สลัดได สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสลัดไดป่า 29 ข้อ !

สลัดได

สลัดได ชื่อสามัญ Malayan spurge tree[1], Milkbush[5]

สลัดได ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia antiquorum L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรสลัดได มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะลำพัก (นครราชสีมา), เคียะเหลี่ยม หงอนงู (แม่ฮ่องสอน), เคียะยา (ภาคเหนือ), สลัดไดป่า (ภาคกลาง), ทูดุเกละ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หั่วยานเล่อ ป้าหวางเปียน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ : จากพจนานุกรมพืชและสัตว์ในเมืองไทยของวิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุว่าสลัดไดมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ สลัดไดบ้าน (เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia trigona Haw., สลัดไดป่า หรือ กะลำพัก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia antiquorum L. , สลัดไดลายเหลือง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia lactea Haw., และสลัดไดซึ่งมีชื้อพื้นเมืองทางภาคเหนือว่า “เคี๊ยะ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia lacei Craib แต่สลัดไดของไทยคือ “สลัดไดป่า” ซึ่งเป็นชนิดที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ครับ

สลัดไดป่า

ลักษณะของสลัดได

  • ต้นสลัดได มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กจำพวกเดียวกับตะบองเพชร มีความสูงของต้นประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามต้นและกิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมอวบน้ำ เว้าคอดต่อกัน ผิวเรียบ ขอบสันหรือตามแนวเหลี่ยมเป็นหยักและมีหนามคู่เล็กแหลม 1 คู่ ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำกิ่ง พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักขึ้นตามภูเขาที่มีหินปูน หรือที่แห้งแล้งบนก้อนหิน หรือบนภูเขา[1],[2],[4]

ต้นสลัดได

  • ใบสลัดได ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีขนาดเล็กมาก แผ่นใบอวบน้ำและหลุดร่วงได้ง่านเหมือนไม่มีใบ[1]

ใบสลัดได

  • ดอกสลัดได ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกตามแนวสันเหนือหนาม ดอกมีใบประดับสีเหลือง 5 ใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียไม่มีกลีบดอก และจะอยู่ในช่อดอกเดียวกัน แต่ในช่อหนึ่งจะดอกมีเพศเมียดอกเดียว และมีดิกเพศผู้หลายดอก[1],[2],[3]

ดอกสลัดได

ดอกสลัดไดป่า

  • ผลสลัดได ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดเล็กมีพู 3 พู สีน้ำตาลเข้ม พอผลแห้งจะแตกออก[1]

ผลสลัดได

สรรพคุณของสลัดได

  1. ต้นสลัดไดที่แก่จัดและมีอายุ 10 ปีขึ้นไปจะยืนต้นตาย ทำให้เกิดเป็นแก่นแข็ง ๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนไม้แห้ง ๆ สีน้ำตาล และมีกลิ่นหอม (เชื่อว่าเกิดจากเชื้อราที่เจริญเติบโตอยู่ในเนื้อไม้จนกลายเป็นแก่นไม้แข็ง) และเมื่อต้นตายแก่นที่ได้นี้จะเรียกว่า “กะลำพัก” (รูปด้านล่าง) ซึ่งแก่นของต้นที่ตายจะใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ หรือใช้เข้ายาบำรุงหัวใจ (แก่นกะลำพัก)[1],[2],[6]
  2. ช่วยเจริญธาตุไฟ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  3. แก่นกะลำพักมีรสขม สรรพคุณเป็นยาแก้ลม (แก่นกะลำพัก)[6]
  4. ช่วยแก้ผอมเหลือง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  5. ตำรายาไทยจะใช้แก่นกะลำพักเป็นยาแก้ไข้ (แก่นกะลำพัก)[1],[2]
  6. รากและต้นสลัดไดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ แก้หอบหืด (ต้น,ราก)[6]
  7. ช่วยแก้พิษเสมหะ (แก่นกะลำพัก)[6]
  8. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  9. ตำรายาแก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ให้ใช้ต้นหรือใบสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาสับหรือตำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นให้นำข้าวสาร 15 กรัม ลงไปคั่วรวมกันจนกว่าจะออกสีเหลืองแล้วนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น,ใบ)[3]
  10. ยางนำมาทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน ใช้กินเป็นยาแก้ท้องมาน แก้บวมน้ำ (ยาง)[3]
  1. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ยาง)[1]
  2. ยางมีรสร้อนเบื่อมา ถ้านำมานึ่งให้สุกแล้วตากให้แห้งจะเป็นยาถ่ายอย่างแรง จึงควรนำมาฆ่าฤทธิ์ด้วยการย่างไฟ (ยาง)[1]
  3. ช่วยแก้พรรดึก หรือผู้ที่มีอาการท้องผูกอย่างแรง มีอุจจาระแข็งมาก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  4. ก้าน ใบ และยางใช้เป็นยาถ่ายและยาฆ่าพยาธิ (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  5. คนโบราณจะใช้ยางเป็นยารักษาฝีคันฑสูตร หรือฝีที่มีลักษณะมีรูที่ทวารหนักทะลุออกมา และรูรอบทวารหนักทะลุเข้าไปในลำไส้ตอนปลายแล้วเกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง มีหนองไหลออกมา จนเกิดการติดเชื้อ ซึ่งคนโบราณเขาจะใช้เชือกยางสลัดร้อนเข้าไปแล้วค่อย ๆ รัดไม่ให้ขาด แต่ปัจจุบันจะไม่ใช้วิธีนี้แล้วเพราะผ่าตัดเอาจะง่ายกว่า (ยาง)[6]
  6. ช่วยขับปัสสาวะ (ยาง)[1]
  7. ช่วยถ่ายหัวริดสีดวง (ยาง)[1] ถ่ายริดสีดวงในลำไส้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  8. ช่วยขับโลหิตเน่าร้าย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  9. ช่วยบำรุงตับและปอด (แก่นกะลำพัก)[6]
  10. ยางใช้เป็นยารักษาโรคตับแข็ง (ยาง)[3]
  11. ยางใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อนภายนอก (ยาง)[3] รักษาผดผื่นคัน ฝีหนอง (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  12. ช่วยถอนพิษหนอง (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  13. ยางมีพิษระคายเคืองผิวหนัง ใช้เป็นยากัดหูด แต่ต้องระวังอย่าให้ยางถูกเนื้อดี เพราะจะทำให้เนื้อดีเน่าและหลุดไปด้วย (ยาง)[1],[2],[5]
  14. ใช้ก้าน ใบ และยาง รสขมและมีกลิ่นหอม เป็นยาเย็นมีพิษ ใช้เป็นยาสำหรับแก้ปวดบวม (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  15. ใช้เป็นยาขับพิษ ขับความชื้น ลดอาการแสบร้อน (ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
  16. ช่วยแก้อาการปวดหลัง (ยาง)[1]
  17. ช่วยแก้อัมพฤกษ์ (ยาง)[1]

หมายเหตุ : ยางจากต้นสลัดไดก่อนนำไปใช้จะต้องทำการฆ่าฤทธิ์ก่อน โดยวิธีการฆ่าฤทธิ์ยางสลัดไดจะเรียกว่า “การประสะยางสลัดได” ด้วยการนำตัวยาที่จะประสะใส่ลงในถ้วย แล้วใช้น้ำต้มเดือดเทลงไปในถ้วยยานั้น กวนให้ทั่วจนน้ำเย็น และรินน้ำทิ้งไป แล้วให้เทน้ำเดือดลงในยาที่กวนนั้นอีก พร้อมกวนให้ทั่ว ๆ โดยให้ทำอย่างนี้ประมาณ 7 ครั้ง จนยาสุกดีแล้วจึงนำไปใช้ปรุงเป็นยา[6]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสลัดได

  • น้ำยางสีขาวเป็นพิษ ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ตาบอดชั่วคราว และถึงขั้นตาบอดได้ แต่ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ กัดผิว คันแดงแสบ ผิวหนังแดงไหม้ เปื่อย ทำให้เป็นตุ่มพองน้ำได้ ต้องระมัดระวังให้มาก[3],[5],[6]
  • ยางจะมีสารซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง และระคายเคืองมาก จึงควรระมัดระวังในการใช้ให้มาก เพราะพบสาร 3-O-angeloylingenol ซึ่งเป็นสารร่วมเร่งก่อมะเร็ง (Co-carcinogen) และเป็นตัวช่วยรักษามะเร็งในเลือดได้ด้วย[1],[2],[5]
  • หากกินมากเกินควร จะทำให้ปากแสบร้อน มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียน แล้วสลบ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก[3] และมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง[7] (ยางสลัดได มื้อหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 130 มิลลิกรัม)
  • สตรีมีครรภ์และเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ ห้ามรับประทานยาจากสมุนไพรชนิดนี้[3]
  • วิธีการกำจัดพิษก่อนนำมาใช้ ถ้าใช้เป็นยารับประทาน ต้องนำยาแห้งไปคั่วกับข้าวารก่อน ให้ยาเป็นสีเหลืองจึงจะสามารถนำมาใช้ได้[3]
  • วิธีการแก้พิษสลัดได ถ้ายางถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยน้ำแล้วใส่ยาแก้ปวด หรือให้รีบเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ และประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออีกวิธีให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทา และถ้ายาเข้าตาก็ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าในกรณีที่รับประทานเข้าไปมากจนเกินไปแล้วเกิดอาการเป็นพิษดังกล่าว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้น้ำเกลือทันที[3],[6] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าถ้ารับประทานยางเข้าไป เบื้องต้นให้รีบเอาส่วนที่เหลือออกมาให้มากที่สุด โดยการรับประทาน activated chrcoal (ถ่าน) และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องหรือทำให้อาเจียน แล้วรักษาตามอาการต่อไป[7]

กะลำพัก

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสลัดได

  • พบสารหลายชนิด เช่น Friedalan-3 a-0l, Taraxerol, C30H50O, Taraxerone, C30,H48O, Euphorbium, Euphorbol เป็นต้น[3]
  • ส่วนสารพิษเป็นสารจำพวก deoxyphorbol เช่น euphorbin มี tetracyclic diterpene เป็นต้น[7]
  • น้ำยางสีขาวจะมีสาร Caoutchouc ประมาณ 4-7% มีสารพวก tetracyclic diterpene ได้แก่ phorbol และ ester เช่น 12-deoxyphorbaI, 13-tiglate 20-acetate, ingenol และ ester เช่น 16-hydroxyingenol 3, 5, 6, 20-tetraacetate นอกจากนี้ยังพบ tricyclic diterpene ได้แก่ huratoxin, tinyatoxin และ resin พบ α euphorol, ß-amyrin, cycloartenol, euphol จากนํ้ายาง[5]

ประโยชน์ของสลัดได

  • ในด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นสลัดไดจะเป็นนิยมนำมาปลูกเป็นรั้วบ้าน เพื่อช่วยป้องกันคนและสัตว์ และใช้ปลูกตามสวนสมุนไพรทั่วไป แต่ยังมีความเชื่อหนึ่งของคนไทยโบราณที่ระบุว่า ต้นสลัดไดมีผีสิงอยู่ จึงไม่นิยมนำมาปลูกใกล้บ้าน แต่จะนิยมใช้กิ่งของต้นสลัดได นำไปผูกห้อยโยงไว้ตามโรงบ่อนการพนันเพื่อช่วยป้องกันผีนักการพนันของคนอื่นที่จะเข้ามาเล่นคาถา
  • น้ำยางสีขาวอาจนำไปสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับพญาไร้ใบได้ เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกับสลัดได ซึ่งจากการทดลองนำไปสกัดเอาน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าสามารถใช้ได้ผลดีในเครื่องยนต์ที่ใช้ทางการเกษตร (เครื่องยนต์ดีเซล) โดยพญาไร้ใบ จะสกัดน้ำมันได้ 10 บาร์เรลต่อพืชที่ปลูกในเนื้อที่ 2.5 ไร่[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สลัดได (Salad Dai)”.  หน้า 290.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สลัดได Malayan Spurge Tree”.  หน้า 108.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สลัดได (กระลำพัก)”.  หน้า 538.
  4. ข้อมูลพรรณไม้ในพระตำหนักเทา, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี.  “สลัดได”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/.  [09 มิ.ย. 2014].
  5. ไทยเกษตรศาสตร์.  “สลัดไดป่ามีสรรพคุณดังนี้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [09 มิ.ย. 2014].
  6. ไทยโพสต์.  “สลัดได-กะลำพัก ขึ้นต้นเป็นพืชร้าย ตอนตายเป็นพืชดี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [09 มิ.ย. 2014].
  7. ข้อมูลพรรณไม้, พิษระคายเคืองผิวหนัง, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สลัดไดป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [09 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by sftrajan, dani_photos2008, SierraSunrise, Lalithamba, Shubhada Nikharge, Tony Rodd), www.samunpri.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด