ฝ้า (Melasma) กับแนวทางการรักษาฝ้าที่แพทย์ผิวหนังแนะนำ!

ฝ้า (Melasma) กับแนวทางการรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง

ฝ้าคืออะไร ?

ฝ้า (Melasma) คือ ความผิดปกติของเม็ดสีที่ทำให้เกิดรอยลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลถึงสีเทาที่ไม่สม่ำเสมอบนผิว โดยจะมีสีเข้มกว่าสีผิวปกติรอบข้าง เป็นปื้นเรียบไม่นูน ขอบเขตไม่สม่ำเสมอ มักปรากฎขึ้นบนผิวหนังเป็นหย่อม ๆ และมีลักษณะเท่ากัน 2 ข้าง โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า และฝ้าไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด แต่มักจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจรวมกันเป็นปื้นหรือเข้มเป็นประจุกก็ได้

ส่วนตำแหน่งที่พบฝ้าได้บ่อย คือ แก้ม หน้าผาก สันจมูก ริมฝีปากบน หนวด และคาง นอกจากนี้ตำแหน่งการเกิดฝ้าอาจปรากฎขึ้นที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงบ่อย ๆ เช่น คอ ไหล่ แขน หน้าอก และหลัง

ฝ้าจะเป็นปัญหาผิวพรรณที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การเกิดฝ้าจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ยกเว้นเรื่องความงาม แต่ก็ทำให้ผู้หญิงหลายคนหมดความมั่นใจหรือเกิดความรำคาญใจได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าปัญหาฝ้าบนใบหน้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปลักษณ์ของแต่ละบุคคล สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางจิตและคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้[4] ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อทำการป้องกันและทำความเข้าใจถึงวิธีการรักษาฝ้าอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผิวกลับสู่สภาพปกติได้ใกล้เคียงมากที่สุด

สถิติการเกิดฝ้า

  • ฝ้าเป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก โดยมีความชุกแตกต่างกันไปตั้งแต่ 1.5-33% ขึ้นอยู่กับลักษณะประชากร
  • จากข้อมูลของ American Academy of Dermatology พบว่า ปัญหาฝ้ามักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (พบในผู้ชายเพียง 10% หรือพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 9 เท่า)[5]
  • ในผู้หญิงและหญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝ้ามากขึ้น โดยในหญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดฝ้าได้มาก 15-50%
  • บุคคลทุกเชื้อชาติมีโอกาสเกิดฝ้าได้ แต่จะพบปัญหาการเกิดฝ้าได้บ่อยในผู้ที่มีผิวสีน้ำตาลเข้มหรือผู้ที่มีผิวสีแทนมากกว่าคนผิวขาว และมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (มักเริ่มตั้งแต่อายุ 20-40 ปี) ไม่ค่อยพบเกิดขึ้นในวัยแรกรุ่น

ชนิดของฝ้า

ฝ้าแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามความลึก-ตื้นของฝ้า คือ

  1. ฝ้าตื้น (Epidermal type) เป็นฝ้าที่อยู่ในระดับชั้นหนังกำพร้าหรือผิวชั้นนอก ฝ้าชนิดนี้จะเป็นสีน้ำตาล มีเส้นขอบชัด เกิดขึ้นได้ง่าย มักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี สามารถรักษาให้หายได้และใช้เวลาไม่นาน
  2. ฝ้าลึก (Dermal type) เป็นฝ้าที่อยู่ในระดับลึกกว่าชั้นหนังกำพร้า คืออยู่ในชั้นหนังแท้ ด้วยความลึกจึงทำให้เกิดการแสดงของสีออกมาเป็นสีน้ำตาลอมฟ้าหรือสีน้ำตาลอมม่วง และมีขอบไม่ชัด เป็นฝ้าที่รักษาได้ยากและใช้เวลานาน ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี
  3. ฝ้าผสม (Indeterminate type) เป็นฝ้าที่พบได้บ่อยที่สุดในสามกลุ่มนี้ โดยมีทั้งปื้นสีน้ำตาลและสีน้ำตาลอมฟ้าหรือม่วง และตอบสนองแค่ต่อการรักษาบางอย่าง

นอกจากนี้ ชนิดของฝ้าอาจแบ่งได้จากบริเวณที่เป็นฝ้า คือ ชนิดที่พบฝ้ากลางใบหน้า (Centrofacial), ชนิดที่พบฝ้าที่โหนกแก้ม (Malar), ชนิดที่พบฝ้าที่กราม (Mandibular) และชนิดที่พบที่แขนท่อนล่าง (Forearms)

สาเหตุการเกิดฝ้า

ฝ้าเกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังสร้างเม็ดสีหรือเมลานิน (Melanin) มากเกินไป จนทำให้เกิดรอยฝ้าขึ้นมา เดิมทีกระบวนการสร้างเม็ดสีเกิดจากเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocytes) โดยในเซลล์ชนิดนี้จะมีสารมากมายเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนสารในเซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นเม็ดสี

แต่ด้วยมีสาเหตุหรือปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นให้เม็ดสีถูกสร้างมากขึ้น จึงทำให้เกิดฝ้าขึ้นมา ซึ่งความรุนแรงของการสร้างเม็ดสีก็เกิดได้หลายระดับ ตั้งแต่ผิวหนังเกิดรอยเป็นสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีเทา ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในการรักษาฝ้าที่ได้ผลจึงต้องใช้สารที่ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่อยู่ในกลไกของการผลิตเม็ดสี

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดฝ้าได้อย่างชัดเจน แต่ก็ทราบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มการสร้างเม็ดสีมากผิดปกติ เช่น

ปัจจัยเสี่ยง :

  • เพศ เพราะพบปัญหาการเกิดฝ้าได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่า
  • อายุ เพราะฝ้ามักเกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ในคนที่มีอายุ 20-40 ปี (ไม่ค่อยพบเกิดขึ้นในวัยแรกรุ่น)
  • สีผิว คนผิวเข้มหรือมีโทนผิวสีน้ำตาลอ่อนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าคนผิวขาว และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด
  • พันธุกรรม อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดฝ้า โดยพบว่าประมาณ 30-50% ของคนที่เป็นฝ้าจะมีโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นฝ้าด้วย

ปัจจัยกระตุ้น :

  • แสงต่าง ๆ โดยเฉพาะแสงแดด เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลมากที่สุดที่ทำให้เกิดฝ้า เพราะส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocytes) ทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่เพิ่มขึ้นด้วย
    • รังสี UVB (ช่วงคลื่น 290-230 nm) เป็นรังสีที่ทะลุได้ถึงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น จึงทำให้ผิวหนังแดงหรือผิวไหม้แดด เป็นตัวการทำให้ผิวหมองคล้ำ มะเร็งผิวหนัง ริ้วรอย และปัญหาฝ้ากระ
    • รังสี UVA (ช่วงคลื่น 320-400 nm) เป็นรังสีที่สามารถแทรกซอนได้ถึงผิวชั้นลึก ๆ ทะลุผ่านเมฆและกระจกได้ จึงทำลายคอลลาเจนและชุ่มชื้นของผิว และเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดฝ้ากระ รวมถึงริ้วรอยลึก/ผิวเหี่ยวย่น มะเร็งผิวหนัง และผิวหมองคล้ำ (รังสี UVA มักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าได้มากกว่ารังสี UVB)
    • แสงที่ตามามองเห็นได้ (Visible light) หรือ VL (ช่วงคลื่น 400-700 nm) สามารถทำให้เกิดฝ้าและรอยดำต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับรังสี UVA และ UVB
    • แสงสีฟ้า (Blue light) หรือ HEV : High Energy Visible light (ช่วงคลื่น 400-490 nm) เป็นส่วนหนึ่งของ Visible light โดยนอกจากดวงอาทิตย์แล้ว เรายังพบแหล่งกำเนิดแสงสีฟ้าได้จากจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ได้ด้วย ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าได้ และเราไม่ควรมองข้าม
  • ภาวะที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สามารถกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีให้สร้างเม็ดสีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ การใช้ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด หรือเมื่อป่วยเป็นโรคไทรอยด์
    • การตั้งครรภ์ เป็นเรื่องปกติมากที่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดฝ้าได้ถึง 15-50% ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ และฝ้ามักจะจางลงหรือหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไปหรือภายหลังการคลอดประมาณ 3 เดือน (มักจะแย่ลงในช่วงหน้าร้อนและดีขึ้นในช่วงหน้าหนาว)
    • ยาคุมกำเนิด เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการผลิตเม็ดสีมากเกินไปในการเกิดฝ้า รักษาฮอร์โมนหรือกินยาคุมกำเนิด
    • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเกิดฝ้าได้
    • โรคไทรอยด์ ในผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นฝ้าได้มากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า
  • เครื่องสำอาง เครื่องสำอางบางตัวที่ใช้แล้วเกิดการระเคืองต่อผิวอาจทำให้เกิดฝ้าได้
  • ภาวะการขาดอาหาร
  • ยาบางชนิด รวมทั้งยาต้านอาการชักและยาที่ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น เช่น เรตินอยด์ ยาลดความดันโลหิต และยาปฏิชีวนะบางชนิด

การวินิจฉัยปัญหาฝ้า

แพทย์ผิวหนังสามารถวินิจฉัยฝ้าได้ง่ายด้วยการดูจากลักษณะภายนอก หรืออาจใช้ Wood’s light เพื่อแยกชนิดของฝ้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝ้าอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพผิวอื่น ๆ และอาจทำให้สับสนได้ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคจึงทำให้ในบางครั้งแพทย์อาจทำการตรวจชื้นเนื้อเล็กน้อยหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยสภาพผิวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฝ้าก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่

  • กระ (Ephelides) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล มักมีขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร พบได้บ่อยในวัยเด็กช่วงก่อนวัยรุ่น ในวัยผู้ใหญ่พบได้น้อยลง และพบบ่อยในคนผมสีจาง คือ ผมบลอนด์หรือแดง
  • ขี้แมลงวัน (Lentigines) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล สีมักเข้มกว่ากระ และมีขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร พบได้บ่อยในผู้ใหญ่
  • อื่น ๆ : Riehl’s melanosis (ปื้นร่างแหสีน้ำตาล มักพบในหญิงวัยกลางคน เชื่อว่าเกิดจากการแพ้เครื่องสำอาง), Cafe’ -au-lait macule (ผื่นสีน้ำตาลคล้ายกาแฟใส่นม มีขอบชัด ขนาด 2-20 เซนติเมตร มักพบตั้งแต่เกิด), Becker’s melanosis (ลักษณะสีน้ำตาล มักเกิดที่ไหล่ ใต้ราวนม หรือหลังของวัยรุ่น ขอบชัด ไม่สม่ำเสมอ มีขนาด 2-3 เซนติเมตร บางรายมีขนขึ้นบนผื่นด้วย และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 5 เท่า), Nevus spilus (มีลักษณะเป็นปานที่มีจุดสีเข้มเล็ก ๆ อยู่ภายใน), Ashy dermatosis (มีสีน้ำเงินเทาคล้ายขี้เถ้า), Nevus of Ota (ผื่นคล้ายกระ สีน้ำเงินอมเขียว), Mongolian spot (ผื่นสีน้ำเงินดำหรือน้ำเงินอมเขียวขอบไม่ชัด ขนาด 2-3 เซนติเมตร มักพบตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะในคนเอเชีย), Hemochromatosis (ผิวสีเข้มขึ้นทั่วร่างกาย ผิวมีสีทองแดง น้ำเงินเทา หรือออกสีน้ำตาลดำ) ฯลฯ

ฝ้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้หญิง แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ฝ้าตื้น ฝ้าลึก และฝ้าผสม (ฝ้าตื้นอยู่ในระดับชั้นหนังกำพร้า เกิดขึ้นได้ง่าย ตอบสนองต่อการรักษาดี ส่วนฝ้าลึกจะรักษาได้ยากและใช้เวลานานกว่า และฝ้าผสมเป็นฝ้าที่พบได้บ่อยที่สุด) มีสาเหตุเกิดมาจากเซลล์หนังสร้างเม็ดสีมากเกินไป ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไม แต่รู้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงคือ เป็นเพศหญิง เป็นคนผิวคล้ำ อายุอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงพันธุกรรม (มีคนในครอบครัวเป็น) ร่วมกับการมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่เป็นตัวการทำให้เกิดฝ้าขึ้นมาคือ แสงแดด (UVA, UVB, VL รวมถึง HEV) และภาวะที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน (การตั้งครรภ์ การใช้ยาคุม เป็นต้น)

วิธีการรักษาฝ้า

ฝ้าส่วนใหญ่สามารถจางลงหรือจางหายไปได้ตามกาลเวลาถ้าเราป้องกันปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้ดี (โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดแสงต่าง ๆ และการใช้ยาฮอร์โมน) และในบางคนอาจไม่จำเป็นต้องรักษาฝ้าแต่อย่างใด หากฝ้านั้นเกิดจากการเปลี่ยนของฮอร์โมน เพราะภายหลังการหลังคลอดบุตรหรือเมื่อหยุดทานยา ฝ้าก็จะหายไปได้เองหลังจากนั้น 3 เดือน

ฝ้าเป็นภาวะที่รักษาให้หายได้ยากและมักไม่หายขาด โดยเฉพาะในคนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ตลอดเวลา เช่น ต้องเจอแสงแดดทุกวัน ใช้ฮอร์โมน หรือต้องจ้องจอทุกวัน ในบางคนอาจเป็นฝ้าถาวร บางคนฝ้าอาจหายไปได้เอง หรือบางคนอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ดีภายในไม่กี่เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งก่อนจะรักษาแพทย์จะค้นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าก่อนว่าเกิดจากอะไร เช่น แสงแดด ยาคุมกำเนิด แพ้เครื่องสำอาง จ้องหน้าจอมากเกินไป เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนเริ่มรักษาฝ้าก็คือ มียาหลายชนิดและขั้นตอนการรักษามากมายตามงานวิจัยที่ช่วยในการรักษาฝ้าได้ แต่ก็ใช่ว่าวิธีการบางอย่างจะได้ผลกับทุกคนเสมอไป ไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุด และการจะรักษาฝ้าให้ได้ผลดีอาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของฝ้า ส่วนผลลัพธ์ที่ได้ภายหลังการรักษาอาจจะไม่สมบูรณ์ก็ได้ (หมายความว่า หลังการรักษาฝ้าอาจจางลงหรือหายไปแค่บางส่วน ในขณะที่บางส่วนก็อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่จางลงก็ได้) และฝ้าก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกแม้จะรักษาจนหายแล้วก็ตาม ซึ่งก็พบได้บ่อยและเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ยาหรือวิธีการรักษาต่าง ๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงภายหลังการรักษาได้ เช่น อาจทำให้ผิวคล้ำขึ้นที่เกิดจากการอักเสบจากการรักษา หรือทำให้ผิวบริเวณที่รักษาสว่างขึ้นเป็นพิเศษ เป็นต้น ดังนั้น การรักษาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด สำหรับแนวทางการรักษาฝ้าที่แนะนำโดยแพทย์ผิวหนังนั้นมีดังนี้

1. เลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากและเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์การรักษา คือเราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราสามารถเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการเกิดฝ้าได้หรือไม่ ? หรือเราสามารถป้องกันไม่ให้ฝ้าที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิมอีกได้หรือไม่ ? โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงแสงแดดและแสงต่าง ๆ รวมถึงการใช้ฮอร์โมน ที่เราต้องหมั่นครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เลือกใช้ครีมกันแดดที่มี Broad Spectrum กว้าง ฯลฯ (อ่านวิธีการปฏิบัติตัวเพิ่มเติมในหัวข้อ “การป้องกันการเกิดฝ้า” ด้านล่าง)

2. การรักษาด้วยยาทา เป็นวิธีการรักษาฝ้าที่แพทย์ผิวหนังใช้มากที่สุดและมักจะเลือกใช้เป็นอย่างแรก โดยเป็นการให้ใช้ยาทาในรูปแบบครีม โลชั่น หรือเจลที่มีสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อช่วยป้องกันการสร้างเม็ดสีใหม่ ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้าโดยเฉพาะแสงแดดและฮอร์โมน โดยยาทาที่ใช้ในการรักษาหลัก ๆ จะเป็น Hydroquinone, Tretinoin และ Corticosteroids  แต่ยารักษาฝ้าที่แพทย์นิยมให้ใช้จะเป็นยาทาสูตรรวมยาทั้ง 3 ชนิดนี้เข้าไว้ด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Triple combination cream หรือ TCC  (หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาฝ้าเหล่านี้ ยกเว้นกรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยเมื่อใช้ในขณะตั้งครรภ์)

ดูรายละเอียดยาทาฝ้าแต่ละชนิด (20 ชนิด+)
  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) 2-5% ยาทาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน มีผลลดการสร้างและเพิ่มการสลายเมลาโนโซม เป็นยาควบคุมที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์ มีจำหน่ายในรูปแบบครีม โลชั่น และเจล ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง  เพราะยานี้มีผลข้างเคียงสูง โดยมักก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน บวม แดง และผิวลอกเป็นขุย ๆ และหากใช้ยานี้ที่มีความเข้มข้นสูงเกินไปหรือใช้เป็นเวลานานก็อาจทำให้สีผิวบริเวณที่ทาเข้มขึ้น หรือเกิดเป็นฝ้าถาวร (Ochronosis) ที่รักษาไม่หายได้  ดังนั้น ในการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและห้ามใช้เองถ้าแพทย์ไม่ได้สั่ง (ปัจจุบันครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนก็ถูกถอดถอนห้ามใช้ในหลายประเทศแล้ว จึงไม่แนะนำให้ใช้ครับ)
  • เตรทติโนอิน (Tretinoin) เป็นยาทาในกลุ่ม Retinoids หรืออนุพันธ์วิตามินเอ มีฤทธิ์ช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานินและช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก จึงช่วยให้รอยฝ้าดูจางลงได้ แต่ยานี้ต้องใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 24 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเห็นผล และในระหว่างการใช้จะต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วย เพราะผิวจะไวต่อแสงและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายมาก ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ ผิวหนังแดง แสบร้อน อักเสบ แห้ง คัน ลอก เป็นผื่น ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือซีดลง การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และห้ามใช้เด็ดขาดในหญิงตั้งครรภ์
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาทาสเตียรอยด์ ช่วยทำให้ฝ้าจางลงได้โดยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่การใช้เป็นไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดฝ้าจากสเตียรอยด์ได้ โดยปกติจะไม่ได้แนะนำให้ใช้แบบเดี่ยว ๆ แต่จะใช้ผสมในปริมาณเล็กน้อยในรูปของครีมรวมที่ผสม Hydroquinone และ Tretinoin มากกว่าเพื่อทำหน้าที่ช่วยลดการระคายเคือง
  • ครีมรวม (ยาทารักษาฝ้าสูตรรวม) หรือ Triple combination cream (TCC) ในปัจจุบันแนวทางการรักษาฝ้าที่รุนแรงปานกลางถึงมาก  การรักษาแรกที่แพทย์ผิวหนังมักเลือกใช้กับคนไข้จะเป็นการให้ยาทาที่ประกอบไปด้วยยา 3 ชนิด คือ Hydroquinone 4-5% (เพื่อยับยั้งกระบวนการเมลานิน), Tretinoin 0.05-0.1% (เพื่อช่วยในการผลัดเซลล์) และ Corticosteroids อีกหนึ่งชนิด (เพื่อช่วยลดการระคายเคือง ซึ่งมีอยู่หลายตัวด้วยกัน เช่น Dexamethasone 0.1%, Mometasone furoate 0.1%, Hydrocortisone acetate 1% หรือ Fluocinolone acetonide 0.01%)  และบางยี่ห้อก็มีส่วนผสมของสารอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละยี่ห้อ (สูตรยาเหล่านี้เป็นสูตรที่พัฒนามาจากสูตร Kligman’s formula)
    • โดย TCC นี้จัดเป็นยาชนิดเดียวที่ได้ข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาฝ้าในฉลากยาตาม อย. ของสหรัฐอเมริกา และจากการศึกษาพบว่าเมื่อใช้ทา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถช่วยให้ฝ้าจางลงและช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของฝ้าได้อย่างน้อย 6 เดือน (หากผู้ป่วยไม่สามารถใช้ครีมรวม TCC ได้หรือมีอาการแพ้ยาบางตัว แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในการรักษาแทน)
    • อย่างไรก็ตาม การใช้ TCC ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะมีข้อควรระวังในใช้พอสมควรเช่นเดียวกับไฮโดรควิโนน คืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง เช่น เกิดการระคายเคือง แดง แสบ คัน ผิวแห้ง ลอก ผิวไวต่อแสง ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือซีดลง หรือเกิดรอยดำจากการอักเสบตามมา หรืออาจทำให้เกิดฝ้าถาวรได้จากส่วนผสมของไฮโดรควิโนนเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แพทย์ผิวหนังบางท่านอาจหันไปใช้การรักษาทางเลือกอื่นที่ไม่มีสารไฮโดรควิโนนแทน โดยอาจใช้สารเหล่านี้หรือหลายชนิดร่วมกันเพื่ออาศัยกลไกการลดเม็ดสีของสารหลายชนิดเข้าไว้ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid), กรดทรานซามิค (Tranexamic acid), ซิสเทเอมีน (Cysteamine), กรดโคจิก (Kojic acid), รูซินอล (Runicol) เป็นต้น
    • ตัวอย่างยารักษาฝ้าสูตรรวม เช่น Tri Luma Cream (Hydroquinone 4% + Tretinoin 0.05% + Fluocinolone 0.01%), SkinLite Cream และ MELACARE ที่มีส่วนผสมเหมือนกัน ต่างกันแค่ยี่ห้อ (Hydroquinone 2% + Tretinoin 0.025% + Mometasone furoate 0.1%)
  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) ความเข้มข้น 20% Cream เป็นสารธรรมชาติที่แต่เดิมใช้เพื่อรักษาสิว แต่ด้วยสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ด้วย จึงมีการนำมาใช้รักษาฝ้า เรียกได้ว่า ใช้แก้ทั้งสิวและฝ้าในหลอดเดียวกัน (มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ Azelaic acid 20% กับ Hydroquinone 4% แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดการสร้างเม็ดสีได้ดีพอ ๆ กัน แต่ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนกับ Hydroquinone หญิงตั้งครรภ์จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ด้วยความที่สารนี้เป็นกรด การใช้ในช่วงแรกก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวแบบอ่อน ๆ ได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผิวหนังเช่นกัน)
  • ซิสเทเอมีน (Cysteamine) ความเข้มข้น 5% เป็นสารที่แพทย์ผิวหนังให้ความสนใจในการนำมารักษาฝ้ามากที่สุดอีกตัวหนึ่ง โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่ไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี จากการทดลองฉีดสารชนิดนี้ใส่ปลาทองสีดำมากกว่า 200 ตัว พบว่าสีผิวของปลาทองเปลี่ยนจากสีดำกลายเป็นสีเงิน และยังมีการศึกษาในหนูตะเภาก็พบว่าให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่าการนำสารนี้มาใช้ทาในผู้หญิงที่เป็นฝ้าชนิดตื้นเป็นเวลา 45 วัน พบว่าทำให้ฝ้าจางลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนอีกการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่เป็นฝ้ากลุ่มที่ใช้ครีม Cysteamine 5% เป็นเวลา 2-4 เดือน มีความรุนแรงของฝ้าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ครีมหลอก
  • ยาทาหรือสารทางเลือกอื่น ๆ ในรูปแบบครีมทาที่ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกหรือเสริมประสิทธิภาพในการรักษาฝ้า (ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาหรือยังสรุปผลได้ไม่ชัดเจน) ได้แก่:
    • เมไทมาโซล (Methimazole) 5% เดิมทียานี้เป็นยาต้านไทรอยด์ แต่ในรูปแบบครีมทา 5% พบว่าสามารถช่วยรักษาฝ้าได้เมื่อใช้ร่วมกับการทำ Microneedling[6]
    • วิตามินซี (Vitamin C) มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเมลานิน มีประสิทธิภาพต่ำกว่า Hydroquinone แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก
    • กรดโคจิก (Kojic acid) มีกลไกยับยั้งการสร้างเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) และเป็นสารต้านออกซิเดชั่น
    • อาร์บูติน (Arbutin) สารลดสีผิวยอดนิยม โดยมีโครงสร้างเป็นไฮโดรควิโนนที่เชื่อมกับน้ำตาลกลูโคส มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส และยังสามารถยับยั้งไม่ให้เซลล์เมลาโนไซต์เติบโตจนสามารถสร้างเมลานินได้เต็มที่ และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า Hydroquinone มาก
    • ดีอ็อกซี่อาร์บูติน (Deoxyarbutin) เป็นตัวที่พัฒนามาจาก Arbutin เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และมีความปลอดภัยมากกว่า Hydroquinone และ Arbutin
    • สารสกัดชะเอมเทศ (Licorice extract) มีกลไกการทำงานโดยการกระจายตัวเม็ดสีเมลานินและยับยั้งการสังเคราะห์เมลานิน
    • สารสกัดเจลว่านหางจระเข้ (Aloe vera) มีการศึกษาการใช้ Aloe vera (Liposome-encapsulated) ในหญิงตั้งครรภ์ แล้วพบว่าสารสกัดชนิดนี้สามารถช่วยให้ฝ้าจางได้เล็กน้อย[7]
    • สารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean extract) สารสกัดจากถั่วเหลืองช่วยลดการถ่ายโอนสีจากเมลาโนไซต์ไปยังเซลล์ผิว
    • ซิงค์ซัลเฟต (Zinc Sulfate) มีการศึกษาที่พบว่าการใช้ 10% Zinc Sulfate Solution เป็นระยะเวลา 3 เดือนสามารถช่วยลดฝ้าได้ 49.78%[8]
    • เมควินอล (Mequinol) เป็นอนุพันธ์ของไฮโดรควิโนน มีกลไกที่ทำตัวเหมือนว่าเป็นไทโรซีน (ปลอมเป็นไทโรซีน) จนไม่สามารถสร้างเมลานินได้เช่นเดียวกันกับไฮโดรควิโนน
    • เรสเวอราทรอล (Resveratrol) เป็นสารในกลุ่ม Polyphenol ที่พบในไวน์ เปลือกองุ่นแดง น้ำองุ่นม่วง มัลเบอร์รี่ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส
    • รูซินอล (Runicol) สารมีฤทธิ์ลดการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ
    • อื่น ๆ เช่น วิตามินอี (Vitamin E), ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide), สารสกัดจากสาหร่ายทะเล (Marine algae extract), กรดชินนามิก (Cinnamic acid), อโลซิน (Aloesin), สารสกัดจากเปลือกรากต้นหม่อน (Mulberry extract), อัมเบลลิเฟอโรน (Umbelliferone), สาร Undecylenoyl phenylalanine (UDP), ซาโปนิน (Saponin), โยฮิมไบน์ (Yohimbine), กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ฯลฯ เหล่านี้ก็มีงานวิจัยพูดถึงอยู่เหมือนกันในการนำมาใช้รักษาฝ้า

3. ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว (Dermocosmetics) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มี “สาร Active ingredients” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของผิวหนังได้ในระดับหนึ่ง (จึงไม่ใช่เครื่องสำอาง) ซึ่งสำหรับการรักษาฝ้าก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสหรือกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว  เป็นทางเลือกในการรักษาฝ้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยาทาที่มีไฮโดรควิโนนหรือยาที่มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้เกิดฝ้าถาวรได้หากใช้เป็นเวลานาน  โดยคุณอาจลองมองหาส่วนผสมเหล่านี้ที่มีในผลิตภัณฑ์ เช่น Arbutin, Deoxyarbutin, Tranexamic acid, Licorice, Kojic acid, Ascorbic acid, Isobutylamido thiazolyl resorcinol (ITR)

โดยสารที่กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้ก็คือ “Isobutylamido thiazolyl resorcinol” หรือ “ITR” ซึ่งเป็นสารไวท์เทนนิ่งนวัตกรรมใหม่ประเภทที่มีฤทธ์ยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานิน (Tyrosinase Inhibitor) นับเป็นสารทางเลือกอันดับต้น ๆ ของคนที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์หรือสกินแคร์ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝ้า รอยดำ และอยากบำรุงผิวให้ดูกระจ่างใสขึ้น เพราะสารนี้มีงานวิจัยรองรับทั้งในไทยและต่างประเทศ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Investigative Dermatology (2018) ซึ่งเป็นวารสารที่แพทย์ผิวหนังทั่วโลกให้การยอมรับ

  • การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า สาร ITR มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินสีเข้มได้ดี สามารถทำให้ฝ้าดูจางลงภายและผิวดูขาวกระจ่างใสขึ้นได้ภายใน 4-12 สัปดาห์[9],[10],[11]
  • แม้ปัจจุบันจะมีสกินแคร์กลุ่ม Tyrosinase Inhibitor ที่ไม่ใช่ยาอยู่หลายตัว แต่เมื่อเทียบกับผลการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสของ ITR กับสารอื่น ๆ แล้วก็พบว่าสารชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าสาร Butylresorcinol 10 เท่า, ดีกว่า Kojic 1,000 เท่า, ดีกว่า Arbutin 10,000 เท่า เป็นต้น[12]
  • การศึกษาการใช้สาร ITR ในไทย โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ทำการศึกษาในผู้ที่มีปัญหาฝ้ากระ จุดด่างดำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ จำนวน 23 คน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า สาร ITR สามารถใช้ได้ผลกับฝ้าที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง กระ และกระแดด โดยกลุ่มที่ใช้ ITR มีผลลัพธ์การรักษาที่ดีกว่าอีกกลุ่มที่ใช้ Arbutin 4% ร่วมกับ Hydroquinone 2%
  • มีข้อมูลพบว่า ITR สามารถช่วยป้องกันการเกิดผิวคล้ำจากรังสี UVB ได้ หากนำมาทาผิวทุกวันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนไปออกแดดจัด เช่น ก่อนไปเที่ยวทะเล ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดผิวคล้ำหลังโดนแดดได้ดีกว่าการไม่ทา[13]
  • ในเรื่องของความปลอดภัย มีการศึกษาการใช้ ITR ทาเพื่อลดฝ้าติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน แล้วยังไม่พบผลข้างเคียง อีกทั้งยังช่วยให้ฝ้าจางลงอย่างชัดเจนและหลังหยุดใช้ 3 เดือนฝ้าก็ยังไม่กลับมาเข้มขึ้นเท่าเดิม[14] (ITR เป็นสารที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อย และด้วยไม่มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการรักษาฝ้าในหญิงตั้งครรภ์)
  • ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีสาร Isobutylamido thiazolyl resorcinol (ITR) เช่น ผลิตภัณฑ์นีเวีย ลูมินัส630 สปอตเคลียร์ (NIVEA LUMINOUS630 SPOT CLEAR) ที่หลัก ๆ จะมีให้ใช้ 3-4 ตัวด้วยกัน คือ เซรั่มบำรุงผิว (INTENSIVE TREATMENT SERUM), ครีมกันแดด (SUN PROTECT SPF50 PA+++), ไนท์ครีม (NIGHT COMPLEXION REPAIR) รวมถึงดีพสปอตแต้มเฉพาะจุด (DEEP SPOT) ที่ใช้สำหรับฝ้าฝังลึกหรือจุดด่างดำที่แก้ยากเป็นพิเศษอีกด้วย ซึ่งทุกตัวจะมีสาร Isobutylamido thiazolyl resorcinol หรือ ITR เป็นส่วนผสมสำคัญ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจึงควรใช้ร่วมกันเพื่อการรักษาฝ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (ตอนเช้าให้ใช้เซรั่มทาให้ทั่วใบหน้าก่อนแล้วตามด้วยการทาครีมกันแดด ส่วนในตอนกลางคืนให้ใช้เซรั่มทาให้ทั่วใบหน้าก่อนแล้วค่อยตามด้วยการทาไนท์ครีม แต่หากมีจุดด่างดำหรือฝ้าฝังลึกแก้ยากก็ควรใช้ดีฟสปอตแต้มเฉพาะจุดทาเสริมหลังจากการทาเซรั่ม แล้วจึงค่อยตามด้วยการทาครีมกันแดดหรือไนท์ครีม) สำหรับรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีดังนี้
    • NIVEA LUMINOUS630 INTENSIVE TREATMENT SERUM เป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มเข้มข้นบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมสำคัญคือ ITR (LUMINOUS630) ที่ช่วยลดเลือนฝ้าแดดและจุดด่างดำฝังลึกได้โดยไม่เกิดผลข้างเคียง, มีไฮยาลูรอนเข้มข้นที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดูอิ่มฟู นุ่มเด้ง และมีวิตามินอีที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระเสริมเกราะป้องกันให้ผิวมีสุขภาพดี และมีผลลัพธ์การยืนยันจากผู้ใช้จริงในระดับดี คือ ผู้ใช้ 97% ยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ลดเลือนฝ้าแดดและจุดด่างดำที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใช้มา, 91% ใช้แล้วยืนยันว่าช่วยลดเลือนฝ้าแดดและจุดด่างดำได้จริง และ 94% ยืนยันว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของผิวที่ดีขึ้นในทุกเดือนที่ใช้ (เป็นการทดสอบในอาสาสมัครหญิงที่มีฝ้าจากแสงแดดและจุดด่างดำสะสมนานกว่า 10 ปี จำนวน 34 คน โดย Spincontrol Asia ปี 2561) ผลิตภัณฑ์นี้มีเนื้อสัมผัสเป็นเซรั่ม จึงช่วยซึมซาบได้ดี ใช้แล้วไม่เหนียวเหนอะหนะ ให้ความรู้สึกผิวดูชุ่มชื้น หลังใช้ไป 4 สัปดาห์พบว่าผิวดูขาวกระจ่างใสขึ้นและฝ้าดูจางลง
    • NIVEA LUMINOUS630 SUN PROTECT SPF50 PA+++ เป็นครีมกันแดดที่ใช้ทาในตอนเช้า สูตรเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาฝ้าแดดและจุดด่างดำ เพราะมีสาร ITR (LUMINOUS630) โดยกันแดดจะเป็นสูตร Oil Control ที่ซึมซาบได้เร็ว เกลี่ยง่าย ใช้แล้วไม่เหนอะหนะ ช่วยคุมความมันได้ตลอดทั้งวัน และมี SPF50 PA+++ ที่ช่วยป้องกันรังสี UVA/UVB ลดโอกาสการเกิดซ้ำของฝ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • NIVEA LUMINOUS630 NIGHT COMPLEXION REPAIR เป็นผลิตภัณฑ์ไนท์ครีมบำรุงผิวหน้าสำหรับกลางคืน เพื่อช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิวในระหว่างที่นอนหลับ (ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดในการบำรุงและฟื้นฟู) พร้อมไปกับการลดเลือนฝ้าและจุดด่างดำไปด้วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนวัตกรรมเซลล์-แอคติเวตติ้ง ไฮยารูลอน (เติมความชุ่มชื้น พร้อมกับฟื้นบำรุงผิวให้มีสุขภาพดี) และมีสาร ITR (LUMINOUS630) ที่ช่วยจัดการฝ้าแดดและจุดด่างดำในช่วงกลางคืน ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแล้วว่าสามารถมใช้ได้กับทุกสภาพผิว แม้ผิวแพ้ง่าย หลังการใช้เป็นเวลา 4 สัปดาห์พบว่าฝ้าแดดและจุดด่างดำลดลง ผิวดูกระจ่างใสขึ้น (เป็นการทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 39 คน โดย Consumer and Clinical Science, Beiersdorf ในป 2562) อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล
ผลิตภัณฑ์นีเวีย ลูมินัส630 สปอตเคลียร์ (NIVEA LUMINOUS630 SPOT CLEAR)
ผลิตภัณฑ์นีเวีย ลูมินัส630 สปอตเคลียร์ (NIVEA LUMINOUS630 SPOT CLEAR)

4. ยากินรักษาฝ้า ยาหรือสารสกัดในรูปแบบรับประทานต่อไปนี้ มีการศึกษาที่พบว่าอาจช่วยรักษาฝ้าได้ ได้แก่

  • กรดทรานซามิค (Tranexamic acid) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินได้ด้วยหลายกลไก แพทย์อาจพิจารณายาใช้ยาตัวนี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาฝ้ารุนแรง โดยจากการศึกษาพบว่า การรักษาฝ้าด้วยยา Tranexamic acid ชนิดรับประทานมีแนวโนมว่าจะได้ผลดี[15] อย่างไรก็ตามข้อบ่งใช้ส่วนนี้ยังไม่ได้รับการรับรอง เพราะปกติยานี้ไม่ได้มีข้อบ่งใช้เพื่อการรักษาฝ้า และยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งข้อห้ามในการใช้และผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ก็มีหลายอย่าง เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ และยังมีการศึกษาวิจัยน้อยและยังสรุปผลได้ไม่ชัดเจน การใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • กลูตาไธโอน (Glutathione) สารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส จากการศึกษาพบว่าการใช้กลูตาไธโอนในรูปแบบรับประทานสามารถช่วยลดเมลานินในผู้ที่เป็นฝ้าได้เมื่อเทียบกับยาหลอก[16]
  • โพลีโพเดียม ลิวโคโตโมส (Polypodium leucotomos) สารสกัดจากเฟิร์นที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเมลานินหลังการถูกกระตุ้นจากแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์หรือจอต่าง ๆ และช่วยลดการทำลายและยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระจากรังสียูวี จึงลดการอักเสบของผิวและลดการสร้างเม็ดสีผิวที่จะเกิดตามมาได้ จากการศึกษาพบว่า การใช้ Polypodium leucotomos ในรูปแบบรับประทานร่วมกับการทาครีมกันแดด สามารถช่วยเรื่องฝ้าให้ดีขึ้นได้เมื่อเทียบกับยาหลอก[3]
  • สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed extract) มีการศึกษาที่พบ ว่าการทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถทำให้รอยฝ้าจางลงได้
  • พิกโนจีนอล (Pycnogenol®) สารต้านอนุมูลอิสระที่สกัดจากเปลือกสนฝรั่งเศส มีคุณสมบัติช่วยต้านการผลิตเม็ดสีเมลานิน และอาจช่วยลดฝ้ากระได้

5. รักษาฝ้าด้วยขั้นตอนทางการแพทย์ (Medical procedures) หากการใช้ยาทาเฉพาะที่รวมถึงยารับประทานไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำวิธีรักษาต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการลอกผิวด้วยสารเคมีและการทำเลเซอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม  การรักษาทางการแพทย์เหล่านี้ ไม่ใช่วิธีการรักษาฝ้าในระยะยาว และไม่มีวิธีใดดีกว่ากันหรือมีวิธีที่ดีที่สุด และการรักษาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เกิดปัญหาผิวต่าง ๆ เพิ่มเติม หรือทำให้อาการแย่ลงได้  ทางที่ดีคุณควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรักษาฝ้าถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ดูรายละเอียดการรักษาทางการแพทย์ (รวม 5 วิธี)
  • การลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical peeling) เป็นวิธีการใช้สารต่าง ๆ ที่มีความเป็นกรดมาช่วยให้ผิวเกิดการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic acid), กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid), กรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA), กรดไตรคลอโรอะซิติก (TCA), เตรทติโนอิน (Tretinoin) เป็นต้น เพื่อช่วยขจัดเม็ดสีส่วนเกิน สีผิวมีความสม่ำเสมอมากขึ้น จึงอาจทำให้ฝ้าจางลงได้ แต่ผลข้างเคียงของวิธีนี้คือ อาจเสี่ยงทำให้สีผิวเข้มมากขึ้น เกิดรอยดำ การติดเชื้อ และเกิดแผลเป็น (ในผู้ที่กินยาคุมกำเนิดไม่ควรใช้วิธีนี้ เพราะอาจทำให้รอยคล้ำหลังลอกเข้มขึ้นมากกว่าเดิม) อย่างไรก็ตาม การรักษานี้ยังไม่ลงลึกถึงชั้นหนังแท้ที่เป็นที่อยู่ของฝ้าลึกได้
  • การรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์/แสง (Laser/Light therapy) เช่น Q-switched ruby ​​laser, Q-switched alexandrite laser, Q-switched Nd:YAG laser และ Fractional Erbium laser หรือรักษาด้วยการใช้แสงที่มีช่วงคลื่นแสงกว้างอย่าง IPL (Intense Pulsed Light) เป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายในปัจจุบัน มีความแม่นยำและรักษาฝ้าได้อย่างตรงจุด โดยจะเป็นการใช้เลเซอร์แบบต่าง ๆ ยิงลงไปบริเวณที่เป็นฝ้าโดยตรงเพื่อทำลายเม็ดสีด้วยความร้อน (ทำให้เม็ดสีที่เรียงตัวกันอย่างหนาแน่นเกิดการแตกตัวกลายเป็นอนุภาคเล็ก ๆ และถูกร่างกายกำจัดออกได้ตามกลไกธรรมชาติ)
    • แม้วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ฝ้าจางลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกแรกที่แพทย์ผิวหนังแนะนำ เพราะผลการรักษาจะทำให้ฝ้าจางลงเพียงชั่วคราวและมักกลับมาเป็นซ้ำได้อีกภายหลังการรักษา หรือในบางรายที่ทำไปแล้วอาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้ (การทำเลเซอร์มักจะเป็นวิธีการรักษาเสริมจากการใช้ยาทา เพราะการรักษานี้จะแค่เข้าไปทำลายเม็ดสีที่ปลายเหตุ แต่ไม่ได้ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เป็นต้นเหตุเหมือนยาทา)
    • นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงที่ควบคุมได้ยากอีกหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผิวไวต่อแสงมาก (หลังทำช่วง 2-4 สัปดาห์ต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด), ผิวแพ้ง่าย, ผิวแห้ง ขาดน้ำ ตกสะเก็ด และเป็นขุย, อาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าใหม่หรือฝ้ากลับมาเป็นซ้ำเพราะผิวอ่อนแอจากการทำเลเซอร์, ฝ้าอาจเข้มขึ้นหรือเกิดจุดด่างขาวจากเครื่องมือที่ไม่มีคุณภาพหรือความไม่ชำนาญผู้ทำ หรืออาจทำเป็นเกิดแผลเป็นจากเลเซอร์ เป็นต้น อีกทั้งการรักษาฝ้าด้วยวิธีนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องทำประจำ ต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และแพทย์ต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือนั้น ๆ ด้วย (เครื่องมือแต่ละเครื่องจำเป็นต้องมีการปรับค่าพลังงานให้พอเหมาะสมกับลักษณะของฝ้าที่เป็นอยู่ ไม่ให้น้อยหรือมากจนเกินไป)
  • การกรอผิวด้วยผงขัด (Microdermabrasion) เป็นวิธีการขัดเซลล์ผิวชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้าให้หลุดลอกเร็วขึ้น พบว่าอาจได้ผลสำหรับฝ้าหรือกระที่อยู่ในชั้นตื้น ๆ และทำให้รอยดำจากฝ้าจางลงได้ โดยทั่วไปเทคนิคนี้เป็นวิธีที่ไม่เจ็บ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหรือร่างกาย ทำซ้ำได้บ่อย ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาในระหว่างการทำ สามารถทำได้ทุกสภาพผิวโดยไม่ทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลงหรือเกิดรอยแผลเป็น และหลังทำเสร็จสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อเสียคือ ต้องทำซ้ำหลายครั้ง ประสิทธิภาพในการรักษาน้อย (เพราะการรักษานี้ไม่ได้ลงลึกถึงชั้นหนังแท้หรือฝ้าลึก) ต้องทำร่วมกับวิธีอื่น ๆ จึงจะได้ผล (เช่น การใช้ยาทาร่วมด้วยอย่างยาทาฝ้าสูตรรวม TCC โดยใช้ Microdermabrasion เป็นตัวช่วยทำให้ยาทาฝ้าซึมผ่านลงสู่ผิวหนังกำพร้าชั้นล่างมากขึ้น) และต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การทำไมโครนีดลิ่ง (Microneedling) ปกติวิธีนี้จะใช้สำหรับการรักษาหลุมสิวและรูขุมขนกว้างเป็นหลัก โดยจะเป็นการใช้เข็มขนาดเล็กจำนวนหลาย ๆ เข็มทิ่มไปบนผิวหน้า 90 องศา ซ้ำ ๆ จนทั่วบริเวณที่ต้อง ส่งผลทำให้เกิดบาดแผลเล็ก ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้รูขุมขนกระชับเรียบเนียนขึ้น ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการรักษาฝ้านั้น แพทย์สามารถทำได้โดยการใส่ตัวยาอย่างสารไวท์เทนนิ่งหรือสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเมลานินเข้าไปได้ เพราะในระหว่างที่ทำจะมี Micro core เล็ก ๆ จากเข็มที่จะช่วยให้ตัวยาซึมเข้าสู่ชั้นผิวได้โดยตรง ข้อดีคือไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเหมือนการทำเลเซอร์ และไม่ทำให้ผิวไวต่อแสง (แต่ยังจำเป็นต้องเลี่ยงแสงแดดอยู่) แต่หลังทำอาจมีอาการบวมแดง แสบร้อน ผิวห้อเลือดเป็นจุด ๆ และแผลจะเริ่มตกสะเก็ดหลังจากทำไปแล้วประมาณ 2-3 วัน
  • การทำไอออนโต (Ionto) หรือทำโฟโน (Phono) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการผลักยาหรือวิตามินที่ต้องการให้แทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ในปริมาณมากและเร็วกว่าการทาครีมแบบทั่วไป เพราะวิตามินในรูปแบบครีมทาอาจดูดซึมผ่านผิวหนังได้ไม่ดีนัก จึงมีการใช้เครื่องไอออนโตหรือโฟโนมาช่วยในการผลักวิตามินเหล่านี้เข้าไป ส่วนตัวยาหรือวิตามินที่นิยมนำมาใช้ร่วมกับเครื่องเหล่านี้เพื่อรักษาฝ้าก็จะเป็นเจลที่มีส่วนผสมของวิตามินซี วิตามินเอ อาร์บูติน กรดโคจิก สารสกัดชะเอมเทศ สารสกัดจากว่านหางจระเข้ เอเอชเอ เป็นต้น (ที่นิยมนำมาใช้รักษาฝ้ากันมากตามคลินิกจะเป็นวิตามินซี กรดโคจิก และอาร์บูติน) โดยขั้นตอนการทำนั้นจะใช้เวลาประมาณครั้งละ 30 นาที และทำประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อทำติดต่อกัน 4 สัปดาห์ก็จะเริ่มเห็นผล (มีค่าบริการครั้งละ 400 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสถานที่และการบริการ) โดยมีงานวิจัยที่พบว่าการใช้เครื่องไอออนโตร่วมกับเจลวิตามินซีดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาฝ้าและรอยดำ[17],[18] อย่างไรก็ตาม แพทย์หลาย ๆ ท่านก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนี้ เพราะเชื่อว่าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มการดูดซึมหรือให้ประสิทธิภาพแตกต่างจากการทาครีมปกติ

หลังจากรักษาฝ้าจนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดและหลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างเข้มงวดต่อไป และแพทย์ผิวหนังอาจแนะนำให้ใช้ยาทาหรือสารปรับสภาพผิวอื่น ๆ ต่อเพื่อรักษาผลลัพธ์ในการรักษา และอาจมีการใช้ไฮโดรควิโนนอีกเป็นระยะ ๆ เมื่อจำเป็น

การรักษาฝ้าที่แพทย์ผิวหนังมักใช้เป็นตัวเลือกแรก คือ การให้ใช้ยาทารักษาฝ้าสูตรรวม (Hydroquinone + Tretinoin + Corticosteroids) แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก (ส่วนการให้ไฮโดรควิโนนแบบเดี่ยว ๆ นั้นจะไม่แนะนำเท่าไหร่) ส่วนผลิตภัณฑ์ Dermocosmetics ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่อยากใช้ยา เพราะค่อนข้างปลอดภัยและออกฤทธิ์ได้ดี แต่ถ้าใช้แล้วยังไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมซึ่งเป็นการรักษาเสริม เช่น การให้ยารับประทานอย่าง Tranexamic acid หรืออาจลอกผิวด้วยสารเคมี หรือทำเลเซอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม การรักษาฝ้าถ้าจะต้องทำควบคู่ไปกับการปกป้องผิวจากแสงแดดและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เสมอ เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีและป้องกันไม่ให้ฝ้าที่หายแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

การป้องกันการเกิดฝ้า

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดฝ้าได้อย่าง 100% เพราะปัจจัยการเกิดฝ้ากว่าครึ่งมาจากปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้สามารถช่วยชะลอการลุกลามและลดการกลับมาเป็นซ้ำของฝ้าภายหลังการรักษาได้

  1. ใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ การป้องกันแสงแดดอย่างเข้มงวดคือหัวใจหลักของการป้องกันและรักษาฝ้า ดังนั้น จึงควรใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ โดยมีคำแนะนำว่า
    • ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที และต้องทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าสารกันแดดยังมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวอยู่
    • ต้องใช้ครีมกันแดดในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร (คนส่วนใหญ่จะทาครีมกันแดดเพียง 0.5-1.5 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งจะได้ผลเพียงแค่ 20-50% ของค่า SPF ที่ระบุไว้) แต่การถ้าทาซ้ำ ๆ ในปริมาณที่พอดีจะให้ผลในการป้องกันมากขึ้นถึง 2.5 เท่า !
    • วิธีการทาครีมกันแดดสำหรับใบหน้า ให้ใช้ครีมกันแดดในขนาดเท่าไข่มุกเม็ดใหญ่ 2 เม็ด แล้วแบ่งแต้มลงใบหน้า โดยแบ่งออกเป็น 5 จุด คือ หน้าผาก 1 จุด, แก้ม 2 จุด, จมูก 1 จุด และคางอีก 1 จุด จากนั้นก็ค่อย ๆ เกลี่ยทาให้ทั่วหน้าอย่างสม่ำเสมอ
  2. เลือกครีมกันแดดที่มี Broad spectrum กว้าง การเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนเป็นฝ้า โดยแนะนำว่าควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Titanium dioxide, Zinc oxide และ Iron oxide เพราะสามารถช่วยป้องกันแสงที่ตามองเห็นได้ (VL) และแสงสีฟ้า (HEV) ที่เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าได้ด้วย (ครีมกันแดดทั่วไปอาจป้องกันได้เฉพาะรังสี UVB จึงไม่สามารถใช้ป้องกันฝ้าได้ เพราะผิวหนังยังคงได้รับรังสี UVA, แสง VL และ HEV ได้อยู่)
    • มีค่า SPF30-50 (ไม่ต้องจำเป็นต้องมี SPF สูงมากกว่านี้) โดยค่า SPF จะเป็นค่าป้องกันรังสี UVB (ช่วงคลื่น 290-230 nm) ที่ทะลุได้ถึงชั้นหนังกำพร้า ตัวการทำให้ผิวหนังแดงหรือผิวไหม้แดด ผิวหมองคล้ำ มะเร็งผิวหนัง ริ้วรอย และปัญหาฝ้ากระ
    • มีค่า PA+++ ซึ่งเป็นค่าในการป้องกันรังสี UVA (ช่วงคลื่น 320-400 nm) ซึ่งเป็นรังสีที่สามารถแทรกซอนได้ถึงผิวชั้นลึก ๆ และทะลุผ่านเมฆและกระจกได้ ตัวการทำลายคอลลาเจนและชุ่มชื้นของผิว ทำให้เกิดฝ้ากระ ริ้วรอยลึก/ผิวเหี่ยวย่น มะเร็งผิวหนัง และผิวหมองคล้ำ (รังสี UVA เป็นสาเหตุทำให้เกิดฝ้าได้มากกว่ารังสี UVB)
    • มีสารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide), ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) และไอรอนออกไซด์ (Iron oxide) ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกัน/สะท้อนรังสียูวี UVA, UVB รวมถึงแสงที่ตามองเห็นได้ (VL) ที่ตกมากระทบให้ออกไปจากผิวหนัง โดยเฉพาะแสงสีฟ้า (HEV) ที่เป็นส่วนหนึ่งของแสงที่ตามองเห็นได้ ที่มาจากจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าได้ที่หลาย ๆ คนมองข้าม
    • มีการศึกษาพบว่า ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไอรอนออกไซด์ (Iron oxide) สามารถลดการผลิตเม็ดสีในผู้ที่เป็นฝ้าได้ เนื่องจากช่วยป้องกันแสงที่มองเห็นได้ (VL) และแสงสีฟ้า (HEV) ได้ ในทางกลับกัน รีมกันแดดที่ไม่มีสารดังกล่าวจะป้องกันแสง VL และ HEV จากจอต่าง ๆ ไม่ได้[19] นอกจากนี้ การเลือกใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวันถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
  3. ป้องกัน/หลีกเลี่ยงแสงแดด การใช้ครีมกันแดดอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงที่มีแสงแดดรุนแรง (09:00 ถึง 16:00 น.) จึงควรมีการป้องกันผิวอีกชั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสแสงแดดโดยตรง โดยมีคำแนะนำดังนี้
    • กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง หรือสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังได้อย่างมิดชิดเสมอเมื่อต้องออกไปข้างนอก
    • อย่าประมาทเมื่อต้องขับรถ นั่งริมหน้าต่าง หรือยืนในร่มใกล้แสงแดด เพราะรังสี UVA สามารถทะลุผ่านเมฆ/กระจกและแทรกซอนถึงผิวชั้นลึกได้
    • ช่วงเวลาที่คนประมาทกันมากคือ ช่วงแสงแดดในตอนเช้าและแสงแดดในช่วงพลบค่ำ เพราะแม้จะเป็นแสงแดดที่อ่อนแต่ก็ส่องเข้าหน้าได้อย่างเต็ม ๆ และเรามักไม่ได้ป้องกัน
    • หลีกเลี่ยงการนอนอาบแดด
    • ลดการสัมผัสแสง LED จากโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป และแท็บเล็ต
  4. เลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบางอย่าง โดยเฉพาะเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ใช้แล้วเกิดการระคายเคือง และสบู่หอม เป็นต้น
  5. เลี่ยงการใช้ยาหรือฮอร์โมนโดยไม่จำเป็น เช่น การรักษาที่ใช้เอสโตรเจน ยาคุมกำเนิดที่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมถึงยาที่อาจทำให้เกิดฝ้าหรือทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่แย่ลง
  6. หลีกเลี่ยงการแว็กซ์ การแว็กซ์อาจทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
  7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิว เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี (Vitamin D) ตัวช่วยให้ผิวมีสุขภาพแข็งแรง เช่น ไข่ เนื้อ นม นมอัลมอนด์ เห็ด น้ำมันปลา น้ำส้ม โยเกิร์ต

สรุปเรื่องฝ้าแบบสั้น ๆ : ฝ้าเป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ยกเว้นเรื่องความงาม ฝ้าแบ่งออกเป็นฝ้าตื้น ฝ้าลึก และฝ้าผสม (พบบ่อยที่สุด) โดยเกิดจากเซลล์ผิวสร้างเม็ดสีหรือเมลานินมากเกินไป และมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือแสงแดดและฮอร์โมน แนวทางการรักษาที่แพทย์มักใช้เป็นตัวเลือกแรกคือ การให้ใช้ยาทารักษาฝ้าสูตรรวม (TCC) หรืออาจแนะนำให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ Dermocosmetics สำหรับผู้ที่ไม่อยากใช้ยาหรือต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยา ถ้ายังรักษาไม่ได้ผล อาจมีการรักษาเสริมเพิ่มเติมด้วยการลอกผิวด้วยสารเคมีหรือการทำเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม การรักษาจะต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันแสงแดดและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ

คำถามที่พบบ่อย

หากต้องการรักษาฝ้า จำเป็นต้องพบแพทย์ผิวหรือไม่ ?

จำเป็น คุณควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย สืบหาสาเหตุการเกิดฝ้า และรับคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสม

มีวิธีการรักษาฝ้าอย่างไร ?

แนวทางการรักษาที่แพทย์มักใช้เป็นตัวเลือกแรกคือ การให้ใช้ยาทารักษาฝ้าสูตรรวม (TCC) ที่มีส่วนผสมของ Hydroquinone (เพื่อยับยั้งกระบวนการเมลานิน), Tretinoin (เพื่อช่วยในการผลัดเซลล์) และ Corticosteroids อีกหนึ่งชนิด (เพื่อช่วยลดการระคายเคือง) หรืออาจแนะนำให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ Dermocosmetics สำหรับผู้ที่ไม่อยากใช้ยาหรือต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยา และถ้ายังรักษาไม่ได้ผล แพทย์อาจให้การรักษาเสริมเพิ่มเติมด้วยการลอกผิวด้วยสารเคมีหรือการทำเลเซอร์

รักษาฝ้าวิธีไหนดีที่สุด?

การรักษาฝ้าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ดีกว่ากัน และผลลัพธ์ในการรักษาก็ขึ้นอยู่กับบุคคล ซึ่งแพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้แนะนำถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ครีมรักษาฝ้ายี่ห้อไหนดี?

ยาทารักษาฝ้าสูตรรวม (Triple combination cream : TCC) เป็นตัวเลือกแรกที่แพทย์ผิวหนังมักแนะนำกับคนไข้ เพราะมีหลายงานวิจัยรองรับถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี แต่ยาทาฝ้าสูตรรวมนี้ก็มักทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ตัวอย่างยารักษาฝ้าสูตรรวม เช่น ยี่ห้อ Tri Luma Cream (Hydroquinone 4% + Tretinoin 0.05% + Fluocinolone 0.01%) และยี่ห้อ SkinLite Cream กับยี่ห้อ MELACARE ที่มีส่วนผสมเหมือนกันและจะมีความเข้มข้นของไฮโดรควิโนนน้อยกว่าตัวแรก (Hydroquinone 2% + Tretinoin 0.025% + Mometasone furoate 0.1%)

มีวิธีรักษาฝ้าให้หายขาดหรือไม่ ?

ไม่มี และฝ้าเป็นภาวะที่รักษาให้หายได้ยากและมักไม่หายขาด เพราะเซลล์ผิวหนังยังต้องสร้างเม็ดสีหรือเมลานินเพื่อปกป้องผิวหนังจากการทำลายของแสงแดด ประกอบกับฝ้าเกิดได้จากปัจจัยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น พันธุกรรม เพศ อายุ ลักษณะสีผิวแต่เกิด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่การรักษาฝ้าอย่างถูกวิธีอาจช่วยให้ฝ้าดูจางลงจนใกล้เคียงกับสีผิวปกติได้ และแม้จะรักษาหายแล้วแต่ก็ฝ้าก็ยังคงกลับมาเป็นซ้ำได้อีกถ้าไม่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญอย่างแสงแดดและฮอร์โมน

มีวิธีรักษาฝ้าแบบธรรมชาติหรือไม่?

มีสมุนไพรหลายชนิดที่อาจช่วยเรื่องฝ้าได้บ้าง เช่น การใช้ว่านหางจระเข้ หัวไขเท้า มะขามเปียก ใบบักบก น้ำมะนาว+น้ำผึ้ง ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็มักพบว่าไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพน้อยมากในการลดเลือนรอยฝ้า และวิธีการเหล่านี้ยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ รองรับถึงประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากการใช้ยาทาสูตรมาตรฐานหรือครีมทาจากสารสกัดต่าง ๆ ที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า (เพราะมีปริมาณของสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ได้แน่นอนตามงานวิจัย) ถ้าใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การดูแลของแพทย์

มีสูตรรักษาฝ้าเร่งด่วนหรือไม่? ฝ้าสามารถรักษาให้หายได้ชั่วข้ามคืนหรือไม่?

ไม่ได้ โดยปกติการรักษาฝ้าไม่ว่าจะด้วยวิธีใดหรือหลายวิธีร่วมกัน ฝ้าก็มักจะค่อย ๆ จางลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป หรือบางคนอาจใช้เวลาหลายเดือน

การรักษาฝ้ามีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

การรักษาฝ้าส่วนใหญ่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะยาทาฝ้าไฮโดรควิโนนที่มักก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน บวม แดง ผิวลอกเป็นขุย สีผิวบริเวณที่ทาเข้มขึ้น หรือเกิดเป็นฝ้าถาวร (Ochronosis) ที่รักษาไม่หายได้ ส่วนการใช้วิธีลอกผิวและทำเลเซอร์ก็อาจทำให้เกิดรอยดำ แผลเป็น ผิวแพ้ง่าย ตกสะเก็ด เป็นขุย หรืออาจทำให้ฝ้าเข้มขึ้นหรือเกิดจุดด่างขาวได้ ดังนั้น ในการรักษาฝ้าจึงต้องทำโดยแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาฝ้าเท่านั้น

ทำไมผู้หญิงถึงมีฝ้าในขณะตั้งครรภ์?

ในช่วงตั้งครรภ์จะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดฝ้า แต่ฝ้าที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนมักจะจางลงหรือหายไปได้เองหลังคลอดประมาณ 3 เดือน

ฝ้าจะหายไปไหมถ้าเลิกใช้ยาคุมกำเนิด?

หากฮอร์โมนจากการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้า ฝ้าอาจหายไปได้เองหลังหยุดใช้ยา ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนขึ้นไปฝ้าจึงจะจางลง

ฝ้าเป็นมะเร็งหรือไม่?

ฝ้าไม่ใช่มะเร็ง แต่มะเร็งผิวหนังบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายฝ้าได้ หากกังวลควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษา

ฝ้าเป็นอันตรายหรือทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่?

ฝ้าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ทำให้เจ็บ และไม่ทำให้คันแต่อย่างใด

ฝ้าเป็นถาวรหรือไม่ และฝ้าสามารถหายเองได้หรือไม่ ?

โดยทั่วไปฝ้าเมื่อเป็นแล้วจะเป็นเรื้อรัง บางคนอาจเป็นฝ้าตลอดชีวิต แต่บางคนอาจเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ฝ้าก็มักจะหายไปได้เองหลังคลอดหรือหลังจากหยุดใช้ยาคุมกำเนิดประมาณ 3 เดือน

ถ้าเป็นฝ้าแสดงว่าเป็นโรคไทรอยด์หรือไม่?

ไม่เสมอไป แต่จากข้อมูลพบว่า ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์จะมีโอกาสเป็นฝ้าได้มากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า หากกังวลหรือสงสัยควรปรึกษาแพทย์

อาหารบางชนิดส่งผลต่อฝ้าหรือไม่?

ยังไม่พบว่ามีอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดที่ทำให้เกิดฝ้า

ฝ้า กับ กระ ต่างกันยังไง?

รอยฝ้าบางครั้งก็อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกระได้ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ทั้งฝ้าและกระจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ฝ้าจะมีลักษณะเป็นปื้นและมีขนาดใหญ่ แต่กระจะมีลักษณะเป็นจุดกลม ๆ เล็ก ๆ และมีขอบชัดเจน

ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
งานวิจัยและเอกสารอ้างอิง (จำนวน 19 รายการ)
  1. NIH. “Melasma”. (2022)
  2. NIH. “The Asian Problem of Frequent Laser Toning for Melasma”. (2017)
  3. NIH. “Polypodium leucotomos as an Adjunct Treatment of Pigmentary Disorders”. (2014)
  4. NIH. “Clinico-epidemiological Study and Quality of Life Assessment in Melasma”. (2015)
  5. American Academy of Dermatology Association. “MELASMA: DIAGNOSIS AND TREATMENT”. (2022)
  6. NIH. “Methimazole in the Treatment of Melasma: A Clinical and Dermascopic Study”. (2021)
  7. NIH. “Clinical efficacy of liposome-encapsulated Aloe vera on melasma treatment during pregnancy”. (2017)
  8. NIH. “Topical 10% zinc sulfate solution for treatment of melasma”. (2008)
  9. NIH. “Inhibition of Human Tyrosinase Requires Molecular Motifs Distinctively Different from Mushroom Tyrosinase”. (2018)
  10. NIH. “Thiamidol containing treatment regimens in facial hyperpigmentation: An international multi-centre approach consisting of a double-blind, controlled, split-face study and of an open-label, real-world study”. (2020)
  11. NIH. “Effective Tyrosinase Inhibition by Thiamidol Results in Significant Improvement of Mild to Moderate Melasma”. (2019)
  12. ResearchGate. “Inhibition of Human Tyrosinase Requires Molecular Motifs Distinctively Different from Mushroom Tyrosinase”. (2018)
  13. NIH. “Isobutylamido thiazolyl resorcinol for prevention of UVB-induced hyperpigmentation”. (2021)
  14. ResearchGate. “Thiamidol® in moderate‐to‐severe melasma: 24‐week, randomized, double‐blind, vehicle‐controlled clinical study with subsequent regression phase”. (2021)
  15. หน่วยเภสัชสนเทศและบริการสังคม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “TRANEXAMIC ACID”. (2021)
  16. NIH. “Melasma: an Up-to-Date Comprehensive Review”. (2017)
  17. NIH. “Successful short-term and long-term treatment of melasma and postinflammatory hyperpigmentation using vitamin C with a full-face iontophoresis mask and a mandelic/malic acid skin care regimen”. (2013)
  18. NIH. “A randomized, double-blind, placebo-controlled trial of vitamin C iontophoresis in melasma”. (2003)
  19. Harvard Health Publishing. “Melasma: What are the best treatments?”. (2022)

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2022

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ