สกุณี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสกุณี 5 ข้อ !

สกุณี

สกุณี ชื่อสามัญ Philippine almond, Yellow terminalia[4]

สกุณี ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia calamansanay Rolfe จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[2],[4]

สมุนไพรสกุณี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แฮ้น (นครสวรรค์, ชุมพร), ตีนนก (จันทบุรี, ตราด), สัตคุณี (ราชบุรี), ขี้มอด (นครปฐม), ตาโหลน (สตูล), แหนแดง (ภาคเหนือ), ประคำขี้ควาย (ภาคใต้), เปียแคร้ (เขมร-จันทบุรี) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสกุณี

  • ต้นสกุณี จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น ซึ่งจะแผ่กว้างแบนและมักมีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้น เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมหรืออาจเกลี้ยง ทิ้งใบในช่วงสั้น ๆ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย พบขึ้นทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณในระดับต่ำที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3],[4]

ต้นสกุณี

  • ใบสกุณี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับไปตามข้อต้นอัดกันแน่นใกล้ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-18 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน หลังใบด้านบนมักเป็นมันเงาและมีตุ่มเล็ก ๆ บนผิวใบ ส่วนท้องใบด้านล่างมีนวลสีน้ำตาลเทา เส้นกลางใบนูนด้านบน มีเส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น โค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ส่วนเส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได ก้านใบเรียว ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร และมักมีต่อมหนึ่งคู่อยู่บริเวณกึ่งกลางก้านใบหรือใกล้โคนใบ ขนาดประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ใบก่อนร่วงจะเป็นสีเหลือง[1],[2],[4]

ใบสกุณี

  • ดอกสกุณี ออกดอกเป็นแกนช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ด้วย ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง มีกลิ่นเหม็น ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านในมีขนยาวประปราย ปลายกลีบโค้งเข้า หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ไม่มีสันตามยาว ดอกเพศผู้จะอยู่ส่วนปลายช่อ ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ร่วงง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อับเรณูติดไหวได้ จานฐานดอกเป็นแฉก จานฐานรองดอกรวมรังไข่ ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปพีระมิด มี 1 ช่อง มีออวุล 2-3 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3],[4]

รูปสกุณี

ดอกสกุณี

  • ผลสกุณี ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกหนา 2 ปีก อยู่ปีกละข้างของผล มีขนสีน้ำตาลอ่อน รูปร่างและขนาดของผลนั้นจะต่างกัน โดยผลจะมีขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว จะติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

ผลสกุณี

สรรพคุณของสกุณี

  • เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)[1],[2]
  • เปลือกต้นสกุณีใช้ผสมกับรากต้นรักดอกขาว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตานซางในเด็ก (เปลือกต้น)[1]
  • ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[1],[2]
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ตกเลือด (เปลือกต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสกุณี

  • สารในกลุ่ม ellagitannins ที่แยกได้จากต้นสกุณี (Terminalia calamansanai (Blanco) Rolfe) ได้แก่ 1-α-O -galloylpunicalagin, 2-O -galloylpunicalin, punicalagin, sanguiin H-4 ความเข้มข้น 100 ไมโครโมล เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็ง HL-60 พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 65.2, 74.8, 42.2, และ 38.0 ไมโครโมล ตามลำดับ และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis โดยทำให้เกิดการแตกหักของ DNA (DNA fragmentation) และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase 3 แต่จะไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ แสดงว่าสาร ellagitannins อาจนำมาพัฒนาเป็นยาป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้[5]

ประโยชน์ของสกุณี

  • เนื้อไม้ไม่ค่อยทนทาน แต่ยังสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ใช้ในการก่อสร้างภายในตัวอาคารหรือในร่มที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “สกุณี”.  หน้า 172.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สกุณี”.  หน้า 739-740.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “สกุณี”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [22 ต.ค. 2014]
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สกุณี”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [22 ต.ค. 2014].
  5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์เหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งของสาร ellagitannins จากต้นสกุณี”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [22 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, Hai Le)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด