16 สรรพคุณและประโยชน์ของม้ากระทืบโรง !!

ม้ากระทืบโรง

ม้ากระทืบโรง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus sarmentosa Buch.-Ham. ex Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus reticulata (Miq.) Miq.) จัดอยู่ในวงศ์ MORACEAE

สมุนไพรม้ากระทืบโรง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ม้าคอกแตก คอกม้าแตก มันฤาษี กาโร (ระนอง), พญานอนหลับ (นครสวรรค์), มาดพรายโรง (โคราช), เดื่อเครือ (เชียงใหม่), บ่าบ่วย (คนเมือง), ม้าทะลายโรง (ภาคอีสาน) เป็นต้น

ม้ากระทืบโรง (บางครั้งมักสะกดผิดเป็น “ม้ากระทืบโลง“)

ม้ากระทืบโรง คือ สมุนไพรชนิดหนึ่งที่เป็นไม้เถาเลื้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีสรรพคุณโดดเด่นนั่นก็คือการใช้เป็นยาบำรุงกำลังและบำรุงกำหนัด โดยมักนิยมนำมาดองกับเหล้าไว้ดื่ม หรือที่เรียกว่า ยาดองม้ากระทืบโรง

ลักษณะของม้ากระทืบโรง

  • ต้นม้ากระทืบโรง จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เป็นไม้เถาขนาดใหญ่มักเลื้อยเกาะไปตามพรรณไม้ชนิดอื่น มีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกมีสีน้ำตาลและสาก มีปุ่มขึ้นคล้าย ๆ หนาม เนื้อไม้สีขาวและมีน้ำยางสีขาว เถามีรสเย็น ส่วนทั้งต้นจะมีรสขมเล็กน้อย มักพบเกาะเลื้อยอยู่ตามต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตัดเถาม้ากระทืบโรงประมาณ 1 คืบแล้วนำมาปักชำ

ต้นม้ากระทืบโรง

รูปม้ากระทืบโรงยาดองม้ากระทืบโรง

ม้ากระทืบโรง

  • ใบม้ากระทืบโรง มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหอก หรือรูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนานแกมวงรี ก้านใบและผิวใบด้านล่าง รวมไปถึงฐานรองดอกอ่อนจะมีขน ใบกว้างประมาณ 7-9 เซติเมตร และยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร

ใบม้ากระทืบโรง

  • ดอกม้ากระทืบโรง ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายผลออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ที่ฐานรองดอกเป็นรูปทรงกลม
  • ผลม้ากระทืบโรง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เปลือกผลสีเขียว ภายในผลเนื้อมีสีแดง

ม้ากระทืบโรงสมุนไพรผลม้ากระทืบโรง

สรรพคุณของม้ากระทืบโรง

  1. เถามีรสเย็นขื่น ใช้ดองกับสุราหรือใช้ต้มดื่มช่วยบำรุงกำลัง หรือจะใช้เถาม้ากระทืบโรงที่ตากแห้งแล้วนำมาเข้าเครื่องยาผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ลำต้นฮ่อสะพายควาย ตานเหลือง มะตันขอ จะค่าน ข้าว แก่นฝาง หลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก และโด่ไม่รู้ลืม นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (เถา, ลำต้น, ทั้งต้น)
  2. ใช้ผสมกับลำต้นคุย นำมาต้มดื่มใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ต้น)
  3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เถา, ทั้งต้น)
  4. ช่วยบำรุงร่างกาย (ต้น)ยาดองเหล้าม้ากระทืบโรง
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)
  6. ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เถาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดองกับเหล้าก็ได้ (เถา)
  7. ช่วยแก้เลือดเสีย เลือดค้าง ซูบซีด (ต้น)
  8. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เนื้อไม้)
  9. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (เถา)
  10. ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยทำให้อาหารมีรส (เถา)
  11. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)
  12. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (เถา)
  13. ช่วยแก้ประดงลม (เถา)
  14. ช่วยแก้ประดงเลือดที่ทำให้เป็นจุดห้อเลือด เป็นเม็ดตุ่มตามผิวกาย (เถา)
  15. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น (เถา, เนื้อไม้)
  16. ประโยชน์ของม้ากระทืบโรง ใช้ทำเป็นยาดองม้ากระทืบโรง ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงความกำหนัด (เถา, ทั้งต้น)

แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน), เว็บไซต์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.pg.pharm.su.ac.th, www.pharmacy.mahidol.ac.th, เว็บไซต์ nanagarden.com, เว็บไซต์ weekendhobby.com (by ON_TOUR)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด