ราชดัด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นราชดัด 24 ข้อ !

ราชดัด

ราชดัด ชื่อวิทยาศาสตร์ Brucea javanica (L.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Brucea amarissima Desv. ex Gomes) จัดอยู่ในวงศ์ปลาไหลเผือก (SIMAROUBACEAE)[1]

สมุนไพรราชดัด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาจับหลัก เท้ายายม่อมน้อย มะขี้เหา มะดีควาย ยาแก้ฮากขม (เชียงใหม่), พญาดาบหัก (ตราด), ดีคน (อุบลราชธานี), เพี้ยฟาน เพียะฟาน (นครราชสีมา, ขอนแก่น), สอยดาว (จันทบุรี), เพียะฟาน (นครศรีธรรมราช), มะลาคา (ปัตตานี), ฉะดัด (สุราษฎร์ธานี), กาจับหลัก (ภาคเหนือ), ดีคน (ภาคกลาง), กะดัด ฉะดัด (ภาคใต้), โค้วเซียมจี๊ (จีน), ขู่ เซินจื่อ ยาต๋านจื่อ ยาต่านจื่อ อ้ะต๋าจี้ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[8] ส่วนชื่อของเครื่องยา (ผล) คือ Fructus Bruceae[8]

ลักษณะของราชดัด

  • ต้นราชดัด จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีขาวปนเทา ทั้งต้นมีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง และในพื้นที่ค่อนข้างโล่งในป่าเต็งรัง ที่ความสูงต่ำกว่า 450 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[3],[4]

ต้นราชดัด

  • ใบราชดัด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่ง มีใบย่อยประมาณ 5-13 ใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักมนเป็นฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ผิวใบทั้งสองด้านมีขนนุ่ม เนื้อใบบางและนิ่ม ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-10 มิลลิเมตร[1],[3],[4]

ใบราชดัด

  • ดอกราชดัด ออกดอกรวมเป็นช่อกระจะตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกยาวประมาณ 5-40 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกแบบแยกเพศ มีทั้งต้นที่พบเฉพาะช่อดอกเพศผู้ และต้นที่มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวถึงสีแดงอมเขียว สีน้ำตาลแดง หรือสีม่วง กลีบดอกเป็นรูปช้อน มีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย สีอมม่วงหรือสีน้ำตาลแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก มี 4 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ฐานอับเรณูทรงกลมใหญ่ ก้านชูเกสรเป็น 4 พู[1],[2],[4]

ดอกราชดัด

  • ผลราชดัด ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นพวงหรือเป็นกลุ่ม ประมาณ 1-4 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปกลม ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ไม่ขรุขระ เปลือกผลแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ คล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง ภายในมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล มีรสขมจัด[1],[2],[3],[4],[5]

ผลราชดัด

เมล็ดราชดัด

สรรพคุณของราชดัด

  1. ผลมีรสขม ใช้เป็นยาแก้กระษัย บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1],[5] ส่วนเมล็ดใช้เตรียมเป็นยาคุมธาตุ บำรุงธาตุ (เมล็ด)[3],[5]
  2. ช่วยต่อต้านมะเร็ง (เมล็ด)[4]
  3. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตัวเหลือง ตาเหลือง (ทั้งต้น)[5]
  4. ผลมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน (ผล)[1],[5]
  5. ตำราการแพทย์แผนจีนจะใช้ผลประมาณ 0.5-2 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับพิษร้อน (ผล)[8]
  6. ใช้เป็นยาขับพิษ ขับน้ำชื้น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ว่าเป็นส่วนใด ระหว่างผล เมล็ด ใบและราก)[4]
  7. ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากราชดัดเข้ายากับนางแซงแดง ฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษไข้ ผิดสำแดง (ราก)[5]
  8. ต้น ราก ผล และเมล็ดมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม ตำรายาแก้ไข้มาลาเรีย ไข้จับสั่น ระบุให้ใช้ผลราชดัด 10 ลูก นำมาห่อด้วยเนื้อลำไยแห้ง ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังจากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน จะพบว่ามีอาการดีขึ้น และหลังจากรับประทานติดต่อกันถึง 5 วัน อาการจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหรือเกือบหายเป็นปกติ (ต้น, ราก, ผล, เมล็ด, ทั้งต้นและเมล็ด)[1],[2],[3],[4],[5],[8]
  9. รากมีรสขม ใช้เคี้ยวอมหรือเคี้ยวร่วมกับหมากเป็นยาแก้อาการไอ (ราก)[1],[5]
  1. ช่วยแก้อาการหาวเรอ (ผล)[1],[5]
  2. ผลใช้เป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด (ผล)[1],[5]
  3. ช่วยแก้อาการเจ็บอก (ผล)[1],[5]
  4. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ผล)[5]
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้เสียดท้อง (ราก)[1],[5] ส่วนผลแห้งหรือเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดไม่มีตัว แก้ท้องร่วง (ผล, เมล็ด)[2],[3],[5],[8] ตำรายาแก้บิดอะมีบา จะใช้เมล็ดราชดัดประมาณ 10-15 เมล็ด นำมาบดให้เป็นผงนำไปใส่ในแคปซูล หรือนำเนื้อลำไยแห้งมาห่อ ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง โดยให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน (เมล็ด)[4]
  6. ผลใช้เป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ผล)[3],[5] แก้ท้องเสียเรื้อรัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ว่าเป็นส่วนใด ระหว่างผล เมล็ด ใบและราก)[4]
  7. เมล็ดใช้เป็นยาบำบัดโรคเกี่ยวกับลำไส้ (เมล็ด)[3],[5]
  8. ผลหรือเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ รักษาโรคพยาธิ (ผล, เมล็ด)[1],[3],[4],[5]
  9. ใบมีรสขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตับม้ามโต (ใบ)[1],[5]
  10. ผลมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง (ผล)[1],[2],[5]
  11. ใบใช้ตำกับปูนพอกถอนพิษตะขาบ พิษแมงป่อง (ใบ)[1],[5]
  12. ใบใช้ตำกับปูนพอกแก้ฝี แก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1],[4],[5]
  13. ตำรายาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ตาปลา ระบุให้ใช้เมล็ดราชดัด นำมาบดให้เป็นผง ใช้โรยบริเวณที่เป็น หรือนำผงมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็นก็ได้ (เมล็ด)[4]
  14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดกล้ามเนื้อ (ราก)[1],[5]
  15. ผลราชดัดจัดอยู่ใน “พิกัดตรีทุราวสา” (ประกอบไปด้วย ผลราชดัด, ผลกระวาน, ผลโหระพาเทศ) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม แก้พิษตานซาง แก้เสมหะ ขับพยาธิในท้อง (ผล)[6]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [4] เมล็ดให้ใช้เพียงครั้งละ 10-15 เมล็ด ภายนอกให้ใช้ผลสดตำพอกแผลที่ต้องการ ส่วนรากและใบให้ใช้ครั้งละ 12-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน[4] ส่วนการใช้ผลตาม [5] ให้ใช้ผลแก่จัดนำมาทุบให้เปลือกแตก ใช้ต้มกับน้ำกินครั้งละ 5 ผล[5]

ข้อควรระวัง : ยาชนิดนี้มีพิษ ไม่ควรใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ และสำหรับผู้ที่กระเพาะลำไส้อ่อนแอ เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี และสตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรนี้[4],[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของราชดัด

  • สารที่พบ ได้แก่ สาร Alkaloids หลายชนิด เช่น Brucamarine, Brucealin, Brucenol, Yatanine ในเมล็ดพบน้ำมัน เช่น Bruceilic acid, Fatty acid, Brusato, Bruceantin, Bruceine A-E, Yatanoside, Yadanziolide A, F, I และกรดอีกหลายชนิด เป็นต้น[2],[4]
  • สารสกัดจากผลและเมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมและเชื้อบิดในหลอดทดลอง และทำให้ไข้จับสั่นมีอาการดีขึ้น แต่พบว่ามีความเป็นพิษสูง[2],[4]
  • สาร Brusato และสาร Brucein มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวในต่อมน้ำเหลือง P-388 ที่อยู่นอกร่างกายได้ และสาร Yatanoside จะออกฤทธิ์เหมือนกับ 2 สารข้างต้นด้วย[4]
  • จากการค้นคว้าวิจัยของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า สารออกฤทธิ์ Brusatol ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากผลราชดัด สาร Flavone และ Chrysoeriol ที่สกัดมาจากส่วนใบและก้านราชดัด สามารถทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้[7]
  • สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า เมล็ดของราชดัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ[7]
  • สาร Yatanoside ที่สกัดได้จากผลราชดัด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออะมีบาของลิงและสุนัขในหลอดทดลองได้[4]
  • จากการทดสอบทางพิษวิทยา เมื่อนำสาร Yatanoside มาฉีดให้กับนกพิราบ ในปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม จะพบการเป็นพิษ หรือนำสารดังกล่าวปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มาฉีดให้กับแมวหรือสุนัขทดลอง ก็พบว่าจะเกิดการเป็นพิษเช่นเดียวกัน เมื่อได้รับพิษ ประสาทส่วนกลางของสัตว์จะถูกยับยั้งการทำงาน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และการหายใจช้าลง แล้วจะเกิดอาการท้องเสีย อาเจียน ปัสสาวะน้อยลง ร่างกายไม่มีแรง และเคลื่อนไหวไม่ได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ราชดัด (Ratchadat)”.  หน้า 262.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ราชดัด”.  หน้า 67.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ราชดัด”.  หน้า 679-680.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ราชดัด”.  หน้า 480.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ราชดัด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [26 ต.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ราชดัด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [26 ต.ค. 2014].
  7. นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย มีคณา.
  8. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  “อ้ะต๋าจี้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : tcm.dtam.moph.go.th.  [26 ต.ค. 2014]

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steve & Alison1, Russell Cumming, John Elliott)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด