มะเขือดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะเขือดง 24 ข้อ !

มะเขือดง

มะเขือดง ชื่อสามัญ Potato Tree, Wild Tobacco, Canary Nightshade, Mullein Nightshade, Velvet Nightshade, Turkey Berry, Salvadora[2]

มะเขือดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum erianthum D. Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum verbascifolium Linn., Solanum mauritianum Blanco, Solanum Pubescens Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[2]

สมุนไพรมะเขือดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือดง (ขอนแก่น), ส่างโมง (เลย), ดับยาง ผ่าแป้ง ฝ้าแป้ง ฉับแป้ง สะแป้ง มะเขือดง (สุโขทัย), สะแป้ง (สิงห์บุรี), ส้มแป้น (เพชรบุรี), หูควาย (ยะลา), ฝ่าแป้ง (ภาคเหนือ), ดับยาง (ภาคกลาง), ขากะอ้าย ขาตาย หูตวาย (ภาคใต้), ฝ่าแป้ง (คนเมือง), ซิตะกอ สะกอปรึ่ย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), มั่งโพะไป่ ลิ้มเม่อเจ้อ สะกอปรื่อ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ตะหมากบูแคเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ด่งเย่ก๊ะ (ม้ง), ทิ่นหุ้งจา (เมี่ยน), ชู้ด (ขมุ), ลำแป้ง ลำล่อม ลำผะแป้ง ลำฝาแป้ง (ลั้วะ), เก๊าแป้ง (ไทลื้อ), ด่อเปอฮุ๊บ (ปะหล่อง), แหย่เยียนเยวียะ (จีนกลาง), เอี๋ยเอียงเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[2],[4]

ลักษณะของมะเขือดง

  • ต้นมะเขือดง จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบตามฤดูกาล ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-4 เมตร เปลือกต้นเป็นสีขาว ทุกส่วนของต้นมีขน มีเขตการกระจายพันธุ์จากทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาถึงอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามชายป่าละเมาะและที่เปิด และตามที่รกร้างทั่วไป ที่ระดับความสูงใกล้น้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 1,000 เมตร[1],[2]

ต้นมะเขือดง

  • ใบมะเขือดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ผิวใบอ่อนนุ่มและมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น หลังใบเป็นสีขาว ส่วนท้องใบเป็นสีดอกเลา ก้านใบยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร[2]

ใบมะเขือดง

  • ดอกมะเขือดง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง และจะแยกออกเป็น 2 ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กลีบรองดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่ฐาน ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว มี 5 กลีบ อับเรณูเป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้มี 5 อัน และเกสรเพศเมียมี 1 อัน เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร[2]

ดอกมะเขือดง

  • ผลมะเขือดง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม ผิวมีขีดประเล็ก ๆ[1]

ผลมะเขือดง

เมล็ดมะเขือดง

สรรพคุณของมะเขือดง

  1. รากมีสรรพคุณเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว นาน 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ราก)[3]
  2. ใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลืองตามบริเวณคอในระยะเริ่มแรก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-20 กรัม นำมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ไข่ที่เปลือกเป็นสีขาว 1 ฟอง ใส่น้ำและเหล้าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง (ใบ)[2]
  3. ใบใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน (ใบ)[2],[3]
  4. รากหรือใบนำมาขยี้แล้วแช่น้ำกับมะแคว้งขม ดื่มเป็นยาแก้อาการคลื่นไส้ อาหารเป็นพิษ (ราก, ใบ)[4]
  5. ยอดอ่อนใช้แช่กับน้ำดื่มร่วมกับยอดหญ้าตดหมา ลำต้นคูนและไพล เป็นยาแก้อาการท้องอืด (ยอดอ่อน)[4]
  1. รากใช้เป็นยารักษาอาการท้องร่วง โรคบิด (ราก)[2]
  2. รากใช้เป็นยาขับระดูของสตรี แก้โรคมุตกิด เป็นหนอง มีน้ำคาวปลา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว นาน 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ราก)[2],[3]
  3. ใบมีสรรพคุณทำให้แท้งบุตร (ใบ)[3]
  4. ใบใช้ต้มน้ำร่วมกับใบว่านน้ำเล็ก ใบหนาดหลวง ใบก้านเหลือง ใบเดื่อฮาก ต้นสามร้อยยอด ต้นถ้าทางเมีย ลำต้นเป วงเดียตม เครือไฮ่มวย (หากหาไม่ครบก็ให้ใช้เท่าที่หาได้) ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ใบ)[4]
  5. ใบใช้เป็นยารักษาอาการตัวบวม (ใบ)[2]
  6. ใบใช้เป็นยาห้ามเลือด (ใบ)[2]
  7. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลเปื่อย แผลเปื่อยในปาก แผลในจมูก ผิวหนังอักเสบ (ใบ)[2],[3]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาช่วยลดการอักเสบจากแผลที่เกิดจากแผลไฟไหม้ (ทั้งต้น)[2]
  9. เปลือกใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง (เปลือก)[3]
  10. ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ฝี และแผลเปื่อย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ต้มกับน้ำให้เข้มข้น ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้ (ใบ)[2]
  11. ใบใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ (ใบ)[2]
  12. ใช้รักษาโรคเกาต์ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาคั่วกับเหล้า ใช้ทาถูนวดบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเขือดง

  • สารเคมีที่พบ ได้แก่ diosgenin, solamargine, solasodine, solasodine monoglucoside, solasonine, solaverbascine, solaverine[3] โดยกิ่ง ใบ และผลมะเขือดงจะมี diosgenin, solasodine นอกจากนี้ยังพบว่าในใบนั้นมี tomatidenol อีกด้วย ส่วนกิ่งและใบจะมี solasonine ส่วนใบและรากจะมี solamergine, solasodine monoglucoside และ solasonine[2]
  • สาร solasoine (โซลาโซนีน), solasodine (โซลาโซดีน), solamergine (โซลามาร์จีน) และ tomatidenol (โทมาไทดีนอน) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราบางชนิด เช่น Claviceps. Rhizoctonia, Piricularia, Polypordus และ Sclerotinia[2]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีฤทธิ์เหมือนวิตามินดี ต้านเชื้อแบคทีเรีย[3]
  • สารสกัดที่ได้จากใบและกิ่งโดยวิธีการต้มด้วยน้ำจะไม่มีผลต่อลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา แต่จะมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้เล็กส่วนต้นของกระต่ายคลายตัวในช่วงแรก และจะเกิดอาการเกร็งในช่วงระยะเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นอย่างอ่อนต่อกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคกและต่อมดลูกของหนูขาวที่กำลังมีท้อง[2]
  • มีฤทธิ์ต่อหัวใจ โดยมีผลทำให้หัวใจกระต่ายเกิดการบีบตัว (แต่ไม่เต็มที่) แต่บางส่วนจะค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะปกติทีละส่วน[2]
  • มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีผลในการช่วยเสริมฤทธิ์ของยา barbiturate ทำให้ยืดเวลาการนอนของหนูถีบจักรมองเห็นได้ชัด[2]
  • จากการวิจัยพบว่าผลมะเขือดงมีสารในกลุ่มสเตียรอยด์ชื่อ Solasodine ปริมาณสูง สามารถนำใช้สังเคราะห์เป็นยาคุมกำเนิดได้ แต่ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตเป็นยาต่อไป[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1991 ประเทศเม็กซิโก ได้ทดลองใช้สารสกัดจากพืชชนิดนี้ในกระต่ายทดลองจำนวน 27 ตัว โดยทดลองเปรียบเทียบกับยา tolbutamide (ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด) โดยทดลองกับพืชต่าง ๆ จำนวน 12 ชนิด ผลการทดลองพบว่า พืชสมุนไพรมะเขือดงหรือช้าแป้น สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ถึง 21.1% มากกว่ายา tolbutamide ที่ลดได้เพียง 14.3%[3]

ประโยชน์ของมะเขือดง

  1. ผลนำมาตำแล้วคั้นเอาน้ำให้วัวหรือควายกินเป็นยาแก้โรคขี้ขาว[4]
  2. ใบนำมาใช้ใส่ในเล้าไก่ จะช่วยป้องกันตัวไรได้[4]
  3. ใบนำมาขยำแล้วใช้ล้างจาน ช่วยขจัดคราบอาหารทำให้จานสะอาดได้[4]
  4. ใบใช้รองพื้นถั่วเน่าหมักตากแดด เพื่อป้องกันไม่ให้ถั่วเน่าติดกับแผงตาก[4]
  5. ต้นนำไปเผาไฟให้เป็นถ่านแล้วใช้เป็นส่วนผสมในการทำดินปืน หรือนำต้นไปตากแห้งเอาไปทำดินปืน[4]
  6. ชาวลั้วะจะใช้ลำต้นมาทำเป็นฟืน[4]
  7. ชาวเมี่ยนจะใช้กิ่งที่มีลักษณะเป็นง่าม นำไปเสียบกับดินใช้เป็นที่ตั้งขันสำหรับเผากระดาษให้บรรพบุรุษในพิธีเลี้ยงผี[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ช้าแป้น”.  หน้า 189.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ช้าแป้น”.  หน้า 265-267.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ช้าแป้น”.  หน้า 72-73.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ดับยาง, ฉับแป้ง, ฝ่าแป้ง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [06 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jerry Oldenettel, Bob Beatson, 翁明毅, sergio niebla, Burnt Umber)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด