สังกรณี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสังกรณี 12 ข้อ !

สังกรณี

สังกรณี ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigosa Willd. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1]

สมุนไพรสังกรณี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ้ม (ปราจีนบุรี), กำแพงใหญ่ (เลย), กวางหีแฉะ (สุโขทัย), จุกโรหินี (ชลบุรี), หญ้าหงอนไก่ หญ้าหัวนาค (ภาคเหนือ), เพิงดี (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของสังกรณี

  • ต้นสังกรณี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ ต้นมากมาย มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-120 เซนติเมตร ตามต้นไม่มีหนาม ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง[1],[2]

ต้นสังกรณี

  • ใบสังกรณี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมและมีติ่ง โคนใบแหลมและค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบมีขนเป็นหนามเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขนยาวตามเส้นใบ ส่วนหลังใบมีขนบ้างประปราย ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร[1],[2]

ใบสังกรณี

  • ดอกสังกรณี ออกดอกเป็นช่อกระจะแน่น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายยอด มีดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ดอกมีใบประดับเป็นรูปรีหรือรูปหอก มี 2 แผ่น กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายแหลม ขอบหยักเป็นซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย หุ้มโคนดอก ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ เรียงตัวตรงข้ามกันเป็นคู่ เชื่อมกันที่โคน ปลายแยก คู่ด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบหยักซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย ส่วนคู่ด้านนอกในเป็นรูปใบหอกขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบมีขนต่อม กลีบดอกมีด้วยกัน 5 กลีบ เชื่อมกันเป็นหลอด รูปปากเปิด สีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในขรุขระ กลีบปากด้านบนมี 4 แฉก ในแต่ละแฉกจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายแฉกมนถึงกลม ขอบเรียบ ผิวด้านนอกมีขนต่อม กลีบปากด้านล่างมี 1 กลีบ ขนาดใหญ่ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแฉกมนกลมถึงเว้าตื้น ขอบเรียบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นคู่ 2 คู่ เกสรเพศผู้คู่ยาวมีก้านเกสรยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ช่วงโคนมีขนสั้น ช่วงปลายเรียบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานมีสีม่วง มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แตกตามแนวยาว ส่วนเกสรเพศผู้คู่สั้นมีก้านเกสรยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคุลมตลอดความยาว อับเรณูจะมีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ทีเป็นหมันอีก 1 อัน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร แทรกอยู่ระหว่างกลาง เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านในแบ่งเป็นช่อง 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะมี 2 ออวุล ติดอยู่ที่แกนจานฐานดอก สูงได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร หุ้มรอบรังไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม[5]

รูปสังกรณี

ดอกสังกรณี

  • ผลสังกรณี ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักแบนเกลี้ยง สีน้ำตาล พอแห้งจะแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน[1],[2],[5]

ผลสังกรณี

สรรพคุณของสังกรณี

  1. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)[2],[3],[4]รากสังกรณีส่วนคนเมืองจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับสมุนไพรฮ่อสะพานควาย และดู่เครือ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[7]
  2. ในประเทศไทยจะใช้รากปรุงเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ โดยผสมกับเครื่องยาอื่น ๆ เป็นยาดับพิษไข้ทั้งปวง และเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1],[2],[3]
  3. รากมีรสขม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ดับพิษร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)[1],[2],[4]
  4. ใบใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ (ใบ)[6]
  5. ช่วยแก้ไข้จับสั่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  6. ในประเทศอินเดียจะใช้รากสังกรณีปรุงเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1]
  7. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[5]
  8. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โลหิตกำเดา (ราก)[4],[5] ส่วนบางข้อมูลระบุว่าใบสังกรณีก็นำมาใช้เป็นยาแก้กำเดาได้เช่นกัน (ใบ)[6]
  9. ใบใช้เป็นยาแก้คออักเสบ (บางข้อมูลระบุว่าช่วยแก้ต่อมทอลซิลอักเสบ และแก้วัณโรคปอดได้ด้วย) (ใบ)[6]
  10. ช่วยขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  11. ทั้งต้นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด (ทั้งต้น)[5]
  12. ตำรับยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ระบุให้ใช้รากสังกรณี รากชุมเห็ดไทย รากหรือต้นก้างปลาแดง นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาร้อน จะช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอดได้ (ราก)[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สังกรณี”.  หน้า 769-770.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สังกรณี (Sang Korani)”.  หน้า 295.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “สังกรณี”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 180.
  4. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สังกรณี”.  หน้า 44.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สังกรณี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [06 มิ.ย. 2014].
  6. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ.  “สังกรณี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th.  [06 มิ.ย. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สังกรณี”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [06 มิ.ย. 2014].
  8. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “ขี้ไฟนกคุ่ม / สังกรณี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com/inven/.  [06 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Paco Garin, John Elliott), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด