สะระแหน่ญี่ปุ่น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะระแหน่ญี่ปุ่น 11 ข้อ !

สะระแหน่ญี่ปุ่น

สะระแหน่ญี่ปุ่น ชื่อสามัญ Japanese mint, Corn mint, Field mint[1],[2]

สะระแหน่ญี่ปุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Mentha canadensis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mentha arvensis var. piperascens Malinv. ex Holmes) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรสะระแหน่ญี่ปุ่น มีชื่อเรียกอื่นว่า สะระแหน่ญวน, ต้นน้ำมันหม่อง (กรุงเทพฯ), สะระแหน่ เป็นต้น[2],[3]

ลักษณะของสะระแหน่ญี่ปุ่น

  • ต้นสะระแหน่ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงของต้นได้ถึง 60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเหลี่ยมมีขนขึ้นประปราย เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นเฉพาะ[1],[2]

ต้นน้ำมันหม่อง

ค้นสะแหน่ญี่ปุ่น

  • ใบสะระแหน่ญี่ปุ่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่ค่อนข้างแคบ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักฟันเลื่อยแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขน ก้านใบยาวประมาณ 3-10 มิลลิเมตร เกลี้ยงหรือมีขน[1],[2]

ใบสะระแหน่ญี่ปุ่น

  • ดอกสะระแหน่ญี่ปุ่น ออกดอกเป็นช่อกระจุกกลมตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อดอกสั้น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกเป็นสีม่วง สีขาว หรือสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง[1],[2]

สะระแหน่ญวน

ดอกสะระแหน่ญี่ปุ่น

  • ผลสะระแหน่ญี่ปุ่น ลักษณะเป็นรูปวงรีแบนเล็กน้อย ผลแห้ง มี 4 ผลย่อย ขนาดเล็ก[1],[2]

เมล็ดสะระแหน่ญี่ปุ่น

สรรพคุณของสะระแหน่ญี่ปุ่น

  1. ใบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)[2]
  2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ, ทั้งต้น)[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้ลม (ทั้งต้น)[2]
  1. ใบและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับลม (ใบ, ทั้งต้น)[2] น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากต้นและใบที่เรียกว่า “น้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่น” จะมีส่วนประกอบหลักเป็นสารเมนทอล (menthol) โดยน้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่นตามตำราแล้วจะนำมาใช้เป็นยาขับลม (น้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่น)[1]
  2. ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่น ปวดท้อง (ใบ, ทั้งต้น)[2]
  3. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงไต (ทั้งต้น)[2]
  4. ช่วยแก้อาการฟกบวม (ใบ, ทั้งต้น)[2]
  5. ส่วนเมนทอลใช้เป็นยาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย (เมนทอล)[1]
  6. ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว (ใบ)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ให้ใช้ใบสะระแหน่ 1 กำมือ นำมาปั่นหรือคั้นเป็นน้ำดื่มตอนเช้าและเย็น[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสะระแหน่ญี่ปุ่น

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ eugenol, menthol, essential oil, linalool, glycoside, menthone, piperitone, pulegone, rosmarinic acid[2]
  • สะระแหน่ญี่ปุ่น มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดบวม[2]
  • Hideyuki Matsuura (ค.ศ.2003) ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบสะระแหน่กับหนูทดลอง โดยพบว่ามีสารต้าน α-glucosidase ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองลดลงได้[2]

ประโยชน์ของสะระแหน่ญี่ปุ่น

  • น้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่นนอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังนำมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นยา อาหาร และยาสีฟันได้อีกด้วย[1]
  • นิยมปลูกไว้เป็นพืชผักสวนครัว[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สะระแหน่ญี่ปุ่น Japanese Mint”.  หน้า 138.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “สะระแหน่”.  หน้า 176/16.
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “สะระแหน่ญี่ปุ่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [12 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Päivi Reijonen, naturgucker.de, Danny S. 1993, Peter aka anemoneprojectors, Matt Lavin, Mathieu Sévigny)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด