มะขวิด สรรพคุณและประโยชน์ของมะขวิด 24 ข้อ !

มะขวิด

มะขวิด ภาษาอังกฤษ Limonia, Curd fruit, Elephant apple, Gelingga, kavath, Monkey fruit, Wood apple

มะขวิด ชื่อวิทยาศาสตร์ Feronia limonia (L.) Swingle (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Limonia pinnatifolia Houtt.)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Limonia acidissima Groff (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Schinus limonia L.)[2],[6] จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE

สมุนไพรมะขวิด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะยม (ภาคอีสาน), มะฝิด (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของมะขวิด

  • ต้นมะขวิด มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดจีน ปลูกทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและสวน แล้วแพร่กระจายไปตามธรรมชาติ ในประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาลี อินโดนีเซีย และมีการนำไปปลูกในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาเพื่อใช้ในการศึกษา[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบไว รูปทรงของต้นสวยงาม ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลม เปลือกลำต้นภายนอกมีสีเทา ส่วนภายในมีสีขาว เป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ชอบขึ้นในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วง[1],[3]

ต้นมะขวิด

  • ใบมะขวิด ใบออกเป็นช่อแบบข้อต่อเรียงสลับหรือติดกันเป็นกระจุกในบริเวณปุ่มตามกิ่งต่าง ๆ ช่อใบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมี 1-4 ปล้อง หลังใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเกลี้ยง ส่วนท้องใบจะมีสีจางกว่า เมื่อเอาใบมาส่องผ่านแสงจะเห็นเป็นต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นรูปรี ๆ ใส ๆ มากมาย ส่วนขอบใบเรียบ ก้านใบย่อยจะสั้นมาก แต่ก้านช่อใบจะยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1]

ใบมะขวิด

  • ดอกมะขวิด ออกดอกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมสีแดงคล้ำ ๆ ในแต่ละช่อดอกจะมีทั้งดอกเพศผู้และดอกรวมเพศ[1]

ดอกมะขวิด

  • ผลมะขวิด หรือ ลูกมะขวิด ผลมีลักษณะกลมตัว เป็นผลแห้ง เปลือกภายนอกแข็งเป็นกะลา มีสีเทาอมขาวหรือผิวเป็นขุยสีขาวปนสีชมพู ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีเนื้อมาก เนื้อในผลอ่อนนิ่ม เมื่อผลสุกแล้วเนื้อเยื่อจะเป็นสีดำ สามารถใช้รับประทานได้ โดยให้รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม มียางเหนียว ส่วนในผลมีเมล็ดจำนวนมาก มีเมือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เปลือกหนาและมีขน สามารถนำมาเคี้ยวรับประทานได้เช่นกัน[1],[4]

เปลือกต้นมะขวิด

ผลมะขวิด

มะขวิด

สรรพคุณของมะขวิด

  1. ผลใช้เป็นยาบำรุงทำให้สดชื่น (ผล)[1]
  2. ผลดิบนำมาหั่นให้บางแล้วตากให้แห้ง ใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)[5]
  3. ยางมะขวิดช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย (ยาง)[1]
  4. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด[1] ด้วยการนำผลดิบมาหั่นให้บางแล้วตากให้แห้ง นำมาใช้ชงกับน้ำกิน (ผล)[5]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1]
  1. ช่วยแก้ลงท้อง (ราก, เปลือก, ดอก)[1]
  2. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบ)[1] ยางจากลำต้นมีสีจำพวกแทนนิน ใช้เป็นยารักษาโรคท้องร่วงได้เช่นกัน (ยางจากลำต้น)[5]
  3. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ใบ)[2],[6] ช่วยบำบัดโรคท้องเสีย (ผล, ยาง)[1],[5]
  4. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (ผล)[1],[5]
  5. ใบช่วยขับลมในกระเพาะ (ใบ)[1]
  6. ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)[1]
  7. ช่วยแก้อาการตกโลหิต (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก) ช่วยห้ามโลหิตระดูของสตรี (ใบ)[1],[4],[6]
  8. ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)[1]
  9. ใบมะขวิดใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ) ช่วยสมานบาดแผล (ยาง)[1],[5]
  10. ยางจากลำต้นมะขวิดสามารถนำมาใช้ห้ามเลือดได้ (ยางจากลำต้น)[5]
  11. ช่วยแก้บวม (ราก, เปลือก, ดอก, ผล)[1]
  12. ใบนำมาตำใช้พอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิดได้ (ใบ)[1],[4],[6]
  13. สารสกัดจากใบสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้ (ใบ)[6]

ประโยชน์ของมะขวิด

  1. ต้นมะขวิดใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์เพื่อความสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกในส่วนสาธารณะ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง[7]
  2. ผลมะขวิดใช้รับประทานสด และยังสามารถนำไปทำเป็นน้ำผลไม้และแยมได้[2]
  3. ผลใช้เป็นอาหารของนกได้[7]
  4. เมล็ดสามารถนำมาเคี้ยวรับประทานได้ รสอร่อยใช้ได้[1]
  5. ยางของผลมะขวิดมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเป็นกาวเพื่อใช้ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของต่าง ๆ ได้[1],[2]
  6. เนื้อไม้ของต้นมะขวิดเป็นเนื้อไม้แข็ง สามารถนำมาใช้ในงานช่างได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สมุนไพรไทยมะขวิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [17 ต.ค. 2013].
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Limonia_acidissima.  [17 ต.ค. 2013].
  3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [17 ต.ค. 2013].
  4. หนังสือไม้เทศเมืองไทย.  (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด).  หน้า 406.  กรุงเทพฯ.  2522.
  5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ต้นมะขวิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [17 ต.ค. 2013].
  6. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ต้นมะขวิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [17 ต.ค. 2013].
  7. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม.  แนะนำพันธุ์ไม้สวนสาธารณะกรุงเทพมหานคร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com.  [17 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by YIM Hafiz, Najih Nahali – floranusa, lalithamba, Navida2010), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด