ผักเป็ดแดง สรรพคุณและประโยชน์ของผักเป็ดแดง 14 ข้อ !

ผักเป็ดแดง

ผักเป็ดแดง ชื่อสามัญ Calico plant

ผักเป็ดแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Alternanthera bettzickiana (Regel) G.Nicholson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alternanthera ficoidea var. bettzickiana (Regel) Backer, Alternanthera ficoidea var. spathulata (Lem.) L.B.Sm. & Downs, Telanthera bettzickiana Regel) จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1]

สมุนไพรผักเป็ดแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักเป็ดฝรั่ง ผักโหมแดง (ภาคเหนือ), พรมมิแดง (ภาคกลาง), หยเฉ่า หยินซิวเจี้ยน (จีนกลาง), ปากเป็ด เป็นต้น[1],[3],[5]

ลักษณะของผักเป็ดแดง

  • ต้นผักเป็ดแดง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร หรือสูงกว่า แตกกิ่งก้านหนาแน่น ลำต้นเป็นร่องตามยาว ลำต้นหักง่ายคล้ายกับลำต้นที่อวบน้ำเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และเม็กซิโก ต่อมาได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายกระจายไปทั่วโลก ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาขยายพันธุ์ปลูกประดับนานแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นไม้ประดับประเภทไหน[1],[3]
  • ใบผักเป็ดแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปข้าวหลามตัดถึงรูปใบหอกกลับ รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบป้านหรือสอบ ส่วนขอบใบมักห่อม้วนขึ้นด้านบนหรือเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร แผ่นใบมีหลายสี เช่น สีแดง สีแดงปนเขียว สีม่วงอมชมพู สีเหลือง สีเขียวมีด่างขาว เส้นใบเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงคล้ำ ก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีขนละเอียด[1],[3]

ใบผักเป็ดแดง

  • ดอกผักเป็ดแดง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบรวมมี 5 กลีบ เป็นสีขาว[1]

ดอกผักเป็ดแดง

  • ผลผักเป็ดแดง ผลแห้งไม่แตก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะคล้ายรูปโล่[1]

สรรพคุณของผักเป็ดแดง

  1. ทั้งต้นมีรสขื่นเอียน มีสรรพคุณฟอกและบำรุงโลหิต (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาดับพิษโลหิต (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  3. ช่วยแก้เส้นเลือดอุดตัน (ทั้งต้น)[5]
  4. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)[1]
  5. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)[5]
  1. ในประเทศศรีลังกาจะใช้ต้นนำมาต้มกินเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[2],[4]
  2. ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ต้น, ทั้งต้น)[2]
  3. ช่วยแก้ระดูพิการเป็นลิ่ม เป็นก้อนดำเหม็นของสตรี แก้ประจำเดือนขัดข้อง ช่วยฟอกโลหิตประจำเดือน (ต้น)[2]
  4. ทั้งต้นใช้ตำพอกรักษาแผล (ทั้งต้น)[4]
  5. ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[5]
  6. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[1] แก้ปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย (ต้น)[2]
  7. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาว่า ต้นมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้พิษงูกัด กระตุ้นการไหลของน้ำดี ส่วนใบใช้เป็นยาแก้พิษที่ถูกงูกัด และรากใช้เป็นยาระบาย แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ใช้ปรุงเป็นยาฟอกโลหิต (ข้อมูลปลายทางยังขาดแหล่งอ้างอิง)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ทั้งใบ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งดื่ม 1/2 แก้ว ก่อนอาหารเช้าและเย็น[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเป็ดแดง

  • ผักเป็ดแดงมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด[1]
  • ในปี ค.ศ.1989 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของใบผักเป็ดสดและสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบผักเป็ดในหนูขาวทดลอง โดยวิธี Oral glucose toleramce พบว่าใบผักเป็ดสดมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในขนาด 1 และ 2 กรัม ต่อกิโลกรัม น้ำหนักหนู สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ 22.9% ในเวลา 2.5 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับยา tolbutmide ที่ลดระดับน้ำตาลได้ 46%[1]

ประโยชน์ของผักเป็ดแดง

  • ในประเทศศรีลังกาจะใช้ผักเป็ดเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน เป็นผักที่ช่วยขับน้ำนม[2],[4] บ้างว่านำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ทั้งการนำมาชุบแป้งทอดให้กรอบหรือนำมาใส่แกงเหมือนผักชนิดอื่น ๆ หรือใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงและย่อยง่าย
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะมีสีสวย ปลูกง่าย ทนทาน เจริญเติบโตเร็ว สามารถปลูกทั่วไปได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ผักเป็ดแดง”.  หน้า 110.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 248 คอลัมน์ :  พืช-ผัก-ผลไม้.  “ผักเป็ด : ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [16 พ.ย. 2014].
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ปากเป็ดแดง ใบสีสวย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [16 พ.ย. 2014].
  4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย, สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ผักเป็ดแดง ผักเป็ดฝรั่ง พรมมิแดง ผักโหมแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : chm-thai.onep.go.th. [16 พ.ย. 2014].
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ผักเป็ดขาว”.  หน้า 352.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Oriolus84, qooh88), www.plantphoto.cn

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด