18 วิธีรักษาหลุมสิว ! หน้าเป็นหลุมสิวทำไงดี ??

หลุมสิว

หลุมสิว นับว่าเป็นปัญหากวนใจของคนที่ปล่อยให้สิวอักเสบมันลุกลามจนกินพื้นที่ลึกลงไปถึงเนื้อใน ถึงขั้นทำให้เนื้อหายจนกลายเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่วนบางคนก็พลาดหนักยิ่งกว่านั้น คือพยายามบีบสิวอย่างผิดวิธีจนทำให้สิวอุดตันธรรมดา ๆ กลายเป็นสิวอักเสบ พร้อมกับไปกระตุ้นสิวนั้นให้รุนแรงหนักกว่าเดิม ถ้าจะบอกว่าหลุมสิวมันเกิดจากตัวคุณเองก็คงจะไม่ผิดนัก

เพราะความจริงแล้วทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ การพยายามป้องกันไม่ให้ตัวเองมีสิวอักเสบ หรือถ้าเป็นแล้วก็ต้องรีบหาทางปฏิบัติเพื่อทำให้สิวอักเสบยุบเร็วขึ้นโดยไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ แต่ถ้าเราเจอกันช้าไป จนคุณพลาดไปมีหลุมสิวอยู่บนใบหน้าแล้ว ก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ แก้ไขกันต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำให้ผิวเติมเต็มหลุมได้เหมือนเดิม 100% แต่เราก็สามารถทำให้เซลล์เนื้อเยื่อใหม่ฟื้นฟูและเติมเต็มหลุมได้ถึง 70-80%

ระดับความรุนแรงของหลุมสิว

  • ระดับ Ice pick scar (ระดับรุนแรงที่สุด) หลุมสิวระดับนี้จะเป็นหลุมลึก มีปากแคบ รักษาได้ยากมาก เพราะแนวหลุมเป็นไปในทางลึก กว่าผิวจะฟื้นฟูจนเต็มคงต้องใช้เวลานานในการรักษา ซึ่งหลุมระดับนี้ใช้ยาทาก็มักจะเอาไม่อยู่ แต่ทำได้แค่ช่วยให้รอยมันตื้นขึ้นมาเท่านั้น

หลุมสิวระดับรุนแรง

  • ระดับ Box scar (ระดับรุนแรงปานกลาง) หลุมสิวระดับนี้จะมีลักษณะเป็นบ่อ มีขอบชัดเจนและมีขอบเขตกว้างกว่าระดับ Ice pick scar แต่จะมีความตื้นมากกว่า เพราะมันจะกินความลึกแค่ชั้นผิวเท่านั้น ไม่ได้กินไปจนถึงชั้นรูขุมขน หลุมสิวระดับนี้ เราสามารถใช้ยาทาควบคู่ไปกับการทำทรีตเมนต์ได้ ซึ่งรอยหลุมอาจจะเหลือร่องรอยจุดด่างดำอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณตั้งใจดูแลและรักษาให้ดี ก็ค่อนข้างจะให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจหลังการรักษา

หลุมสิวระดับรุนแรงปานกลาง

  • ระดับ Rolling scar (ระดับทั่วไป) หลุมสิวระดับนี้จะมีลักษณะเป็นหลุมสิวแบบตื้น ๆ เป็นแอ่งเว้าลงไป กินพื้นที่แค่ส่วนบนของผิวเพียงเล็กน้อย ซึ่งหลุมระดับนี้มักจะเกิดจากการแกะเกาสิวที่อยู่ในระดับที่ไม่ลึกมากนัก และทำการรักษาได้ง่ายกว่าระดับอื่น ๆ คุณสามารถใช้ยาทาในการเติมเต็มเนื้อผิวได้

หลุมสิวระดับทั่วไป

ขนาดความกว้าง ความลึก และลักษณะของหลุมสิวแต่ระดับ

ระดับหลุมสิว

วิธีรักษาหลุมสิว

การรักษาหลุมสิวบนใบหน้า จะถูกแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ คือ การรักษาด้วยการทายา (เป็นการรักษารอยหลุมตื้น ๆ ซึ่งมักจะเป็นรอยหลุมระดับทั่วไป (Rolling scar) ยาที่นำมาใช้ทำให้ผิวตื้นขึ้นก็จะมีหลายชนิดด้วยกัน), การรักษาด้วยการรับประทานยา (เป็นยาที่สกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือ RETINOIDS) และ การรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ (เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ที่มีหลุมสิวขนาดใหญ่มหึมาจนยาทาและยากินก็ช่วยไม่ไหว หรือเรียกได้ว่าเป็นหลุมลึกแบบ Ice pick scar และ Box scar ซึ่งเป็นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการทายาและครีมบำรุงร่วมด้วย) ซึ่งการรักษาแต่ละแบบอาจถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีหลุมลึก หรืออาจใช้ร่วมกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกสถานเสริมความงาม คุณต้องมั่นในว่าสถานที่ที่คุณเลือกนั้นใช้วิธีการที่ อย. รับรอง และมีการให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ถ้าไม่แน่ใจก็ลองค้นหาข้อมูลในเน็ตหรือใน pantip ดูก็ได้ เผื่อได้ข้อมูลอะไรดี ๆ ประกอบการตัดสินใจของคุณ มาดูกันเลยว่ามีวิธีไหนบ้าง

  1. แต้มกรด TCA การใช้กรด TCA เพื่อช่วยเร่งผิวใหม่ให้เกิดการแบ่งตัวเร็วขึ้น มันจึงช่วยทำให้รอยหลุมค่อย ๆ ตื้นขึ้น หากเราทำอาทิตย์ละครั้งจะมีระยะเวลาเห็นผลประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งการทานั้นจะเป็นการแต้มเฉพาะรอยหลุมที่เป็นเท่านั้น เพราะกรด TCA จะทำให้ผิวเป็นสะเก็ดดำ ๆ ถ้าใจไม่แข็งจริง คุณอาจถอดใจได้ง่าย ๆ เลย
  2. การลอกผิวด้วยกรดผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไม่ว่าจะเป็น AHA, BHA, PHA เพื่อเป็นการช่วยทำให้เซลล์ผิวหนังด้านบนหลุดออก และเกิดการซ่อมแซมและทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น
  3. กรดวิตามินเอ สำหรับคนที่กลัวการเป็นสะเก็ดและไม่รีบร้อนในการรักษา คุณสามารถใช้ยาทาอีกตัวที่ช่วยให้หลุมดูตื้นขึ้นมาได้ นั่นก็คือ “กรดวิตามินเอ” โดยนำมาทาบนรอยหลุมเพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และยังสามารถทาได้บ่อยกว่ากรด TCA อีกด้วย เพราะสามารถทาได้อาทิตย์ละ 2 ครั้ง
  4. ทายาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่น Retin A เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว
  5. ทาครีมลบรอยแผลเป็น การทาครีมลบรอยแผลเป็นและริ้วรอยที่มีส่วนผสมของวิตามินอี, AHA, BHA ก็สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังได้เช่นกัน
  6. สกินแคร์ต่าง ๆ นอกจากตัวยาที่กล่าวมา สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินอี และ BHA ก็สามารถช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวได้เช่นกัน เพราะมันจะสามารถช่วยทำให้ผิวเนื้อค่อย ๆ ตื้นขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
  7. การรับประทานยาที่สกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ (RETINOIDS) ในกรณีนี้มักถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคุณมีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาสิว เพราะยาที่ถูกนำมาใช้มักจะเป็นยาในกลุ่มของกรดวิตามินเอ อย่าง Roaccutance, Acnotin, Isotretinoin ซึ่งยาในกลุ่มนี้สามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนให้สร้างผิวใหม่เพื่อช่วยเติมเต็มรอยหลุม และยังช่วยควบคุมความมันได้อีกด้วย แต่เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาทานที่มีผลต่อไขมันทั่วร่างกาย ระหว่างใช้อาจทำให้ตาแห้ง ผิวแห้ง ปากแห้งได้ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าไปซื้อมากินเอง เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณได้ นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินซีก็อาจจะช่วยได้บ้างในกรณีหลุมสิวยังไม่เป็นพังผืด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีนี้ก็ไม่สามารถคาดหวังผลในการรักษาได้ครับ เพียงแต่เป็นตัวช่วยเสริมเท่านั้น
  8. Skin Needing คือ การรักษาแบบที่ใช้เข็มที่มีขนาดเล็กมากจิ้มลงไปในผิวเพื่อผ่านตัวยาเข้าไปในผิว จึงทำให้ผิวสร้างตัวและฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น หลุมจึงเต็มไวขึ้น ซึ่งการรักษาแบบนี้ในอดีตนั้นจะใช้วิธี Dermaroller ซึ่งไม่ได้รับการรับรองจาก อย. เนื่องจากการดูแลความสะอาดของอุปกรณ์เป็นไปได้ยาก หลัง ๆ มาจึงมีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือประเภทอัตโนมัติที่มีการทำงานคล้ายคลึงกันแทน อย่าง Dermpoint และ Tri-m (รูปนี้เป็นรูปก่อนและหลังทำ Dermaroller ครับ)
    ทำ dermaroller
  9. การทำ Subcision (เลาะพังผืดใต้หลุมสิว) วิธีนี้แพทย์จะใช้เข็มลักษณะพิเศษที่มีคุณสมบัติในการตัดผิวหนังที่เรียกว่า เข็ม Nokor โดยแพทย์จะสอดเข็มลงไปใต้ผิวหนังเพื่อทำการตัดพังผืดใต้ผิวหนัง แล้วทำการเซาะทีละหลุม ๆ ค่อย ๆ ทำไปจนทั่วใบหน้า หลังการทำจะมีแผลแต่ละรอยเข็มที่ทำ ผิวหนังที่โดนเซาะจะมีเลือดออกและอาจม่วงช้ำอยู่ประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังจากนั้นหลุมสิวก็จะตื้นขึ้น แต่วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการติดเชื้อใต้ผิวหนัง เกิดเป็นแผลใหม่ และกลายเป็นแผลเป็นนูนจากการรักษา จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักเพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับความเจ็บตัว
    Subcision
  10. ฉีดฟิลเลอร์เติมหลุมสิว เป็นอีกวิธีที่เหมาะกับการรักษาหลุมสิวระดับทั่วไปในระดับตื้นถึงลึกปานกลาง ฟิลเลอร์ (Filler) นั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกแทน “สารเติมเต็ม” โดยสารที่นิยมนำมาใช้กันมากก็คือ ไฮยาลูรอนิก เอซิด (Hyaluronic Acid) เนื่องจากจะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่าคอลลาเจน ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้จะค่อนข้างได้ผลประมาณ 30-70% เลยทีเดียว เพราะมันเป็นการฉีดสารเข้าไปเพื่อเติมเต็มรอยหลุมในทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกายสร้างเนื้อขึ้นมาเอง แต่การฉีด 1 ครั้งจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เพราะมันเป็นสารที่สามารถเสื่อมสลายไปได้เอง (แบบชั่วคราวจะมีความปลอดภัยกว่าแบบถาวร)
  11. กรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion – MD) การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี เป็นอีกวิธีที่ช่วยทำให้หลุมตื้น ๆ เต็มได้ไวขึ้น การรักษาไม่ทำให้เกิดแผลแต่อย่างใด แต่ต้องทำหลายครั้ง และผลที่ได้อาจไม่ค่อยทันใจเท่าไรนัก เหมาะสำหรับหลุมสิวประเภทระดับ Rolling scar และ Box scar
    กรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณี
  12. การใช้คลื่นวิทยุ (Radiofrequency – RF) เป็นการส่งพลังงานเข้าไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เครื่องมือที่ใช้ก็มีหลายแบบด้วยกันครับ อย่างเช่นเครื่อง E-matrix ที่มีประโยชน์ในด้านการยกกระชับใบหน้าด้วย ส่วนตัวคิดว่า ในปัจจุบันเครื่องนี้สามารถให้ผลในการรักษาหลุมสิวได้มากที่สุด หรือประมาณ 70-80% หากทำประมาณ 3-5 ครั้งขึ้นไป อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อย แต่ที่สำคัญคือราคาทำค่อนข้างแพง ส่วน RF แบบอื่น ๆ ก็มีอีกเยอะครับ เพียงแต่ผมเห็นว่าตัวนี้น่าจะรักษาหลุมสิวได้ดีที่สุด (รูปนี้เป็นรูปก่อนและหลังทำด้วยเครื่อง E-matrix ครับ)
    E-matrix
  13. การทำ IPL สามารถใช้ได้ดีกับหลุมสิวระดับทั่วไป (Rolling scar) ถ้านำไปใช้กับหลุมสิวแบบอื่นอาจเห็นผลช้ามากหรือแทบไม่เห็นผลเลย โดย IPL จะเป็นการใช้คลื่นแสงที่มีความเข้มข้นเพื่อเข้าไปกระตุ้นคอลลาเจน โดยระยะของแสงจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาผิวเท่านั้น ถ้าหากการปรับนี้ทำโดยผู้ไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง การรักษาก็อาจจะไม่ได้ผลหรืออาจทำให้หน้าไหม้ได้
  14. เลเซอร์หลุมสิว เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมมาก ซึ่งการทำเลเซอร์นั้นสามารถทำให้คอลลาเจนใต้ผิวถูกกระตุ้นให้สร้างตัวมากขึ้นเพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เช่น เลเซอร์ Yag เป็นอีกวิธีที่ได้ผลดีกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำ IPL การทำเลเซอร์แบบนี้อาจทำให้เจ็บและมีสะเก็ดแผลเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเวลาทำจึงจำเป็นต้องทายาชาช่วย ถ้าเลือกจะทำวิธีนี้ คุณควรงดออกจากบ้านประมาณ 1 สัปดาห์ และถนอมผิวหน้าไม่ให้เจอแสงแดด แล้วผิวหน้าของคุณก็จะเรียบเนียนขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้
  15. เลเซอร์ Fractional CO2 เป็นอีกเลเซอร์ที่ให้ผลดี มีความรุนแรงมาก เป็นตัวช่วยให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ผลของเลเซอร์ชนิดนี้สามารถตัดพังผืดแบบแนวดิ่งได้ดี แต่ก็ทำลายผิวชั้นบนไปมากเช่นกัน เรียกได้ว่า ข้อดีข้อเสียพอ ๆ กัน คนที่คิดจะทำเลเซอร์ชนิดนี้ต้องทำใจไว้เลยว่า หน้าจะเยินไปเป็นเดือนสองเดือน จึงใช้เวลาพักฟื้นยาวนาน ก่อนที่ผิวจะค่อย ๆ เริ่มสร้างตัวขึ้นใหม่อย่างธรรมชาติ แต่ก็ได้ผลดีในการรักษาหลุมสิวเกือบ ๆ 70%
    เลเซอร์-Fractional-CO2
  16. เลเซอร์ Fraxel โดยใช้เครื่อง Fraxel restore Laser และ Fine scan Laser (ส่วนตัวคิดว่าเครื่อง Fraxel Laser สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเครื่อง Fine Scan Laser) เป็นเลเซอร์อีกวิธีที่ได้ผลดีสมราคา ต้องจ่ายเงินค่อนข้างแพง วิธีนี้จะเป็นการใช้คลื่นแสงที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากไปกระตุ้นเซลล์ผิวให้ช่วยกันซ่อมแซมบริเวณผิวที่เป็นหลุม โดยปกติแล้ว 1 คอร์สจะมี 4 ครั้ง หลังการรักษาจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด และต้องเตรียมใจรับความเจ็บบริเวณใบหน้าเอาไว้ด้วยล่ะ วิธีนี้คุณสามารถคาดหวังผลในการรักษาหลุมสิวได้ประมาณ 50-70% หากทำการรักษาตั้งแต่ 10 ครั้งขึ้นไป
    เลเซอร์-fraxel
  17. ศัลยกรรมผ่าตัดหลุมสิว (Punch Excision & Grafting) เป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่หาย เป็นหลุมสิวไม่มากนัก แต่เป็นหลุมลึกและกว้าง โดยวิธีการรักษาหลุมสิวแบบนี้จะแบ่งย่อยเป็น 4 วิธี คือ
    • Punch excision เป็นการผ่าตัดรอยหลุมสิวออก แล้วเย็บแผลให้ติดกัน ทำได้กับหลุมสิวระดับ Box scar &Ice pick scar ,
    • Punch elevation เป็นการผ่าตัดหลุมสิวโดยยกเนื้อบริเวณหลุมสิวขึ้นมาให้เท่ากับเนื้อผิวปกติ แล้วทำการเย็บเนื้อที่ยกขึ้นมาให้ติดกับเนื้อผิวโดยรอบ ทำได้กับหลุมสิวระดับ Box scar,
    • Punch grafting ปิดหลุมสิวโดยการเอาเนื้อบริเวณอื่นของเรามาปิดแทนที่หลุมสิว แล้วทำการเย็บปิดเพื่อให้เนื้อเยื่อเติบโตเต็มหลุมสิว เป็นวิธีที่เหมาะกับหลุมสิวที่ลึกไม่สม่ำเสมอ ทำได้กับหลุมสิวระดับ Box scar &Ice pick scar,
    • Elliptical excision เป็นการผ่าตัดหรือกรีดหลุมสิวให้เป็นวงรีและจัดการเย็บแผลให้ติดกัน ซึ่งเป็นการเย็บปิดแผลเป็นหลุมสิวให้แนบสนิท

    ศัลยกรรมผ่าตัดหลุมสิว

    โดยราคาทำนั้นโดยปกติแล้วจะคิดราคาเป็นหลุม หลุมละประมาณ 1,000-2,000 บาท และเนื่องจากวิธีนี้เป็นการผ่าตัดแบบเล็ก ๆ ผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้ก็คือ “รอยแผลเป็น” แต่ก็ไม่น่าเป็นกังวลเท่าไร เพราะเป็นรอยแผลที่มีขนาดเล็ก ปกติแล้วจะหายได้เอง แต่ระวังเอาไว้ก็ดีครับ และที่สำคัญคุณควรเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญ เนื่องจากวิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ฝีมือ ความชำนาญ และประสบการณ์ในระดับหนึ่ง หากแพทย์ไม่เก่งแล้ว ก็อาจทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีหรือไม่ได้ผลอย่างที่เราคาดหวังไว้ก็ได้

  18. ดูแลตัวเอง ในระหว่างการรักษาเรื่องการดูแลและป้องกันตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เช่น คุณต้องพยายามป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นสิวอักเสบ งดดื่มแอลกอฮอล์ (เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างคอลลาเจน) ถ้าหากไม่ได้อยู่ในระหว่างการรักษา คุณสามารถสครับหน้าได้อาทิตย์ละครั้ง โดยเลือกสครับที่ไม่รุนแรงมากนัก บำรุงผิวด้วยสกินแคร์ที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ไปนวดหน้าบ้างเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนมีการสร้างคอลลาเจนมาช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของผิว เซลล์ผิวของคุณจะได้ทำงานได้ดีขึ้น หรือบางคนอาจรับประทานอาหารเสริมจำพวกคอลลาเจนก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนการสร้างคอลลาเจนจากภายในจนถึงภายนอก

แต่ถ้าหากเรายังมีปัญหาสิวอยู่บนใบหน้า การขัดหน้าและนวดหน้าก็ยังเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ทางที่ดีคุณควรจะรักษาสิวให้หายก่อน แล้วค่อยมาจัดการกับจุดด่างดำและหลุมสิวภายหลัง ที่สำคัญคือ คุณต้องใจเย็น ๆ ต้องรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาดีและยังทำให้ผิวมีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

หมายเหตุ : ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และอาจไม่เป็นอย่างในรูปตัวอย่างครับ***

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด