สนสามใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสนสามใบ 23 ข้อ !

สนสามใบ

สนสามใบ ชื่อสามัญ Khasiya Pine[7]

สนสามใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinus kesiya Royle ex Gordon จัดอยู่ในวงศ์สนเขา (PINACEAE)[1]

สมุนไพรสนสามใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกี๊ยเปลือกบาง (เชียงใหม่), แปกลม (ชัยภูมิ), แปก (ฉานแม่ฮ่องสอน, เพชรบูรณ์), เกี๊ยะเปลือกแดง (ภาคเหนือ), จ๋วง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สนเขา (ภาคกลาง), เชียงบั้ง (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[4]

หมายเหตุ : ต้นสนสามใบ เป็นพรรณไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลของจังหวัดเลย[5]

ลักษณะของสนสามใบ

  • ต้นสนสามใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร วัดรอบได้ประมาณ 30-40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแตกออกเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นแตกล่อนเป็นสะเก็ดตื้น ๆ รูปตาข่าย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแกมสีชมพู ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย[1],[2],[3] มีถิ่นกำเนิดในประเทศพม่า และมีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มักพบขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ บนเขาหรือตามเนินเขา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,600 เมตร ในประเทศไทยพบขึ้นได้เป็นกลุ่ม ๆ ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าสนเขาที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,600 เมตร[3],[4]

ต้นสนสามใบ

เปลือกต้นสนสามใบไม้สนสามใบ
  • ใบสนสามใบ ใบมีขนาดเล็กยาวเรียว ออกเป็นกระจุก กระจุกละ 3 ใบ ลักษณะเป็นรูปเข็ม เรียงสลับ มีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด[1],[2]

รูปสนสามใบ

ใบสนสามใบ

  • ดอกสนสามใบ ออกดอกเป็นช่อ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อสีเหลืองแบบหางกระรอก โดยจะออกใกล้ ๆ กับปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยวหรืออย่างมากจะออกไม่เกิน 3 ดอก โดยจะออกตามกิ่ง[1],[3] ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[3]

ดอกสนสามใบรูปดอกสนสามใบ
  • ผลสนสามใบ ผลเป็นโคน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง โคนป้อมปลายสอบ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่จะแยกออกเป็นกลีบแข็ง แต่บริเวณโคนกลีบยังคงติดอยู่กับแกนกลางของผล ภายในมีเมล็ดรูปรีมีครีบบาง ๆ ซึ่งยาวกว่าเมล็ดสี่เท่า ส่วนก้านผลยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร[1],[2],[3] โดยจะติดผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม[3]

ผลสนสามใบ

สรรพคุณของสนสามใบ

  1. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้แก่นต้นสนสามใบ ผสมกับก้านและใบขี้เหล็กอเมริกา, ใบคว่ำตายหงายเป็น, และใบสับปะรด ยำมาต้มอบไอน้ำ เป็นยาบำรุงกำลังสำหรับคนติดฝิ่น (แก่น)[2]
  2. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท แก่ฟุ้งซ่าน (แก่น)[5],[6]
  3. ใช้เป็นยาปิดธาตุ (ชันสน)[5],[6]
  4. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (แก่น)[5]
  5. แก่นใช้ต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)[5]
  1. กระพี้มีรสขมเผ็ดมัน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (กระพี้)[4]
  2. ช่วยแก้เสมหะ (แก่น)[5]
  3. ช่วยแก้คลื่นเหียนอาเจียน (แก่น)[5]
  4. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้แก่นต้นสนสามใบเป็นยาแก้เหงือกบวม (แก่น)[2]
  5. ช่วยกระจายลม (แก่น)[5]
  6. ตำรายาไทยจะใช้แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง ท้องเดิน ปวดท้อง (แก่น)[2],[5]
  7. ชันสนใช้เป็นยาแก้บิด (ชันสน)[5],[6]
  8. น้ำมันสนใช้หยดลงในน้ำร้อนประคบท้องแก้ท้องบวม แก้ลำไส้พิการ และช่วยแก้มดลูกอักเสบ (น้ำมันสน)[6]
  9. ใบและเปลือกใช้ต้มกับน้ำเป็นยาแก้ผดผื่นคันตามผิวหนังตามร่างกาย (ใบ,เปลือก)[1]
  10. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้แก่นเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (แก่น)[2]
  11. ยางสนมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (ยาง)[5]
  12. น้ำมันสนมีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาทาแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม (น้ำมันสน)[5],[6]
  13. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไขกระดูกและไขข้อ (แก่น)[5]
  14. ยางสน ใช้ผสมยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย (ยาง)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสนสามใบ

  • สารสกัดจากกิ่งสนสามใบ มีสารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อย ๆ สลายตัวไปจากการทำลายตัวเองจากภายใน ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตายลงไป และไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง ร่างกายจึงไม่เกิดอาการอักเสบขึ้นและไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา (ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร หัวหน้าทีมวิจัย) (กิ่ง)[9]

ประโยชน์ของสนสามใบ

  • เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างที่อาศัยหรือใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่ในร่มได้ดี เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง ทำฝา พื้น รอด ตง กระดานดำ ไม้บุผนัง เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ลังใส่ของ เครื่องดนตรี เสากระโดงเรือ ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง จุดไฟ ฯลฯ และยังมีคุณสมบัติเหมาะที่จะนำไปใช้เยื่อหรือทำกระดาษได้อีกด้วย[3],[4]
  • ส่วนยางนำมากลั่นทำเป็นน้ำมันและชันสน น้ำมันใช้ผสมยาทำการบูรเทียม ทำน้ำมันชักเงา ทำบู่ ใช้ผสมสี[3],[4]
  • ชันใช้ผสมกับยารักษาโรค หรือใช้ในกิจการอุตสาหกรรม ทำกาว กระดาษ น้ำมันวานิช และยางสังเคราะห์ หรือใช้ถูคันชักของเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น ซออู้ ซอด้วง ไวโอลิน ฯลฯ ใช้ทำน้ำมันชักเงา สีย้อมผ้า ชันที่กลั่นได้จากน้ำมันสนดิบใช้ย้อมสีผ้า ผ้าดอก เป็นต้น[4]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เนื่องจากรูปทรงของลำต้นเปลาตรง เป็นพุ่มเรือนยอดที่ดูสวยงาม ใบสดตลอดปี ให้ร่มเงาได้กว้างและไม่ทึบจนเกินไป ส่วนใบที่ร่วงหล่นเหมือนพรมที่ปูรองเท้าได้อย่างดี นอนก็นุ่มสบาย อีกทั้งยังขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ดี เมื่อถ่ายภาพก็ออกมาดูสวยงาม จึงเป็นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารได้อีกด้วย[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “สนสามใบ”.  หน้า 139.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สนสามใบ”.  หน้า 166.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “สนสามใบ”.  อ้างอิงใน: .  หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [05 มิ.ย. 2014].
  4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “สนสามใบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [05 มิ.ย. 2014].
  5. หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี.  (สมพร ณ นคร).  “สนสามใบ”.
  6. เครื่องยาไทย-น้ำกระสายยา”.  (ผศ.ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร , ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต, ศ.ดร.วิเชียร จีรวงส์).
  7. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “สนสามใบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [05 มิ.ย. 2014].
  8. ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  (ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร).  “แสงซินโครตรอนยืนยัน ติ้วขน-สนสามใบ ทำเซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [05 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Paco Garin), www.magnoliathailand.com (by natureman), www.bloggang.com (by แม่แป้น 026)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด