ขวง สรรพคุณและประโยชน์ของผักขวง 15 ข้อ ! (สะเดาดิน)

ผักขวง

ผักขวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Glinus oppositifolius (L.) Aug.DC. จัดอยู่ในวงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE)[1]

สมุนไพรผักขวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักขี้ขวง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), สะเดาดิน ผักขวง (ภาคกลาง), ขี้ก๋วง[1],[2], ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ขวง[3] เป็นต้น

ลักษณะของผักขวง

  • ต้นผักขวง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบ ๆ ต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจ้า เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นได้ในบริเวณที่ชื้นแฉะ ตามไร่นา และตามสนามหญ้าทั่วไป[1],[2],[3]

สะเดาดิน

  • ใบผักขวง ใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีขนาดเล็ก แตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น[1]

ต้นผักพวง

  • ดอกผักขวง ออกเป็นดอกเดี่ยวรวมกันอยู่ตามข้อของลำต้นใกล้ ๆ กับใบ ในข้อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวกว่ากลีบดอก โดยจะมีความยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร[1]

ดอกผักขวง

  • ผลผักขวง ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี มีขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลได้ชัดเจน เมล็ดมีจำนวนมาก สีน้ำตาลแดง มีขนาดเท่ากับเม็ดทราย[1]

ผลผักขวง

สรรพคุณของผักขวง

  1. ในประเทศอินเดียจะใช้ผักขวงเป็นยาบำรุงธาตุ (ทั้งต้น)[1]
  2. ต้นสดนำมาตำผสมกับขิงใช้เป็นยาสุมกระหม่อมเด็ก จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก (ทั้งต้น)[1],[3]
  3. ผักขวงทั้งต้นมีรสขมเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ทั้งปวง (ทั้งต้น)[1],[2]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ (ทั้งต้น)[1],[2]
  5. ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน (ทั้งต้น)[1],[2]
  1. ทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันละหุ่ง แล้วนำไปอุ่นใช้เป็นยาหยอดหูแก้อาการปวดหู (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ในประเทศอินเดียจะใช้ผักขวงทั้งต้นปรุงเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[1]
  3. ผักขวงมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำดี (ทั้งต้น)[1]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้คัน เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง หรือเป็นยาฆ่าเชื้อ (ทั้งต้น)[1],[2]
  5. ใช้เป็นยาทาแก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
  6. ผักขวงจัดอยู่ในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้เพื่อดี (ไข้ที่เกิดจากดีพิการ มีอาการปวดศีรษะ ไข้สูง) อันประกอบไปด้วยตัวยา 7 สิ่ง ได้แก่ ผักขวง, เครือเขาด้วย, รากขี้กา, รากขัดมอน, ต้นผีเสื้อ, หญ้าเกล็ดหอย และน้ำผึ้ง[3]
  7. ในพระคัมภีร์โรคนิทาน มีตำรับยาที่เข้าด้วยผักขวง 1 ตำรับ คือ ยาสุมกระหม่อมในช่วงฤดูฝน (แก้อาการปวดศีรษะและจมูกตึง) ระบุให้ใช้ผักขวง, ใบหญ้าน้ำดับไฟ, ใบหางนกยูง, ฆ้องสามย่าน, เทียนดำ, ไพล, หัวหอม, ดอกพิกุล และดินประสิวขาว นำมาบดสุมกระหม่อมแก้ปวดศีรษะและจมูกตึง[3]
  8. ส่วนในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยการปฏิสนธิของทารกในครรภ์ การคลอด และโรคเด็กต่าง ๆ ก็มีกล่าวถึงตำรับยาที่เข้าด้วยใบผักขวงและรากผักขวงอีก 7 ตำรับด้วยกัน[3] อันได้แก่
    • ยาแก้เตโชธาตุพิการ (เป็นอาการของธาตุไฟทั้ง 4 พิการ คือ ปรินามัคคี (ร้อนอกร้อนใจ ไอ ท้องขึ้น บวมตามมือตามเท้า เกิดมองคร่อ), ปริทัยมัคคี (มือเท้าเย็น ร้อนใน เย็นนอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ), ชรัคคี (หนักหัว ตาฟาง หูตึง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส ชาตามเนื้อตามตัว), สันตัปปัคคี (เย็นในอก กินอาหารไม่ได้ อาหารจุกในท้อง เกิดลม 6 จำพวก พัดปั่นป่วนภายใน หายใจขัด หรือถึงกับเป็นลมสลบไป)) ท่านให้เอารากผักขวง, รากช้าพลู, รากเจตมูลเพลิง, รากมะแว้งทั้งสอง, ก้านสะเดา และบอระเพ็ด อย่างละเท่ากัน นำมาต้มเคี่ยว 3 ส่วน เอา 1 ส่วน ใช้กินเป็นยา ถ้าไม่หายให้เพิ่มยาเข้าไปอีก 8 สิ่ง ได้แก่ โกฐเขมา, ไคร้ต้น, ผักแพวแดง, ผลมะขามป้อม, ว่านเปราะ, รากสวาด, หญ้ารังกา และอบเชยเทศ อย่างละเท่ากัน นำมาบรรจบเข้ากับยาเดิมเป็นขนานเดียวกัน แล้วนำมาต้มเคี่ยว 3 ส่วน เอา 1 ส่วน ใช้เป็นยาแก้ธาตุไฟพิการ
    • ยาแก้มูกเลือดตานโจร (ตานขโมยหรือตานซาง เป็นอาการของเด็กอายุ 5-13 ขวบ ที่เกิดจากพยาธิต่าง ๆ ทำให้เด็กมีอาการซูบซีด ผอมแห้งแรงน้อย พุงโรก้นปอด หัวโต นอนผวา ตกใจง่าย ขี้อ้อน) ท่านให้เอาใบผักขวง, ใบเทียน, ใบทับทิม และขมิ้นอ้อย อย่างละเท่ากัน นำมาบดทำเป็นแท่งละลายกับน้ำเปลือกแคต้มดื่ม
    • ยาแดงแก้ลงท้อง ท่านให้เอาใบผักขวง, ใบระงับ, กรักขี, จันทน์ทั้งสอง, ผลจันทน์, ดอกจันทน์, ผลเบญกานี, เนระพูสี, สน, สัก, สังกรณี, ว่านกีบแรด, ว่านร่อนทอง, ฤาษีประสมแล้ว และสีเสียดทั้งสอง อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง ใช้เหล้าเป็นกระสายทำแท่ง ใช้กินกับน้ำเปลือกแคแดง แก้อาการลงท้อง
    • ยาแก้ทรางสกอเจ้าเรือนและทรางกระตัง (เป็นทรางจร) ท่านให้เอาใบผักขวง, ใบการ่อน, ใบชุมเห็ดเทศ, ใบฝ้ายเทศ, ใบเพกา, ใบฟักข้าว, ใบน้ำเต้า, ใบมะระ, ใบระงับพิษ และขมิ้นอ้อย อย่างละเท่ากัน นำมาบดปั้นเป็นแท่งไว้ละลายน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาชโลมแก้พิษต่าง ๆ ที่เกิดทรางสกอและทรางกระตัง (ทรางสะกอ เป็นซางประจำวันพุธ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาแล้วเป็นต่อเนื่องจนอายุได้ขวบเศษ มีอาการที่เกิดต่อเนื่องสลับซับซ้อน ส่วนทรางกระตัง เป็นซางที่เกิดขึ้นหลังคลอด เกิดเขม่าเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน จากนั้นแม่ซาง 3 ยอด จึงจะทยอยขึ้นพร้อมบริวาร และมีอาการอย่างอื่นทั้งข้างในและข้างนอกเรื่อยมาจนถึงอายุ 11 เดือน ซึ่งจะเกิดอาการตกมูกเลือด ลงท้อง)
    • ยาประจำท้องกุมารอายุ 2 เดือน (นับแต่วันคลอด) ท่านให้เอาใบผักขวง, ใบสะเดา, ใบขอบชะนางแดง, ใบคนทีสอ, และบอระเพ็ด นำมาบดละลายกับน้ำร้อนกินเป็นยาประจำท้องกันสำรอกใน 2 เดือน (แต่อายุของทารกเพิ่มขึ้น ตัวยาจะเปลี่ยนไปด้วย)
    • ยาจันทรรัศมี เป็นตำรับยาที่นำมาบดทำแท่งกินตามกำลังของทารก เพื่อแก้หืด แก้ปวง แก้คลั่ง แก้ลมบ้าหมู แก้ตัวพยาธิ แก้อาการฟกบวม และแก้ตามเสมหะ ท่านให้เอาใบผักขวง, ใบขี้กาแดง, ใบผักบุ้งขัน, ใบพุทรา, ใบมะกรูด, ใบมะนาว, ใบมะงั่ว, ใบมะยมตัวผู้, ใบประคำไก่, ใบส้มซ่า, กุ่มทั้งสอง, กระชาย, กระทือ, กระเทียม, ข่า, ขมิ้นอ้อย, ตรีกะฏุก, จันทน์ทั้งสอง, ไพล, หอมแดง, เมล็ดพรรณผักกาด, ว่านกีบแรด, และว่านร่อนทอง อย่างละเท่ากัน และเอาพริกไทยเท่าทั้งหลาย นำยาทั้งหมดมาบดให้เป็นจุณแล้วทำเป็นแท่งไว้ให้กุมารกินกับน้ำกระสายต่าง ๆ ตามแต่โรคที่รักษา กล่าวคือ ละลายน้ำส้มซ่า (แก้สันนิบาต), ละลายน้ำขิง (แก้ป่วง), ละลายน้ำดอกไม้ (แก้คลั่ง), ให้แซกดีงูเหลือม (แก้ตานเสมหะและแก้ตัวพยาธิ), ละลายน้ำเหล้า (เป็นยาทาแก้อาการฟกบวม)
    • ยาน้ำดับไฟ ซึ่งเป็นตำรับยาชโลมดับพิษทางผิวกาย ท่านให้เอาผักขวง, ใบโคกกะออม, ใบน้ำเต้า, ใบสะเดา, ใบตำลึงตัวผู้, ใบสมี, ใบมะลิ, ใบมะม่วงกะล่อน และขมิ้นอ้อย นำมาบดทำเป็นแท่งไว้ละลายน้ำมะลิสด ใช้เป็นยาชโลมดับพิษได้ดีนัก

ประโยชน์ของผักขวง

  1. ผักขวงเป็นผักที่มีรสขมคล้ายสะเดา บางแห่งจึงเรียกผักชนิดนี้ว่า “สะเดาดิน” โดยชาวบ้านตามชนบทจะใช้ผักขวงเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและรับประทานร่วมกับลาบ บ้างนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาแกงรวมกับผักอื่น ๆ แกงแค แกงเมือง หรือแกงกับปลาทูนึ่งรับประทาน[3],[4]
  2. คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม จะประกอบไปด้วยพลังงาน 30 กิโลแคลอรี, น้ำ 90.3%, โปรตีน 3.2 กรัม, ไขมัน 0.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม, ใยอาหาร 1.1 กรัม, เถ้า 1.7 กรัม, แคลเซียม 94 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.45 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 2.7 มิลลิกรัม, วิตามินซี 19 มิลลิกรัม[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักขวง”.  หน้า 469-470.
  2. วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ขี้ก๋วง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/crop_2.htm.  [22 พ.ย. 2014].
  3. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 545, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.  (ไพบูลย์ แพงเงิน).  “ผักขวง…สมุนไพรบำรุงน้ำดี”.
  4. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักขวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [22 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Navida Pok), J.M.Garg

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด