มะเร็งลําไส้ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5 วิธี !

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลําไส้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ มะเร็งลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นมะเร็งที่ค่อนข้างจะพบได้น้อย และมะเร็งลําไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมาก เมื่อกล่าวถึง “มะเร็งลำไส้” จึงมักจะหมายถึง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะกล่าวถึงกันในบทความนี้ครับ

มะเร็งลําไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) คือ โรคที่เซลล์ปกติในลำไส้ใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้เวลานานเป็นปี ๆ ในระยะแรก ๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาหรือตัดทิ้ง เนื้องอกอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่แพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าสามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว

มะเร็งลำไส้ใหญ่จัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะมักพบในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมดทั้งในผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก พบได้มากในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรปเหนือ และยุโรปตะวันตก สำหรับในประเทศไทยนั้นพบได้มากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในผู้ชาย และเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในผู้หญิง โดยมากกว่า 90% มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป (แต่ก็อาจพบในเด็กโตได้) ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน หรือพบเกิดได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย (ทั่วโลกพบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคประมาณ 5 แสนคนต่อปี)

ลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็นส่วนที่อยู่ในช่องท้อง (Colon) และส่วนที่อยู่ในท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานที่เรียกว่าลำไส้ตรง (Rectum) หลายคนจึงเรียกว่า “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง” (Colorectal cancer) โดยจะพบมะเร็งเกิดกับลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในช่องท้องมากกว่าที่ลำไส้ตรง (จากสถิติในประเทศไทยเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 ในผู้ชายพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในช่องท้อง 7.4 ราย และส่วนที่อยู่ในลำไส้ตรง 3.7 ราย ต่อประชากรชาย 100,000 คน และในผู้หญิงพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนที่อยู่ในช่องท้องใน 5.2 ราย และส่วนที่อยู่ในลำไส้ตรง 2.6 ราย ต่อประชากรหญิง 100,000 คน)

สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง* หลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ได้แก่

  • การมีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน (โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากขึ้น) อาจเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งร่วมกันในครอบครัวก็ได้
    • พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 1 คน จะมีความเสี่ยง 2-3 เท่า
    • พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 2 คน จะมีความเสี่ยง 3-4 เท่า
    • พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ โดยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีความเสี่ยง 3-4 เท่า
    • ปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 1 คน จะมีความเสี่ยง 1.5 เท่า
    • ปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 2 คน จะมีความเสี่ยง 2-3 เท่า
    • พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก มีเนื้องอกติ่งเนื้อ (Polyps) ที่ลำไส้ 1 คน จะมีความเสี่ยง 2 เท่า
  • การมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ (Familial adenomatous polyposis) เมื่ออายุมากขึ้น ติ่งเนื้อนี้จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เมื่อเวลาผ่านไป (ส่วนการมีประวัติมีติ่งเนื้อ (Polyps) โดยเฉพาะการมีติ่งเนื้อหลายก้อน และก้อนมีขนาดใหญ่ก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน)
  • การมีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรัง ได้แก่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (Ulcerative colitis) โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพราะโดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% โรคนี้มักเกิดกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในคนวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่นได้
  • เพศและเชื้อชาติ เพราะพบว่าผู้หญิงชาวอเมริกันจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว แต่คนผิวดำในทวีปแอฟริกากลับมีความเสี่ยงต่ำมาก
  • เคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมาก่อน
  • เคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณท้องมาก่อน
  • ผู้ที่รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งอัณฑะ จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เคยมีประวัติผ่าตัดถุงน้ำดี น้ำดีไม่มีถุงพัก จึงไหลลงลำไส้ตลอดเวลาและเกิดการระคายเคืองจนกลายเป็นมะเร็ง
  • การกินอาหารเนื้อแดง (เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อแพะ และตับ) เนื้อที่ผ่านกระบวนการ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการทอด ปิ้ง หรือย่างไหมเกรียม อาหารเค็มหรืออาหารหมักดอง อาหารจำพวกแป้ง และอาหารที่มีไขมันสูง ร่วมกับอาหารที่มีเส้นใยน้อย (ขาดผักและผลไม้) จึงทำให้เกิดอาการท้องผูก อุจจาระคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เยื่อบุลำไส้จึงมีโอกาสสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง (ซึ่งพบได้มากในกากอาหารจากอาหารจำพวกไขมัน) นานขึ้น
  • อาการท้องผูกมีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิงผิวดำที่มีอาการท้องผูกจะมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น
  • การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ
  • การดื่มแอลกอฮอล์จัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ในผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วยสุรา ส่วนในผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 หน่วยสุรา)
  • ขาดการออกกำลังกาย หรือเป็นโรคอ้วน พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูงขึ้น
  • การทำงานเป็นกะ จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำงานเป็นกะมากกว่า 3 คืนต่อเดือนอย่างน้อย 15 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้หญิง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับเมลาโทนิน (Melatonin)
  • เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูงขึ้น
  • เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น มะเร็งที่เกิดจากการมีติ่งเนื้อมาก ๆ ในลำไส้ (Familial adenomatous polyposis – FAP), ภาวะถ่ายทอดมะเร็งลำไส้ง่ายแบบที่ไม่สัมพันธ์กับติ่งเนื้อ (Hereditary nonpolyposis colorectal cancer – HNPCC)

หมายเหตุ : ปัจจัยเสี่ยง หมายถึง การมีโอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า การมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงหลายอย่างจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป หรือการที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เลยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่เสมอ

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง แต่ต่อมาเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นก็จะมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง เช่น

  • มีอาการท้องผูก (อุจจาระแข็ง) สลับท้องเสีย (อุจจาระเหลว) แบบเรื้อรัง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือดสด (อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร)
  • อุจจาระมีรูปร่างเปลี่ยนไป (ลักษณะเรียวยาวกว่าปกติ หรือเป็นเส้นเล็กลงที่มีขนาดเล็กกว่าแท่งดินสอ)
  • มีอาการปวดท้องหรือท้องอืด/มีลมในท้องเรื้อรัง มีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายปวดถ่ายอยู่ตลอดเวลา
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หากเป็นมากผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียหรืออ่อนแรง เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • บางรายมีอาการซีด (โลหิตจาง) จากการมีเลือดออกทีละน้อยเรื้อรังจากแผลมะเร็งโดยไม่รู้ตัว
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดกั้น คือ ปวดบิดในท้อง ท้องผูก ไม่ผายลม ซึ่งจะเป็นอยู่เพียงชั่วครู่ แล้วทุเลาไปได้เอง และกลับมากำเริบขึ้นใหม่เป็นครั้งคราว
  • อาจคลำพบก้อนในท้องที่บริเวณด้านขวาตอนล่าง
  • ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงและก่อให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปวดเนื่องจากมีการกดทับที่ก้นหรือฝีเย็บ
อาการมะเร็งลำไส้
IMAGE SOURCE : www.rd.com

การแพร่กระจายของมะเร็งลำไส้ใหญ่

เซลล์มะเร็งนั้นสามารถแพร่กระจายได้ 3 ทาง ได้แก่

  • การแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงโดยตรง
  • การแพร่กระจายผ่านทางระบบน้ำเหลือง โดยเซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายผ่านทางท่อน้ำเหลืองเพื่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
  • การแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือด โดยเซลล์มะเร็งสามารถลุกลามเข้าไปยังหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดฝอย และแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้

ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งเป็นระยะตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึง 4 ตามการเจริญเติบโตของมะเร็งจากผนังลำไส้ใหญ่ไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่น ๆ โดยแบ่งเป็น

  • ระยะที่ 0 (Carcinoma in situ) หรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง เป็นระยะที่พบเซลล์ผิดปกติ (ไม่ใช่มะเร็ง) เฉพาะที่บริเวณชั้นเยื่อบุผิวด้านใน (Mucosa) ของลำไส้ใหญ่เท่านั้น
    ระยะก่อนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • ระยะที่ 1 (Dukes A colon cancer) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านใน (Mucasa) ไปยังชั้นกล้ามเนื้อ (Muscle layers)
    มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรก
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • ระยะที่ 2 (Dukes B colon cancer) ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IIA, IIB และระยะ IIC (ยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง)
    • ระยะ IIA เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามไปจนถึงชั้นเยื่อบุผิวด้านนอก (Serosa) ของลำไส้ใหญ่
    • ระยะ IIB เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
    • ระยะ IIC เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก ร่วมกับมีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
      มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่2
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • ระยะที่ 3 (Duke C colon cancer) ซึ่งในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IIIA, IIIB และระยะ IIIC (เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ลำไส้ใหญ่)
    • ระยะ IIIA เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านใน (Mucasa) ไปยังชั้นกล้ามเนื้อ (Muscle layers) ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงไม่เกิน 3 ต่อม หรือเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามจากชั้นเยื่อบุผิวด้านใน (Mucasa) ไปถึงแค่ชั้นใต้เยื่อบุผิวด้านใน (Submucosa) ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 4-6 ต่อม
      มะเร็งลำไส้ระยะ3
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
    • ระยะ IIIB เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก (Serosa) ของลำไส้ใหญ่ ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงไม่เกิน 3 ต่อม หรือเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่ ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 4-6 ต่อม หรือเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ (Muscle layers) ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงตั้งแต่ 7 ต่อมขึ้นไป
      มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่3
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
    • ระยะ IIIC เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก (Serosa) ของลำไส้ใหญ่ ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 4-6 ต่อม หรือเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามไปจนถึงชั้นเยื่อบุผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่ ร่วมกับมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงตั้งแต่ 7 ต่อมขึ้นไป หรือเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก ร่วมกับมีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงและลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงตั้งแต่ 1 ต่อมขึ้นไป
      มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ3
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • ระยะที่ 4 (Dukes D colon cancer) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากลำไส้ใหญ่ เช่น ในช่องท้องและเหนือไหปลาร้า และ/หรือเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่พบบ่อย คือ ตับ ปอด และกระดูก
    มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • ระยะการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง (Recurrent colon cancer) คือ การกำเริบของโรคมะเร็งภายหลังจากที่ได้ทำการรักษาไปแล้ว ซึ่งการกลับมาเป็นซ้ำนี้อาจพบเซลล์มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ หรืออาจพบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่

แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้จาก

  • การตรวจร่างกายและการซักประวัติอาการ (Physical exam and History) เช่น การซักประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ของคนในครอบครัว ประวัติอาการ โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่เคยได้รับมาก่อนหน้า รวมถึงการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณหรืออาการแสดงของโรค เช่น ก้อน หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ
  • การตรวจทวารหนักด้วยนิ้ว (Digital rectal exam – DRE) เป็นการตรวจภายในรูทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายด้วยการใช้นิ้วมือคลำหาก้อนหรือลักษณะผิดปกติภายในรูทวารหนัก (แพทย์จะสวมถุงมือและทาครีมหล่อลื่นก่อน)
  • การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal occult blood test – FOBT) การตรวจนั้นสามารถทำได้โดยการใช้ปริมาณอุจจาระเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้ป่วยต้องงดเนื้อสัตว์และเลือด รวมทั้งวิตามินบำรุงเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  • การตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) เป็นเทคนิคหนึ่งของการเอกซเรย์บริเวณทางเดินอาหารส่วนล่างโดยการใช้แป้งแบเรียม (สารทึบรังสี) สวนเข้าไปทางบริเวณรูทวารหนัก เพื่อให้ไปเคลือบพื้นผิวของลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถมองเห็นจากภาพเอกซเรย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยประเมินขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของรอยโรคได้
    การตรวจมะเร็งลำไส้
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) เป็นการใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กส่องเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อดูบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หากตรวจพบติ่งเนื้อบริเวณดังกล่าว แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
    การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) เป็นการใช้กล้องยาวชนิดอ่อนที่โค้งงอได้ ส่องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจหาพยาธิสภาพภายในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ส่วนปลายจนถึงส่วนต้น และยังสามารถใส่อุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้เช่นกัน
    การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  • การถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy หรือ Virtual colonoscopy) เป็นเทคนิคการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการถ่ายภาพรังสีต่อเนื่องหลายภาพ แล้วนำมาเรียงซ้อนกัน และประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดภาพคล้ายกับการส่องกล้อง ซึ่งสามารถตรวจหาติ่งเนื้อหรือพยาธิสภาพในลำไส้ได้
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) เป็นการตวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แม่นยำที่สุด โดยจะเป็นการนำชิ้นเนื้อจากบริเวณที่ผิดปกติ ก้อนเนื้อ และ/หรือติ่งเนื้อที่ตัดได้จากการส่องกล้องดังกล่าวมาตรวจดูเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์ เพื่อหาเซลล์มะเร็งและลักษณะผิดปกติ

หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ต่อไปแพทย์จะทำการตรวจเพื่อประเมินระยะของโรคและการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการรักษา ซึ่งการตรวจเพื่อประเมินระยะของโรคนั้นประกอบด้วย

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจโดยการเอกซเรย์เพื่อสร้างภาพต่อเนื่องและทำการประมวลผลภาพทั้งหมดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถแสดงผลในมุมมองต่าง ๆ ช่วยให้ทราบตำแหน่งของโรคและการกระจายของมะเร็งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้อาจมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำหรือร่วมกับการกลืนสารทึบรังสีเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนมากขึ้น
  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการอาศัยการเหนี่ยวนำของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพต่อเนื่องของลำไส้และอวัยวะภายใน และอาจทำการฉีดสารแกโดลินัม (Gadolinium) เข้าทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย ซึ่งสารนี้จะไปสะสมอยู่รอบ ๆ เซลล์มะเร็ง จึงทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การตรวจด้วยสารเภสัชรังสี (PET scan) เป็นการตรวจโดยการฉีดสารรังสีให้ถูกดูดซึมในอวัยวะและเนื้อเยื่อ แล้วจึงทำการถ่ายภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจได้ทั้งร่างกาย
  • การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray) เป็นการตรวจเอกซเรย์ของอวัยวะบริเวณทรวงอกเพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังปอดหรือไม่ ซึ่งรังสีเอกซ์จะสามารถผ่านทะลุร่างกายและทำให้เกิดภาพบนฟิล์ม ทำให้เกิดภาพถ่ายของอวัยวะภายในได้
  • การผ่าตัด (Surgery) นอกจากจะตัดก้อนเนื้องอกออกไปได้แล้ว ยังสามารถทำให้มองเห็นบริเวณที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ด้วย
  • การตรวจชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลือง (Lymph node biopsy) เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งทางกล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) เพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด วัดปริมาณของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และตรวจคุณลักษณะต่าง ๆ ของเม็ดเลือด
  • การตรวจเลือดหาสารมะเร็ง (Tumor marker) ชนิดซีอีเอ (Carcinoembryonic antigen – CEA) เนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถสร้างสารมะเร็งได้ ซึ่งจะพบได้จากการตรวจเลือด หากพบระดับซีอีเอในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือความผิดปกติอื่น ๆ ได้

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ในการรักษาจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง

โดยจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดวิธีการรักษาของแพทย์ ที่สำคัญ คือ ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะและการแพร่กระจายของโรค การกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี บางวิธีนั้นเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่เป็นมาตรฐาน แต่บางวิธีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทดลอง (การรักษาหลักของโรคนี้คือ การผ่าตัด ส่วนยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา นิยมใช้เป็นการรักษาเสริม เพื่อเพิ่มผลการรักษาให้ดียิ่งขึ้น) ได้แก่

  1. การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาที่สามารถทำได้ในทุกระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
    • การผ่าตัดเฉพาะที่ (Local excision) สามารถทำการผ่าตัดได้ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรก ๆ ซึ่งอาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องท้อง โดยแพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้องผ่านทางรูทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก (ในก้อนมะเร็งที่มีลักษณะเป็นติ่งเนื้ออาจเรียกการผ่าตัดแบบนี้ว่า “Polypectomy”)
    • การตัดต่อลำไส้ (Resection) มักทำในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ โดยศัลยแพทย์อาจต้องทำการตัดเอาก้อนมะเร็งและลำไส้ใหญ่ส่วนที่ไม่เป็นมะเร็งรอบ ๆ บางส่วนออก รวมทั้งต่อมน้ำเหลือง หลังจากนั้นจึงทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีที่เหลืออยู่เข้าด้วยกัน นอกจากนี้แพทย์จะตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งทางกล้องจุลทรรศน์ร่วมด้วย
      วิธีรักษามะเร็งลําไส้
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
    • การตัดลำไส้และเปิดช่องขับถ่ายทางหน้าท้อง (Resection and Colostomy) มักทำในกรณีที่เมื่อตัดก้อนมะเร็งออกแล้วไม่สามารถเย็บต่อปลายของลำไส้ทั้ง 2 ด้านเข้าด้วยกันได้ โดยศัลยแพทย์จะทำการเปิดปลายลำไส้นั้นออกทางหน้าท้องเพื่อเป็นช่องทางสำหรับการขับถ่าย ซึ่งอุจจาระที่ถูกขับออกมานั้นจะเก็บใส่ถุงที่หุ้มอยู่รอบ ๆ ช่องเปิดทางหน้าท้อง และในบางครั้งเมื่อบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนล่างนั้นหายดีแล้วแพทย์ก็จะทำการต่อลำไส้กลับลงไปดังเดิมได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องตัดลำไส้ใหญ่ส่วนล่างออกทั้งหมดก็อาจจะต้องเปิดช่องขับถ่ายทางหน้าท้องไว้ตลอด
      การรักษามะเร็งลําไส้ใหญ่
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
    • การผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation) เป็นวิธีการใช้เข็มเป็นแกนนำ (Probe) ส่งผ่านคลื่นวิทยุเพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้ Probe แทงผ่านผิวหนังทางหน้าท้องโดยตรงด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรืออาจแทง Probe ผ่านแผลเปิดทางหน้าท้อง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการวางยาสลบ
    • การจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery) เป็นการใช้อุปกรณ์จี้ด้วยความเย็นและทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เช่น ในโรคระยะที่ 0 (Carcinoma in situ)
    • อนึ่ง การรักษาหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การผ่าตัด ส่วนในรายที่โรคมีการลุกลามแล้ว การรักษามักจะเป็นการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด โดยอาจให้รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด หรืออาจผ่าตัดก่อนแล้วจึงตามด้วยรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด
  2. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาในการรักษาโรคมะเร็ง โดยยาที่ให้นี้จะออกฤทธิ์โดยการทำลายเซลล์มะเร็งหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลังจากที่กินยาหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อแล้ว ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าทางกระแสเลือดและจับกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเรียกว่า “Systemic chemotherapy” แต่ในบางกรณีแพทย์อาจฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางช่องไขสันหลัง ในอวัยวะ หรือในช่องท้องเพื่อหวังผลในการทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ ซึ่งเรียกว่า “Regional chemotherapy” นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Chemoembolization” สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแพร่กระจายไปยังตับด้วย โดยจะเป็นการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตับ เพื่ออุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง และเป็นการให้ยาเข้าไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง ซึ่งตัวยาจะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ผลในการอุดตันของหลอดเลือดนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวรขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้) สำหรับการจะเลือกวิธีการให้ยาเคมีบำบัดด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคเป็นสำคัญ
  3. การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยมากแพทย์จะให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งหรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งเทคนิคการใช้รังสีรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การฉายแสง (External radiation therapy) ซึ่งจะเป็นการฉายแสงจากภายนอกร่างกายผ่านเข้าไปยังก้อนมะเร็งที่อยู่ภายใน และการฝังแร่ (Internal radiation therapy) ซึ่งเป็นการใช้สารกัมมันตรังสี (ที่บรรจุอยู่ในรูปเข็ม หรือเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือลวด หรือสายสวน) ใส่เข้าไปในก้อนมะเร็งหรือในบริเวณใกล้ ๆ กับก้อนมะเร็ง สำหรับการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคเป็นสำคัญ
  4. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารอื่นที่สามารถทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ แต่ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้และยังมีราคาแพงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ โดยวิธีที่ใช้ ได้แก่
    • Angiogenesis inhibitors เป็นการหยุดการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่ที่เข้าไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง
    • Monoclonal antibodies เป็นการเตรียมภูมิคุ้มกันจากห้องปฏิบัติการ (ภูมิคุ้มกันอาจจะเคลือบด้วยรังสีหรือยา) ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะเลือกเฉพาะเซลล์มะเร็งและทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  5. Biologic therapy เป็นการรักษาที่อาศัยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในการจัดการกับเซลล์มะเร็ง โดยการใช้สารซึ่งสร้างจากร่างกายหรือจากการสังเคราะห์ ทำให้เกิดการกระตุ้นหรือฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในการทำลายเซลล์มะเร็ง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ตามระยะของโรค

  • ระยะที่ 0 แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยสามารถใช้วิธีการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่ง คือ การผ่าตัดเฉพาะที่ (Local excision) หรือการทำ Polypectomy, การตัดต่อลำไส้ (Resection) ในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะสามารถตัดออกเฉพาะก้อนเพียงอย่างเดียวได้
  • ระยะที่ 1 แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดต่อลำไส้ (Resection) เป็นหลัก
  • ระยะที่ 2 แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดต่อลำไส้ (Resection) เป็นหลัก แต่ถ้าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 มีปัญหาเรื่องลำไส้ทะลุหรือลำไส้อุดตัน หรือเป็นมะเร็งชนิดที่เซลล์ผิดปกติมาก (จากการตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์) ก็นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการกลับมาเป็นซ้ำได้สูง การรักษาจึงต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ (ผู้ป่วยส่วนใหญ่แม้จะได้รับการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกทั้งหมด แต่อุบัติการณ์การกลับมาเป็นซ้ำอีกก็สูงถึง 50-60%) ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 2 อื่น ๆ จะได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดแต่ไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัด
  • ระยะที่ 3 แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดต่อลำไส้ (Resection) แล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยทำให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
  • ระยะที่ 4 และในผู้ป่วยที่มีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง (Recurrent colon cancer) การรักษาจะประกอบด้วย
    • การผ่าตัดเฉพาะที่ (Local excision) ในรายที่กลับมาเป็นซ้ำ
    • การตัดต่อลำไส้ (Resection)
    • การผ่าตัดก้อนมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด รังไข่
    • สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแพร่กระจายไปยังตับ แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด, การผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation) หรือการจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery) ในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้, การรักษาด้วยเทคนิค Chemoembolization
    • การใช้รังสีรักษาหรือให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยบางรายเพื่อเป็นการประคับประคอง ลดอาการของผู้ป่วย และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
    • การให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือการให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy)

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การดูแลจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ผลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง แต่ก็มีโอกาสรักษาให้หายได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ในโรคระยะที่ 1 คือประมาณ 75%, ระยะที่ 2 ประมาณ 40-70%, ระยะที่ 3 ประมาณ 20-60% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-10% ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้หายขาดได้ ส่วนในรายที่มีการลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก (Serosa) และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง การผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีบำบัดก็สามารถช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้นานหลายปี แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปไกล การรักษาก็มักจะได้ผลไม่สู้ดี และผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน

ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค (Prognosis) ของมะเร็งลำไส้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่

  • ระยะของโรคมะเร็ง ว่าเซลล์มะเร็งนั้นจำกัดอยู่เพียงบริเวณเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว
  • ก้อนมะเร็งทำให้ลำไส้อุดตันหรือลำไส้ทะลุร่วมด้วยหรือไม่
  • การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกหมดหรือไม่
  • ระดับซีอีเอ (CEA) ในกระแสเลือดก่อนการรักษา (CEA คือ ระดับของสารประกอบในเลือดซึ่งจะพบสูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่)
  • การกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การติดตามผลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อได้รับการรักษาครบเรียบร้อยแล้ว โดยทั่วไปแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการเป็นระยะ ๆ โดยในช่วง 1-2 ปีแรกหลังการรักษา แพทย์อาจนัดมาตรวจทุก 1-2 เดือน, ปีที่ 3-5 หลังการรักษา อาจนัดมาตรวจทุก 2-3 เดือน และในปีที่ 5 เป็นต้นไป อาจนัดมาตรวจทุก 6-12 เดือน (เป็นการติดตามเพื่อประเมินผลการรักษา โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากมะเร็งหรือจากการรักษา และติดตามว่ามะเร็งมีการกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่)

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

ผลข้างเคียงจากการรักษาแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาหลายวิธีร่วมกัน และ/หรือเมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัว (โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิต้านตนเอง)

  • การผ่าตัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การสูญเสียอวัยวะ (ลำไส้ใหญ่จะสั้นลงมาก จึงอาจส่งผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ง่าย หรือเกิดการตีบตันตรงรอยแผลตัดต่อของลำไส้ ส่งผลทำให้ท้องผูกได้ง่าย) แผลผ่าตัดมีเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบในขั้นตอนการผ่าตัด
  • ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อได้ง่ายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • รังสีรักษา ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี (ซึ่งก็คือ บริเวณอุ้งเชิงกราน)
  • ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้

วิธีป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดหรือลดอาหารเนื้อแดง เนื้อที่ผ่านกระบวนการ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการทอด ปิ้ง หรือย่าง อาหารเค็มหรืออาหารหมักดอง อาหารจำพวกแป้ง และอาหารที่มีไขมันสูง
  1. รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ
  3. ควบคุมโรคเบาหวาน (ถ้าเป็น) และน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  4. การรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) อาจช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยประมาณเกือบ 8,000 คน ซึ่งผู้ป่วยที่รับประทานยาแอสไพรินขนาด 300-1,200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 ปี จะลดได้ 37% หากรับประทาน 10 ปีขึ้นไปจะลดได้ 74% (ขนาดยาต้องมากกว่า 300 มิลลิกรัมจึงจะได้ผล) แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ไม่แนะนำให้คนทั่วไปรับประทานยานี้เพื่อป้องกัน แต่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ป้องกันในรายที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่) และในผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดก็ให้เลือกใช้ยาแอสไพรินแทนตัวอื่น
  5. เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด ๆ อย่าคิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือถ่ายออกเป็นเลือดนานและมาก
  6. มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกโรคมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก หรือรังไข่มาก่อน) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และควรเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 30-40 ปี และตรวจถี่กว่าคนปกติทั่วไป เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่อาจกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งเมื่อพบติ่งเนื้อ การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดติ่งเนื้อนั้นออกไป (เป็นการรักษาที่มีอันตรายน้อยมาก) สำหรับการตรวจนั้นสามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    • การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FOBT) ทุกปี (การตรวจด้วยวิธีนี้เป็นประจำทุกปีจะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ และลดลงได้ประมาณ 18% ในกรณีที่ตรวจปีเว้นปี) ร่วมกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
    • การตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (Double contrast barium enema – DCBE) ทุก 5 ปี มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องได้
    • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) หรือการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy) ทุก 10 ปี
    • สำหรับการตรวจทวารหนักด้วยนิ้ว (DRE) แพทย์จะทำร่วมกับการตรวจเช็กร่างกายเป็นระยะ ๆ จะไม่ทำอย่างโดด ๆ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1169-1170.
  2. National Cancer Institute.  “Colorectal cancer”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov.  [24 มี.ค. 2017].
  3. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งลําไส้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [25 มี.ค. 2017].
  4. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งลําไส้ใหญ่ (Colon cancer)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 มี.ค. 2017].
  5. Siamhealth.  “มะเร็งลำไส้ใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [26 มี.ค. 2017].
  6. โรงพยาบาลวัฒโนสถ.  “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”.  (นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com/wattanosoth/.  [27 มี.ค. 2017].
  7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “ปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งลำไส้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [28 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด