ปากนกกระจอก อาการ สาเหตุ การรักษาโรคปากนกกระจอก 25 วิธี !!

โรคปากนกกระจอก

ปากนกกระจอก หรือ แผลที่มุมปาก (Angular cheilitis – AC, Angular stomatitis, Commissural cheilitis) คือ อาการแผลเปื่อยที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะการขาดวิตามินบี 2 ธาตุเหล็ก โปรตีน โรคเชื้อรา การติดเชื้อแบคทีเรีย โรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ ฯลฯ เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้จะไม่มีอันตรายร้ายแรงและไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็มักสร้างความรำคาญ ความวิตกกังวล และความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้มีอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารหรือการพูดคุย อีกทั้งโรคนี้ก็เป็นโรคที่สามารถเกิดซ้ำได้อีกถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แต่รอยโรคก็มักหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน

สาเหตุโรคปากนกกระจอก

ส่วนใหญ่แล้วคนมักเข้าใจว่าโรคปากนกกระจอกเกิดได้จากการขาดวิตามินบี 2 เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคปากกระจอกได้อีกมาก และสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ก็มีดังนี้

  • ปัญหาจากโรคผิวหนัง เช่น เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด
  • การขาดสารอาหาร โรคปากนกกระจอกมักเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) การขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน (เป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่มักพบได้ในเด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหาร หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 น้อยเกินไป)
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อรา (Candida albicans) เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริมที่ริมฝีปาก (Herpes simplex) ที่มักพบตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่บริเวณริมฝีปาก
  • ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่มีฟัน จึงมีรูปปากที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการกดทับที่มุมปากและกลายเป็นจุดอับชื้น เมื่อน้ำลายหรือเหงื่อมาอยู่บริเวณนั้นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเป็นแผลระคายเคืองที่มุมปากได้ ต่อมาอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย
  • ภาวะน้ำลายออกมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น ในคนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลเป็นประจำ คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก หรือในเด็กบางคนที่มีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอด ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปากจนเกิดเป็นแผลได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • การแพ้หรือระคายเคือง เช่น การแพ้อาหาร แพ้ลิปสติก หรือยาสีฟัน (แต่ในกรณีนี้มักเป็นทั้งริมฝีปาก)
  • เกิดจากการที่ริมฝีปากแห้ง จากนิสัยส่วนตัวที่ชอบเลียปากหรือจากการที่อากาศหนาวเย็นที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากินรักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่มีผลทำให้ผิวแห้งลงและเกิดแผลที่มุมปากได้ง่ายขึ้น
  • ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าโรคปากนกกระจอกอาจเกิดปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ ฯลฯ หรือเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคพิษสุรา โรคตับ หรือท้องเดินเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร หรือมีความผิดปกติของการดูดซึมของลำไส้

อาการของปากนกกระจอก

ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นแผลเปื่อย โดยแผลจะมีลักษณะแตกเป็นร่องที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง ลักษณะเป็นสีเหลือง ๆ ขาว ๆ เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนที่ริมฝีปากและลิ้น ต่อมาจะมีรอยแผลแตกที่มุมปาก ทำให้ในขณะที่พูดหรืออ้าปากผู้ป่วยจะรู้สึกตึงและเจ็บ ถ้าใช้ลิ้นเลียบริเวณแผลก็จะยิ่งทำให้แผลแห้งและตึงมากขึ้น เมื่ออ้าปากอาจทำให้มีเลือดออกได้ (ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกด้วย และถ้าเป็นซ้ำซากเวลาหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น)

แผลที่มุมปาก

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร

ปากนกกระจอกเกิดจาก

วิธีรักษาปากนกกระจอก

ในบางรายอาจพบการอักเสบของเยื่อบุริมฝีปาก (ริมฝีปากจะมีลักษณะแดง แห้ง หยาบบาง และแตกเป็นร่องตื้น ๆ) และลิ้น (ลิ้นจะมีลักษณะเป็นสีม่วงแดง)

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีภาวะซีด กระจกตาอักเสบ (ตาแดง น้ำตาไหล กลัวแสง) ผิวหนังอักเสบ (Seborrheic dermatitis) ซึ่งผิวหนังในบริเวณหู ตา จมูก อัณฑะ ปากช่องคลอด จะมีลักษณะเป็นมัน เป็นผื่นแดง และมีสะเก็ดเป็นมัน

วิธีรักษาปากนกกระจอก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากนกกระจอกไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารเสมอไป และการขาดสารอาหารนี้ก็เป็นสาเหตุการเกิดโรคที่พบได้น้อยมากในปัจจุบัน ฉะนั้น ผู้ป่วยควรหาสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงแล้วทำการรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งจะทำให้อาการดังกล่าวหายไปโดยไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่โดยทั่วไปแล้วแนวทางการดูแลรักษาตัวเองแพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  1. ถ้าสาเหตุเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 (Riboflavin) ให้รักษาด้วยการรับประทานวิตามินบี 2 หรือวิตามินบีรวมวันละ 1-3 เม็ด จนกว่าจะหาย หรือรับประทานอาหารประเภทข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ผักและผลไม้ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินบี 2 อยู่เป็นประจำ
  2. โรคปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเริม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นแผลเปื่อยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในกรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยามาทาหรือซื้อวิตามินมากินครับ เพียงแต่ขอให้รักษาความสะอาดของริมฝีปากและช่องปากให้ดี ควรแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังการรับประทานอาหาร แล้วแผลเปื่อยที่มุมปากก็จะหายไปเองในที่สุด
  3. ถ้าโรคปากนกกระจอกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดหลังจากการหลุดลอกของเซลล์หนังกำพร้าที่มุมปาก แล้วต่อมาเกิดเป็นแผลทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดการอักเสบและปวดเจ็บ ในกรณีแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  4. ดื่มน้ำให้มาก ๆ และงดการดื่มแอลกอฮอล์และชา เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปรบกวนการดูดซึมวิตามิน
  5. ควรเช็ดมุมปากให้แห้งอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอับชื้น (แนะนำให้พกผ้าเช็ดหน้าสะอาด ๆ ติดตัวไว้เสมอเพื่อใช้ซับน้ำลาย)
  6. เลิกเลียริมฝีปากและมุมปาก เพราะการทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของแผลและการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ทำให้แผลไม่หายและอาจมีอาการแย่ลงกว่าเดิม
  7. หมั่นทำความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังการรับประทานอาหารอยู่เสมอ
  8. ควรรักษาความสะอาดของเครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน รวมไปถึงผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เป็นประจำ
  9. ในกรณีที่ไม่ได้ใส่ฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  10. หากแผลที่มุมปากมีอาการเจ็บและตึง ให้ทาปากด้วยครีมทาปาก ปิโตรเลี่ยมเจลลี่ ลิปบาล์ม หรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของวิตามินอีอยู่เสมอ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้ (วิตามินอีจะมีประโยชน์ในการช่วยสมานแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น และเพิ่มความยืดหยุ่นตัวของผิวได้ดีขึ้น)
  11. ใช้ยาป้ายแผลในปาก เช่น Kenalog in Orabase (ขี้ผึ้งป้ายปาก) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือแผลเปื่อยในปาก ซึ่งยาชนิดนี้จะได้ผลดีกับแผลที่เกิดจากภาวะอักเสบจากภูมิแพ้
  12. งดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน
  13. สมุนไพรบางชนิดก็สามารถช่วยรักษาแผลโรคปากนกกระจอกให้หายได้เร็วขึ้นได้ เช่น
    • การใช้น้ำยางจากยอดอ่อนของต้นตองแตก (Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh) มาทาบริเวณที่เป็นแผล
    • ใช้ใบสดของต้นอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.) นำมาอังไฟแล้วขยี้ใส่แผล
    • ยางสดจากต้นน้ำนมราชสีห์ใหญ่ (Euphorbia hirta L.) ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล
    • ใช้ยางจากก้านใบของต้นสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) นำมาป้ายบริเวณที่เป็นแผล
    • ใช้เปลือกต้นมะขามเทศ (Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.) ให้ลอกเปลือกชั้นนอกออกแล้วเอาแต่เปลือกชั้นใน 15 กรัม เกลือป่น 1 ช้อนชา แล้วนำมาต้มกับน้ำกะปริมาณพอท่วมยาเล็กน้อยจนน้ำเดือด รอจนน้ำอุ่นแล้วนำมาอมหลังจากแปรงฟันทุกครั้งจะช่วยทำให้แผลในปากค่อย ๆ บรรเทา ทุเลาลง
    • ให้ใช้ฟองข้าวสีขาวที่ได้จากข้าวที่กำลังสุกมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น วิธีนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้
    • ต้นสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) โดยให้ใช้ทั้งต้นเป็นยา (ตามตำราไม่ได้ระบุวิธีการใช้เอาไว้)
    • ใบของต้นกระเจี๊ยบเขียว (Abelmoschus esculentus (L.) Moench) มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคปากนกกระจอก (ไม่ได้ระบุวิธีใช้)
  14. ถ้ายังไม่ได้ผลหรืออาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดโรคปากนกกระจอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคนขึ้นไปที่อาจเกิดจากโรคเชื้อราในช่องปาก

วิธีป้องกันโรคปากนกกระจอก

  1. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ไต ถั่ว นม ไข่แดง ผักใบเขียว ผักหวานป่า โยเกิร์ต ชีส ฯลฯ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ตับ หอย ไข่แดง หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ผักแว่น ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ใบกะเพรา เห็ดฟาง ธัญพืช ถั่วชนิดต่าง ๆ
  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน
  2. เลิกนิสัยการชอบเลียมุมปาก แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลที่มุมปากได้
  3. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองที่ริมฝีปาก เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน หากใช้แล้วแพ้ควรหยุดใช้แล้วเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นทันที
  4. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ (หากร่างกายแข็งแรงก็จะห่างไกลจากการเป็นโรคปากนกกระจอก เพราะโรคนี้มักพบได้ในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ปากนกกระจอก (Angular stomatitis/Angular cheilitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 560.
  2. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “โรคปากนกกระจอก…ทำอย่างไรดี?”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [27 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : medicalpicturesinfo.com, www.newhealthguide.org, simpleremedies.net, www.dermquest.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด