สลอด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสลอด 30 ข้อ !

สลอด

สลอด ชื่อสามัญ Croton oil plant[1], Purging Croton[3]

สลอด ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton tiglium L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรสลอด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บะกั้ง (แพร่), มะข่าง มะคัง มะตอด หัสคืน หมากทาง (ภาคเหนือ), สลอดต้น หมากหลอด ต้นหมากหลอด ลูกผลาญศัตรู (ภาคกลาง), หมากยอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ปาโต้ว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4],[5]

ลักษณะของสลอด

  • ต้นสลอด จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม มีเส้นร้อย ตรงกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวและมีขนปกคลุม ยอดอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอน และการปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นน้อย ไม่ชอบดินแฉะ[1],[4],[5] พบได้ทั่วไปในเขตร้อน จากอินเดีย ศรีลังกา จีนและมาเลเซีย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป และจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[9]

ต้นสลอด

  • ใบสลอด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก หรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกว้าง ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ หรือจักเป็นซีฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือหน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน แต่พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและร่วงไป หน้าใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนหลังใบเรียบ มีเส้นใบประมาณ 3-5 เส้น ที่ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม มีก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1],[2],[4],[5]

ใบสลอด

  • ดอกสลอด ออกดอกเดี่ยว ๆ หรืออกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกันและอยู่ในช่อเดียวกัน หรืออยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง ส่วนดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงบน ดอกเพศผู้จะมีมีขนเป็นรูปดาว มีกลีบรองดอก 4-6 กลีบ ปลายกลีบมีขน และมีกลีบดอก 4-6 กลีบ ขอบกลีบดอกมีขน ฐานดอกมีขน มีต่อมจำนวนเท่ากัน และอยู่ตรงข้ามกับกลีบรองกลีบดอก เกสรเพศผู้จะมีจำนวนมาก ลักษณะของก้านเกสรไม่ติดกัน เมื่อดอกยังอ่อนอยู่ ก้านเกสรจะโค้งเข้าไปข้างใน ส่วนดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอกหรือมีแต่จะมีขนาดเล็กมาก มีกลีบรองดอกเป็นรูปไข่ มีขนที่โคนกลีบ รังไข่มี 2-4 ช่อง โดยดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็กมาก วางสับหว่างกัน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มไปด้านหลัง[1],[2],[5],[6]

ดอกสลอด

  • ผลสลอด ลักษณะของผลเป็นรูปรี รูปกลมยาว หรือกลมรูปไข่ แบ่งเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผิวผลขรุขระเล็กน้อยและสากมือ ผลแห้งจะออกเป็น 3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี กลมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เมล็ดแบนเล็กน้อย เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และหนาประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันเงา เนื้อเมล็ดอมน้ำมัน และน้ำมันจากเมล็ดมีพิษมาก[1],[2],[5]

ผลสลอด

เมล็ดสลอด

สรรพคุณของสลอด

  1. ดอกมีรสฝาดเมาเย็น สรรพคุณช่วยดับธาตุไฟไม่ให้กำเริบ และช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ดอก)[1],[2] ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์เช่นเดียวกับดอก และมีสรรพคุณช่วยดับเดโชธาตุ ไม่ให้เจริญ (ผล)[6]
  2. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการผิดปกติทางจิตและประสาท (เมล็ด)[1],[2]
  3. เมล็ดใช้กินยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต (เมล็ด)[1],[2],[5]
  4. เมล็ดใช้ในปริมาณต่ำผสมกับน้ำขิงสดให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)[1],[2]
  5. เปลือกต้นมีรสเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะที่ค้างอยู่ในลำคอและในอก (เปลือกต้น)[2],[6]
  6. รากมีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิตและลม (ราก)[6]
  7. น้ำต้มจากเนื้อไม้ถ้าใช้ในปริมาณน้อย นำมากินจะทำให้อาเจียนและขับเหงื่อ (เนื้อไม้)[9]
  8. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้คอตีบ (เมล็ด)[5]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายลม ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อเนื่องจากกระเพาะเย็นชื้นคั่งค้างสะสม (เมล็ด)[1],[2]
  10. ช่วยขับลมชื้น (เมล็ด)[5]
  1. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดท้องเนื่องจากลมชื้น (ราก)[5]
  2. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ด)[2]
  3. เมล็ดมีรสเผ็ดร้อนมัน มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายอย่างแรง ในปัจจุบันจัดเป็นพืชมีพิษ เพราะมีฤทธิ์รุนแรงมาก ต้องกำจัดพิษโดยการนำมาเมล็ดมาทุบให้รอบ แล้งต้มกับน้ำนม 2-3 ครั้ง (เมล็ด)[1],[2],[3]
  4. ช่วยแก้อาการท้องผูกที่ใช้ยาอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล (เมล็ด)[2]
  5. ช่วยแก้ลำไส้อุดตัน (เมล็ด)[5]
  6. ช่วยแก้ไส้ด้วนไส้ลาม หรือกามโรคที่เกิดเนื้อร้ายจากปลายองค์กำเนิดกินลามเข้าไปจนถึงต้นองค์กำเนิด แต่ก่อนจะนำมาผสมยาให้นึ่งเสียก่อน (ใบ)[5],[6]
  7. ช่วยถ่ายอุจจาระธาตุ (เมล็ด)[5]
  8. เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิในลำไส้ (เมล็ด)[1],[2],[5]
  9. ช่วยแก้ท้องมาน อาการบวมน้ำ (เมล็ด)[2] ส่วนรากนำมาต้มกับน้ำกินก็ช่วยแก้อาการบวมน้ำได้เช่นกัน (ราก)[2]
  10. รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ แต่ต้องระวังเพราะกินมากจะทำให้แท้งบุตรได้ (ราก)[1],[2]
  11. ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย (เมล็ด)[1],[2]
  12. รากและเมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู (ราก,เมล็ด)[5]
  13. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน (เมล็ด)[5] ส่วนดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้กลากเกลื้อน (ดอก)[1],[2],[6]
  14. รากและไส้มีสรรพคุณช่วยแก้โรคเรื้อน (รากและไส้)[1],[2],[6]
  15. ใบมีรสฝาดเมา ใช้ตำพอกแก้ฝีมะตอย (ใบ)[2],[5]
  16. ช่วยรักษาคุดทะราด (ดอก)[2],[6]
  17. ช่วยแก้โรคลมชักบางชนิด (เมล็ด)[1],[2]
  18. รากใช้เป็นยาแก้อาการฟกช้ำปวดบวม (ราก)[5]
  19. ช่วยแก้โรคเกาต์ (เมล็ด)[1],[2]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [5] ส่วนของเมล็ด ก่อนนำมารับประทานควรเอาเปลือกเมล็ดออกก่อน และบีบเอาน้ำมันออกจากเมล็ด โดยเมล็ดจะใช้ครั้งละ 0.15-0.35 กรัม นำมาบดให้เป็นผงรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้ ส่วนรากให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา และในส่วนของใบ ให้ใช้ใบแห้งครั้งละ 0.01-0.05 มิลลิกรัม นำมาบดให้เป็นผงรับประทาน[5]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสลอด

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแหม ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[5]
  • รากใช้ในปริมาณจะทำให้สตรีมีครรภ์แท้งบุตรได้[1],[2]
  • รูปเมล็ดสลอดทุกส่วนของต้นสลอดเป็นพิษ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง[2] ส่วนที่เป็นพิษคือส่วนของเมล็ด เนื้อในเมล็ด และยาง โดยสารพิษที่พบคือ Crotin, Resin, Croton oil, Taxalbumins (phytotoxins), Toxic albuminous substance crotin[7]
  • อาการเป็นพิษที่พบ คือ ทำให้มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน คล้ายอาหารเป็นพิษ และอาจเสียชีวิตได้จากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ โดยน้ำมันจะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้เกิดอาการระคายเคืองมาก ถ้าน้ำมันถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเป็นผื่นคัน ผิวหนังไหม้แดง แต่ถ้าผงจากเมล็ดถูกเมล็ดจะทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นแผลพุพอง และเมื่อรับรับประทานเข้าไปจะทำให้กระเพาะและลำไส้อีก เมื่อรับประทานเข้าไประยะหนึ่งถึงจะเกิด gastrocntertis อาจเป็น 1 หรือ 2 ซม หรือ 2 วันก็ได้ ส่วนยางจากลำต้นถ้าถูกผิวหนังจะทำให้เกิดแผลพุพอง[4],[5],[6],[7]
  • การกำจัดพิษของเมล็ดสลอด เมล็ดสลอดจะมีพิษมาก ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมีฤทธิ์เป็นอย่าถ่ายอย่างแรงและเป็นพิษ เพราะน้ำมันในเมล็ดสลอดจะมีพิษร้อนคอ ปวดมวน และระบายจัด ก่อนนำมาใช้ต้องทำการกำจัดพิษด้วยการทุบเมล็ดแยกเปลือกและจุดงอกในเมล็ดออก แล้วนำมาต้มกับน้ำนม 2-3 ครั้ง ก่อนนำมากิน[2] หรืออีกวิธีให้นำเมล็ดมาปอกเปลือกออกแล้วบีบน้ำมันออกจากเมล็ดให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการกำจัดพิษก็คือ ให้นำเมล็ดมาแช่ในน้ำประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นนำมาคนให้เข้ากันกับน้ำต้มข้าวเหนียว ให้น้ำข้าวซึมเข้าไปในเมล็ด แล้วนำไปตากให้แห้ง ลอกเอาเปลือกออกและบีบเอาน้ำมันออกให้หมด แล้วจึงนำเมล็ดไปตากหรือคั่วให้แห้ง และนำไปบดให้เป็นผงเพื่อใช้เป็นยาต่อไป[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเมล็ดสลอดที่แก่แล้วจะมีน้ำมันอยู่ในเมล็ด ซึ่งเป็นยาถ่ายอย่างแรงและทำให้เกิดอาการระคายเคือง ต้องนำไปคั่วก่อนเพื่อให้น้ำมันในเมล็ดระเหยออกไปเสียก่อน จะมีผลทำให้ฤทธิ์อ่อนลงได้ ซึ่งใช้เป็นยารุ[4],[6]
  • การใช้เมล็ดสลอดเป็นยาระบาย ต้องมียาคุมฤทธิ์ไว้ให้ดี มิฉะนั้นจะทำให้มีอาการคลื่นเหียน ปวดมวน ไซ้ท้องอย่างยิ่ง ฉะนั้นการใช้สลอดนี้ ถ้ายาคุมฤทธิ์ไว้ได้ดีก็จะเป็นยาที่วิเศษอีกขนานหนึ่ง แต่ถ้าวิธีคุมฤทธิ์ไว้ไม่ดีก็ไม่ควรใช้ ให้ใช้ยาขนานอื่นแทน[6]
  • การรักษาพิษสลอด ถ้าได้รับพิษจากเมล็ดสลอด จะพบว่ามีอาการปวดกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง มีอาการอาเจียนและถ่ายท้อง ปริมาณของเม็ดขาวในร่างกายจะสูงขึ้น การรักษาในเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาลให้พยายามทำให้อาเจียน แล้วรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือดื่มนมหรือผงถ่าน เพื่อช่วยลดการดูดซึม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องทันที และให้รับประทานยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น ดีเกลือ เพื่อช่วยลดการดูดซึมสารพิษ และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันการหมดสติหรือช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และให้รับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต เช่น โซดามินท์วันละ 5-15 กรัม เพื่อช่วยลดการอุดตันต่อทางเดินในไตเนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่เกาะรวมตัวกัน ในระหว่างนี้ต้องให้รับประทานอาหารประเภทที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น น้ำหวาน และให้งดอาหาร ไขมัน เพื่อลดอาการตับอักเสบ (หมายเหตุ : ต้องระวังอาการไตวายและหมดสติด้วย) สำหรับในรายที่มีอาการคล้าย atropine เช่น ในกลุ่มสารพิษ curcin ให้ atropine antagonists ระบบไหลเวียนเลือด เช่น physoatigmine salicylate IV ส่วนในกรณีอื่น ๆ ให้รักษาไปตามอาการ เช่น ทำการให้ morphin sulfate 2-10 มิลลิกรัม เพื่อลดอาการปวดท้อง[7],[10] ส่วนอีกวิธีการแก้พิษสลอดอีกวิธีให้ใช้ อึ่งเน้ย อึ่งแปะ นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือให้ใช้ถั่วเขียวนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือรับประทานข้าวต้มเย็นก็ได้[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสลอด

  • ภายในเมล็ดสลอดมีน้ำมัน Croton oil ประมาณ 40-60% ในน้ำมันพบสารหลายชนิด เช่น Croton resin, Crotonic acid, Phorbol และยังพบโปรตีน 18% และเป็นพิษโปรตีน เช่น Crotin (มีฤทธิ์คล้ายกับพิษโปรตีนจากเมล็ดละหุ่ง) ยังพบสาร Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Crotonside, Ricinine อีกทั้งยังพบสาร Cocarcinogen A1 (สารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง)[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าในเมล็ดสลอดมีน้ำมัน 56% นอกนั้นจะเป็นสารจำพวก Toxic albuminous substances ชื่อ Crotin มีน้ำตาลและไกลโคไซด์ชื่อว่า Crotonoside และยังมีสารจำพวกที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายและทำให้เกิดอาการระคายเคืองแก่ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่สารจำพวก Terpenoid เป็นพวก Phorbals ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดมะเร็งได้เร็วขึ้น[4]
  • สาร Croton resin, Crotonic acid และ Phorbol ที่พบในเมล็ดสลอดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง[5]
  • น้ำที่ต้มหรือน้ำแช่ที่ได้จากเมล็ดสลอด มีฤทธิ์ทำให้หอยโข่ง ไส้เดือน หรือแมลงวันตายได้[5]
  • น้ำเกลือที่แช่กับใบสลอด มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Columbacilus จากลำไส้ใหญ่ในหลอดทดลองได้หลายชนิด[5]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ กับส่วนสกัดที่แยกได้จากเมล็ด Resin พบว่ามีคุณสมบัติเป็นตัวที่ทำให้เกิดเนื้องอก (Tumour) และน้ำมันสลอดเพียง 10 หยด ก็สามารถฆ่าสุนัขได้ เพราะสลอดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (แต่สำหรับคนใช้เพียง 1 หยดก็มากพอที่จะทำให้ไปนอนหยอดน้ำเกลือที่โรงพยาบาลแล้ว)[7]
  • สารสกัดชั้นเมทานอลสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 (IC100 : 0.04 mcg/ml) และยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 protease[8]

ประโยชน์ของสลอด

  • ใบสลอดใช้เป็นยาฆ่าแมลงวันได้[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สลอด (Salod)”.  หน้า 289.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “สลอด”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 177.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สลอด Purging Croton”.  หน้า 93.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สลอด”.  หน้า 756-757.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สลอด”.  หน้า 536.
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สลอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 มิ.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “สลอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/.  [11 มิ.ย. 2014].
  8. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.  “สลอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/.  [11 มิ.ย. 2014].
  9. เดลินิวส์.  “สลอดต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.  [11 มิ.ย. 2014].
  10. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สลอด”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [11 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by judymonkey17, Foggy Forest)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด