วิตามินเค (Vitamin K) ประโยชน์ของวิตามินเค 4 ข้อ !

วิตามินเค

  • วิตามินเค (Vitamin K) หรือ เมนาไดโอน (Menadione) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน โดยวิตามินเค มี 3 ชนิดคือ วิตามินเค 1 (ฟิลโลควิโนน) พบได้ในผักใบเขียว, วิตามินเค 2 (เมนาควิโนน) สร้างขึ้นโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และวิตามินเค 3 (ไฮโดรฟิลโลควิโนน) ซึ่งเป็นวิตามินสังเคราะห์
  • วิตามินเค 1, วิตามินเค 2 มีความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีในแง่ที่แตกต่างกัน ส่วนวิตามินเค 3 ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวิตามินเคอย่างแท้จริง และในตัวมันเองก็ไม่จัดว่าเป็นวิตามินที่ดีต่อร่างกาย โดยวิตามินเคจะมีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัม (มคก. หรือ mcg.) และมีความสำคัญในการสร้างโพรทรอมบิน (Prothrombin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว
  • แหล่งที่พบวิตามินเคตามธรรมชาติ ได้แก่ ไข่แดง ผักใบเขียว นม เนย อัลฟาฟา สาหร่ายเคลป์ น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันตับปลา เป็นต้น
  • ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด แม้ว่าวิตามินเคจะมีความแตกต่างจากวิตามินที่ละลายในไขมันตัวอื่น ๆ คือไม่มีการสะสมในร่างกาย แต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทานวิตามินเคแบบสังเคราะห์ในปริมาณที่มากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อวัน โดยศัตรูของวิตามินเค ได้แก่ ยาแอสไพริน อาหารแช่แข็ง มลพิษในอากาศ น้ำมันแร่ธรรมชาติ การเอกซเรย์ และการฉายรังสี
  • โรคจากการขาดวิตามินเค ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบซีลิแอก (Celiac) โรคบิดสปรู (Sprue) และโรคลำไส้อักเสบ

วิตามินเค

ประโยชน์ของวิตามินเค

  1. ช่วยป้องกันเลือดออกภายในและเลือดออกไม่หยุด
  2. ช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  3. ช่วยในกระบวนการสร้างลิ่มเลือด
  4. ช่วยป้องกันกระดูกเปราะบาง

คำแนะนำในการรับประทานวิตามินเค

  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 65 – 80 ไมโครกรัมต่อวัน
  • วิตามินเคในรูปแบบของอาหารเสริมมีจำหน่ายทั่วไปในรูปแบบเม็ด โดยมีขนาดประมาณ 100 ไมโครกรัม ซึ่งจะผสมอยู่ในวิตามินรวมทั่ว ๆ ไป
  • ผู้ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคตับ โรคระบบทางเดินอาหาร มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเค
  • การรับประทานวิตามินอีปริมาณสูงมาก ๆ จะส่งผลต่อการดูดซึมของวิตามินเคได้
  • อาการท้องร่วงอย่างหนักอาจเป็นอาการแสดงออกของภาวะขาดวิตามินเคได้ แต่ก่อนที่จะรักษาตัวเองด้วยการรับประทานอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • การรับประทานผักใบเขียวเป็นประจำ เป็นวิธีป้องกันการขาดวิตามินเคได้ดีที่สุด
  • หากคุณมีเลือดกำเดาไหลบ่อยครั้ง ควรลองรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคสูงให้มากขึ้น หรือรับประทานอัลฟัลฟาแบบเม็ดก็อาจจะช่วยได้ หากคุณกำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด พึงระลึกไว้เสมอว่า วิตามินเคอาจไปต้านฤทธิ์ของยาได้ แม้ว่าจะเป็นวิตามินเคจากอาหารธรรมชาติก็ตาม
  • ยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดอาจทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินเคได้ และหากคุณรับประทานยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเป็นเวลายาวนานและต่อเนื่อง ร่างกายอาจมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเคได้ ควรรับประทานอาหารที่ให้วิตามินเคเพิ่มมากขึ้น

แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด