netdoctor.co.uk, wwww.bundoo.com, mommyhood101.com, www.bestonlinemd.com, www.fprmed.com, www.babycenter.com, www.healthdirect.gov.au

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด